มูลนิธิบูรณะนิเวศ (EARTH) แถลงเรียกร้องความรับผิดชอบจาก กระทรวงอุตสาหกกรรม-กรมโรงงานฯ กรณีเหตุระเบิดหมิงตี้ ชี้เป็นผู้อนุมัติตั้งโรงงาน-ขยายโรงงาน 15 เท่า ซึ่งอาจเป็นต้นเหตุสำคัญเหตุระเบิดดังกล่าว จี้เปิดเผยข้อมูลสาธารณะด่วน พร้อมเตรียมยื่นสภาฯ ดัน กม. PRTR
แถลงออนไลน์เรียกร้อง
วันนี้ (13 ก.ค. 64) เวลา 11.00 น. มูลนิธิบูรณะนิเวศ (EARTH) ได้เผยแพร่แถลงการณ์ผ่านช่องทางออนไลน์ ต่อกรณีเหตุระเบิดหมิงตี้ โดยชี้ว่ามีข้อสังเกตไม่ชอบมาพากลหลายประการที่สาธารณะควรได้รับการชี้แจงอย่างกระจ่าง จากหน่วยงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบโดยตรงอย่างกระทรวงอุตสาหกรรม โดยเฉพาะกรมโรงงาน พร้อมเปิดเผยว่ามูลนิธิฯ กำลังเตรียมยื่นจดหมายเรียกร้องถึงกระทรวงอุตสาหกรรม จี้กรมโรงงานฯ ให้ออกมาทำหน้าที่และแสดงความรับผิดชอบอย่างเป็นรูปธรรมในการแก้ปัญหา “กรณีหมิงตี้”
“ตั้งแต่เกิดเหตุการณ์วันแรกจนถึงวันนี้ กรมโรงงานฯ นิ่งเงียบมาก อยู่ข้างหลังกรมควบคุมมลพิษโดยตลอดทั้งที่กรณีนี้เป็นความรับผิดชอบของท่านโดยตรง ถึงเวลาที่กรมโรงงานฯ ต้องออกมาแสดงความกล้าหาญในเรื่องนี้” เพ็ญโฉม แซ่ตั้ง ผู้อำนวยการมูลนิธิ กล่าว
มูลนิธิฯ ได้เรียกร้องให้ รมว. อุตฯ ให้ทำหน้าที่สั่งการไปยังกรมโรงงานฯ ที่เป็นหน่วยงานในสังกัด ให้ออกมาแสดงความรับผิดชอบอย่างเป็นรูปธรรม
“หากไม่ทำก็ไม่ควรจะอยู่ในตำแหน่งต่อไป” เพ็ญโฉมกล่าว
หลายความไม่ชอบมาพากล
มูลนิธิฯ ตั้งข้อสังเกตว่า ทำไมโรงงานหมิงตี้ถึงได้รับอนุญาตให้ขยายกำลังการผลิต 15 เท่า โดย บจก.หมิงตี้ฯ ได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการผลิตเม็ดโฟม EPS (Expandable Polystyrene) และเริ่มกิจการในปี 2534 ด้วยกำลังการผลิต 2,400 ตันต่อปี (ประมาณวันละ 6.57 ตันต่อวัน) ต่อมาในปี 2562 กรมโรงงานฯ ได้อนุมัติให้โรงงานแห่งนี้ขยายกำลังการผลิต เป็น 36,000 ตันต่อปี (ประมาณ 98.63 ตันต่อวัน)
การอนุมัติครั้งนี้เกิดขึ้นทั้งๆ ที่เป็นโรงงานที่ใช้สารเคมีอันตรายหลายชนิด นอกจากสไตรีนโมโนเมอร์ (Styrene monomer) สารตั้งต้นในการผลิตเม็ดโฟมแล้ว มูลนิธิบูรณะนิเวศพบว่าต้องมีการใช้สารอีกหลายชนิดที่เป็นวัตถุระเบิด วัตถุไวไฟ สารที่มีพิษเฉียบพลัน สารที่มีอันตรายต่อสุขภาพ รวมถึงสารที่สามารถก่อให้เกิดโรคมะเร็งได้ การเพิ่มกำลังการผลิตกว่าสิบเท่าจึงเป็นการเพิ่มความเสี่ยงอย่างมากต่อชุมชนและทรัพย์สินโดยรอบพื้นที่จึงควรได้รับคำชี้แจงถึงเหตุผลในการอนุมัติ

มากไปกว่านั้น ผังเมืองบริเวณโรงงานถูกกำหนดเป็นเขตสีแดงตั้งแต่ 2544 มีชุมชนหนาแน่นโดยรอบ รวมถึงมีสนามบินนานาชาติสุวรรณภูมิเกิดขึ้น ซึ่งรันเวย์ของสนามบินอยู่ห่างจากที่ตั้งโรงงานไปทางด้านตะวันออกไม่ถึง 3 กิโลเมตร
“ถึงแม้ว่าโรงงานจะไม่ได้มีความผิดเพราะตั้งก่อนการประกาศผังเมือง แต่การที่กรมโรงงานอุตสาหกรรมยังคงอนุญาตให้โรงงานแห่งนี้ตั้งอยู่ที่เดิมได้นั้นผิดกฎหมาย เมื่อพิจารณากฎกระทรวงฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2535) ที่ระบุว่าโรงงานแบบหมิงตี้ฯ ต้องตั้งอยู่ในทำเลและสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม โดยไม่อาจก่อให้เกิดอันตรายหรือความเสียหายต่อผู้อื่น นี่จึงเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องการคำตอบ”
จากข้อสงสัยที่กล่าวมามูลนิธิจึงเรียกร้องให้ มีการสอบสวนข้อเท็จจริงของการอนุมัติการขยายกำลังการผลิตของโรงงานหมิงตี้ในปี 2562 และหากพบว่ามีเจ้าหน้าที่ภาครัฐละเลยในการปฏิบัติหน้าที่หรือกระทำการทุจริต ต้องมีการลงโทษอย่างเป็นธรรม
กรมฯ ต้องบังคับให้ หมิงตี้ รับผิดชอบความเสียหายทั้งหมด
ถึงแม้ว่าบริษัทหมิงตี้จะได้มีการออกแถลงการณ์แสดงความเสียใจต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นแล้ว ยังไม่มีการพูดถึงขั้นตอนการชดเชยค่าเสียหาย จึงเป็นหน้าที่ของกรมโรงงานฯ ที่ต้องแสดงความรับผิดชอบ ด้วยการใช้อำนาจบังคับให้บริษัทหมิงตี้ชดเชยค่าเสียหายทั้งเฉพาะหน้าและระยะยาว เช่น ค่ารักษาพยาบาลผู้ที่ได้รับบาดเจ็บ และค่าซ่อมแซมบ้านเรือนที่เสียหาย
นอกจากนี้ยังมีการเร่งให้กรมโรงงานฯ จัดตั้งกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและเยียวยาความเสียหาย เพื่อการดูแล รักษา และให้ความช่วยเหลือผลกระทบทั้งเฉพาะหน้าและระยะยาว หากไม่ได้กำกับให้บจก. หมิงตี้ฯ ออกมารับผิดชอบทันที กระทรวงอุตสาหกรรมต้องออกงบประมาณสำรองมาก่อน ไม่ใช่งบประมาณของหน่วยงานอื่น
มูลนิธิเน้นย้ำว่า กรมโรงงานฯ ต้องเป็นเจ้าภาพและประสานงานกับหน่วยงานด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อมเพื่อให้ความช่วยเหลือและเฝ้าระวังผลกระทบด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่องในระยะยาว ไม่ใช่โยนความรับผิดชอบให้หน่วยงานอื่นที่ไม่มีอำนาจสั่งการอย่าง กระทรวงสาธารณสุขหรือกระทรวงทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม
จี้เปิดเผยข้อมูลสาธารณะ เตรียมยื่นสภาฯ ดัน กม. PRTR
สัปดาห์ที่ผ่านมา จะเห็นได้ว่ามีการถกเถียงเกิดขึ้นมากมาย ทั้งในแวดวงวิชาการ และประชาชนทั่วไป ถึงหลายประเด็นที่คลุมเครือ และไม่อาจเข้าถึงข้อมูลได้ ทั้งๆ ที่สังคมควรรับรู้ในฐานะผู้มีส่วนได้ส่วนเสียร่วมกัน ทางมูลนิธิจึงมีการเรียกร้องให้เปิดเผยเอกสารที่เกี่ยวข้อง เช่น
- รายงานเกี่ยวกับการศึกษามาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมและความปลอดภัย ของบจก. หมิงตี้ฯ (โรงงานลำดับที่ 60) ซึ่งเข้าข่ายที่จะต้องทำ Mini EIA
- ใบอนุญาตขยายโรงงาน และใบอนุญาตประกอบกิจการ (โรงงานลำดับที่ 44) ซึ่งเป็นการผลิตเม็ดโฟม
- เอกสารที่เกี่ยวข้องตามระเบียบกรมโรงงานฯ ว่าด้วยหลักเกณฑ์การบ่งชี้อันตราย การประเมิณความเสี่ยง และการจัดทำแผนงานบริหารจัดการความเสี่ยง พ.ศ. 2543
- รายงานการศึกษา วิเคราะห์ และทบทวนการดำเนินงานในโรงงานพื่อบ่งชี้อันตราย และประเมิณความเสี่ยง
- รายงานวิเคราะห์ความเสี่ยงจากอันตรายที่อาจเกิดจากการประกอบกิจการโรงงาน ซึ่งมูลนิธิเห็นว่าควรจะปล่อยออกมาตั้งนานแล้ว
- บัญชีรายการสิ่งที่เป็นความเสี่ยงและอันตราย ซึ่งหมายถึงสารเคมีทั้งหมดที่มีการจัดเก็บอยู่ในโรงงาน และมีการใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิต
นอกจากนี้ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดอันตรายอย่างกรณี #ไฟไหม้โรงงานกิ่งแก้ว อีก มูลนิธิเสนอให้มีการปรับแก้กฎหมายที่เกี่ยวข้อง เช่น
- พระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ. 2562 เดิมมีการเสนอร่างกฎหมายที่ระบุว่าจะต้องมีการวางหลักประกันความเสี่ยงและมีการตั้งกองทุนรับรองความเสี่ยง เพื่อใช้จ่ายในกรณีที่เกิดความเสียหายจากการประกอบการของโรงงานอุตสาหกรรม แต่ถูกคณะกรรมการกฤษฎีกาตัดออกไป ทำให้ปัจจุบันไม่มีกรอบกฎหมายกำกับการดำเนินการ การหางบประมาณฟื้นฟูเยียวยาจึงไร้ทิศทาง
- กฎกระทรวง ฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2535) ต้องมีการแก้ไขปรับปรุงเรื่องสถานที่ตั้งของโรงงาน เพื่อให้ทันสมัย อย่างน้อยในเรื่องผังเมืองที่กำลังเป็นที่ถกเถียง
- ประกาศกระทรวงอุตสาหกรรมเรื่องการทำรายงานเกี่ยวกับการศึกษามาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมและความปลอดภัย พ.ศ. 2552 ถึงแม้จะมีการบังคับใช้ก่อนจะมีการขยายกำลังการผลิตแต่ไม่ครอบคลุมกิจการอย่าง บจก. หมิงตี้ ทำให้โรงงานอันตรายประเภทนี้ไม่ต้องทำ EIA หรือแม้แต่ Mini EIA จึงสมควรถูกพิจารณาใหม่และเพิ่มเติมให้ครอบคลุมมากขึ้น
นอกจากนี้ มูลนิธิบูรณะนิเวศยังได้เรียกร้องให้ทุกภาคส่วนร่วมผลักดันกฎหมาย PRTR ซึ่งมูลนิธิกำลังจะยื่นร่างต่อรัฐสภาอีกครั้ง เพื่อให้เป็นกลไกสำคัญที่จะป้องกันเหตุแบบกรณีระเบิดหมิงตี้ในอนาคต โดยเปิดเผยว่ามูลนิธิกำลังศึกษาและรวบรวมข้อมูลโรงงานที่มีลักษณะคล้ายบจก. หมิงตี้ฯ ว่ามีอยู่ที่บริเวณใดอีกบ้างซึ่งจะมีการแถลงข่าวอีกที ในเร็วๆ นี้