เผยผลกระทบโลกร้อนต่อสถานการณ์น้ำในประเทศไทยล่าสุดอยู่ในระดับรุนแรง “ท่วม-แล้ง” แปรปรวนหนัก คาดการณ์ยากขึ้นเรื่อย ๆ แนวโน้มส่งผลกระทบเศรษฐกิจหนักขึ้น ชี้ควรรับเร่งรับมืออย่างเป็นระบบด้วยงานวิจัยและนวัตกรรม อาทิบรรเทาผลกระทบด้วย “แผนที่ความเสี่ยง”

เมื่อวันที่ 20 ก.ค. 2564 สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) จัดเสวนาออนไลน์ TSRI Talk “ววน.รับมือภัยแล้งและน้ำท่วม ปี 2564” ผลักดันการใช้ความรู้และเครือข่ายนักวิจัยและหน่วยงานในการขับเคลื่อนแก้ปัญหาภัยแล้งน้ำท่วม โดยเฉพาะวิกฤตในปัจจุบัน ช่วง 2-3 ปีมานี้ ปริมาณน้ำฝนในประเทศไทยได้รับผลกระทบจากสภาพอากาศแปรปรวน

“สกสว. มีเป้าหมายจะใช้ระบบวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) หนุนเสริม ให้วิกฤตภัยแล้งน้ำท่วมเป็นเหมือนเรื่องปกติที่เราสามารถรับมือได้ รู้วิธีบริหารจัดการ ให้เกิดความเสียหายกับประชาชน ชุมชน พื้นที่ น้อยที่สุด” รศ.ดร.ชนาธิป ผาริโน รองผอ.สกสว. กล่าวเปิด
การเสวนาดำเนินไปด้วยการนำเสนองผลงานวิจัยจากผู้เชี่ยวชาญด้านน้ำและการเกษตร ที่มีการนำไปใช้จริงในหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และนำไปสู่การระบุช่องโหว่ที่ยังขาดการหนุนเสริมทางวิชาการ เพื่อให้ตอบโจทย์สังคมมากที่สุด ประเด็นที่น่าสนใจคือเรื่องการพยากรณ์สถานการณ์น้ำในครึ่งปีนี้ และการคำณวนความเสี่ยงออกมาเป็นความเสียหายที่เป็นรูปธรรมมากขึ้น
เผยโลกร้อนกระทบไทยแรง สถานการณ์น้ำแปรปรวนหนัก ยากคาดการณ์
ดร.สุรเจตส์ บุญญาอรุณเนตร สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (สสน.) เผย สถานการณ์น้ำครึ่งหลังปี 64 มีลุ้นฝนตกหนัก ก.ย.-ต.ค เสนอกรมชลประทานเก็บทุกหยด เพื่อเตรียมรับมือหน้าแล้งปี 65 และย้ำความจำเป็นที่งานวิจัยต้องเข้มข้นขึ้น เพื่อรับมือ Climate Change ได้อย่างเต็มที่

สถานการณ์ปริมาณฝนในประเทศไทยมีความแปรปรวนมากขึ้นจากเดิมกว่าสิบปีก่อน ถือว่าเป็นภาวะ “New Normal” จาก Climate Change ก็ว่าได้ เช่นในปี 60 มีปริมาณฝนสูงกว่าค่าเฉลี่ยถึง 25% และในปี 62 ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยถึง 17% ถือเป็นการแปรปรวนที่รุนแรงอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน และภาวะแล้งนี้ยังคงต่อเนื่อง และส่งผลกระทบให้ครึ่งแรกของปี 64 ปริมาณน้ำฝนส่อภัยแล้ง ได้กำไรน้ำฝนแค่ในเดือนเม.ย.

ดร.สุรเจตส์รายงานผลการพยากรณ์ว่า จากการใช้โมเดลอุณหภูมิผิวน้ำทะเล เปรียบเทียบดัชนีสมุทรศาสตร์ของปีนี้กับปีที่ผ่านๆ มา พบว่าใกล้เคียงกับปี 51 มากที่สุด สรุปได้ว่าภาพรวมของปี 64 นี้จึงมีฝนมากกว่าปีก่อน และจะมีปริมาณฝนมากกว่าปกติในเดือน ก.ย. และ ต.ค. จึงเป็นโอกาสเดียวที่จะเก็บน้ำเอาไว้เป็นต้นทุนในปีต่อไป

ในส่วนของปริมาณน้ำเก็บกัก เลอศักดิ์ ริ้วตระกูลไพบูลย์ สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร รายงานปริมาณน้ำในอ่างเก็บว่า เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว สถานการณ์ดีขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาคอีสาน อีสานใต้ เกณฑ์น้ำตอนนี้ดี สูงกว่า 50% โดยรวมมีเพียงส่วนน้อยที่น่าเป็นห่วง
แนวโน้มกระทบเศรษฐกิจเสียหายหนัก หาทางบรรเทาด้วย “แผนที่ความเสี่ยง”
ในปี 64 นี้เศรษฐกิจไทยได้รับผลกระทบจาก COVID-19 อย่างมาก ผศ.ดร.พงษ์ศักดิ์ สุทธินนท์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ แสดงความคิดเห็นว่า เศรษฐกิจจะเสียหายไปมากกว่านี้ไม่ได้ จึงจำเป็นที่จะต้องลดผลกระทบจากภัยแล้ง-อุทกภัยให้ได้มากที่สุด ถ้าแม้ปริมาณฝนจะเป็นปัจจัยที่เราไม่สามารถควบคุมได้ สิ่งที่จัดการได้คือความเสี่ยงจากภัยที่จะเกิดขึ้น การประเมินความเสี่ยงที่แม่นยำและสามารถนำไปใช้งานได้ง่ายจึงจำเป็น
งานวิจัยของ ผศ.ดร.พงษ์ศักดิ์ คือารรวบรวมข้อมูลทางวิทยาศาสตร์และเศรษฐศาสตร์ออกมาเป็นแผนที่ความเสี่ยง ที่กำลังอยู่ในระหว่างการวิจัย ซึ่งแผนที่นี้จะช่วยให้หน่วยงานออกแบบการจัดการความเสี่ยงได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น และง่ายต่อการสื่อสารเพราะความเสี่ยงถูกประเมินออกมาในรูปแบบของจำนวนเงิน

จากตัวอย่างแผนที่ความเสี่ยงอุทกภัยของจังหวัดอยุธยาข้างต้น ด้านซ้ายแสดงความเสี่ยงในรายพื้นที่หากไม่มีมตรการรองรับ ซึ่งคำนวณแล้วเป็น 4,207 ล้านบาท หากมีการนำการประเมินความเสียงไปใช้ในเชิงนโยบาย เช่นการเปลี่ยนพันธุ์ข้าวในบริวเณที่ได้รับผลกระทบมาก เป็นพันธุ์ที่ทนน้ำท่วม ผลกระทบทางตรงจะเหลือแค่ 2,696 ล้านบาทเท่านั้น

สำหรับปี 2564 แม้ปริมาณน้ำฝนโดยรวมไม่ได้มากกว่าปกติ แต่ในเดือน ก.ย.-ต.ค มีแน้วโน้มที่ฝนจะตกหนัก ความเสียหายต่อข้าวนี้สามารถประเมินออกมาเป็นแผนที่ได้ดังภาพ และรวมเป็นมูลค่ากว่า 5,313 ล้านบาท (ข้อมูลเบื้องต้นที่ได้จากการวิจัยซึ่งยังไม่ใช่ผลสรุป) นี่ถือเป็นอีกตัวอย่างของการหนุนเสริมจากววน. เพื่อการสร้างนโยบายที่ตอบโจทย์ปัญหาได้ดีขึ้น