สผ.เผยโรงงานกิ่งแก้วไม่ได้ทำ EIA เพราะสร้างก่อนพ.ร.บ.สิ่งแวดล้อม นักวิชาการชี้ อันตรายเพราะกฎหมายเก่าอ่อน เสนอสำรวจโรงงานในชุมชน หาแนวทางป้องกันและย้ายเข้านิคม

ไม่ต้องทำ EIA เพราะสร้างก่อนพ.ร.บ.สิ่งแวดล้อม
วันนี้ (6 กรกฎาคม 2564) พิรุณ สัยยะสิทธิ์พานิช รองเลขาธิการสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ชี้แจงกรณีโรงงานผลิตเม็ดพลาสติกกิ่งแก้วระเบิดกับ GreenNews ว่า โรงงานผลิตโฟมและเม็ดพลาสติกหมิงตี้ที่ระเบิดไม่เข้าข่ายต้องจัดทำรายงานประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม (EIA) ก่อนขออนุญาตตั้งโรงงาน เนื่องจากเริ่มดำเนินกิจการในปี 2532 ก่อนหน้ากฎหมายกำหนดให้กิจการประเภทปิโตรเคมีต้องทำ ตามพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ.2535
ตรงกันข้ามกับคำอธิบายของ สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ที่ลงพื้นที่วันเกิดเหตุ (5 กรกฎาคม) และกล่าวว่าการจะตั้งโรงงานประเภทดังกล่าวจะต้องทำจัดทำ EIA และ EHIA
“เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น นายกรัฐมนตรีได้แสดงความเป็นห่วงอย่างมาก โดยได้สั่งการตั้งแต่ช่วงเกิดเหตุให้ผมลงพื้นที่ตรวจสอบว่าโรงงานประเภทดังกล่าว จากการตรวจสอบพบว่าทั่วประเทศมีโรงงานประกอบกิจการผลิตเม็ดโฟม ESP (Expandable Polystyrene) จำนวน 2 แห่ง คือ ที่จังหวัดสมุทรปราการ และโรงงานไออาร์พีซี ที่จังหวัดระยอง ซึ่งโรงงานแห่งนี้ได้เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2532 และได้ตั้งก่อนที่จะมีชุมชนเข้าไปตั้งในบริเวณใกล้เคียง ซึ่งการจะตั้งโรงงานประเภทนี้จะมีการทำ EIA และ EHIA อยู่แล้ว” สุริยะฯ กล่าว
ฐานข้อมูล EIA ของสผ.ไม่ปรากฎรายงานประเมินฯ ของโรงงานดังกล่าว ขณะที่โรงงานประเภทเดียวกันของไออาร์พีซีที่ตั้งขึ้นในปี 2534 ได้จัดทำ EIA ส่งสผ.เนื่องจากขยายกำลังการผลิตเพิ่มถึงเกณฑ์ต้องทำภายหลัง
กรมโรงงานระบุว่า โรงงานหมิงตี้มีกำลังการผลิต 36,000 ตัน/ปี ซึ่งเมื่อใช้หลักพิจารณาวันทำงานตามหลักเดียวกันกับของไออาร์พีซี (350 วัน/ปี) จะมีกำลังการผลิตประมาณ 102 ตัน/ปี เข้าข่ายต้องทำ EIA ตามกฎหมาย ซึ่งกำหนดสำหรับโรงงานมีกระบวนการผลิตทางเคมีเกิน 100 ตัน/วัน

อันตรายเมื่อไร้ EIA กฎหมายเก่าไม่รอบคอบ ประชาชนไม่รับรู้
“การไม่มี EIA ไม่ได้แปลว่าไม่มีการกำกับและดูแลความปลอดภัยทางสิ่งแวดล้อม สผ.เข้าใจว่า กรมโรงงานซึ่งมีอำนาจตามพ.ร.บ.โรงงานและพ.ร.บ.กำกับวัตถุอันตรายมีอำนาจดูแลโรงงานอยู่แล้ว ทั้งการประเมินความเสี่ยง การใช้สารอันตราย รายงานสิ่งแวดล้อมและความปลอดภัย” รองเลขาสผ.ชี้แจง
อย่างไรก็ตาม สนธิ คชวัฒน์ ผู้เชี่ยวชาญทางสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย ตั้งข้อสังเกตว่า การไม่มี EIA คือความเสี่ยงใหญ่เพราะเป็นกลไกที่เข้มงวดเรื่องผลกระทบที่ครบมิติ ที่สำคัญยังกำหนดให้ต้องทำประชาพิจารณ์กับประชาชนก่อนถึงจะทำโครงการได้
“โรงงานหมิงตี้ได้จัดทำรายงานการศึกษามาตรการป้องกันต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อม (Environmental Safety Assessment: ESA) และต้องรายงานผลตรวจสอบให้กรมโรงงานทราบทุกปี แต่ความเข้มข้นในมาตรการต่างๆ จะอ่อนด้อยกว่าในรายงาน EIA ค่อนข้างมาก”
เขาชี้ว่า EIA กำหนดให้ประเมินผลกระทบที่รอบด้านในหลายมิติมากกว่า เช่น ด้านกายภาพ ชีวภาพ สังคม สุขภาพ และเศรษฐกิจ ถ้ามีการเปลี่ยนกระบวนการผลิต จะต้องขอ EIA ใหม่ อีกทั้งยังให้หน่วยงานอื่นเป็นผู้จัดทำแบบประเมิน ขณะที่ ESA เป็นสิ่งที่เจ้าของโรงงานทำเอง โดยเขียนรายงานตามแบบฟอร์มของกรมโรงงาน ส่งให้เจ้าหน้าที่ของกรมโรงงานตรวจ
ที่สำคัญที่สุด EIA กำหนดให้ทำประชาพิจารณ์ รับฟังความเห็นคนในพื้นที่อย่างน้อย 2 ครั้ง/ปี ซึ่งหากประชาชนไม่เห็นด้วย สามารถคัดค้านหรือเรียกร้องเงื่อนไขเพิ่มเติมที่จะกำหนดให้ธุรกิจต้องปฏิบัติตามในท้ายใบอนุญาตประกอบกิจการ เช่น ปรับจนกว่าประชาชนจะมั่นใจหรือเปิดให้ใช้สิทธิตรวจสอบโรงงาน เยี่ยมชมโรงงาน 1 ครั้งต่อปี ในทางกลับกัน ESA มีแค่นำคำร้องกับแบบโรงงานไปติดประกาศไว้ที่หน่วยงานราชการ 30 วัน เช่น กำนันผู้ใหญ่บ้าน อุตสาหกรรมจังหวัด
“ถ้าไม่มีใครคัดค้าน ก็แสดงว่าประชาชนเห็นชอบ สามารถออกใบอนุญาตได้เลย ส่วนมากชาวบ้านบอกว่าไม่รู้เลยจนโรงงานมาตั้ง”
เมื่อกิจการเริ่มดำเนินการ EIA กำหนดให้ ต้องจ้างเอกชนที่ขึ้นทะเบียนกับสผ.มาตรวจสอบคุณภาพสิ่งแวดล้อมทั้งในและนอกโรงงานปีละ 2 ครั้ง ส่งหน่วยงานรัฐ และตรวจสอบว่าทำตามมาตรการลดผลกระทบหรือไม่ หากผลกระทบมากเกินเกณฑ์จะแก้ไขอย่างไร พร้อมตั้งคณะกรรมตรวจสอบ ซึ่งประกอบด้วยผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ทั้งหน่วยงานท้องถิ่น หน่วยงานส่วนกลางด้านสิ่งแวดล้อม และประชาชน
ปัจจุบัน โรงงานที่ทำ ESA กระทรวงอุตสาหกรรมจะส่งเจ้าหน้าที่มาประเมินความปลอดภัยประจำปี ซึ่งปีนี้ติดโควิด จึงให้โรงงานทำรายงานส่งเอง
“การทำ ESA นั้นไม่รอบคอบและเงื่อนไขนี้อยู่ยาวตลอดชีวิต เลยมีความเสี่ยงมากกว่าการทำ EIA”

สำรวจโรงงานในชุมชน หาแนวทางป้องกันและย้ายเข้านิคม
โรงงานหมิงตี้เป็นตัวอย่างของโรงงานเก่าก่อนกฎหมายกำหนดให้ทำ EIA สนธิชี้ว่ายังมีโรงงานแบบนี้อีกมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสมุทรปราการและสมุทรสาคร เช่น โรงงานเหล็กและหลอมพลาสติก
เขาเสนอว่า หน่วยงานรัฐต้องหาทางอุดช่องโหว่ทางกฎหมายนี้ โดยการสำรวจว่ามีโรงงานใกล้ชุมชนไหนบ้าง หาทางจูงใจให้ย้ายไปตั้งในเขตนิคมอุตสาหกรรม เช่น มาตรการลดหย่อนภาษี
หากยังไม่พร้อมย้ายออก อาจหาทางป้องกันอย่างทำแนวกันชนระหว่างเขตโรงงานกับชุมชน เช่น ปลูกต้นไม้และป้องกันกลิ่นดับสารเคมีรอบโรงงาน ตรวจสอบโรงงานอย่างเข้มงวด และควรเปิดให้ประชาชนมีส่วนร่วมรับรู้ถึงโรงงานใกล้บ้าน เนื่องจากกฎหมายผังเมืองออกมาเพียง 20 ปีก่อน จึงมีโรงงานตั้งใกล้พื้นที่ชุมชนอยู่อีกมาก
“ปัญหาคือบริษัทไม่ได้ทำผิดตามกฎหมายนะ แต่หน่วยงานราชการต้องทำงานให้เข้มงวดขึ้น กรณีหมิงตี้นี้ถือว่าเป็นบทเรียน”