จับเข่าคุยออนไลน์กับ เอมมี่ ซูซูกิ แฮริส (Emmy Suzuki Harris) ผู้อำนวยการภูมิภาคเอเชีย Change.org กัปตันผู้คุมทิศและทางของเรือที่ถูกออกแบบให้มีภารกิจสำคัญ “สร้างการเปลี่ยนแปลง” ด้วยแพลตฟอร์ม “รณรงค์ออนไลน์”
10 คำถามเพื่อสำรวจว่า 9 ปีที่ผ่านมา Change.org สำเร็จแค่ไหน อย่างไร และจะไปยังไงต่อ
เอมมี่ ซูซูกิ แฮริส (Emmy Suzuki Harris) (ภาพ : Change.org)
1.ทำงานด้านรณรงค์ออนไลน์มาตลอดเลยไหม ก่อนมาร่วมงานกับ change.org
เคยทำงานในตำแหน่งผู้อำนวยการ Change.org ประเทศญี่ปุ่น ก่อนหน้าที่จะร่วมงานกับ Change.org เคยอยู่ที่เมืองนิวยอร์ค สหรัฐอเมริกา ทำงานกับ Purpose.Com สนับสนุนพัฒนาศักยภาพขององค์กรที่ทำประโยชน์เพื่อสังคม ไม่ว่าจะเป็นโครงการหรือธุรกิจเพื่อสังคม
เริ่มงานแรกที่บริษัทที่ปรึกษาที่มีสาขาอยู่ทั่วโลก McKinsey และได้มีโอกาสทำงานรณรงค์ในแคมเปญหาเสียงของโอบาม่าเมื่อปี 2008 หลังจากที่เรียนจบจากมหาวิทยาลัยเยล สหรัฐอเมริกา
2.หากต้องแนะนำ Change.org ในหนึ่งนาที จะแนะนำว่าอย่างไร
Change.org คือเว็บไซต์ที่เปิดให้ใครก็ได้เข้ามาสร้างเรื่องรณรงค์แบบออนไลน์เพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงในเรื่องที่คิดว่าสำคัญ
ตัวเว็บไซต์ถูกออกแบบให้ทุกคนสามารถเป็นนักรณรงค์ได้ด้วยตัวเอง เป็นเหมือนพื้นที่สาธารณะให้คนที่มองเห็นปัญหาและอยากเปลี่ยนสิ่งรอบๆ ตัว ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเล็กหรือเรื่องใหญ่ เพราะงั้นก็จะเห็นแคมเปญบน Change.org มีมากมายหลากหลาย ตั้งแต่ประเด็นสัตว์ สิ่งแวดล้อม ความเป็นธรรมทางกฎหมาย สิทธิมนุษยชน ฯลฯ
เราอยากให้ Change.org เป็นพื้นที่ของคนธรรมดาได้ส่งเรียกร้องไปยังผู้มีอำนาจ แคมเปญรณรงค์บน Change.org จะเป็นจุดเริ่มต้นของกระบวนการเคลื่อนไหวทางสังคม จุดประกายให้เกิดการอภิปรายขึ้นในสังคม เกิดการรวมตัวของคนที่เห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย ผลักดันต่อเนื่อง เป็นพลังส่งถึงคนที่มีอำนาจที่จะเปลี่ยนเรื่องนั้นๆ
Change.org
เว็บไซต์เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลง เป็นพื้นที่ที่คนทั่วไปสามารถเริ่มการรณรงค์ ระดมพลังสนับสนุน และทำงานร่วมกับผู้มีอำนาจในการตัดสินใจเพื่อร่วมกันหาวิธีแก้ไขปัญหาต่างๆ
458,409,978 จำนวนผู้ใช้ทั่วโลก คลิกดูเรื่องราวรณรงค์ที่สำเร็จทั้งหมด เริ่มเรื่องรณรงค์
4 กลุ่มคนใช้งานหลักคือ
1. ผู้ริเริ่มการรณรงค์และผู้สนับสนุน : มากกว่า 200 ล้านคนจาก 196 ประเทศทั่วโลก
2. ผู้มีอำนาจตัดสินใจ : ภาครัฐบาลและภาคเอกชน
3. องค์กร : ภาครัฐบาลและภาคเอกชน ใช้สร้างความคืบหน้าในเรื่องรณรงค์ของตนเองและติดต่อสื่อสารกับผู้สนับสนุนรายใหม่ๆ
4. สื่อ : ใช้เสาะหาแหล่งข่าวที่มีอิทธิพลและเสนอข่าวที่ครอบคลุมการรณรงค์ต่างๆ หลายร้อยครั้งในแต่ละวัน
(ภาพ : Change.org)
3.เล่าให้ฟังหน่อยว่า Change.org มีที่มาที่ไปอย่างไร เริ่มเมื่อไร เข้ามาในเมืองไทยได้อย่างไร
เว็บไซต์ Change.org จดทะเบียนที่สหรัฐอเมริกาตั้งแต่ปี 2550 จัดเป็นธุรกิจประเภท Public Benefit Corporation: PBC ยึดมาตรฐานองค์กรที่ทำงานเพื่อสังคม ผู้ก่อตั้งคือ เบน แรทเทรย์ (Ben Rattray)
เบน แรทเทรย์ เรียนจบและมีแผนที่จะทำงานธนาคาร แต่น้องชายเขาออกมาเปิดตัวว่าเป็นเกย์แล้วก็โดนกระแสวิพากษ์วิจารณ์ต่างๆ นานา เขาเห็นน้องโดนโจมตีก็เศร้าแล้ว แต่เศร้ากว่าที่เห็นคนอื่นยืนดูเฉยๆ เขาเลยเบนเข็มเปิด Change.org ขึ้นมา ซึ่งเริ่มแรกเป็นบล็อกที่มีบทความข่าว ก่อนจะเปลี่ยนมาเป็นแพลตฟอร์มให้คนมาสร้างเรื่องรณรงค์และลงชื่อก่อนปรับเปลี่ยนรูปแบบจนกลายเป็นแบบที่เห็นอยู่ในปัจจุบัน
เราเห็นบริบทของสังคมตอนนี้ที่พื้นที่ส่งเสียงของประชาชนหดเล็กลงอย่างบางประเทศในเอเชีย และแอฟริกา เราจึงขยายงานให้ครอบคลุมในประเทศต่างๆ และรู้ว่าเรายิ่งต้องทำงานหนักให้ Change.org ได้เป็นพื้นที่สำหรับทุกคนได้แสดงออกและผลักดันสังคม โดย Change.org เองเข้ามาในประเทศไทยเมื่อปี 2555 รวมแล้วถึงวันนี้ก็อายุประมาณ 9 ขวบพอดี
4.ในด้านสิ่งแวดล้อม เราอยากสร้างการเปลี่ยนแปลงแบบไหนในสังคมไทย โดยเจตนารมย์ขององค์กร
จริงๆ แล้วบนแพลตฟอร์มของ Change.org ไม่ได้จำกัดเฉพาะประเด็นสิ่งแวดล้อม เราสนับสนุนพื้นที่ให้คนออกมาเรียกร้องในประเด็นที่สนใจ ไม่ว่าจะเป็นคนธรรมดา กลุ่มคน องค์กร ภาคี ฯลฯ เพราะฉะนั้น Change.org ไม่ได้เป็นคนกำหนดว่าจะต้องรณรงค์ประเด็นสิ่งแวดล้อมเรื่องไหนเป็นพิเศษ และ Change.org ก็ไม่ได้เป็นคนบอกว่าเรื่องไหนสำคัญกว่าเรื่องไหน คนในสังคมจะเป็นคนตัดสินใจเองว่าเรื่องไหนที่คิดว่าสำคัญ และจะเข้าร่วมเทคแอ็คชั่นลงชื่อในแคมเปญ หรือปล่อยผ่านไป หรือจะไปเริ่มแคมเปญใหม่เพื่อคัดค้านก็ทำได้เช่นกัน
ทุกความคิดเห็นมีพื้นที่บน Change.org เสมอ ตราบใดที่ไม่ละเมิดนโยบายหรือระเบียบชุมชนของเรา เช่น ไม่ผิดกฏหมายในประเทศ ยุยงให้เกิดความรุนแรง มีวาจาสร้างความเกลียดชัง และอื่นๆ
ที่ผ่านมา ประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมที่ผู้ใช้งาน Change.org ประเทศไทยสนใจ (หรือพอเป็นแคมเปญขึ้นมาก็ได้รับความสนใจ) มักจะเป็นเรื่องเกี่ยวกับการรักษาทรัพยากรสิ่งแวดล้อม พื้นที่สีเขียว สัตว์ป่า ธรรมชาติ เห็นได้หลากหลายแคมเปญ เช่น เรียกร้องให้ขึ้นทะเบียนสัตว์ป่าหายากให้เป็นสัตว์สงวน ขอให้ภาครัฐมีนโยบายยกเลิกการใช้ถุงพลาสติก ยกเลิกโครงการเมกะโปรเจกต์ที่จะไปทำลายทรัพยากร ความอุดมสมบูรณ์ของผืนดิน ผืนน้ำ และวิถีชีวิตของคนในชุมชน หรือแม้กระทั่งแคมเปญเรียกร้องไปยังภาคธุรกิจอย่างซูเปอร์มาร์เก็ตชั้นนำในไทยให้ยกเลิกขายสัตว์ทะเลตัวจิ๋วที่ยังโตไม่เต็มวัย
เราเห็นแคมเปญจำนวนมากในไทยมักจะเรียกร้องให้เปลี่ยนกฎหมาย เปลี่ยนนโยบาย แก้ปัญหาในเชิงระบบ ปิดเหมือง ฯลฯ ซึ่งเป็นแคมเปญที่ส่งผลต่อคนจำนวนมากและมักจะใช้เวลานาน ต่างจากหลาย ๆ ประเทศ เราจะเห็นแคมเปญที่อาศัยเรื่องเล่าจากประสบการณ์ส่วนตัวเยอะกว่า และเรียกร้องในเรื่องที่จะเป็นประโยชน์กับตัวเอง
แคมเปญเลิกขายสัตว์น้ำตัวจิ๋ว (ภาพ : Change.org)
5.มีตัวอย่างแคมเปญสิ่งแวดล้อมที่เรียกได้ว่าประสบความสำเร็จไหม มุมมอง change.org กับความสำเร็จเป็นอย่างไร
หลายคนจะคิดว่าเวลาทำแคมเปญบน Change.org จะจำกัดอยู่แค่การเรียกร้องกับเจ้าหน้าที่รัฐ หรือ นายกรัฐมนตรี ความจริงแล้วการเรียกร้องเกิดได้ในหลายระดับ ไม่ว่าจะเป็นหัวหน้าชุมชน หัวหน้าแผนก เจ้าขององค์กร ธุรกิจเอกชน ห้างร้านก็ถือเป็นผู้มีอำนาจเช่นกัน
ในประเทศไทย แคมเปญสิ่งแวดล้อมบน Change.org ที่เรียกร้องไปยังภาคเอกชนมีแนวโน้มที่จะได้รับการตอบรับและก็ไวเป็นพิเศษ ยกตัวอย่างเช่น
เลิกขายสัตว์น้ำตัวจิ๋วผ่าน E-Commerce ขายของชื่อดัง (change.org/Platu) แคมเปญนี้เรียกร้องให้ Shopee และ Lazada ออกนโยบายไม่ให้มีร้านค้าออนไลน์ขาย ‘ลูกปลาทู’ หรือ สัตว์น้ำวัยอ่อน เพื่อปิดช่องทางการจำหน่ายลูกปลาทูที่ยังไม่ทันจะได้โตเต็มวัย แต่ถูกจับขึ้นมาด้วยวิธีผิดๆ ตัดโอกาสให้ลูกปลาเติบโตขยายแพร่พันธุ์ แคมเปญนี้ใช้เวลาไม่ถึง 3 สัปดาห์ มีผู้ร่วมลงชื่อสนับสนุนกว่า 9 พันคน และก็ได้รับการตอบรับ
ส่วนแคมเปญอื่นๆ
ขอให้มีการขึ้นทะเบียนสัตว์หายากที่กำลังถูกคุกคามเป็นสัตว์สงวน ที่สำเร็จไปแล้วอย่าง ‘นกชนหิน’ (Change.org/SaveHornBill) เป็นแคมเปญที่เริ่มโดยมูลนิธิสืบนาคะเสถียร และ ‘วาฬบรูด้า’ (Change.org/SaveOurWhale) เป็นแคมเปญที่เริ่มโดย อ.ธรณ์ ธํารงนาวาสวัสดิ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านนิเวศน์ทางทะเล และรองคณบดี คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
หยุด พ.ร.บ. จีเอ็มโอ (change.org/noGMO) แคมเปญนี้เป็นความพยายามระงับการผ่านร่าง พ.ร.บ. ความปลอดภัยทางชีวภาพ หรือ พ.ร.บ. จีเอ็มโอ (GMO) ที่ผ่านมติครม. เมื่อวันที่ 25 พ.ย. 2558 เจ้าของแคมเปญ คุณอชิตศักดิ์ พรชวรณวิชญ์ ตั้งข้อสังเกตว่าร่างกฎหมายฉบับนี้ขาดการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนอย่างรุนแรง ถ้าผ่านจะเกิดหลายปัญหาตามมา อย่างการไม่ได้กำหนดผู้รับผิดชอบความเสียหายที่เกิดจากการปล่อยจีเอ็มโอสู่สิ่งแวดล้อม ไม่ได้บังคับให้ต้องประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม หรือทำประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ ฯลฯ การรณรงค์นี้มีผู้ร่วมสนับสนุน 20,045 คน และเมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2558 พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็ได้สั่งยกเลิกการพิจารณาร่างพ.ร.บ. จีเอ็มโอ ไป โดยให้เหตุผลว่าเพราะประชาชนไม่เห็นด้วย และเป็นกฎหมายที่ไม่เป็นประโยชน์
หรือจะเป็นแคมเปญที่เกิดขึ้นในชุมชนที่ร้องเรียนไปยังกทม. ก็ได้รับการตอบรับอย่าง…
การคัดค้านกทม. สร้างบ่อบำบัดน้ำเสียทับสวนเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษาฯ บางขุนนนท์ (Change.org/SaveBangKhunnonPark)
การคัดค้านการปิดสวนสาธารณะพระราม 3 เฉลิมพระเกียรติฯ (Change.org/rama3park)
เรื่องความสำเร็จของแคมเปญบน Change.org
ในหลายๆ ครั้งที่คนมักจะถามว่าลงชื่อไปแล้วประสบความสำเร็จไหม? ก่อนอื่นอยากให้ทำความเข้าใจคำว่า ‘แคมเปญประสบความสำเร็จ’ โดยเฉพาะในสังคมที่มีข้อจำกัดเยอะในการที่ประชาชนจะลุกขึ้นมาสร้างการเปลี่ยนแปลง อยากให้มองว่าการแสดงพลังด้วยการเทคแอ็คชั่นบน Change.org….
ไม่ว่าจะเป็นการสร้างแคมเปญ แชร์แคมเปญ หรือการร่วมลงชื่อ ทั้งหมดนี้เป็นจุดเริ่มต้นของการรณรงค์ จุดเริ่มต้นของบทสนทนาของคนที่อยากเปลี่ยน แล้วมาหาทางออกร่วมกัน สิ่งที่เกิดขึ้นระหว่างทางการรณรงค์คือ ผู้คนมากมายหันมาติดตามประเด็นนี้ และเริ่มเข้าใจประเด็นลึกซึ้งขึ้นเรื่อยๆ เป็น active citizens พร้อมขับเคลื่อนสังคมในเรื่องนั้นๆ
เมื่อใดก็ตามที่มีประเด็นนี้ขึ้นมาอีก ในภาพที่ใหญ่ขึ้นก็เท่ากับประชาชนได้สั่งสมพลังของตัวเองไปเรื่อยๆ สร้างวัฒนธรรมใหม่ที่ค่อยๆ กระทุ้งความไม่เป็นธรรมต่างๆ ในสังคมมากขึ้นทุกทีๆ จนผู้มีอำนาจตัดสินใจในเรื่องต่างๆ ไม่สามารถอยู่เฉยๆ ทำเป็นไม่สนได้อีกต่อไป”
(ภาพ : Change.org)
6.กลุ่มที่เข้ามาใช้งาน Change.org หลัก ๆ ตอนนี้เป็นกลุ่มไหนมากที่สุด เพราะอะไร
แต่ก่อนผู้ใช้งาน Change.org ในไทยจะเป็นกลุ่มคนวัยทำงาน แต่เมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมาผู้ใช้งานจะเป็นกลุ่มที่อายุน้อยลงเรื่อยๆ โดยเฉพาะหลังจากการเลือกตั้งครั้งล่าสุด ซึ่งเป็นการเลือกตั้งที่คนรุ่นใหม่จำนวนมากรอคอย และเมื่อผลของการเลือกตั้งไม่ได้เป็นอย่างที่คิดจึงออกมาส่งเสียงผ่านแคมเปญขอเรียกร้องให้มีการตรวจสอบการทำงานของ ก.ก.ต. ทำให้แคมเปญนี้เป็นแคมเปญที่มีลงร่วมลงชื่อมากที่สุดในประวัติศาสตร์ของ Change.org ประเทศไทย (มากกว่า 860k บน Change.org/EC) และหลังจากนั้น เราก็เห็นความเคลื่อนไหวของคนรุ่นใหม่อย่างต่อเนื่องในหลากหลายประเด็น
เราเห็นจากการมีแคมเปญเกี่ยวกับสิ่งที่เกิดขึ้นในโรงเรียน ในมหาวิทยาลัย อย่างการขอให้ร้านสะดวกซื้อในมหาวิทยาลัยเลิกแจกถุงพลาสติก หรือเรื่องการแยกขยะในโรงเรียน ขณะเดียวกัน เราก็เห็นคนรุ่นใหม่ออกมาส่งเสียงในประเด็นทางสังคม ความเป็นธรรมทางกฎหมาย การเมือง และ Freedom of speech เพิ่มมากขึ้นตามไปด้วย
(ภาพ : Change.org)
7.การรณรงค์ออนไลน์ในไทย ยุคกับรัฐบาลประยุทธ์เป็นอย่างไร มีปัญหาอุปสรรคไหม
เหมือนกับสังคมของคนในญี่ปุ่น แต่ก่อนเวลาเจอปัญหา เราก็มักจะบอกกับตัวเองว่า ‘อะไรก็ได้’ ‘ไม่เป็นไร’ และอาจเลือกที่จะปล่อยผ่าน แต่ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เราเห็นความเปลี่ยนแปลงของคนที่กล้าออกมาตั้งคำถาม เรียกร้องกับผู้มีอำนาจเพิ่มมากขึ้น พอๆ กับแคมเปญรณรงค์บน Change.org ที่มีจำนวนเพิ่มขึ้นๆ ทุกปี
แต่สิ่งที่เราไม่คาดคิดก็คือ เมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2563 กระทรวงดิจิตัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมปิดกั้นการเข้าถึง Change.org ทำให้ผู้ใช้งานในไทยไม่สามารถเข้าเว็บไซต์ได้ แม้คนจากประเทศอื่นๆ ทั่วโลกจะเข้า Change.org ได้ปกติก็ตาม ตลอดช่วงเวลานี้เราได้ทำงานอย่างหนัก เพื่อให้เว็บไซต์กลับมาสนับสนุนให้คนธรรมดาสามารถรวมพลังสร้างการเปลี่ยนแปลงในประเทศไทยได้ต่อไป เราได้ต่อสู้ตามกระบวนการทางกฎหมายไทยเพื่อให้เว็บไซต์กลับมาเปิดได้อีกครั้ง
หลังจากถูกปิดไปเป็นเวลากว่า 6 เดือน ศาลก็ได้มีคำสั่งให้ยกเลิกการปิดกั้น Change.org เพื่อคุ้มครองเสรีภาพในการติดต่อสื่อสาร ซึ่งเป็นสิทธิเสรีภาพของประชาชนตามรัฐธรรมนูญไทย และ Change.org ก็กลับมาใช้งานได้อีกครั้งเมื่อวันที่ 21 เมษายน 2564
เมื่อเว็บไซต์กลับมาใช้งานได้อีกครั้ง มีผู้ใช้งานมาตั้งแคมเปญเพิ่มขึ้น 297% (ต่อเดือน) เทียบกับช่วงก่อนเว็บถูกปิด ทำให้เห็นว่าผู้ใช้งานในประเทศไทยตื่นตัวและเลือกที่จะส่งเสียงแสดงพลังมากขึ้นอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน อาจเป็นเพราะช่วงเว็บไซต์โดนปิด พื้นที่ในการแสดงออกที่อาจจะมีน้อยอยู่แล้วหดลงไปอีก พอเว็บกลับมาเปิดเราจึงไม่แปลกใจที่เห็นการระเบิดพลังล้นหลาม
(ภาพ : Change.org)
8. การรณรงค์ออนไลน์ กับวิกฤตโควิดในไทยเป็นอย่างไร
เป็นเหมือนกันในหลายๆ ประเทศ หลังจากที่เจอกับวิกฤตโควิค-19 ผู้คนไปไหนมาไหนไม่ได้ บางประเทศมีคำสั่งล็อคดาวน์นานหลายเดือน ทำให้ต่างคนต่างใช้ชีวิตแบบ ‘New normal’ ทีแรกเราก็คิดว่าตรงนี้อาจเป็นอุปสรรคที่จะทำให้การรณรงค์โดยภาคประชาชนทำได้ยากขึ้น แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือ เราเห็นผู้คนมากมายเลือกใช้ช่องทางออนไลน์เพื่อขับเคลื่อนประเด็นต่างๆ ทั้งบน Change.org และผ่านโซเชียลมีเดียอื่นๆ ประกอบกับสถานการณ์ตอนนี้ที่ประเทศไทยกำลังเผชิญกับการระบาดระรอกใหญ่ และการล็อกดาวน์อีกครั้ง เราเห็นหลายแคมเปญสะท้อนความไม่พอใจขั้นสุดต่อการจัดการของรัฐบาล และหลายครั้ง การออกมาส่งเสียงผ่านแคมเปญผลักดันจนทำให้ผู้มีอำนาจไม่อาจนิ่งเฉย อย่างแคมเปญเรียกร้องให้กระจายหน้ากากอนามัยให้สถานพยาบาลเป็นลำดับแรก ขอให้ฉีดวัคซีนไฟเซอร์ให้บุคคลากรทางการแพทย์ ขอให้มีการเยียวยาเคสผู้ที่เสียชีวิตหลังจากการฉีดวัคซีน
นอกจากนี้ เราเห็นการรวมตัวของคุณหมอ บุคคลากรทางทางแพทย์ผ่านแคมเปญ ทั้งๆ ที่ปกติแล้วเรามักไม่ค่อยเห็นบุคคลากรหน้าด่านออกมาส่งเสียงบ่นแบบดังๆ (อาจด้วยข้อจำกัดในหน้าที่การงาน) แต่ก็เลือกที่จะใช้ Change.org เป็นช่องทางสื่อสาร และผลักดันจนได้รับการตอบรับ อย่างการเคลื่อนไหวของกลุ่ม ‘หมอไม่ทน’ เรียกร้องให้ปลดล็อคชุดตรวจโควิดให้ประชาชนตรวจเองได้ที่บ้าน (Change.org/SelfTestNow) ซึ่งล่าสุดก็เริ่มได้ยินข่าวดีจาก อย.
อยากให้ทุกคนที่เจอปัญหา เดือนร้อน เห็นความไม่เป็นธรรมเกิดขึ้นในสังคม ให้มอง Change.org เป็นพื้นที่ที่จะช่วยขับเคลื่อนบรรเทาความเดือดร้อน ทำให้ปัญหาได้รับการบอกต่อ และนำไปสู่การแก้ไข
ถ้าถามถึงกระแสตอบรับจากประชาชน ประเด็นรณรงค์ส่วนใหญ่ถ้าเกี่ยวกับโควิด-19 ก็จะได้รับความสนใจเป็นพิเศษ เพราะเป็นเรื่องที่ใกล้ตัว เกี่ยวกับความเป็นความตาย และเป็นเรื่องด่วน ไม่ว่าจะเป็นแคมเปญที่เกี่ยวกับการเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจาก นโยบายรัฐบาล วัคซีน หน้ากากอนามัย ฯลฯ
แต่เราก็อยากจะบอกว่าไม่ใช่ว่าแคมเปญในประเด็นอื่นๆ จะไม่มีพื้นที่บน Change.org ค่ะ
(ภาพ : Change.org)
9. ความท้าทายสำคัญของ Change.org คืออะไร อยากเห็นอะไรต่อจากนี้
Change.org ขับเคลื่อนด้วยพลังของผู้คน เราอยากสนับสนุนให้เกิดการบ่มเพาะของวัฒนธรรมและสังคมที่ประชาชนมีสิทธิ์พูด กล้าพูดในสิ่งที่เกี่ยวกับตัวเอง และเมื่อพูดแล้วก็ได้รับการรับฟัง สั่งสมพลังทำให้ผู้มีอำนาจรู้ว่าเป็น ‘หน้าที่’ ที่พวกเขาต้องมีความรับผิดชอบต่อเสียงของประชาชน
เราอยากย้ำว่า เสียงของทุกคนมีความหมาย และมันก็ช่วยขับเคลื่อนสังคมได้ ปัญหาเชิงโครงสร้างใหญ่ๆ กว่าจะเปลี่ยนได้อาจต้องใช้เวลา อาศัยคนหลายคนช่วยกระทุ้ง ทวงถาม บางทีอาจถูกผลักล้มบ้าง ก็ลุกขึ้นสู้ต่อ การอยู่เงียบๆ แล้วรอให้เกิดการเปลี่ยนแปลงไม่มีอยู่จริง ประสบการณ์สอนเราว่า เราต้อง speak up ในสิ่งที่เรารู้สึกว่ามันเป็นปัญหา speak up เพื่อสื่อสารไปยังผู้มีอำนาจ และ speak up เพื่อบอกเขาว่าถึงเวลาแล้วที่จะต้องเปลี่ยน และความเคลื่อนไหวในลักษณะนี้สามารถเกิดขึ้นได้บน Change.org สิ่งที่ท้าทายมากที่สุดสำหรับเราคือ การที่คนไม่เชื่อว่าตัวเองสามารถเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างการเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่ได้
10.ถ้าตอนนี้มีชาวบ้านที่กำลังประสบปัญหาเดือดร้อนสาหัสจากโครงการรัฐ เข้ามาถามคุณเอมมี่ว่า เขาควรจะใช้ช่องทางรณรงค์ออนไลน์ของ Change.org ไหม คุณเอมมี่จะตอบพวกเขาว่าอย่างไร
บางคนอาจจะคิดว่าเรื่องยากๆ ใหญ่ๆ ปัญหาเชิงโครงสร้าง การต่อสู้กับอำนาจที่ไม่เท่าเทียม วัฒนธรรมที่ฝังลึก ขนบธรรมเนียมที่มีมานา อย่างนี้ จะมาเรียกร้องบน Change.org แล้วจะเวิร์ครึเปล่า แคมเปญรณรงค์บน Change.org เป็นกระบวนการทางสังคม เราเห็นว่าในหลายครั้ง การเปลี่ยนแปลงอาจไม่ใช่ลักษณะจากหน้ามือเป็นหลังมือ เมื่อรัฐฯ ได้รับแรงกดดันจากประชาชน จากสื่อ จากโซเชียลมีเดียมากๆ เข้า มันได้ช่วยขยับเพดานของสังคมไปแล้ว ซึ่งสิ่งนี้เป็นกระบวนการที่มีพลังมาก ทำให้สังคมตั้งคำถามมากมาย วัฒนธรรมที่ฝังรากมานานแต่ไม่เข้ากับยุคสมัยก็อาจเริ่มสั่นคลอนและค่อยๆ เปลี่ยน ซึ่งการรณรงค์แบบ Change.org จะแตกต่างจากวิธีการร้องเรียนผ่านกระบวนการทางราชการหรือทางกฎหมาย แต่ก็สามารถทำไปคู่กันไปทั้งสองทางได้