1.9 แสนล้านบาท ไทยออกตราสารหนี้ เดินหน้านโยบาย “การเงินสีเขียว” 

เลขาธิการ กลต.เผย ล่าสุดไทยได้ออกตราสารหนี้ประเภทนี้มาแล้วเป็นมูลค่ารวม 5.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 1.9 แสนล้านบาท) เพื่อเดินหน้านโยบายการเงินสีเขียว ระดมเงินจากตลาดเงินทุนให้แก่โครงการที่ช่วยพัฒนาสภาพแวดล้อมและสังคม 

 

การเงินสีเขียวในไทย

รื่นฤดี สุวรรณมงคล ​เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (กลต.) เปิดเผยว่า ปัจจุบันนี้ประเทศไทยได้ออกตราสารหนี้ประเภทนี้มาแล้วเป็นมูลค่ารวม 5.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 1.9 แสนล้านบาท) 

“ความสำคัญของตราสารหนี้​เพื่อสังคมที่เกี่ยวเนื่องกับกิจกรรมเพื่อสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืน คือตราสารหนี้เหล่านี้ช่วยระดมเงินจากตลาดเงินทุนให้แก่โครงการที่ช่วยพัฒนาสภาพแวดล้อมและสังคม” รื่นฤดีกล่าว

“เลขาธิการ กลต.เปิดเผยความคืบหน้านี้ในเวทีพูดคุยระหว่างผู้นำในแวดวงการเงินจากประเทศไทย เนเธอร์แลนด์ และ สหราชอาณาจักรที่จัดขึ้นเมื่อ 7 กรกฏาคม 2564ที่ผ่านมา ถึงบทบาทสำคัญของภาคการเงินในการช่วยแก้ไขปัญหาสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง ในงานเสวนาการเงินสีเขียวและการลงทุนเพื่อเศรษฐกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมในประเทศไทย (Green Finance and Investment for a Greener Economy in Thailand)” ข่าวแถลงสถานฑูตอังกฤษประจำประเทศไทย (กรุงเทพ) เผยแพร่วันนี้ (14 ก.ค. 2564) ระบุ

“เวทีนี้จัดขึ้นโดยสถานเอกอัครราชทูตเนเธอร์แลนด์ สถานเอกอัครราชทูตอังกฤษและธนาคารโลกประจำประเทศไทย เพื่อนำร่องก่อนที่สหราชอาณาจักรจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมสมัชชาประเทศภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิ​อากาศครั้งที่ 26 หรือ COP26 ณ เมืองกลาสโกว์ ในเดือนพฤศจิกายนปีนี้” ข่าวแถลงระบุ

 

อาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง (ภาพ : Prachachat.net)

 

“เป็นความท้าทายทางนโยบายการเงิน” รมว.คลัง

“โควิด-19 ได้ดึงเอาทรัพยากรต่าง ๆ ที่เรามีไปใช้เพื่อยุติการระบาดและลดผลกระทบที่เกิดจากโรค แต่ขณะเดียวกันเราต้องไม่มองข้ามวิกฤตที่มีมาก่อนแล้วอย่างการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศซึ่งยังคงเป็นความท้าทายต่อเศรษฐกิจและชีวิตของเราทุกคน” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง อาคม เติมพิทยาไพสิฐ กล่าวในพิธีเปิดงาน

รมว. คลัง และผู้บรรยายคนอื่น ๆ ได้เน้นย้ำถึงความสำคัญของภาคการเงินในการสนับสนุนด้านการเงินเพื่อการเปลี่ยนผ่านที่จำเป็นเพื่อบรรเทาและลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รวมทั้งการจัดการความเสี่ยงด้านการเงินที่อาจเกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศด้วย 

ตัวแทนจากธนาคารแห่งประเทศเนเธอร์แลนด์ Cindy van Oorschot กล่าวว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นภัยความเสี่ยงทั้งความเสี่ยงจากผลกระทบทางตรงของการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อม (Physical Risk)และความเสี่ยงจากการเปลี่ยนผ่านความเสี่ยงที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงนโยบาย (Transitional Risk) 

“แม้ว่าคุณจะยังไม่ปักใจเชื่อเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศหรือสาเหตุของมัน คุณก็ไม่อาจหลบเลี่ยงกฎระเบียบเพื่อแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศไปได้ ดังนั้นความเสี่ยงที่สินทรัพย์จะกลายเป็นสินทรัพย์ด้อยค่า (stranded assets) จึงมีอยู่จริงและนั่นคือความเสี่ยงจากการเปลี่ยนผ่านที่เราพูดถึง” Cindy van Oorschot กล่าว

 

 

การลงทุนสีเขียว ทิศที่โลกจะไป

งานเสวนานี้ชี้ให้เห็นแนวทางการแก้ไขปัญหาที่กระทำได้จริงหลายแนวทางที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบัน 

ผู้บรรยายจากบรรษัทเงินทุนระหว่างประเทศ (IFC) องค์กรส่งเสริมตราสารหนี้เพื่อสภาพภูมิอากาศ หรือ Climate Bond Initiative (CBI) และตลาดหลักทรัพย์ลอนดอนได้ยืนยันว่าความต้องการตราสารหนี้ประเภทนี้กำลังเพิ่มขึ้นทั่วโลกเนื่องจากนักลงทุนกำลังมองหาพอร์ตการลงทุนสีเขียวที่หลากหลาย

การวิเคราะห์และรายงานความเสี่ยงทางการเงินที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นอีกหนึ่งประเด็นสำคัญในการเงินสีเขียว สหราชอาณาจักรตั้งใจจะออกระเบียบกำหนดให้ทุกภาคในเศรษฐกิจต้องเปิดเผยข้อมูลตามระเบียบของคณะทำงานเพื่อการเปิดเผยข้อมูลความเสี่ยงทางการเงินที่เกี่ยวข้องกับสภาพภูมิอากาศ (Task Force on Climate-Related Financial Risk Disclosures – TCFD) ภายในปีพ.ศ.2568 

พีรจิต ปัทมสูต ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายกลยุทธ์สถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทยเน้นย้ำว่าการเปิดเผยข้อมูลดังกล่าวจะแสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นและความพยายามของธนาคารและองค์กรต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องเพื่อส่งเสริมความยั่งยืน

ผู้เข้าร่วมงานได้เน้นย้ำถึงความจำเป็นที่ทุกฝ่ายต้องร่วมมือกันและเรียกร้องให้รัฐบาลพัฒนาแนวทางและนโยบายอย่างจริงจังในการเปลี่ยนผ่านไปสู่เศรษฐกิจแบบคาร์บอนต่ำหรือเศรษฐกิจแบบปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) อาทิ การเพิ่มการใช้พลังงานทดแทน ซึ่งจะช่วยสร้างความชัดเจนและความมั่นใจแก่นักลงทุนว่าการลงทุนในด้านนี้จะให้ผลในระยะยาว มีผลกำไร และจะสามารถขับเคลื่อนนวัตกรรมอื่น ๆ รวมทั้งช่วยให้เครื่องมือในการแก้ไข บรรเทา และปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมีราคาถูกลงได้