“ประยุทธ์” ปัดตกร่างพ.ร.บ.เปิดเผยข้อมูลสารเคมีในอุตสาหกรรม PRTR ด้วยอำนาจตามรัฐธรรมนูญพิจารณาพ.ร.บ.เกี่ยวข้องการเงิน ก้าวไกลเผย เตรียมระดมเสียงประชาชนลงชื่อส่งเข้าสภาอีกครั้ง ย้ำต้องสร้างความเชื่อใจระหว่างอุตสาหกรรมกับชุมชน
ไม่รับรอง ไม่ระบุเหตุผล
11.00 น. วันนี้ (7 กรกฎาคม 2564) พรรคก้าวไกลเผย ได้รับหนังสือแจ้งว่า นายกมีบัญชาไม่รับรองร่างพระราชบัญญัติการรายงานการปล่อยและการเคลื่อนย้ายสารมลพิษสู่สิ่งแวดล้อม พ.ศ…. หรือที่รู้จักกันในชื่อเล่น “ร่างกฎหมาย PRTR” (Pollutant Release and Transfer Registers) ซึ่งจะกำหนดให้อุตสาหกรรมเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับสารเคมีที่ปล่อยออกมาสู่สภาพแวดล้อม
“สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีได้นำร่างพ.ร.บ.ดังกล่าว พร้อมความเห็นของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวลด้อม กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงมหาดไทย กระทรวงการคลัง สำนักงบประมาณ และสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา กราบเรียนนายกรัฐมนตรีพิจารณาแล้ว มีบัญชีไม่รับรอง” เอกสารลงวันที่ 29 มิถุนายน ระบุ
ร่างกฎหมายดังกล่าวนับว่าเข้าข่ายร่างพ.ร.บ.เกี่ยวข้องกับการเงิน จึงต้องผ่านการพิจารณาจากนายกรัฐมนตรี ตามรัฐธรรมนูญ 2560
“เสียดาย เพราะร่างฯ นี้จะช่วยเรื่องสิ่งแวดล้อมค่อนข้างเยอะ หนทางเดียวที่จะพัฒนาอุตสาหกรรม เศรษฐกิจควบคู่กับสิ่งแวดล้อมคือต้องเกิดความเชื่อใจระหว่างอุตสาหกรรมกับชุมชน ความเชื่อใจเกิดขึ้นได้หากมีการเปิดเผยข้อมูลออกมาว่าโรงงานนี้ไม่ได้ปล่อยสารมลพิษหรือได้ปล่อยสารอะไรไปแล้วบ้าง ถ้าชุมชนเห็นข้อมูลนี้จะเกิดการตรวจสอบได้และอยู่ร่วมกันได้” วรภพ วิริยะโรจน์ ส.ส.ก้าวไกล ผู้เสนอร่าง แสดงความเห็น
วรภพชี้ว่ากฎหมายดังกล่าวเป็นกฎหมายที่สากลใช้มาระยะเวลาหนึ่งแล้วและได้รับการสนับสนุนจากสหประชาชาติ แม้จะไม่ได้เกิดเหตุการณ์ไฟไหม้โรงงานพลาสติกกิ่งแก้วเมื่อไม่กี่วันจนเป็นที่สนใจของสังคม กฎหมายเรื่องนี้ก็สำคัญกับสังคมไทย
“ปัจจุบันหนังสือที่แจ้งมาไม่ได้ระบุเหตุผลการไม่รับรองร่างฯ ทางพรรคจึงกำลังทำเรื่องขอเหตุผลเพิ่มเติม แต่ประสบการณ์ที่ผ่านมาเมื่อพรรคส่งเรื่องไป มักไม่ได้รับการชี้แจงเหตุผลกลับ”
“ก้าวไกล” เตรียมดันต่อ ด้วยกลไกเข้าชื่อเสนอกฏหมาย
สส.ก้าวไกล เปิดเผยต่อว่า พรรคก้าวไกลเล็งเห็นว่า กฎหมายนี้เป็นกฎหมายสำคัญที่จะต้องได้รับการผลักดันแม้จะถูกปัดตกจากนายกฯ อีกทางเลือกคือกลไกการเสนอกฎหมายด้วยการเข้าชื่อของภาคประชาชน
“เราเผยเตรียมเสนอร่างกฎหมายอีกครั้งผ่านกระบวนการเข้าชื่อสนับสนุนจากภาคประชาชน ควบคู่กับการเสนอแก้พ.ร.บ.โรงงาน 2562
บางมาตราของพรบ.โรงงานฯ เอื้อโรงงานอุตสาหกรรมให้ตั้งได้ง่าย โดยขาดการตรวจสอบอย่างรัดกุม เช่น กำหนดให้ใบอนุญาตโรงงานประกอบธุรกิจได้โดยไม่มีวันหมดอายุ และโรงงานขนาดต่ำกว่า 50 แรงม้าไม่ต้องขอใบอนุญาต” วรภพกล่าว
กฎหมาย PRTR คือทางออก “บูรณะนิเวศ” ชี้
“พ.ร.บ.PRTR” เป็นกฎหมายที่กลุ่มทำงานด้านสิ่งแวดล้อมในไทยได้รณรงค์มาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2553
มูลนิธิบูรณะนิเวศ ระบุว่า กฎหมายดังกล่าว จะทำให้การรายงานข้อมูลการใช้และปลดปล่อยสารพิษโปร่งใสและเป็นระบบมากขึ้น โดยกฎหมายจะกำเนิดให้แหล่งกำเนิดอย่างโรงงาน แหล่งกำจัดของเสีย การขนส่ง แจ้งชนิดและปริมาณของสารเคมีที่ปล่อยสู่สิ่งแวดล้อม (ดิน น้ำ อากาศ) ตามรายชื่อสารมลพิษที่กรมควบคุมมลพิษกำหนด
นอกจากนี้ หน่วยวิชาการของกระทรวงจะมีอำนาจและหน้าที่รวบรวมรายงานจากแหล่งกำเนิดและวิเคราะห์ ประเมิน และตรวจสอบความถูกต้อง เปิดเผยสู่สาธารณะให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลชนิดและปริมาณการปล่อยสารมลพิษของแต่ละแหล่ง ข้อมูลภาพรวมของแต่ละพื้นที่ของประเทศ และภาพรวมรายปี ได้ทางเว็บไซต์กระทรวง
“สิทธิของประชาชนในการเข้าถึงมลพิษที่ปล่อยสู่สิ่งแวดล้อมเป็นหลักการสำคัญที่สุดข้อหนึ่ง ที่จะนำไปสู่การจัดการสิ่งแวดล้อมที่มีประสิทธิภาพ”
