ผลสำรวจพบ 11 พื้นที่เสี่ยงแบบ “หมิงตี้” รอบกทม.-ปริฯ ร้องรัฐรับมือด่วน

มูลนิธิบูรณะนิเวศ (EARTH) แถลงออนไลน์ผลสำรวจล่าสุด เผยพบ 11 จุดในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑลที่เสี่ยงเกิดระเบิดสารเคมีในระดับที่เกิดกับกรณี “หมิงตี้” ยื่น 5 ข้อเรียกร้องหน่วยงานรัฐที่มีหน้าที่รับผิดชอบโดยเฉพาะกระทรวงอุตสาหกรรมเพื่อดำเนินการด่วน เดินหน้ารวบรวม 10,000 รายชื่อผลักดันทางออกระยะยาว “กฎหมายโปร่งใสข้อมูลการใช้สารเคมี PRTR”

เมื่อวานนี้ (29 ก.ค. 64) เวลา 11.00 น. ​มูลนิธิบูรณะนิเวศ (EARTH) แถลงการณ์ออนไลน์ทาง Facebook รายงานผลสำรวจโรงงานที่มีลักษณะคล้ายโรงงานหมิงตี้ ในเขตกรุงเทพฯ-ปริมณฑล  และสถิติการระเบิดของโรงงานในลักษณะนี้ โดยชี้ว่าเป็นเรื่องที่น่ากังวลเพราะอาจสร้างความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินของผู้คนจำนวนมาก กรมโรงงานอุตสาหกรรม หน่วยงานที่มีความรับผิดชอบโดยตรง ควรกำกับดูแลเมตรการความปลอดภัยอย่างเคร่งครัด

หมิงตี้โมเดล ลูกระเบิดรอบกรุง

“หมิงตี้โมเดล” หรือ โรงงานที่มีรูปแบบความเสี่ยงคล้ายกับหมิงตี้ หมายถึงโรงงานประเภทที่เกี่ยวข้องกับการผลิตพลาสติก มีกำลังการผลิตใกล้เคียงกับหมิงตี้ และมีที่ตั้งอยู่ใกล้ชุมชน ซึ่งผลสำรวจออกมาว่า มีอยู่ถึง 11 แห่งรอบกรุง กระจายอยู่ในพื้นที่ เขตหนองแขม เขตมีนบุรี เขตบางเขน กรุงเทพฯ อำเภอบางพลี อำเภอบางเสาธง จังหวัดสมุทรปราการ อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี และอำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสาคร 

แผนที่โรงงานหมิงตี้โมเดล (ภาพ: มูลนิธิบูรณะนิเวศ)

โรงงาน 11 แห่งที่ตรงกับ “หมิงตี้โมเดล” มาจากการสำรวจโรงงานที่มีกำลังการผลิต 10,000 แรงม้าขึ้นไป (เทียบกับหมิงตี้ที่ มีกำลังเครื่องจักร 11,489 แรงม้า) ต้องใช้สารเคมีอันตรายและสารไวไฟประเภทคล้ายกันและมีปริมาณใกล้เคียงโรงงานหมิงตี้ ได้แก่ โรงงานลำดับที่ 44 ประเภทโรงงานผลิตเรซิน ยาง พลาสติก ใยสังเคราะห์ และโรงงานลำดับที่ 53 (5) และอีกหลายประเภทย่อย ซึ่งเกี่ยวข้องกับการทำพลาสติกและการนำพลาสติดมารีไซเคิล โดยทั้งหมดได้รับใบอนุญาตไม่เกินปี 2563 เพื่อให้แน่ใจว่าเป็นโรงงานที่เริ่มกิจการแล้ว

ตัวอย่างเหตุเพลิงไหม้โรงงานพลาสติก (ภาพ: มูลนิธิบูรณะนิเวศ)

มากไปกว่านั้น มูลนิธิยังนำเสนอ สถิติการเกิดเพลิงไหม้โรงงานพลาสติกและโรงงานรีไซเคิล ย้อนหลัง 4 ปี พบว่า มีอุบัติภัยเช่นนี้เกิดขึ้นถึง 62 ครั้ง มีหลายกรณีที่ส่งผลให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บ เกิดความเสียหายต่อทรัพย์สิน และก่อให้เกิดมลภาวะในลักษณะสารโลหะหนักและสารมลพิษที่ตกค้างยาวนาน 

“อุบัติภัยในลักษณะนี้เกิดขึ้นได้เพราะความบกพร่องของกรมโรงงานอุตสาหกรรม ซึ่งมีหน้าที่ต้องกำกับดูแลมาตรการความปลอดภัยของโรงงานอุตสาหกรรมไม่ให้สร้างผลกระทบต่อชุมชนรอบข้าง เป็นไปได้อย่างไรที่ในระยะเวลาเพียง 4 ปีกว่าๆ มีเหตุเพลิงไหม้ในโรงงานที่ใช้สารเคมีอันตรายบ่อยขนาดนี้

กรมโรงงานอุตสาหกรรมได้มีการควบคุมการจัดตั้งโรงงานให้ตรงตามกฎหมายผังเมืองหรือไม่ มีการบังคับจัดทำแนวกันชนในพื้นที่โรงงานบ้างหรือไม่ ซึ่งจากกรณีหมิงตี้ก็เห็นได้ชัดเจนว่ากรมโรงงานอุตสาหกรรมไม่ได้มีการบังคับจัดตั้งแนวกันชนเลย หนำซ้ำยังอนุญาตให้มีการขยายเครื่องจักรและกำลังการผลิตอีกด้วย” เพ็ญโฉม แซ่ตั้ง ผู้อำนวยการมูลนิธิบูรณะนิเวศกล่าว

5 ข้อเรียกร้อง ถึง 3 หน่วยงานหลักภาครัฐ

รายงานสำรวจโรงงานหมิงตี้โมเดล และสถิติการเกิดเหตุเพลิงไหม้ แสดงให้เห็นถึงอันตรายและความเป็นไปได้ที่จะเกิดอุบัติภัยรุนแรงคล้ายเหตุการณ์ #ไฟไหม้โรงงานกิ่งแก้ว อีก หากไม่มีมาตรการความปลอดภัยและการกำกับดูแลที่เข้มงวดพอ เพื่อเป็นการป้องกันและจัดการความเสี่ยง มูลนิธิบูรณะนิเวศ จึงยื่นข้อเรียกร้องถึงหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง ให้รีบจัดการโดยด่วน ดังนี้ 

  1. หน่วยงานภายใต้กระทรวงอุตสาหกรรม และกระทรวงแรงงาน ต้องเร่งตรวจสอบระบบและมาตรการความปลอดภัย รวมถึงการประเมิณความเสี่ยงตามหน้าที่ๆ แต่ละหน่วยงานมีอยู่ตามที กฎหมายกำหนด ( พ.ร.บ. โรงงาน พ.ศ. 2535 และ พ.ร.บ. ความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ. 2554 ฯลฯ) สำหรับโรงงานที่ดำเนินการอยู่ โดยเฉพาะที่ตั้งอยู่ในเขตชุมชน
  2. กรมโรงงานอุตสาหกรรมจะต้องควบคุมและจำกัดการขยายกิจการรวมถึงกำลังการผลิตของสถานประกอบการที่ตั้งอยู่ใกล้แหล่งที่อยู่อาศัยและชุมชน
    • ดำเนินการตรวจสอบใบอนุญาตประกอบกิจการ (รง. 4) และการปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ในเงื่อนไขแนบท้ายใบอนุญาตของโรงงานอย่างสม่ำเสมอและเคร่งครัด
    • ดำเนินการตรวจสอบผังและสีการใช้ประโยชน์ที่ดินในแต่ละพื้นที่ตามพระราชบัญญัติผังเมือง หากโรงงานใดตั้งอยู่ในละแวกชุมชน จะต้องควบคุมให้มีการจัดทำ แนวกันชน (buffer zone) ภายในพื้นที่โรงงาน
    • พิจารณาการย้ายสถานที่ตั้งโรงงานโดยรัฐบาลต้องมีมาตรการรองรับที่ดี
  3. สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ปปช.) จะต้องดำเนินการตรวจสอบกรณีการขยายกำลังผลิตโรงงานของบริษัทหมิงตี้ เคมีคอล จำกัด 
  4. กรมโรงงานอุตสาหกรรมจะต้องเปิดเผยข้อมูลโรงงานอุตสาหกรรมให้สาธารณชนเข้าถึงได้โดยสะดวกทางออนไลน์ เพื่อให้ประชาชนมีบทบาทและมีส่วนร่วมในการสอดส่องป้องกันภัย และปกป้องชีวิตและสุขภาพของตน
    • ข้อมูลที่ควรเผยแพร่: ชื่อสถานประกอบการ สถานที่ตั้ง ใบทะเบียนประกอบกิจการโรงงาน ผลิตภัณฑ์ ขนาดเครื่องจักร มลพิษและสารอันตรายที่เกี่ยวข้อง ระบบจัดการสิ่งแวดล้อมและการประเมิณความเสี่ยง
  5. ดำเนินการตรวจสอบกระบวนการการจัดการ และเปิดเผยปริมาณกากอันตรายทั้งหมดหลังไฟไหม้ โรงงานหมิงตี้ ซึ่งมีปริมาณมหาศาลและเกินกำลังความสามารถในการกำจัดของโรงงานเพียงแห่งเดียว

รวบรวม 10,000 ลายเซ็น ดัน “กฎหมาย PRTR”

หากประเทศไทยมีนโยบายจะเติบโตในด้านอุตสาหกรรม เพ็ญโฉมให้ความเห็นว่าควรมีกลไกที่มีประสิทธิภาพมารองรับ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุสลดใจแบบกรณีหมิงตี้อีก ถึงเวลาแล้วที่ประเทศไทยจะต้องมีกฎหมาย PRTR

แผนภูมิการปลดปล่อยและเคลื่อนย้ายสารมลพิษ (ภาพ: มูลนิธิบูรณะนิเวศ)

กฎหมาย PRTR (Pollutant Release and Transfer Register) คือ ระบบที่กำหนดให้ทุกโรงงานจะต้องเปิดเผยข้อมูลการปลดปล่อยและเคลื่อนย้ายสารมลพิษ เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูลสำคัญที่ส่งผลต่อสวัสดิภาพและความเสี่ยงในชีวิตของตนได้โดยง่าย ปัจจุบันถูกใช้ใน 50 ประเทศทั่วโลกเพื่อแก้ปัญหามลพิษและจัดการสารอันตรายให้ปลอดภัยต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม 

ตัวอย่างชุดข้อมูลที่แสดงในระบบฐานข้อมูลของสหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรป (ภาพ: มูลนิธิบูรณะนิเวศ)

มูลนิธิบูรณะนิเวศ ได้มีการนำเสนอตัวอย่างระบบ PRTR ของสหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรป โดยมีการทดลองเข้าถึงข้อมูลผ่านเว็บไซต์ให้ดูเป็นตัวอย่าง และมีการเปรียบเทียบข้อมูลที่ถูกเปิดเผยให้เข้าถึงได้โดยสาธารณะ 

สุดท้าย มูลนิธิ ประกาศเดินหน้าผลักดันกฎหมายนี้ต่อ ซึ่งก่อนหน้านี้เคยมีการร่วมมือกับมูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLaw) ยกร่างกฎหมาย PRTR เข้าสู่สภาผ่านทางพรรคก้าวไกล ทว่าถูกนายกรัฐมนตรีสั่ง “ไม่รับรอง” ร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าวโดยไม่แจ้งเหตุผล ในช่วงก่อนเกิดอุบัติภัยและเหตุสลดที่โรงงานของบริษัทหมิงตี้ฯ เพียง 2 สัปดาห์

ครั้งนี้ มูลนิธิเผยว่าจะเป็นการเสนอร่างพ.ร.บ. ผ่านการเข้าชื่อโดยผู้มิสิทธิ์เลือกตั้งอย่างน้อย 10,000 คน และตอนนี้ กำลังดำเนินการอยู่ในขั้นหารือเกี่ยวกับระบบการรวบรวมรายชื่อ จะมีการเผยแพร่ช่องทางการลงชื่อให้ทราบโดยเร็วนี้