“ป่าไม้ที่ดิน-กม.เอ็นจีโอ” 2 เรื่องเร่งด่วนจากประชาสังคมถึง กสม.ชุด 4

นัดแรกประชุมออนไลน์ชื่นมื่น เครือข่ายประชาสังคมชี้กสม. ต้องกู้วิกฤตศรัทธาด้วยการทำงาน เสนอสองภารกิจเร่งด่วน กสม.ชุด 4  “ละเมิดสิทธิกรณีป่าไม้ที่ดิน-ร่างกฎหมายคุมเอ็นจีโอ” กสม. รับ “จะทำงานเชิงรุก แตะโครงสร้าง”

การประชุมออนไลน์กสม.พบประชาสังคม (ภาพ: กสม.)

นัดแรกออนไลน์ “กสม.พบเครือข่ายประชาสังคม”

วันศุกร์ที่ผ่านมา (16 ก.ค. 64) เวลา 9.30 น. สำนักงาน​คณะกรรมการ​สิทธิ​มนุษยชน​แห่งชาติ​ (กสม.)​ จัดประชุมรับฟังความเห็นจากเครือข่ายประชาสังคม การพบกันครั้งนี้ได้รับความสนใจอย่ามาก เป็นจำนวนกว่าร้อยคนที่เข้าร่วมทาง ZOOM และรับชมถ่ายทอดสดทางเพจของกสม. มีการแนะนำกรรมการและแถลงนโยบายคร่าวๆ จากนั้นจึงเปิดเวทีให้ผู้เข้าร่วมจากหลากหลายองค์กรได้ชี้แจงข้อเสนอแนะ และยังมีการรวบรวมความคิดเห็นผ่านทางข้อความและคอมเมนต์ในเฟซบุ๊กอีกจำนวนมาก 

พรประไพ กาญจนรินทร์ ประธานกสม.ชุดที่ 4 ได้ชี้แจงถึงนโยบายว่า ยุทธศาสตร์การทำงานของกสม.ชุดนี้จะเน้นการทำงานเชิงรุกด้วยความรวดเร็วและเป็นธรรม ส่งเสริมวัฒนธรรมสิทธิมนุษยชน พร้อมทั้งสนับสนุนกระบวนการความร่วมมือขององค์กรเครือข่ายทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งท่าทีที่เปิดรับและเป็นมิตรนี้ ตัวแทนเครือข่ายหลายคนเห็นว่าเป็นสัญญาณที่ดี และมีความคาดหวังว่ากสม. ชุดนี้จะกู้วิกฤตศรัทธาจากกสม. ชุดก่อน ไม่ได้เป็นเพียง “เสือกระดาษ” หรือ “เครื่องมือของรัฐ”

บรรยากาศการเปิดไมค์แสดงความเห็นเป็นไปอย่างราบรื่น ประเด็นที่ถูกยกขึ้นมามีความหลากหลาย ตั้งแต่การเรียกร้องให้กสม.พิจารณาเปลี่ยนโลโก้ไปเป็นแบบเดิม ทบทวนวิธีการตรวจสอบสถานการณ์สิทธิมนุษยชน ปรับปรุงยุทธศาสตร์ในการยกเลิกคำร้อง จนไปถึงการชี้ปัญหาด้านสิทธิมนุษยชนเป็นรายประเด็น อย่างไรก็ตามส่วนมากเห็นพ้องต้องกันในการผลักดันการแก้ไขโครงสร้างที่เป็นมรดกจากยุคคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และการเร่งตรวจสอบร่างพ.ร.บ.ส่งเสริมและพัฒนาองค์กรภาคประชาสังคม ที่กำลังดำเนินการอยู่ในรัฐสภา

“ละเมิดสิทธิกรณีป่าไม้ที่ดิน” ความเร่งด่วนแรก

การผลักดันการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างเป็นประเด็นหนึ่งที่หลายองค์กรให้ความสนใจ และกสม.เองก็แสดงท่าทีให้ความสำคัญ หนึ่งในโครงสร้างที่สร้างความกังวลและต้องการแก้ไขอย่างเร่งด่วนคือการทบทวนกฎหมาย “กว่า 500 ฉบับ” ที่ถูกตราในยุคคสช.ซึ่ง “ไม่ได้มาจากการมีส่วนร่วมของประชาชน และถือเป็นกฎหมายที่ละเมิดสิทธิตั้งแต่ต้น” เช่น คำสั่งคสช.ที่ให้อำนาจทหารเข้า “ทวงคืนผืนป่า” เพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้แก่ประเทศ

นอกจาก “แผนแม่บทป่าไม้” ใต้ยุทธศาสตร์ชาติ หรือ คำสั่ง คสช.ฉบับที่ 64/2557 และ 66/2557 ที่ได้กล่าวถึงข้างต้น ที่ทำให้เกิดความกังวลและเป็นเรื่องเร่งด่วยที่กสม.ควรให้ความสนใจ ยังมีพ.ร.บ.ป่าไม้ 3 ฉบับที่เพิ่งบังคับใช้ในปี 2562 ภายใต้รัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งแม้จะมีเจตนาให้รัฐและชุมชนบริหารจัดการป่าไม้ร่วมกันได้ แต่การใช้อำนาจยังคงรวมศูนย์อยู่ที่อธิบดีกรมป่าไม้และไม่ได้เปิดพื้นที่ให้ชุมชนมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง

“ประเทศไทยมีที่ดินทั้งหมด 321 ไร่ ถูกประกาศเป็นป่าไป 128 ไร่ ราวๆ 40-50% ได้ การทำให้คน 10-12 ลานคนผิดกฎหมายด้วยการประกาศเขตป่าไม้ เป็นการละเมิดสิทธิชุมชน ทั้งสิทธิที่ดิน สิทธิการพัฒนา และสิทธิในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ” ชัชวาลย์ ทองดีเลิศ เปิดประเด็นชี้แจงแก่ที่ประชุม 

“กฎหมายเหล่านี้ลบสิทธิชุมชนออกไปเลย ชุมชนดั้งเดิมถูกระบุว่าเป็นผู้บุกรุกในที่ดินของรัฐ ไม่มีสิทธิในที่ดินทำกิน จากเดิมที่เคยถกเถียงกันว่ากฎหมายหรือชุมชนมาก่อน ครั้งนี้มีการอาศัยจังหวะการรัฐประหารผ่านกฎหมายโดยสนช.ตีตราเลยว่าเป็นผู้บุกรุกทั้งหมด ทำให้เกิดผลกระทบในวงกว้าง” ณัฐวุฒิ อุปปะ หนึ่งในตัวแทนเครือข่ายกล่าวเสริม

“มากไปกว่าการละเมิดสิทธิชุมชน ละเมิดสิทธิมนุษยชน ยังส่งผลให้เกิดภาวะยากจนอย่างซับซ้อนและรุนแรง คนในชุมชนหลั่งไหลเข้ามาในเมือง ทำให้เกิดการแสวงหาผลประโยชน์ทางเพศและแรงงานเด็ก ต้องแก้เรื่องที่ดินก่อนจึงจะแก้ปัญหาเหล่านี้ได้” มัจฉา พรอินทร์ ตัวแทนจากองค์กรสร้างสรรค์อนาคตเยาวชน กล่าว

ปัญหาจากกฎหมายเกี่ยวกับที่ดินและป่าไม้ที่ยกตัวอย่างมานี้ มีผลกระทบต่อประชาชนเป็นวงกว้าง เครือข่ายประชาสังคมจึงมีข้อคิดเห็นเป็นเอกฉันท์ให้กสม. ตรวจสอบอย่างเร่งด่วน ประกอบกับวิกฤต COVID-19 ในปัจจุบัน ตัวแทนเครือข่ายหวังว่า “ชนบทจะเป็นหลังพิงสำคัญ ควรเร่งตรวจสอบ คืนที่ดินให้ประชาชน หลายแสนไร่นั้น จะกลายเป็นพื้นที่อาหารและยา” และเมื่อมีประชาชนย้ายกลับถิ่นมากชึ้นจากพิษเศรษฐกิจ การคืนที่ดินจะช่วยแก้ปัญหาที่ตามมาภายหลังวิกฤตคลี่คลายได้

“ร่างกฏหมายคุมเอ็นจีโอ” อีกความเร่งด่วน

ประเด็นร้อนอีกประเด็นของเครือข่ายภาคประชาสังคมคือการจับตาร่างพ.ร.บ. ส่งเสริมและพัฒนาองค์กรภาคประชาสังคม กฎหมายนี้นอกจากจะเป็นการละเมิดสิทธิแล้ว ยังจะส่งผลต่อการปฏิบัติงานของภาคประชาสังคมอย่างมาก 

“พ.ร.บ.นี้จะมาตัดแขนขาลมหายใจของสังคมในการมีส่วนร่วมกัน” จำนงค์ จิตนิรันดร์ กล่าว

“ร่างพ.ร.บ.นี้ จะมีการบังคับให้มีการจดแจ้ง แต่นิยามองค์กรไม่แสวงหากำไรกว้างขวางมาก และมีโทษทางอาญา ไม่ต่ำกว่า 5 ปีหากไม่ทำตาม ซึ่งโทษสูงมาก นอกจากนี้รัฐยังพยายามผลักดันอำนาจ ในการตรวจสอบและทำสำเนาข้อมูลคอมพิวเตอร์โดยไม่ต้องมีเหตุ ทำให้องค์กรประชาสังคมถูกละเมิดสิทธ์โดยไม่ต้องมีเหตุผล นี่เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรงสำหรับองค์กรภาคประชาสังคม” พูนสุข พูนสุขเจริญ ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนกล่าว 

“นี่จึงเป็นเรื่องเร่งด่วยที่หลายคนเห็นว่ากสม.ควรให้ความสำคัญ และควรเป็น ‘เจ้าภาพ’ ในการตรวจสอบและเสนอความคิดเห็นต่อรัฐ​ โดยเฉพาะในเรื่องการทำความเข้าใจองค์กรประชาสังคม หรือ NGO ใหม่ เนื่องจากมีความกังวลว่าในเนื้อหาของพ.ร.บ.ฉบับนี้ รัฐบาลมีทัศนคติเป็นลบกับ NGO มาก และสมาชิกสภายังขาดความเข้าใจ จึงต้องสื่อสารให้ความรู้มากขึ้น ผ่านการรวบรวมความคิดเห็นของเครือข่ายไปชี้แจงให้รัฐเห็นว่า กฎหมายนี้จะมีผลต่อประชาชนอย่างไร” ชลิดา ทาเจริญศักดิ์ มูลนิธิศักยภาพชุมชนเรียกร้อง

สุณัย ผาสุข ฮิวแมนไรท์ วอทช์ ประจำประเทศไทยแสดงความกังวลต่อเรื่องนี้ว่า

“สถานะของภาคประชาสังคม ที่กำลังถูกคุกคามอย่างมาก ถ้าพัฒนาการของสถานการณ์ยังไปในรูปแบบนี้ การประเมิณสถานการณ์สิทธิมนุษยชนของประเทศไทยจะอยู่ในสภาวะที่หนักหนาสาหัส นี่จึงเป็นโอกาสสำคัญ สำหรับกสม.ที่จะแสดงท่าทีที่ชัดเจน ในการคัดค้านความพยายามของรัฐบาลที่จะจับองค์กรภาคประชาสังคมไปอยู่ในกรงขัง ถ้าหากแสดงบทบาทนี้ได้ชัดเจน นอกจากจะเป็นคุณูปการที่จะทำให้ภาคประชาสังคมคงอยู่ได้ ยังจะเป็นเหมือนกับผลงานชิ้นโบว์แดงที่เวทีระหว่างประเทศจะให้การยอมรับว่ากสม. มีบทบาทในเชิงรุกจริงๆ ในการที่จะปกป้องให้พื้นที่ขององค์กรภาคประชาสังคมไม่ถูกคุกคามไม่ถูกปิดกั้นไปมากกว่าที่ผ่านๆมา

อยากเห็นการหนุนเสริมจากกสม.เข้ามามีบทบาทในเรื่องนี้ จะได้สอดรับกับท่าทีที่ผมชื่นชมมากในวันนี้ว่ากสม.แสดงบทบาทในเชิงรุกในเชิงเปิดกว้าง หวังว่าจะมี ตุ๊กตาให้เราเห็นผลงานโดยเร็ว คือการทำให้ร่างกฎหมายนี้ไม่สามารถเกิดขึ้นมาได้ในรูปแบบที่รัฐบาลต้องการให้เกิด ณ ตอนนี้” สุณัยกล่าว

“จะทำงานเชิงรุก แตะโครงสร้าง” กสม.

“ทุกๆ ความคิดเห็นในทุกช่องทางจะถูกนำมาพิจารณา หากมีประเด็นเร่งด่วนที่อยากให้กสม.ตรวจสอบสามารถยื่นคำร้องมาได้ในทุกช่องทาง

หลายเรื่องพี่ๆ น้องๆ พูดกันมาคือเรื่องที่เราอยากจะทำ สรุปง่ายๆ คือ เราจะทำเชิงรุก เชิงโครงสร้าง เราจะต้องเปลี่ยนทัศนคติและวัฒนธรรมในเรื่องสิทธิมนุษยชน เราจะต้องไปคุยกับเครือข่ายต่างๆ เพื่อให้เสียงของเรามีพลัง แล้วก็ช่วยขับเคลื่อนไปด้วยกัน มีประเด็นอีกเป็นร้อยที่เราจะต้องมีการไปคุยกันในรายละเอียดเชิงลึกในวงที่แคบลงมา นี่เป็นเพียงครั้งแรก เป็นเพียงจุดเริ่มต้น วันนี้ขอขอบคุณมิตรภาคประชาสังคมทุกๆ ท่าน ที่เข้ามาร่วมการหารือ ร่วมแสดงความคิดเห็นในเรื่องนี้ เราจะมีการคุยกันอีกอย่างต่อเนื่องแน่นอน” พรประไพ กล่าวปิดท้ายการพบและพูดคุยกันเป็นครั้งแรกผ่านช่องทางออนไลน์ ที่ใช้เวลาราวสามชั่วโมง