ลือสะพัดไทยเตรียมถอนตัวจากสมาชิก IUCN และถอนยื่นขอมรดกโลกแก่งกระจาน เหตุจากท่าที IUCN ต่อภารกิจดันแก่งกระจานของทส. ‘วราวุธ’ โต้ “ไม่จริง-ไม่มีมูล” อดีตคนวงในเผย “ไม่ชัดเจน-ไม่รู้”

ลือสะพัด วงในคนทำงาน
แหล่งข่าวที่น่าเชื่อถือเปิดเผยกับ GreenNews ว่า ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา มีข่าวลือสะพัดในแวดวงคนทำงานเกี่ยวข้องกับมรดกโลก ว่าประเทศไทยจะถอนตัวจากการเป็นสมาชิกองค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ (IUCN) รวมถึงจะถอนการเสนอป่าแก่งกระจานขึ้นเป็นมรดกโลก เนื่องจากไม่พอใจท่าทีของ IUCN กับกรณีดังกล่าว และหวั่นกระทบภาพพจน์ประเทศที่รายงาน IUCN ส่งคณะกรรมาการมรดกโลกล่าสุดระบุว่าไทยยังไม่ได้แก้ไขข้อกังวลเรื่องสิทธิกะเหรี่ยงบางกลอยให้สมบูรณ์
หน่วยงานรัฐที่เป็นตัวแทนประเทศไทยดำรงตำแหน่งสมาชิก IUCN อย่างเป็นทางการคือ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช หากข่าวลือเป็นจริง นั่นหมายความว่า กรมอุทยานฯ กำลังพิจารณาถอนสมาชิกสภาพดังกล่าว
บทบาทล่าสุดของ IUCN กับประเด็นแก่งกระจานนั้นเกิดขึ้นเมื่อปลายเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา IUCN ได้ทำความเห็นประกอบการพิจารณาของคณะกรรมมรดกโลก วิพากษ์ว่าประเทศไทยยังไม่พร้อมส่งผืนป่านี้ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกทางธรรมชาติ เนื่องจากยังมีข้อกังวลเรื่องสิทธิชาติพันธุ์กะเหรี่ยงในพื้นที่ ซึ่งแม้แก่งกระจานจะมีแนวโน้มผ่านเกณฑ์ด้านทรัพยากรธรรมชาติ แต่ข้อกังวลเรื่องคนกับป่ายังไม่ได้รับการแก้โดยสมบูรณ์
นอกจากนั้น IUCN ยังแสดงความกังวลว่าการเสนอชื่อคราวนี้ของไทยกินเวลาถึง 7 ปี และถูกตีกลับแล้วถึงสามครั้ง ซึ่งใช้เวลามากกว่ากระบวนการเสนอชื่อปกติสองเท่า แก่งกระจานทุกวันนี้อาจเปลี่ยนไปจนไกลจากข้อเสนอแรกเกี่ยวกับองค์ประกอบต่างๆ ที่ทำให้ผืนป่านี้มี “คุณค่าโดดเด่นเป็นสากล” อันเป็นหลักเกณฑ์ขึ้นเป็นมรดกโลก
IUCN เป็นหน่วยงานระดับสากลที่ได้รับการแต่งตั้งจากการประชุมมรดกโลกให้เป็น “องค์คณะที่ปรึกษา” (Advisory Bodies) ทำหน้าที่ประเมินคุณค่าของพื้นที่เสนอขึ้นเป็นมรดกโลกทางธรรมชาติ และให้ความเห็นประกอบการพิจารณาของคณะกรรมการมรดก
อย่างไรก็ตาม การตัดสินว่าพื้นที่หนึ่งได้ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกหรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของคณะกรรมการมรดกโลก ซึ่งมี 21 ประเทศสมาชิกหมุนเวียนกันเป็นคณะกรรมการ ปีนี้ประเทศไทยเป็นหนึ่งในนั้น พร้อมด้วยประเทศอื่นๆ เช่น จีน รัสเซีย อียิปต์ ออสเตรเลีย และซาอุดิอาระเบีย
ตัวแทนคนไทยที่นั่งเก้าอี้ดังกล่าว คือ สีหศักดิ์ พวงเหตุแก้ว อดีตนักการทูตไทย โดยมีรัฐมนตรีกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมกับกระทรวงวัฒนธรรมเป็นที่ปรึกษา พร้อมด้วยผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตามมติครม.

“ไม่จริง ไม่มีมูล” วราวุธโต้
วราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ให้สัมภาษณ์ GreenNews ว่าข่าวลือไทยถอนตัวนั้นไม่จริงและไม่มีมูล
“ไม่ได้ยินเกี่ยวกับข่าวลือดังกล่าวเลย ส่วนเรื่องเสนอแก่งกระจานเป็นมรดกโลก เราเดินหน้าต่อ 100% เกียร์ถอยหลังเขวี้ยงทิ้งไปแล้ว เราได้เสียงสนับสนุนจากประเทศสมาชิกพอสมควร”
“ประเด็นที่ IUCN ตั้งมา เราได้รับฟังและแก้ไขไปแล้ว เจ้าหน้าที่รัฐและภาคส่วนต่างๆ ทำงานกันอย่างเต็มที่ แต่สิ่งที่ชี้แจงไปแล้วบางประเด็นอาจไม่ถึงหูหรืออาจจะถึงหูแล้วแต่ไม่ได้รับฟัง ประเด็นที่ IUCN ทักมา เราพยายามจะตอบรับแก้ไขอย่างเต็มที่” เขากล่าว
“ผู้บริหารมองว่า IUCN ไม่ช่วยทส.มาหลายปี” เตือนใจตั้งข้อสังเกต
เตือนใจ ดีเทศน์ นักพัฒนาสังคมยุคบุกเบิกที่ได้รับรางวัลระดับสากล ตั้งข้อสังเกตว่าผู้บริหารทส.มองว่า IUCN ไม่ให้ความช่วยเหลือในการขึ้นแก่งกระจานเป็นมรดกโลกมาหลายปีแล้ว แม้ว่าทส.จะเป็นสมาชิกมานาน
“เราเห็นทาง IUCN ช่วยเรื่องนี้มาตลอด ช่วยชี้ว่าไทยบกพร่องอะไร ต้องแก้ไขอะไร แต่กระทรวงกลับมองว่านั้นไม่ใช่การช่วย สิ่งที่ IUCN ทำนั้นเป็นการช่วยที่สำคัญที่สุด เราต้องแก้ไขข้อบกพร่องของเรา ไม่ใช่โทษผู้ชี้ให้เห็นหรือขอให้ IUCN ปกปิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนกะเหรี่ยง”
เตือนใจชี้ว่า กลไก IUCN และกลไกสากลด้านการอนุรักษ์และสิทธิมนุษยชนอื่นๆ เช่น คณะทำงานพิเศษของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนสหประชาชาติ ซึ่งเคยท้วงไทยเรื่องสิทธิชาวกะเหรี่ยงบางกลอย นั้นมีน้ำหนักทางสังคมมากกว่าที่หน่วยงานไทยมอง
“ถ้าไทยถอนตัวจะเสียหน้ามาก ไม่ใช่แค่นายกหรือครม.แต่ทั้งประเทศ เพราะ IUCN เป็นกลไกที่ได้รับการยอมรับและไม่ได้รับผลกระทบอะไรหากไทยถอนตัว แต่ผู้ที่เดือดร้อนคือประเทศไทย เพราะเสียหายต่อภาพลักษณ์ทั้งเรื่องสิทธิมนุษยชนและการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นกระแสที่ทุกประเทศทั่วโลกต้องร่วมมือ”
“ไม่ชัดเจน เสียดายถ้าถอนจริง” จำเนียรให้ความเห็น
ดร.จำเนียร วรรัตน์ชัยพันธ์ ที่ปรึกษาอาวุโส IUCN ประเทศไทยและสถาบันสิ่งแวดล้อม ให้ความเห็นในฐานะส่วนตัวกับ GreenNews ว่า ข่าวลือดังกล่าวยังไม่ชัดเจนว่าจะเป็นจริงมากน้อยเพียงไร และไม่ชัดเจนว่าประเทศไทยจะถอนตัวในช่วงประชุมคณะกรรมการมรดกโลก 16 – 31 กรกฎาคมนี้ หรือไม่
“หากเป็นจริง นับเป็นเรื่องน่าเสียดายและน่าเสียใจอย่างยิ่ง เพราะประเทศไทยนับได้ว่าเป็นประเทศที่ตระหนักในการรักษาทรัพยากรธรรมชาติและความหลากหลายทางชีวภาพมาก อีกทั้งไทยยังเป็น 1 ในประเทศร่วมก่อตั้ง IUCN เมื่อเจ็ดสิบสามปีก่อน”
การเป็นสมาชิก IUCN ยังเป็นประโยชน์กับการรักษาสิ่งแวดล้อมในประเทศ เพราะเอื้อให้ดำเนินโครงการและเข้าถึงองค์ความรู้อนุรักษ์สิ่งแวดล้อมด้านต่างๆ มีโครงการกว่า 200 โครงการ เช่น พัฒนาเขาใหญ่ขึ้นเป็นอุทยานแห่งชาติแห่งแรกของไทยและต่อมาได้ขึ้นเป็นมรดกโลกทางธรรมชาติ สนับสนุนให้ไทยเป็นศูนย์กลางการวิจัยรักษาสปีชี่ส์และระบบนิเวศต่างๆ ดังนั้นเมื่อไทยลาออกจากการเป็นสมาชิก จะไม่ได้รับข้อมูลข่าวสารหรือเข้าร่วมประชุม IUCN ซึ่งมีสมาชิกมาจากกว่า 170 ประเทศและทำงานใกล้ชิดกับสหประชาชาติ (UN)
“ไทยเป็นที่ตั้งของสำนักงาน IUCN ประจำภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกเมื่อสามสิบปีก่อน การถอนตัวออกจากเป็นสมาชิก IUCN ย่อมกระทบกับสถานะในภูมิภาค แต่เมื่อเจ้าของบ้านไม่อยากให้อยู่จริง ก็ต้องหาบ้านใหม่” ดร.จำเนียร กล่าว
เขาตั้งข้อสังเกตว่า การตัดสินใจถอนตัวจากการเป็นสมาชิกของไทยนั้นย่อมต้องดำเนินไปในฐานะประเทศ จึงเป็นไปได้ที่จะมีมติครม.ออกมาในเรื่องนี้เพื่อเป็นการตัดสินใจร่วมในฐานะ “ประเทศไทย” มากกว่าหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งเท่านั้น
“เรื่องการขึ้นผืนป่าแก่งกระจานเป็นมรดกโลก ผมสนับสนุนเต็มที่และรู้สึกภูมิใจมากเพราะเพราะแก่งกระจานเป็นป่าที่สมบูรณ์และมีความหลากหลายทางชีวภาพสมบูรณ์มากที่สุดแห่งหนึ่งในเอเชีย จึงควรจะรักษาไว้ให้ลูกหลาน แต่การขึ้นเป็นมรดกโลกนั้นควรเป็นเจ้าของร่วมกันทั้งรัฐและชุมชน
การขึ้นเป็นมรดกโลกเป็นผลพลอยได้ที่จะรักษาไว้ซึ่งฐานะการอนุรักษ์และพยายามรักษาธรรมชาติที่ดีของเรา ถ้าเราได้ขึ้นทะเบียนนี้ย่อมเป็นสิ่งที่ดีต่อประเทศไทย ประชาสังคมไทยและชุมชน แต่การจะได้มาซึ่งมรดกโลกนี้ก็อยากให้ได้มาซึ่งศักดิ์ศรีอย่างภาคภูมิใจและร่วมกันเป็นเจ้าของมรดกโลกนี้ด้วยกัน ทั้งทางรัฐบาล ประชาสังคม และชุมชนด้วย” ดร.จำเนียร ว่า

“ไม่ทราบ ไม่มีความเห็น” ศศินเผย
GreenNews ได้สอบถามเรื่องข่าวลือนี้กับ ศศิน เฉลิมลาภ ประธานมูลนิธิสืบ นาคะเสถียร ซึ่งมูลนิธิฯ เป็นสมาชิก IUCN มาหลายปี เขาเผยว่า “ไม่ทราบข่าวลือคราวนี้”
IUCN นั้นมีสมาชิกทั้งหน่วยงานรัฐและองค์กรอนุรักษ์ต่างๆ มูลนิธิสืบฯ เป็นหนึ่งใน 10 องค์กรพัฒนาเอกชนไทย ศศินอธิบายว่าปัจจุบัน มูลนิธิไม่ได้เป็นสมาชิกแล้ว แต่สมาชิกสภาพยังอยู่ จึงมีรายชื่อปรากฏในฐานะสมาชิกบนเว็บ
เขาไม่มีความเห็นเกี่ยวกับการถอนตัวเป็นสมาชิกกลไกอนุรักษ์สากล และยืนยันว่ามูลนิธิสืบยังคงเดินหน้าทำงานอนุรักษ์ผืนป่าตะวันตกบริเวณห้วยขาแข้ง-ทุ่งใหญ่นเรศวร และประเด็นสิ่งแวดล้อมอื่นๆ อย่างต่อเนื่อง
วาระพิจารณาแก่งกระจานเป็นมรดกโลกมีกำหนดในการประชุมคณะกรรมการมรดกโลก 26 กรกฎาคมนี้