ชาวลาหู่เครือข่ายป่าเชียงดาวร้องกสม. ถูกจับตรวจดีเอ็นเอโดยไม่มีข้อหา

ชุมชนลาหู่บ้านห้วยถ้ำ เครือข่ายดูแลป่าเชียงดาว ยื่น กสม. ร้องถูก 40 เจ้าหน้าที่บุกจับตรวจดีเอ็นเอคาหมู่บ้าน อ้างขยายผลขบวนการยาเสพติด ด้านนายอำเภอเชียงดาวยันทำตามหน้าที่ แต่ยอมรับมีชาวบ้านบางส่วนไม่ยินยอม เจ้าหน้าที่มูลนิธิผสานวัฒนธรรมชี้ “ละเมิดสิทธิ” เจ้าหน้าที่จะตรวจดีเอ็นเอได้ ต้องมีข้อหา-ความผิดเท่านั้น

ยื่นจดหมาย ร้องเรียน กสม. “เจ้าหน้าที่ละเมิดสิทธิ”

เมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2564 เวลา 11.00 น. ชาวบ้านห้วยถ้ำ บ้านแกน้อย หมู่ที่ 2 ตำบลเมืองนะ อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ ยื่นหนังสือถึง สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ร้องเรียนการปฎิบัติงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหาร และฝ่ายปกครอง สร้างความหวาดกลัวให้คนในชุมชน

แอฟู จะที ผู้ใหญ่บ้านห้วยถ้ำหมู่ 2 ต.เมืองนะ อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ เปิดเผยว่า การยื่นจดหมายครั้งนี้ สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ (22 กรกฎาคม 2564) เวลา 06.00 น. ได้มีทีมเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหาร และฝ่ายปกครอง การสนธิกำลังรวม 40 นาย เข้ามาที่หมู่บ้าน และเขาซึ่งเป็นผู้ใหญ่บ้านประกาศเรียกสมาชิกชุมชนมารวมตัวเพื่อทำการตรวจหาสารพันธุกรรม (DNA) โดยอ้างว่าเป็นคำสั่งของนายอำเภอเชียงดาวเพื่อขยายผลการจับกุมยาเสพติด และพบว่าขบวนการดังกล่าวมีความเชื่อมโยงถึงคนในหมู่บ้าน จากนั้นก็มีการตรวจ DNA ชาวบ้านรวม 51 ราย 

“หน่วยงานหลายฝ่ายมาเช้าบ้านยังไม่ตื่นก็มี เคาะประตูเรียกตื่น มาตรวจโรคโควิด ใครก็ตรวจอยู่ ถ้าอยากตรวจให้ไปที่ศาลาเลย เขาว่าอย่างนี้ 

เราไม่รู้ว่าจะไปตรวจ DNA พอตรวจเสร็จ ชาวบ้านพึ่งมารู้ว่าตรวจ DNA ก็กลัวกัน ตรวจไปได้ประมาณ 10 คน พอรู้แล้วว่าจะตรวจ DNA ก็ไม่อยากตรวจกันแล้ว ทางเจ้าหน้าที่ก็เอาชื่อข้อมูลมา คัดเอาแต่ผู้ชาย ให้ผู้นำหมู่บ้านประกาศตามสายตามรายชื่อ คนนี้ ๆ มาตรวจ ไปถึงบ้าน ไปค้นบ้านก็มี

ชาวบ้านรู้สึกกังวล ทำงานไม่ได้ปกติ กินข้าวก็ไม่ลง นอนก็ไม่หลับ คิดมากไปต่าง ๆ นานา มีทหารที่อยู่ใกล้หมู่บ้านเขาเข้ามาร่วมมาตรวจด้วย เราได้ยินข่าวว่าทหารคนหนึ่งติดโควิด อยู่ติดหมู่บ้านเรา ก็กังวลขึ้นไปอีก ชาวบ้านยังไม่มีอาการโควิด 19

ผมเลยเรียกชาวบ้านรวมกัน ให้ชาวบ้านพื้นที่ใกล้เคียง ช่วยทำเอกสาร ยื่นหนังสือถึงกสม. เมื่อวานซืน” แอฟู ย้อนเล่าเหตุการณ์

แอฟูเปิดเผยว่า บ้านห้วยถ้ำ มีประชากร 500 คน เป็นชุมชนที่มีกิจกรรมอนุรักษ์ฟื้นฟูป่าไม้ เช่น การทำแนวกันไฟ ฝายชะลอน้ำ ปลูกป่า โดยดำเนินการมากว่า 3 ปี แต่เนื่องจากติดสถานการณ์โควิด 19 หยุดกิจกรรม แต่เจ้าหน้าที่ มาตรวจ DNA กระทบจิดใตชุมชนหนัก ไม่กล้าทำกิจกรรมใดนอกชุมชนโดยเฉพาะในป่า ยกเว้นกิจกรรมในสวนในไร่

นายอำเภอยันทำตามหน้าที่ ยอมรับมีชาวบ้านไม่ยอม

ชัชวาลย์ พุทธโธ นายอำเภอเชียงดาว จ.เชียงใหม่ เปิดเผยว่ายืนยันปฎิบัติตามหน้าที่เป็นเรื่องของเจ้าหน้าที่ตำรวจสภ.นาหวาย และฝ่ายความมั่นคง ขณะที่ตรวจมีมาตราการป้องกันโควิด 19 ใส่ชุด PPE ป้องกันเชื้อโรค และด้านชาวบ้านก็ใส่แมสป้องกันขณะที่ตรวจ 

“เป็นเรื่องของเจ้าหน้าที่ตำรวจกำลังขยายผลการตรวจยาเสพติด ซึ่งเคยจับได้ที่อำเภอฝาง 7.6 แสนเม็ด แล้วมีการขยายผลคนขนเกี่ยวกับเรื่องคนกลุ่มน้อย สงสัยได้ว่ามีเหตุในพื้นที่เชียงดายอยู่ 2 ย่อมบ้าน หมู่ที่ 2 และหมู่ที่ 12 ที่เขาขอตรวจ เขาก็ขอทำหนังสือถึงนายอำเภอ นายอำเภอก็แจ้งไปที่ ท่านก็ให้อำนวยความสะดวก 

ตำรวจสภ.นาหวาย เขาก็แจ้งก่อนล่วงหน้านะ เพราะป้องกันความตื่นตระหนก จะเข้าไปดำเนินการเรื่องนี้ ให้แจ้งชาวบ้าน เป็นเรื่องของเครือข่ายยาเสพติด ตอนเช้า ๆ ก็เห็นไม่เป็นไรก็ไปตรวจมีบางคนเท่านั้นแหละ ที่ชาวบ้านไม่ได้ให้ความร่วมมือ 

ซึ่งเป็นเรื่องของฝ่ายความมั่นคง ซึ่งเขาไม่บอกหรอกว่าเขาจะไปขยายผลหน่วยงานไหน จุดไหนเขาเพียงแต่แค่ขอความร่วมมือไปตรวจ 2 หมู่บ้านนี้ ที่มันน่าจะเชื่อมโยง หรือเปล่าไม่รู้อาจจะเป็นชนเผ่าเดียวกัน ก็ไม่เห็นมีอะไร ชาวบ้านก็ยินให้ตรวจ จึงได้ตรวจ” ชัชวาลย์ กล่าว

“บังคับตรวจ DNA โดยไม่มีข้อหา ไม่ได้” มูลนิธิผสานวัฒนธรรมฯ ชี้

พรเพ็ญ ขจรเกียรติ ผู้อำนวยการมูลนิธิผสานวัฒนธรรม เปิดเผยว่า กรณีเชียงดาวที่อ้างว่าปราบปรามยาเสพติดมันไม่พิสูจน์ว่ามันเป็นผลกับอะไรเลย ไม่รู้ว่าเขาตรวจ DNA ไปตรวจอะไร ถ้าเป็นคดีอาญา เกี่ยวข้อง วัตถุพยานที่เกียวข้องคืออะไรไม่มีใครรู้ ปืน ระเบิด แล้ววัตถุพยาน ทำไมต้องมาตรวจชาวบ้าน

“เหตุเกิดขึ้นตั้งแต่วันที่ 21 กรกฎาคม มีชาวบ้านแจ้งภายหลังผู้ใหญ่บ้านประกาศบอกว่า วันพรุ่งนี้ให้มาศาลาอเนกประสงค์ เพราะว่าจะมีเจ้าหน้าฝ่ายปกครอง ซึ่งพี่ไม่ชัดเจนว่าเขาบอกไหมว่ามาตรวจ DNA ตอนเย็น ตอนเช้าชาวบ้านบางส่วนมา เรื่องที่มันเกิดขึ้น ตอน 6 โมงเช้า ชาวบ้านยังไม่ได้ตื่นนอนเลยบางส่วน แล้วเคาะประตูเรียกมารวมกันที่ศาลาเอนกประสงค์

มีเจ้าหน้าที่เอามารถมาแล้วเป็นสิบคัน เตรียมตัวดำเนินการอะไรบางอย่างแจกบัตรคิว เช็คชื่อ ให้เข้าคิวเข้าศาลาเอนกประสงคืตรวจDNA โดยสรุป ตรวจได้ประมาณ 51 คน เป็นลักษณะปิดล้อมหมู่บ้านไปเคาะตามบ้าน มารวมกัน ช่วงสายๆ มีชาวบ้านเยอะขึ้น มีการพูดคุยกันว่า เก็บทำไมเอาไปทำอะไร ถามไปว่าไม่ต้องให้ความร่วมมือได้ใช่ไหม ถามไปชาวบ้านก็เดินกลับบ้าน ไม่ถูกต้อง ละเมิดสิทธิ กลับบ้านไป ก็โดนตามอีกขู่ให้กลับมา ไม่มีบัตรคิว โดยภาพรวมบังคับให้ตรวจ

จดหมายฉบับดังกล่าวโยงมาที่ 21 กรกฎาคม เขาเรียกว่าขอความร่วมมือ ในนโยบายการปราบปรามยาเสพติด ชาวบ้านก็เห็นจดหมายนั้น บางส่วนให้ความร่วมมือลงชื่อ ตรวจเสร็จ ให้เซ็นชื่ออีกครั้ง กล่องใส่วัตถุพยานที่เป็น DNA พันไม้สำลี ให้ยืนถ่ายรูปด้วย เหมือนกับเราหนังสือของเราแล้วพร้อมกับคำยินยอม วัตถุพยาน

ไม่ถูกต้องตั้งแต่บังคับเก็บแล้ว แต่บังคับให้เขาถ่ายรูปเก็บวัตถุพยาน เราเหมือนตกเป็นผู้ต้องหา ซึ่งการใช้การตรวจ DNA ใช้เฉพาะกับผู้ต้องหาแล้ว ถูกจับคุมไปในชั้นพนักสอบสวนแล้ว ต้องตรวจ DNA เพื่อจะพิสูจน์พยานที่เกี่ยวข้องเพื่อที่ DNA จะตรวจสอบวัตถุ การกระทำความผิดได้

ยกตัวอย่างเช่น กรณีข่มขืน พนักงานสอบสวน สั่งให้ตรวจ DNA ได้ เพื่อที่จะเทียบว่าพิสูจน์ว่าเป็นความผิดแต่กรณีที่เกิดขึ้นเชียงดาวไม่มีใครเลยตกเป็นผู้ต้องหา ไม่มีเหตุบ่งชี้ว่า DNA ว่าจะใช้พิสูจน์ความผิดใด อาญาใด รูปแบบใด ไม่มีหมายค้น ชาวบ้านบอกไม่เห็น หมายค้นต้องเป็นหมายค้นบ้านแต่ละหลัง ไม่มีศาลไหนออกให้

การดำเนินการตรวจ DNA ในประเทศไทย มีกลุ่มถูกบังคับให้ตรวจเกิดขึ้นแล้ว ได้แก่ สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ บ้านบางกลอย อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี และ บ้านห้วยถ้ำ อ.เชียงดาว โดยละเว้นการบอกรายละเอียด ความผิดหลักการทางกฎหมายไม่มีพลังงานสอบสวน ไม่มีคดี เข้าข่ายการละเมิดสิทธิร่างกาย ส่งผลกระทบกำลังใจ ตอกย้ำศักดิ์ศรีความเป็นคน ของกลุ่มชนน้อย การดำเนินการกิจกรรมต่างๆที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อม” พรเพ็ญ กล่าว