“เลื่อนพิจารณาแก่งกระจาน” ภาคีประชาสังคมไทยเรียกร้องคณะกก.มรดกโลก

ร้อนขึ้นอีกระดับ  24 ชม.ก่อนการประชุมพิจารณา “แก่งกระจานมรดกโลก” เมื่อมูลนิธิผสานวัฒนธรรมเผยมีเอกสารหลุดผ่านเว็บ UNESCO “ร่างมติ” ก่อนประชุมจริงที่ระบุ 9 ชาติจะหนุนขึ้นทะเบียนแก่งกระจาน ก่อนจะถูกลบจากเว็บในช่วงเย็น 

ด้านเครือข่ายกะเหรี่ยงฯ ยื่น UNESCO เสนอ “เลื่อนพิจารณา” เป็นทางออกที่ดีที่สุด ด้วยเหตุผล “สิทธิมนุษยชน” เช่นเดียวกับภาคีSaveบางกลอย ที่ออกแถลงการณ์เรียกร้องข้อเรียกร้องเดียวกัน ก่อนจัดการชุมนุม “แฟลชม็อบ” หน้ากระทรวงทรัพยากรฯ 10.00 น. วันนี้ (26 ก.ค.2564) พร้อมประกาศติดตามจับตาการประชุมฯ ในเวลา 16.40 น.

 

(ภาพ : GreenNews)

 

เผยร่างมติ ‘หลุด’ ก่อนประชุมจริง “ระบุ 9 ประเทศหนุน” 

วานนี้ (25 ก.ค. 2564) มูลนิธิผสานวัฒนธรรมได้เปิดเผยผ่าน เฟซบุ๊ก ว่าได้มีเอกสารร่างมติผลประชุมการพิจารณา “แก่งกระจานมรดกโลก” เผยแพร่บนเว็บไซด์ UNESCO ระบุ 9 ประเทศหนุนการขึ้นทะเบียนมรดกโลกของผืนป่าแก่งกระจาน พร้อมชื่นชมการดำเนินการของรัฐบาลไทยในเรื่องนี้ จึงได้จัดทำการแปลอย่างไม่เป็นทางการเผยแพร่สู่สาธารณะ เพื่อให้ช่วยกันจับตามองใกล้ชิด อย่างไรก็ตาม มีรายงานว่าเอกสารดังกล่าวถูกลบออกจากเว็บไซด์ฯ ในช่วงเย็น

“เว็บไซด์ของคณะกรรมการมรดกโลก UNESCO ( whc.unesco.org) ได้มีการเผยแพร่เอกสารร่างร่างมติคณะกรรมการมรดกโลกฉบับแก้ไข ฉบับที่  44 COM 8B.7 ผืนป่าแก่งกระจาน เตรียมเสนอโดย ประเทศรัสเซีย จีน โอมาน ซาอุดิอาระเบีย เอธิโอเปีย เซนต์คิตส์แอนด์เนวิส มาลี สเปน และไทย ซึ่งเป็น 9 รัฐภาคีคณะกรรมการมรดกโลก จากประเทศทั้งหมด 21 ประเทศ

“สาระสำคัญของเอกสารร่างมติพิจารณาฉบับนี้ คือ การมีมติขึ้นทะเบียนผืนป่าแก่งกระจานของประเทศไทยในบัญชีมรดกโลก ตามหลักเกณฑ์ที่ 10 โดยระบุว่า ผืนป่าแก่งกระจานเป็นศูนย์รวมของอาณาจักรสัตว์และพืชที่โดดเด่น พบสัตว์ป่าอย่างน้อย 720 สายพันธุ์ รวมถึงสัตว์ใกล้สูญพันธุ์และพันธุ์พืชหายากหลายชนิด อีกทั้งยังเป็นต้นน้ำของแม่น้ำสำคัญหลายสาย เป็นแหล่งอาศัยสำคัญของนกน้ำ ความสมบูรณ์นี้ได้รับการปกป้องอย่างเต็มที่ด้วยแผนการจัดการที่ดี รวมถึงกฎหมายและข้อบังคับที่เกี่ยวข้องทั้งหมด

นอกจากนี้ เอกสารร่างเตรียมที่จะเสนอฉบับนี้ยังได้แสดงความชื่นชมรัฐบาลไทย ถึงความมุ่งมั่นและความพยายามอย่างต่อเนื่องของประเทศไทย จากการประกาศกฎหมายเพื่อการจัดการและการคุ้มครองผืนป่า ได้แก่ พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า (แก้ไขเพิ่มเติม) พ.ศ. 2535 พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ (แก้ไขเพิ่มเติม) พ.ศ. 2504 พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 และพ.ร.บ.ว่าด้วยเขตปลอดภัยในราชการทหาร พ.ศ. 2478 และความร่วมมือกับหน่วยงานและชุมชนท้องถิ่นเพื่อปกป้องสินทรัพย์ทางธรรมชาติที่ได้รับการเสนอขึ้นทะเบียน

มูลนิธิผสานวัฒนธรรมจึงจัดทำคำแปลอย่างไม่เป็นทางการถึง ร่างมติคณะกรรมการมรดกโลกฉบับแก้ไข ฉบับที่ 44 COM 8B.7 ผืนป่าแก่งกระจาน ที่กำลังถูกนำมาพิจารณาพรุ่งนี้ เวลา 11.30 น. (เวลากรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส) ก่อนจะมีมติที่ประชุมคณะกรรมการมรดกโลกฉบับจริงออกมา 

พร้อมทั้งขอเชิญชวนทุกคนร่วมจับตามองว่า ท้ายที่สุดแล้วความพยายามของรัฐไทยในการขอขึ้นทะเบียนผืนป่าแก่งกระจานเป็นมรดกโลกทางธรรมชาติ โดยที่ยังไม่ได้แก้ไขปัญหาสิทธิชุมชนดั้งเดิมของพี่น้องกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงจะนำมาซึ่งผลลัพธ์เช่นไร

อนึ่ง เว็บไซต์ของ UNESCO ได้ทำการลบเนื้อหาร่างมติคณะกรรมการมรดกโลกฉบับดังกล่าวออกแล้ว” ส่วนหนึ่งของโพสต์เฟสบุ๊กมูลนิธิฯ ระบุ

มูลนิธิฯ ได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมอีกว่า มติดังกล่าวจะต้องผ่านกระบวนการพิจารณาได้แก่ รับรอง – ขอให้แก้ไขบางส่วน – ขอให้แก้ไขก่อนนํามาเสนอใหม่ หากมีมติเสียงข้างมากจากประเทศที่เป็นตัวแทนในคณะกรรมการมรดกโลก ก่อนขึ้นทะเบียนบัญชีรายชื่อมรดกโลกทางธรรมชาติอย่างเป็นทางการ

“ก่อนหน้านี้ องค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (IUCN) ได้มีข้อแนะนำให้คณะกรรมการมรดกโลกพิจารณาการขึ้นทะเบียนมรดกโลกทางธรรมชาติของผืนป่าแก่งกระจาน ด้วยการตรวจสอบเอกสารและข้อเท็จจริงจากหลายฝ่าย เนื่องจากมีการเสนอชื่อผืนป่าแก่งกระจานมาแล้ว 3 ครั้ง แต่แผนการประเมินสำหรับพื้นที่ดังกล่าวมีเพียงครั้งเดียวคือ ในปี 2014 โดยให้รัฐไทยกลับไปแก้ไขข้อกังวลเกี่ยวกับสิทธิอย่างเต็มที่ ต้องมีฉันทามติของการสนับสนุนการเสนอชื่อของพื้นที่จากชนพื้นเมืองและชุมชนท้องถิ่นที่ได้รับผลกระทบทั้งหมด

ประกอบกับคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ได้เสนอให้รัฐบาลไทยเลื่อนการขอขึ้นทะเบียน “ผืนป่าแก่งกระจาน” เป็นมรดกโลก เนื่องจากมีข้อห่วงกังวลถึงปัญหาสิทธิของกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงบางกลอยยังไม่ได้รับการแก้ไข โดยเสนอให้รัฐแก้ไขปัญหาด้านสิทธิในที่ดินทำกินดั้งเดิมของกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงบางกลอย และให้รัฐบาลชะลอการเสนอขึ้นทะเบียนกลุ่มป่าแก่งกระจานเป็นมรดกโลกทางธรรมชาติออกไปก่อน จนกว่าปัญหาดังกล่าวจะคลี่คลายและได้รับการยอมรับจากทุกภาคส่วน

อีกทั้งไม่กี่วันมานี้ (23 ก.ค. 2564) คณะผู้เชี่ยวชาญของ UN ได้ส่งคำเตือนที่เผยแพร่ผ่านทางเว็บไซต์ของสำนักงานข้าหลวงใหญ่ด้านสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ถึงคณะกรรมการมรดกโลก ให้มีมติยกเลิก การขอขึ้นทะเบียนผืนป่าแก่งกระจานเป็นมรดกโลกทางธรรมชาติ เหตุมีชนพื้นเมืองกะเหรี่ยงถูกละเมิดสิทธิในเขตอุทยานดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง ทั้งการบังคับอพยพ การเผาบ้าน รวมถึงแกนนำชาวบ้านถูกฆาตรกรรมหลังการควบคุมตัวของเจ้าหน้าที่อุทยาน รวมทั้งกรณีการจับกุมชาวบ้าน 28 รายเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ในข้อหาบุกรุกแผ้วถางที่ดินดั้งเดิม

“เรากังวลเป็นอย่างยิ่งว่าคณะกรรมการมรดกโลกของยูเนสโก้ได้รับรองพันธสัญญาต่อชนเผ่าพื้นเมืองไว้บนกระดาษ แต่ในความเป็นจริง ไม่มีวิธีการทำงานที่เปิดพื้นที่ให้ชนเผ่าพื้นเมืองเข้าไปมีส่วนร่วมอย่างมีประสิทธิภาพ และได้มีสิทธิ์มีเสียงในกระบวนการขอขึ้นทะเบียนมรดกโลก” คณะผู้เชี่ยวชาญของ UN” มูลนิธิฯ ” Cross Cultural Foundation (CrCF) กล่าว

เอกสารร่างมติคณะกรรมการมรดกโลกฉบับแก้ไข ฉบับที่ 44 COM 8B.7 ผืนป่าแก่งกระจาน ฉบับแปลภาษาไทย (ไม่ทางการ) : https://drive.google.com/…/1lDroF48jWYNA…/view…

เอกสารร่างมติคณะคณะกรรมการมรดกโลกฉบับแก้ไข ฉบับที่ 44 COM 8B.7 ผืนป่าแก่งกระจาน ฉบับภาษาอังกฤษ (ต้นฉบับ) : https://drive.google.com/…/19BZcBLP5WMRrHbLIxXG…/view…

 

 

ภาคีฯ แถลง “เลื่อนพิจารณา” – ประกาศชุมนุมหน้ากระทรวงฯ

ราว 15.00 น.วานนี้ ภาคีSaveบางกลอยได้ออกแถลงการณ์ออนไลน์เรียกร้องให้คณะกรรมการมรดกโลกเลื่อนการพิจารณาวาระแก่งกระจานขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก ด้วยเหตุผลรัฐบาลไทยยังไม่สามารถแก้ปัญหาสิทธิมนุษยชนที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ได้จริง 

ต่อมา ราว 22.00 น. ภาคีฯ ได้จัดกิจกรรมสนทนาแลกเปลี่ยนความเห็นสาธารณะผ่านคลับเฮ้าส์ในหัวข้อ “มรกดโลก (ต้อง)ไม่ใช่มรดกเลือด : ‘สิทธิมนุษชน’ ก่อนขึ้นทะเบียน” 

และราว 23.00 น. ภาคีฯ ได้ประกาศจัดการชุมนุมด้านหน้าสำนักงานกระทรวงทร้พยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) กรุงเทพฯ ในวันจันทร์ 26 ก.ค. 2564 ตั้งแต่เวลา 10.00 น. ภายใต้ชื่อ “มรดกโลก มรดกเลือด” เพื่อคัดค้านการขึ้นทะเบียนมรดกโลก กลุ่มป่าแก่งกระจาน

“​ภาคี #SAVEบางกลอย ไม่ได้มีเจตนาที่จะคัดค้านการขึ้นทะเบียนมรดกกลุ่มป่าแก่งกระจาน เพียงแต่เรามีความกังวลว่า การพิจารณามรดกโลกกลุ่มป่าแก่งกระจานในครั้งนี้จะเป็นการปฏิเสธสิทธิการอยู่อาศัยบนผืนดินบรรพบุรุษของชาวกะเหรี่ยงบางกลอยและชุมชนอื่น ๆ เราต้องการมรดกโลกที่มีแนวทางในการอนุรักษ์ธรรมชาติ ที่ควบคู่ไปกับการดำรงไว้ซึ่งคุณค่าทางวัฒนธรรมและชีวิตของผู้คนในพื้นที่ เราต้องการให้ระบบการเกษตรแบบไร่หมุนเวียนอันเป็นมรดกและรากเหง้าที่ส่งต่อมาแต่บรรพบุรุษได้รับการยอมรับและคุ้มครอง ให้การเป็นมรดกโลกนั้นควบคู่ไปกับการพัฒนาที่ยั่งยืน รวมถึงต้องการความชัดเจนในแนวทางการปฏิบัติต่อชาติพันธุ์ในพื้นที่ป่าแก่งกระจานตามหลักการสิทธิมนุษยชน ทั้งหมดทั้งมวล ก็เพื่อให้การขึ้นทะเบียนมรดกโลกนี้ ถูกบันทึกและถูกจดจำต่อสายตานานาอารยประเทศอย่างสง่างาม ชอบธรรม และสมศักดิ์ศรี

​เมื่อถึงวันนี้รัฐไทยยังไม่สามารถดำเนินการตามข้อเรียกร้องของชุมชนได้ และสถานการณ์กลับยังทวีความรุนแรงมากขึ้นทุกที ความจริงใจในการแก้ไขปัญหาไม่มี ขาดการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนและมองข้ามความสำคัญของหลักสิทธิมนุษยชนตามที่ UNESCO ยึดถือ ชาวบ้านชุมชนบ้านบางกลอยถูกละเลยจากรัฐไทยมายาวนาน ในวันนี้พวกเราปรารถนาการจะได้ถูกมองเห็นจากคณะกรรมการมรดกโลกและเพื่อนมนุษย์นานาประเทศใน UNESCO 

เราจึงขอส่งเสียงไปยังคณะกรรมการมรดกโลก และ UNESCO ว่า ต้องเลื่อนการพิจารณาขึ้นทะเบียนกลุ่มป่าแก่งกระจานไป รัฐไทยและคณะกรรมการมรดกโลกโดย UNESCO ต้องหยุดมรดกโลกที่ได้มาด้วยเลือด และคืนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ต่อกลุ่มชาติพันธุ์ นี่คือถ้อยแถลงจากชาวบ้าน และจากพวกเราในนามประชาชนคนไทยผู้รักความเป็นธรรมและเพื่อนร่วมโลก” 

แถลงการณ์ภาคีฯ ระบุ ซึ่งมี 9 บุคคลและองค์กรร่วมลงชื่อ รวมถึง มูลนิธิพัฒนาภาคเหนือ พชร คำชำนาญ สถาบันสร้างเสริมการจัดการทรัพยากรชุมชน สมัชชาประชาชนฅนเหนือล่าง ศูนย์เสริมสร้างองค์กรชาวบ้านเพื่อฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชนภาคเหนือล่าง( กป.อพช.นล.) วรภัทร วีรพัฒนคุปต์ อับดุลรอซัก เหมหวัง สภาองค์กรชุมชนจังหวัดสตูล และบัณฑิต​า อย่างดี

“พี่น้องบางกลอย ถูกไล่ออกจากบ้านเกิด การเดินทางกลับบ้าน  25 ปี แลกมาด้วยการถูกจับและดำเนินคดี

กระทรวงทรัพย์ฯ กลับเร่งผลักดันการขึ้นทะเบียนมรดกโลก โดยไม่สนใจวิถีชีวิต ของชนเผ่าพื้นเมือง อ้างเพียงว่า ได้ดูแลชาวบ้านอย่างดี แต่ผลที่เห็น คือ พี่น้องเราจำนวนมาก ไม่สามารถทำกินได้ เป็นโรคขาดสารอาหาร และเผชิญความยากลำบาก การต่อสู้ เพียงขอแค่ ได้กลับบ้านเกิด ก็ดูเป็นสิ่งที่ยากลำบาก 

ร่วมส่งเสียง บอกสังคมโลกว่า การขึ้นทะเบียนมรดกโลก ต้องเลื่อนออกไป จนกว่าจะมีการแก้ไขปัญหาร่วมกัน อย่างเป็นรูปธรรม” ภาคีฯ เรียกร้องผู้สนับสนุนข้อเรียกร้องให้มาร่วมการชุมนุม

 

(ภาพ : เครือข่ายกะเหรี่ยงเขตตะนาวศรี)

“เลื่อนพิจารณา” ข้อเสนอเครือข่ายกะเหรี่ยงฯ ถึงคณะกก.มรดกโลก

วานนี้ (25 กรกฎาคม 2564) เครือข่ายกะเหรี่ยงเขตตะนาวศรี หรือ ชุมชนชาติพันธุ์กะเหรี่ยงเขตพื้นที่ผืนป่าแก่งกระจาน 3 จังหวัด ได้แก่ ราชบุรี เพชรบุรี และประจวบคีรีขันธ์ จำนวน 20 ชุมชน เขียนหนังสือถึงศูนย์คณะกรรมการมรดกโลก ร้องขอเลื่อนพิจาณา – ปรับปรุงข้อกำหนด รัฐบาลไทยเสนอกับคณะกรรมการมรดกโลกเรื่องเสนอพื้นป่าแก่งกระจานเป็นมรดกโลก ที่กำลังถูกนำมาพิจารณาวันนี้ เวลา 11.30 น. (เวลากรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส)

“พวกเรามีความห่วงกังวลเกี่ยวกับข้อเสนอและแนวทางการจัดการของรัฐบาลไทยที่ได้จัดทำเสนอต่อคณะกรรมการ มรดกโลกเพื่อเข้าสู่การพิจารณาอนุมัติในวาระการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกครั้งนี้  พวกเราเห็นว่า   แม้คณะกรรมการมรดกโลกได้มีความเห็นและข้อเสนอแนะต่อรัฐบาลไทยเพื่อให้ดำเนินการปรับปรุงแก้ไขข้อเสนอและมาตรการที่จำเป็นสำหรับการพิจารณาเห็นชอบไว้หลายประการ  

โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้อกังวลเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนและสิทธิชุมชนของชนเผ่าพื้นเมืองในเขตผืนป่าแก่งกระจานเพื่อให้รัฐบาลไทยปรับปรุงมาตรการที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหาหรือข้อขัดแย้งที่เกิดขึ้นกับชุมชนพื้นเมืองกะเหรี่ยงในพื้นที่มรดกโลกว่า การดำเนินการจะกระทำไปด้วยการเคารพในสิทธิในการดำรงอยู่ คุณค่าในการดำรงรักษาวิถีชีวิต ประเพณี และวัฒนธรรมของชนเผ่าพื้นเมืองกะเหรี่ยง ตลอดจนการสร้างหลักประกันให้แนวทางการบริหารจัดการที่เกี่ยวข้องได้ดำเนินการไปโดยมีการปรึกษาหารือร่วมกันระหว่างหน่วยงานรัฐบาลกับชุมชนพื้นเมืองกะเหรี่ยงที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ ได้แก่ 

1.ความขัดแย้งระหว่าง  แนวคิดของหน่วยงานราชการไทยในการดูแลรักษาทรัพยากรป่าไม้กับแนวทางของวิถีวัฒนธรรมชุมชนพื้นเมืองกะเหรี่ยงในการอยู่ร่วมกันอย่างเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับทรัพยากรป่าไม้

2.ปัญหาการมีส่วนร่วมของชุมชนพื้นเมืองกะเหรี่ยงในพื้นที่ป่าแก่งกระจานในการยื่นขอขึ้นทะเบียนมรดกโลก

พวกเราเห็นว่าหากรัฐบาลไทยยังมิได้มีการทบทวนปรับปรุงแนวทางปฏิบัติในการแก้ไขปัญหาให้เป็นไปโดยถูกต้องเหมาะสม  การดำเนินการตามแนวทางที่ผ่านมาของรัฐบาลไทยจะยิ่งทำให้การจัดการผืนป่าแก่งกระจานของรัฐส่งผลให้การดำรงอยู่ของวิถีชนเผ่าพื้นเมืองกะเหรี่ยงในผืนป่าแก่งกระจานต้องสูญสลายไปอย่างไม่อาจแก้ไขได้  และจะทำให้เกิดผลกระทบต่อการดูแลรักษาทรัพยากรป่าไม้ให้สามารถดำรงอยู่และใช้ประโยชน์ได้อย่างยั่งยืน  เหมาะสมแก่การได้รับการยอมรับเป็นมรดกโลกต้องกระทบกระเทือนไปในที่สุดด้วย จึงมีข้อเสนอต่อคณะกรรมการมรดกโลกได้โปรดพิจารณาดำเนินการ ดังนี้

1.ขอให้เลื่อนการพิจารณาอนุมัติข้อเสนอการขึ้นทะเบียนกลุ่มป่าแก่งกระจานเป็นมรดกโลกของรัฐบาลไทย ออกไปจนกว่าจะได้มีมาตรการที่แน่นอนชัดเจนถึงการยอมรับในสิทธิของชนเผ่าพื้นเมืองกะเหรี่ยงในการดำรงชีวิตตามวิถีดั้งเดิมของตน  โดยเฉพาะอย่างยิ่งวิถีการทำเกษตรกรรมในผืนป่าอย่างยั่งยืนหรือวิถีไร่หมุนเวียน อันเป็นรากฐานของวิถีชีวิตวัฒนธรรมชาวกะเหรี่ยงทั้งหมด รวมตลอดทั้งสร้างกระบวนการที่เกี่ยวข้องกับการจัดการผืนป่าที่เสนอเป็นมรดกโลกด้วยการมีส่วนร่วมของชุมชนในการจัดการอย่างเป็นภาคีที่เท่าเทียม

2.ขอให้คณะกรรมการมรดกโลกเพิ่มเติมปรับปรุงข้อกำหนดและข้อเสนอแนะต่อรัฐบาลไทยในกระบวนการจัดการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งกับชุมชนท้องถิ่นพื้นเมืองชาวกะเหรี่ยง โดยอาศัยแนวทางของการรับรองคุ้มครองสิทธิของชนเผ่าพื้นเมืองตามพันธกรณีระหว่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าในเรื่องการคุกคามการดำรงอยู่ของชุมชนพื้นเมืองและปัญหาการดำเนินคดีเกี่ยวกับทรัพยากรป่าไม้ที่สมาชิกของชุมชนพื้นเมืองถูกกระทำอย่างไม่เป็นธรรม

พวกเราหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ข้อมูล ข้อเท็จจริง และข้อเรียกร้องของพวกเราที่นำเสนอต่อคณะกรรมการมรดกโลกในครั้งนี้จะได้รับการพิจารณาอย่างจริงจังโดยที่พวกเราเชื่อมั่นว่าในฐานะชนเผ่าพื้นเมืองที่มีความสำนึกว่าเรามีหน้าที่จะต้องดูแลทรัพยากรธรรมชาติอันเป็นสมบัติร่วมกันของประชากรทั้งหมดแห่งโลกนี้ มีจุดมุ่งหมายและภารกิจเดียวกันกับพวกท่านทั้งหลาย ที่จะยังคงรักษาทรัพยากรอันทรงคุณค่าเหล่านี้ไว้ให้ชนรุ่นต่อไปเป็นมรดกของโลกอย่างเต็มภาคภูมิ” 

ส่วนหนึ่งของเอกสาร “ข้อเสนอต่อกรณีการเสนอชื่อกลุ่มป่าแก่งกระจานเป็นมรดกโลกทางธรรมชาติของรัฐบาลไทยถึงคณะกรรมการมรดกโลก องค์กร และกลุ่มบุคคลที่เกี่ยวข้อง” โดยชุมชนพื้นเมืองกะเหรี่ยงในผืนป่าแก่งกระจาน ระบุ

 

(ภาพ : ภาคีSaveบางกลอย)
(ภาพ : ภาคีSaveบางกลอย)

แฟลชม็อบ หน้ากระทรวงทรัพยากรฯ 

ภาคีSaveบางกลอยราว 30 คนได้รวมตัวกันด้านหน้ากระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) กรุงเทพฯ เมื่อเวลาราว 10.00 น. ภายใต้ชื่อ “มรดกโลก มรดกเลือด คัดค้านการขึ้นทะเบียนมรดกโลก กลุ่มป่าแก่งกระจาน” ได้มีการทำกิจกรรมเชิงสัญญลักษณ์ต่าง ๆ รวมถึงการขว้างถุงสีแดงใส่ป้ายกระทรวงฯ ด้วยเหตุผลมีอย่างน้อย 3 ชีวิตต้องสูญเสียจากการต่อสู้เพื่อสิทธิและศักดิ์ของกลุ่มชาติพันธุ์บนผืนป่าแก่งกระจาน

เวลา 09.52 น. เจ้าหน้าที่ตำรวจอ่าน พ.ร.ก. ฉุกเฉิน อ้างสถานการณ์โควิด ยืนยันว่าต้องยุติการจัดกิจกรรมภายใน 30 นาที หากยังไม่สลายตัวจะดำเนินการตามกฎหมาย

หลังจากนั้น ธัชพงศ์ แกดำ ภาคี #SAVEบางกลอย ได้กล่าวต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจว่า ในระหว่างที่วันนี้รัฐบาลชุดนี้ล้มเหลว ไร้รัฐแล้ว มันจะมีผลมากว่าถ้าในอีกเดือนข้างหน้าไม่มีคนชื่อประยุทธ์ จันทร์โอชาอยู่แล้ว เจ้าหน้าที่ตำรวจพี่ทำหน้าที่ของพี่ไป อย่ามาขัดขวางการทำกิจกรรมของเรา ถ้าพี่ขัดขวางเราก็บอกได้คำเดียวว่าเราก็จะไม่มีจุดจบเหมือนกัน เราเตรียมกิจกรรมมาทำตามกำหนดการเรา เสร็จกิจกรรมเรากลับ ตอนนี้ขอทำกิจกรรมก่อน เมื่อใดก็ตามพี่ๆ ตำรวจคนไหนล้ำเส้นมาก็เจอกัน ก็ให้รู้ว่าประชาชนมาอย่างสันติแล้ว ถ้าพี่จะรับใช้นายของพี่ที่จะออกอยู่แล้ว ก็คิดเอา

“วันนี้ 16.00 น. จะมีการพิจารณาเรื่องมรดกโลก แต่ตอนนี้ยังมีการอ้าง พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ อ้างโควิด แต่เรื่องมรดกโลกเป็นเรื่องสำคัญ เพราะกระบวนการต่างๆ ยังไม่มีการแก้ไขปัญหาอย่างชัดเจน อยู่ดีๆ จะไปล็อกคอชาวบ้าน พี่ตำรวจที่นี่ก็เดือดร้อนไม่ต่างกับชาวบ้านหรอก แล้วอยู่ดีๆ มันมีคนฉวยโอกาสในการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกไง แล้วชาวบ้านที่เขาอยู่มาตั้งแต่บรรพบุรุษเขาจะอยู่ที่ไหน ผมก็ขอให้แก้ปัญหาก่อน เลื่อนไปก่อน ใช้สิทธิในนามประชาชนเต็มที่” ธัชพงศ์ แกดำ กล่าว

ต่อมาจึงเป็นกิจกรรมติดสติ๊กเกอร์บริเวณป้ายกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) และรั้วประตู ทส. โดยสติ๊กเกอร์มีข้อความเช่น ชาติพันธุ์ก็คือคน คุณกลับบ้านกี่ชั่วโมง คนบางกลอยไม่มีบ้านให้กลับ มรดกโลก มรดกเลือด เป็นต้น

จากนั้นได้มีการปราศรัยโจมตีการทำงานของกระทรวงฯ ต่อกรณีแก่งกระจาน

“กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเป็นกระทรวงที่เป็นเครื่องมือของผู้ขูดรีดผลประโยชน์จากทรัพยากร มันอ้างตัวเป็นหน่วยงานอนุรักษ์ และมันไปกวาดล้างพี่น้องชาติพันธุ์ เรื่องนี้ไม่ใช่แค่ความทุกข์ยากของพี่น้องบางกลอย แต่เป็นเรื่องของพี่น้องชาติพันธุ์ทุกเผ่ากับรัฐไทย เราจะใช้เลือดของพี่น้องชาติพันธุ์จัดการพวกมัน” ธัชพงศ์ แกดำ หนึ่งในแกนนำภาคีเซฟบางกลอยกล่าว

จากนั้นได้เกิดเหตุการณ์มีชายลักษณะคล้ายเจ้าหน้าที่ตำรวจนอกเครื่องแบบได้ถ่ายภาพและวิดีโอของผู้เข้าร่วมกิจกรรมไว้ เมื่อมีผู้ร่วมกิจกรรมสังเกตเห็นจึงได้มีการขอให้ชายคนนั้นลบภาพทิ้ง เกรงว่าจะมีการนำไปใช้เป็นหลักฐานในการดำเนินคดีภายหลัง ซึ่งชายคนดังกล่าวยังไม่ได้ลบภาพ และถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจในเครื่องแบบดึงตัวให้หลบเข้าไปด้านใน ทส. โดยไม่ได้มีการปะทะหรือเกิดความรุนแรงขึ้นกับผู้ร่วมกิจกรรมแต่อย่างใด

ในช่วงท้าย ผู้เข้าร่วมกิจกรรมได้ร่วมกันร้องเพลง “ใจแผ่นดิน” โดยวงดนตรี ไททศมิตร ก่อนจะประกาศยุติกิจกรรมในเวลา 11.15 น. ย้ำว่าจะติดตามผลการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกที่ประเทศจีนในเวลา 16.30 น. ตามเวลาประเทศไทย และพร้อมจะจัดกิจกรรมต่อเนื่องหากมีมติให้กลุ่มป่าแก่งกระจานสามารถขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกได้