ร่างจาก 3 ร่าง พรบ. ของ”สภาชนเผ่าฯ ศูนย์มานุษย์ฯ และกรรมาฯ กิจการกลุ่มชาติพันธุ์ฯ” เน้น “สิทธิชาติพันธุ์และพหุวัฒนธรรม” เพิ่มบทลงโทษการบั่นทอนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และ รองรับการประกาศ เขตวัฒนธรรมพิเศษอย่างมีส่วนร่วม รวมทั้งสิ้น 4 หมวด 51 มาตรา ..“ร่าง พรบ.ชาติพันธุ์ฉบับก้าวไกล” ความเคลื่อนไหวที่น่าจับตา

ยื่นประธานสภาฯ ก้าวสำคัญจาก ‘ก้าวไกล‘
9 มิถุนายน 2564 ที่ผ่านมา ณัฐวุฒิ บัวประทุม รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล ณัฐพงษ์ สืบศักดิ์วงศ์ และ มานพ คีรีภูวดล ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อสัดส่วนกลุ่มชาติพันธุ์ พรรคก้าวไกล ได้ยื่นร่างพรบ.ส่งเสริมและคุ้มครองกลุ่มชาติพันธุ์ฉบับก้าวไกล ถึงชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร และสุกิจ อัถโถปกรณ์ ที่ปรึกษาประธานสภาผู้แทนราษฎร
สืบเนื่องมาจากประเทศไทยมีร่างกฎหมาย พ.ร.บ.ชาติพันธุ์ ทั้งหมด 3 ฉบับ ร่าง พ.ร.บ. สภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย จัดทำโดยสภาชนเผ่าพื้นเมืองฯ ร่าง พ.ร.บ. คุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ โดยศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) ร่าง พ.ร.บ. ส่งเสริมและคุ้มครองกลุ่มชาติพันธุ์ ยกร่างโดยคณะกรรมาธิการกิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ ผู้พิการ กลุ่มชาติพันธุ์ และผู้มีความหลากหลายทางเพศ ซึ่งทั้ง 3 ฉบับอยู่ในขั้นตอนการเสนอและเตรียมรับฟังความคิดเห็น
ล่าสุด พรรคก้าวไกลได้มีมติเอกฉันท์ เสนอร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมและคุ้มครองกลุ่มชาติพันธุ์ ด้วยเหตุผล “เพื่อส่งเสริมความเท่าเทียม คืนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ให้กลุ่มพี่น้องชาติพันธุ์ ส่งเสริมความแตกต่างหลากหลายและการเคารพในวิถีชีวิต ภาษา ภูมิปัญญา และวัฒนธรรมที่เป็นเอกลักษณ์” และ สถานการณ์ปัจจุบันที่ยังไม่มีกฎหมายส่งเสริมและคุ้มครองกลุ่มชาติพันธุ์โดยตรง ส่งผลให้กลุ่มชาติพันธุ์ต้องเผชิญปัญหาด้านต่างๆ โดยเฉพาะปัญหาการขาดสิทธิทางวัฒนธรรม ขาดสิทธิทางทรัพยากร และปัญหาอคติทางสังคมต่อกลุ่มชาติพันธุ์
โดยสาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมและคุ้มครองกลุ่มชาติพันธุ์ ได้แก่
- ร่างขึ้นภายใต้หลักการในรัฐธรรมนูญที่รับรองสิทธิความหลากหลายของกลุ่มคนบนและภายใต้พื้นฐานเเนวคิดเรื่องพหุวัฒนธรรม ซึ่งเป็นพื้นฐานของสังคมไทยที่ประกอบด้วยกลุ่มคนหลากหลายไม่ต่ำกว่า 60 ชาติพันธุ์ เพื่อให้มีพื้นที่ มีที่ยืน มีตัวตนเเละมีศักดิ์ศรี และมีกฎหมายเพื่อเป็นเครื่องมือในการคุ้มครองศักดิ์ศรีและสิทธิเหล่านี้
- ให้มีคณะกรรมการที่มีองค์ประกอบจากกลุ่มชาติพันธ์ุเเละหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อจัดทำยุทธศาสตร์
- ให้มี ‘สภาชาติพันธุ์’ เพื่อที่จะเป็นกลไกในการประสานงานกับหน่วยราชการหรือเอกชนที่เกี่ยวข้อง โดยมีหน้าที่กำหนดทิศทางเเละอัตลักษณ์ตัวตน หรือวิถีชีวิตที่สอดคล้องตามพื้นที่ตามความเชื่อ
- ร่างกฎหมายฉบับนี้จะไม่มีบทลงโทษทางอาญาในกรณีที่มีการกระทำตามพระราชบัญญัติ เนื่องจากต้องการมุ่งเน้นที่การส่งเสริมเเละสร้างความเข้าใจในสังคม

เน้น ‘สิทธิชาติพันธุ์’ และ ‘พหุวัฒนธรรม’
ค่ำวันที่ยื่นร่าง พรบ. ต่อประธานสภาฯ มานพ คีรีภูวดล ส.ส. ก้าวไกลได้ให้สัมภาษณ์ในไลฟ์สดกับ สื่อชนเผ่าพื้นเมือง IMN ชี้แจงว่า การเสนอกฎหมาย พรบ.คุ้มครองชาติพันธุ์ฉบับก้าวไกลเป็นฉบับที่สี่ หลังการยกร่างพรบ.คุ้มครองชาติพันธุ์โดยสภาชนเผ่าพื้นเมือง ร่างที่สองของคณะกรรมมาธิการส่วนเด็กสตรี เยาวชน ผู้สูงอายุ ผู้พิการ กลุ่มชาติพันธุ์และผู้มีความหลากหลายทางเพศ และร่างที่สามของรัฐบาล กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ซึ่งมอบหมายโดยให้ศูนย์มนุษยวิทยาดำเนินการ
“เท่าที่ทราบตอนนี้ก็มีอยู่ 4 ร่าง ผมยังไม่แน่ใจว่ามีพรรคอื่นเสนอร่างพรบ.ตัวนี้อีกด้วยไหม ต้นเรื่องจริงๆ สภาชนเผ่าพื้นเมืองที่ได้ยกร่างตั้งแต่ปี 2553-2555 ผ่านมายาวนาน เรื่องของพรบ.สภาชนเผ่าพื้นเมือง พัฒนาการไปเรื่อยๆ
ผมต้องเรียนอย่างนี้ พรรคก้าวไกลตอนที่เป็นอนาคตใหม่ เรายืนหยัดตามแนวคิดตามอุดมการณ์ของพรรคว่าจะต้องมีพื้นที่ให้ทุกคนที่หลากหลาย การมีตัวตนของชาติพันธุ์จึงได้มีเครือข่ายชาติพันธุ์ขึ้นมา ในการแถลงนโยบายย่อยตอนนั้น ท่านปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า ได้พูดชัดเจนว่าจะผลักดันนโยบายเรื่องพรบ.ชาติพันธุ์สภาชนเผ่าพื้นเมือง นั่นเป็นเหตุผลในส่วนของพรรคก้าวไกลที่ผลักดันเรื่องนี้
อีกส่วนสำคัญ รัฐธรรมนูญเขียนไว้อย่างชัดเจนสิทธิชาติพันธุ์ แต่ว่ายังขาดคำว่าชนเผ่าพื้นเมือง การแถลงของนายกรัฐมนตรี รัฐบาลก็ได้พูดถึงเรื่องนี้ รัฐบาลเองก็ได้ลงนามข้อตกลงในระดับสากล ข้อตกลงสหประชาชาติว่าด้วยเรื่องของชนเผ่าพื้นเมือง แล้วอีกหลายข้อตกลงที่เกี่ยวข้องกับชนเผ่าพื้นเมือง
เหตุผลสำคัญ ในเชิงพื้นที่ประเทศไทย สังคมไทยประกอบด้วยพหุวัฒนธรรม ข้อมูลทางวิชาการ มีชนเผ่า ชาติพันธุ์ที่ดำรงอยู่ในสังคมไทย ในนามคนไทยสัญชาติไทย มีหลายเชื้อสายหลายเชื้อชาติ ไม่ต่ำกว่า 60 ชาติพันธุ์
การที่จะมีกฎหมายรองรับนโยบายชัดเจน รองรับสถานะของกลุ่มพี่น้องชาติพันธุ์ ยอมรับการมีตัวตนดำรงอยู่ของชนพื้นเมืองให้มีศักดิ์มีศรีทั้งในแง่ของสิทธิมนุษยชน ทั้งในแง่ของหลักรัฐธรรมนูญ นิติบัญญัติ กฎหมายนั้นสำคัญ นั่นคือเหตุผลทั้งหมดที่พวกเราในพรรคก้าวไกลมีเจตจำนงค์ และทำให้ที่ประชุมสส.ของพรรคเห็นชอบให้พรรคมีการเสนอพรบ.ชาติพันธุ์
ในเชิงสาระสำคัญของเนื้อหา ไม่มีความแตกต่างมากมาย (กับอีก 3 ร่าง) แต่อาจมีรายละเอียดบางประการที่แตกต่าง โดยรวมแล้ว ทุกร่างผมเข้าใจว่ามีเจตนาใกล้เคียงกัน หรืออาจจะคล้ายกัน คือรับรองสถานะการมีตัวตนของชนเผ่าพื้นเมือง-ชาติพันธุ์ในประเทศไทย บนพื้นฐานวัฒนธรรม พื้นฐานสังคมที่เป็นพหุวัฒนธรรม อันนี้ประเด็นแรก
สอง ประเด็นเรื่องของการรับรองกลไก ซึ่งในร่างของก้าวไกลคล้ายอื่น ๆ แต่ถูกเรียกชื่อต่างกัน เช่นมีคณะกรรมการชาติพันธุ์ในระดับชาติตามพรบ.ฉบับนี้ และก็มีสภาชาติพันธุ์เกิดขึ้น ต่างๆเหล่านี้คือเจตนาและวัตถุประสงค์ของกฎหมายนี้ และที่สำคัญ มันจะไปเชื่อมเรื่องของเขตวัฒนธรรมพิเศษ ซึ่งหมายความว่าการมีตัวตนทั้งหมดในระดับพื้นที่ที่มีความแตกต่างในเรื่องของความเชื่อวัฒนธรรม ประเพณี และอื่น ๆ
การใช้ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเชื่อมโยงระหว่างโลกของธรรมชาติ เรื่องของชีวิต อันนี้ก็ย่อมมีความแตกต่าง พี่น้องชาวมอแกน อูรักลาโว้ย ฐานทรัพยากรวิถีคิดอีกแบบหนึ่ง พี่น้องกะเหรี่ยง พี่น้องม้ง เมี่ยน ลั๊วะ อาข่า ก็จะมีวิธีคิด เกี่ยวกับฐานทรัพยากรอยู่ว่าวิถีตามบริบทพื้นที่อีกอย่างหนึ่ง
เพราะฉะนั้นการกำหนดให้มีตัวตนภายใต้กฎหมายฉบับนี้ จะออกในรูปของเขตวัฒนธรรมเฉพาะหรือเขตวัฒนธรรมพิเศษ อันนี้จะไปรับสถานะการดำรงตัวตนการมีอยู่ของชาติพันธุ์ชนเผ่าพื้นเมือง บนพื้นฐานของสังคมไทยที่เป็นสังคมพหุวัฒนธรรม” มานพ อธิบาย

เพิ่มบทลงโทษ ลดการบั่นทอนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์
“ในส่วนที่แตกต่าง ผมคิดว่าส่วนของพรรคก้าวไกลมีความแตกต่างในเชิงรายละเอียดก็คือเรื่องของบทลงโทษ เป็นวิธีคิดเรื่องกระบวนการส่งเสริม มากกกว่าการลงโทษทางอาญาที่ทำให้คนติดคุกตาราง เพราะฉะนั้นของคณะทำงานยกร่างของพรรคก้าวไกลเห็นว่าในหมวดของบทลงโทษ ก็คือจะมีให้น้อยที่สุด
จะเน้นเรื่องของการสร้างความเข้าใจ แต่ว่ายังคงบทลงโทษไว้ในพื้นที่ของสื่อมวลชนทุกแขนง ในกรณีที่ไปหมิ่นประมาท ลดลอนสิทธิความเป็นคนชาติพันธุ์ ชนเผ่าพื้นเมือง ทำให้เกิดความเสียหายชนชาติ เชื้อชาติ เชื้อสาย ทำให้เกิดความด้อยค่า
เป็นโทษอาญา ปรับไม่เกิน 1 แสนบาท การเรียนรู้ในฐานของสังคมจำเป็นต้องส่งเสริมความเข้าใจที่จะไม่ไปด้อยค่า ควรไปในทางสร้างความร่วมมือมีกิจกรรมที่ทำให้เกิดการเรียนรู้สร้างความเข้าใจกับกลุ่มชาติพันธุ์แก่กลุ่มที่พวกเขาได้ด้อยค่าทำให้เสื่อมศักดิ์ความเป็นมนุษย์
อันนี้เป็นความแตกต่างกับร่างอื่นๆ ส่วนสาระอื่น ๆ พรรคก้าวไกลให้ความสำคัญ แล้วก็มุ่งเน้นที่จะให้กฎหมายบังคับใช้ สร้างการส่งเสริมสร้างความเข้าใจ การเรียนรู้ภายใต้ความหลากหลายทางวัฒนธรรม พหุวัฒนธรรมของสังคมไทย
ทุกร่างมีเจตนาที่ดีหมดในภาพรวม ผมคิดว่าร่างกฎหมายตอนนี้เป็นร่างกฎหมายที่มีความก้าวหน้าทั้งหมด สุดท้ายพอมีหลายร่าง กระบวนการปกติก็จะมีการยกร่างของรัฐบาลเป็นหลัก ร่างอื่นก็เข้ามาประกอบในการพิจารณา และที่สำคัญผู้ที่เสนอร่างในส่วนของพรรคการเมือง จะมีโควต้าเข้าไปเป็นกรรมมาธิการ
ความสำคัญของร่างสภาชนเผ่าพื้นเมืองที่เสนอโดยภาคประชาชน ผมคิดว่าอันนี้มีความสำคัญมาก ๆ เป็นการใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญลงชื่อเพื่อเสนอกฎหมาย ซึ่งก็ได้ประมาณหนึ่ง 1.3 หมื่นรายชื่อ ผมเองลงชื่อเป็น 20 คนแรกในการเสนอร่างของสภาชนเผ่าพื้นเมือง
ตัวร่างพอมาเจอกันในสภา ผมเข้าใจว่าจะมีการตั้งกรรมมาธิการร่วมระหว่างสภา เป็นโอกาสทำให้ภาคส่วนประชาชนได้เข้ามาถกเถียงกันในประเด็นความแตกต่างของข้อความรายมาตรา ซึ่งจะเป็นสิ่งที่ดีนะครับ ได้เอาเนื้อหาที่มีความต่างมาคุยกัน เป็นการจูนกันเพื่อให้เกิดกระบวนการแก้ไขปัญหา กระบวนการพัฒนากฎหมายให้มีความละเอียด ครอบคลุมมากยิ่งขึ้น” มานพ กล่าว
รองรับการประกาศ เขตวัฒนธรรมพิเศษ อย่างมีส่วนร่วม
“พรบ.คุ้มครองชาติพันธุ์ไม่ได้หมายถึงพี่น้องชาติพันธุ์ในเขตป่าเท่านั้น รวมถึงพี่น้องในเมืองด้วย ซึ่งอาจจะมุ่งเน้นไปเรื่องวัฒนธรรม มุ่งไปเรื่องของการศึกษาเรื่องเป็นตัวตนอัตลักษณ์ของเขา เรื่องที่ยังมีปัญหาในเรื่องของสิทธิในที่ดิน สิทธิในทรัพยากร ตามหลักสิทธิมนุษยชน สิทธิชุมชน คิดว่ากฎหมายตัวนี้จะเข้าไปเป็นตัวแก้ปัญหาได้ ซึ่งเราเรียกเขตวัฒนธรรมพิเศษ
ในเชิงกระบวนการที่ระบุในร่างนี้ ก็ต้องให้มีคณะกรรมการ เราไม่อยากเห็นมีการประกาศพร่ำเพรื่อ เขตวัฒนธรรมพิเศษชุมชน องค์กร หน่วยงานต้องมีส่วนร่วม คนที่มีความพร้อมจะประกาศเขตวัฒนธรรมพิเศษก็ต้องยื่นเรื่องขึ้นมานะครับ
เช่น พื้นที่ทั้งตำบลเป็นเขตวัฒนธรรมพิเศษ ซึ่งก็มีอยู่แล้วทั้งตำบล เช่นตำบลกัลยาณิวัฒนา ที่เป็นพี่น้องชาติพันธุ์เหมือนกันก็ต้องประกาศใช้สิทธิเป็นเขตวัฒนธรรมพิเศษ การคุ้มครองในการประกาศตรงนี้เนื้อหาจะดูหลายมิติมาก ทั้งวัฒนธรรม ศิลปะ การศึกษา วิธีชีวิต ทรัพยากร หรือ กฎจารีต ต่างๆ ซึ่งต้องปรากฎในการยื่นขอให้มีเขตวัฒนธรรมพิเศษ เมื่อมันถูกประกาศ สิ่งเหล่าจะถูกคุ้มครองตามพรบ.ฉบับนี้
ผมคิดว่าเป็นหัวใจสำคัญคือการคุ้มครองสิทธิในเขตพื้นที่วัฒนธรรมพิเศษ ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่ชายเลน ป่าเขา แม้แต่ในกรุงเทพฯ ก็มีชุมชนชาวจีนชาวมอญ หรือพี่น้องชาติพันธุ์ในเขตต่างๆ ที่กฎหมายมุ่งเน้นในเรื่องของพหุวัฒนธรรมมีความแตกต่างมีความหลากหลาย
เมื่อเป็นเขตวัฒนธรรมพิเศษ ก็จะมีโอกาสไปใช้สิทธิตามพรบ.ฉบับนี้ ซึ่งก็มีความแตกต่างกันในเชิงพื้นที่ แต่ละพื้นที่จะมุ่งเน้น มีวัตถุประสงค์ ขอบเขตการกำหนดวัฒนธรรมพิเศษ ในพื้นที่ต่าง ๆ
ส่วนเรื่องมติ ครม. ต้องเข้าใจก่อนว่ามติครม. ไม่ใช่กฎหมาย มติครม.จะต้องมีเข้าพนักงานของรัฐจะต้องไปประกาศใช้ สิ่งที่พี่น้องประชาชนได้พยายามผลักดันที่ผ่านมาจนมติครม. ออกมา แล้วก็เกิดความบกพร่อง ความอ่อนแอของกลไกเจ้าหน้าที่รัฐที่ไม่ใช้มติครม.ทั้ง 2 ฉบับ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่บังคับใช้ พรบ. นี้จะเข้าไปแก้ไขปัญหาตรงนี้ เพื่อทำให้สาระสำคัญมติครม. มีตัวตน สัมผัสได้ บังคับใช้ได้ ทำให้มันเป็นจริงได้
อีกประเด็น ที่ผ่านมา มติครม.ชาวเล มติครม.ชาวกะเหรี่ยง อาจจะจำกัดในพื้นที่เฉพาะพี่น้องชาวเลและกะเหรี่ยง แต่ในพรบ. นี้ครอบคลุมถึงพี่น้องทุกกลุ่มชาติพันธุ์ ที่ยังคงความเป็นเอกลักษณ์ ยังเป็นกลุ่มคนที่มีทางวัฒนธรรม ขอบเขตบริบทชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นพี่น้อง ไทใหญ่ ชาวมอญ กลุ่มอื่นๆ ที่เป็นชาติพันธุ์ชนเผ่าจะใช้กฎหมายฉบับนี้ในการประกาศปัจเจกวัฒนธรรมพิเศษวัฒนธรรมเฉพาะได้ครับ” มานพ กล่าวระหว่างการให้สัมภาษณ์
4 หมวด 51 มาตรา
พรรคก้าวไกลได้เผยแพร่ผ่าน โพสบนเพจเฟซบุ๊กถึงรายละเอียดของพรบ.คุ้มครองชาติพันธุ์ โดยอ้างถึงสิทธิตามมาตรา 70 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยได้บัญญัติให้รัฐพึงส่งเสริมและให้ ความคุ้มครองชาวไทยกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ ให้มีสิทธิดำรงชีวิตในสังคมตามวัฒนธรรม ประเพณี และวิถีชีวิตดั้งเดิมตามความสมัครใจได้อย่างสงบสุข ไม่ถูกรบกวน ประเทศไทยได้มีการลงสัตยาบันต่อพันธกรณีระหว่างประเทศเกี่ยวกับการส่งเสริมและอนุรักษ์วิถีชีวิตของกลุ่มชาติพันธุ์หลายฉบับ
เนื้อหาที่เผยแพร่ระบุว่า ร่าง พ.ร.บ. นี้ประกอบไปด้วย 4 หมวด 51 มาตรา หมวด 1 การส่งเสริมและคุ้มครองกลุ่มชาติพันธุ์ , หมวด 2 คณะกรรมการส่งเสริมและคุ้มครองกลุ่มชาติพันธุ์ , หมวด 3 สภากลุ่มชาติพันธุ์ และหมวด 4 บทลงโทษ ดังนี้
หมวด 1 : การส่งเสริมและคุ้มครองกลุ่มชาติพันธุ์
1. กำหนดให้ประเทศไทยเป็นประเทศพหุชาติพันธุ์ มีอัตลักษณ์ทางชาติพันธุ์ที่หลากหลาย กลมกลืน และแตกต่างกัน แต่ละกลุ่มชาติพันธุ์มีวัฒนธรรม ขนบธรรมเนียมประเพณี และความเชื่อของกลุ่มบุคคลที่อยู่ร่วมกันในสังคม
2. กำหนดให้การส่งเสริมและคุ้มครองกลุ่มชาติพันธุ์ต้องสอดคล้องกับพันธกรณีระหว่างประเทศที่ประเทศไทยผูกพัน
3. กำหนดห้ามมิให้ผู้ใดกระทำการเหยียดหยาม สร้างความเกลียดชัง หรือการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติโดยไม่เป็นธรรมต่อกลุ่มชาติพันธุ์ กรณีมีมาตรการที่รัฐกำหนดขึ้นเพื่อขจัดอุปสรรคหรือส่งเสริมให้กลุ่มชาติพันธุ์สามารถใช้สิทธิหรือเสรีภาพได้เช่นเดียวกับบุคคลอื่น หรือเพื่อคุ้มครองหรืออำนวยความสะดวกให้แก่กลุ่มชาติพันธุ์ ไม่ถือว่าเป็นการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติ และในกรณีที่กลุ่มชาติพันธุ์ที่ได้รับหรือจะได้รับความเสียหายจากการกระทำในลักษณะที่เป็นการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อกลุ่มชาติพันธุ์มีสิทธิร้องขอต่อคณะกรรมการให้มีคำสั่งเพิกถอนการกระทำหรือห้ามมิให้กระทำการนั้นได้ คำสั่งของคณะกรรมการให้เป็นที่สุด หากการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อกลุ่มชาติพันธุ์นั้นเป็นการกระทำโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง ศาลจะกำหนดค่าเสียหายในเชิงลงโทษให้แก่กลุ่มชาติพันธุ์ไม่เกินสี่เท่าของค่าเสียหายที่แท้จริงด้วยก็ได้ โดยหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการร้องขอ การรวบรวมพยานหลักฐาน การไกล่เกลี่ยและการวินิจฉัย ให้เป็นไปตามระเบียบที่คณะกรรมการกำหนด
4. กำหนดห้ามมิให้ผู้ใดโฆษณาหรือเผยแพร่ทางสื่อมวลชนหรือสื่อสารสนเทศประเภทใด ที่เป็นการเหยียดหยาม สร้างความเกลียดชัง หรือเลือกปฏิบัติโดยทางเชื้อชาติต่อกลุ่มชาติพันธุ์ ที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ เกียรติยศ ชื่อเสียง ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ หรือสิทธิของกลุ่มชาติพันธุ์ มิเช่นนั้น กลุ่มชาติพันธุ์ที่ได้รับความเสียหายจากการกระทำดังกล่าว มีสิทธิร้องขอต่อคณะกรรมการให้มีคำสั่งเพิกถอนการกระทำหรือห้ามมิให้กระทำการนั้นได้ คำสั่งของคณะกรรมการให้เป็นที่สุด และกลุ่มชาติพันธุ์มีสิทธิที่จะฟ้องเรียกค่าเสียหายฐานละเมิดต่อศาลโดยให้ศาลมีอำนาจกำหนดค่าเสียหายอย่างอื่นอันมิใช่ตัวเงินให้แก่กลุ่มชาติพันธุ์ที่ถูกเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมได้ และหากการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อกลุ่มชาติพันธุ์นั้นเป็นการกระทำโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง ศาลจะกำหนดค่าเสียหายในเชิงลงโทษให้แก่กลุ่มชาติพันธุ์ไม่เกินสี่เท่าของค่าเสียหายที่แท้จริงด้วยก็ได้
5. กำหนดให้กลุ่มชาติพันธุ์มีสิทธิใช้ กลุ่มชาติพันธุ์มีสิทธิใช้ อนุรักษ์ ฟื้นฟู และส่งเสริมภูมิปัญญา ภาษา ศิลปวัฒนธรรม ขนบธรรมเนียม และจารีตประเพณีอันดีงามของกลุ่มชาติพันธุ์ ตลอดจนมีหลักสูตรการศึกษาที่เหมาะสมกับวิถีชีวิตและวัฒนธรรม ตลอดจนมีสิทธิจัดการ บำรุงรักษา และใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และความหลากหลายทางชีวภาพอย่างสมดุลและยั่งยืน ตามวิถีชีวิตและวัฒนธรรมของตน และมีสิทธิได้รับการส่งเสริมในการพัฒนาคุณภาพชีวิต
6. กำหนดให้กลุ่มชาติพันธุ์มีสิทธิได้รับการส่งเสริมให้มีส่วนร่วมในกิจกรรมเพื่อประโยชน์ของชุมชน รวมทั้งได้รับการคุ้มครองในการเข้าร่วมและดำเนินกิจกรรม และมีสิทธิได้รับการส่งเสริมให้มีส่วนร่วมในกระบวนการทางสังคม
7. กำหนดให้กลุ่มชาติพันธุ์มีสิทธิได้รับการส่งเสริมและคุ้มครองในการเข้าถึงสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน สิทธิขั้นพื้นฐานและสิทธิมนุษยชน ได้รับการคุ้มครองสิทธิในการดำรงชีวิตในสังคม สิทธิครอบครอง และสิทธิในการจัดการพื้นที่ชุมชนและชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิม พื้นที่อยู่อาศัย พื้นที่ทำกิน พื้นที่ทางวัฒนธรรมและจิตวิญญาณ
หมวด 2 : คณะกรรมการส่งเสริมและคุ้มครองกลุ่มชาติพันธุ์
1. กำหนดให้มีคณะกรรมการส่งเสริมและคุ้มครองกลุ่มชาติพันธุ์แห่งชาติ
2. กำหนดให้กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิและกรรมการผู้แทนกลุ่มชาติพันธุ์มีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละสี่ปี เมื่อครบวาระแล้วอาจได้รับการแต่งตั้งอีกได้ แต่ต้องไม่เกินสองวาระติดต่อกัน
3. กำหนดให้องค์ประชุมของคณะกรรมการส่งเสริมและคุ้มครองกลุ่มชาติพันธุ์แห่งชาติ คือต้องมีกรรมการมาประชุมไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการทั้งหมด โดยให้มีการประชุมคณะกรรมการไม่น้อยกว่าปีละสี่ครั้ง และการวินิจฉัยชี้ขาดของที่ประชุมให้ถือเสียงข้างมาก กรรมการคนหนึ่งให้มีเสียงหนึ่งในการลงคะแนน ถ้าคะแนนเสียงเท่ากันให้ประธานในที่ประชุมออกเสียงเพิ่มขึ้นอีกเสียงหนึ่งเป็นเสียงชี้ขาด
4. กำหนดให้คณะกรรมการมีหน้าที่และอำนาจ กำหนดนโยบาย มาตรการ ระเบียบและแผนปฏิบัติงานเพื่อส่งเสริมและคุ้มครองกลุ่มชาติพันธุ์ในทุกหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน ทั้งในส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และส่วนท้องถิ่น เสนอแนะนโยบาย และข้อเสนอในการปรับปรุงกฎหมาย กฎ หรือข้อบังคับ ต่อคณะรัฐมนตรี เสนอความเห็นและให้คำปรึกษาต่อรัฐมนตรีผู้รับผิดชอบเกี่ยวกับนโยบาย กฎหมาย โครงการ หรือการดำเนินการอื่นใดที่อาจมีผลกระทบต่อกลุ่มชาติพันธุ์ ประกาศเขตพื้นที่ชุมชนและชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิม พื้นที่อยู่อาศัย พื้นที่ทำกิน พื้นที่ทางวัฒนธรรมและจิตวิญญาณของกลุ่มชาติพันธุ์ ปฏิบัติการอื่นใดตามที่กฎหมายกำหนดให้เป็นหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการหรือตามที่คณะรัฐมนตรีมอบหมายติดตาม ประเมินผลและตรวจสอบการดำเนินงานของคณะกรรมการส่งเสริมและคุ้มครองกลุ่มชาติพันธุ์กรุงเทพมหานครและคณะกรรมการส่งเสริมและคุ้มครองกลุ่มชาติพันธุ์จังหวัด รวมทั้งให้คำแนะนำและเสนอแนะในการส่งเสริมและคุ้มครองกลุ่มชาติพันธุ์ในกรุงเทพมหานครและระดับจังหวัด และดำเนินการอื่นใดที่เกี่ยวกับการส่งเสริมและคุ้มครองกลุ่มชาติพันธุ์
5. กำหนดให้คณะกรรมการมีอำนาจแต่งตั้งคณะอนุกรรมการหรือคณะทำงานเพื่อปฏิบัติการตามที่คณะกรรมการมอบหมาย
6. กำหนดให้มีคณะกรรมการส่งเสริมและคุ้มครองกลุ่มชาติพันธุ์กรุงเทพมหานคร
7. กำหนดให้มีคณะกรรมการส่งเสริมและคุ้มครองกลุ่มชาติพันธุ์จังหวัด
8. กำหนดให้ คณะกรรมการส่งเสริมและคุ้มครองกลุ่มชาติพันธุ์กรุงเทพมหานครและคณะกรรมการส่งเสริมและคุ้มครองกลุ่มชาติพันธุ์จังหวัด มีหน้าที่และอำนาจเสนอความเห็นต่อคณะกรรมการเกี่ยวกับกำหนดนโยบาย มาตรการ ระเบียบและแผนปฏิบัติงานเพื่อส่งเสริมและคุ้มครองกลุ่มชาติพันธุ์ ให้คำปรึกษา แนะนำ และประสานงาน แก่หน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนในการดำเนินการที่เกี่ยวกับกลุ่มชาติพันธุ์หรืออาจมีผลกระทบต่อกลุ่มชาติพันธุ์ สำรวจและจัดทำข้อมูลพื้นฐานกลุ่มชาติพันธุ์ รวมทั้งกำหนดมาตรการ ระเบียบ และ แผนปฏิบัติงานเพื่อส่งเสริมและคุ้มครองกลุ่มชาติพันธุ์ระดับจังหวัด ปฏิบัติการอื่นใดตามที่กฎหมายกำหนดให้เป็นหน้าที่และอำนาจหรือตามที่คณะกรรมการมอบหมาย
และดำเนินการอื่นใดที่เกี่ยวกับการส่งเสริมและคุ้มครองกลุ่มชาติพันธุ์
หมวด 3 : สภากลุ่มชาติพันธุ์
1. กำหนดให้มีสภากลุ่มชาติพันธุ์ ประกอบด้วยสมาชิกซึ่งมาจากกลุ่มชาติพันธุ์ที่ได้ขึ้นทะเบียนไว้กับสภาแล้ว ลงคะแนนเลือกกันเองในแต่ละกลุ่ม จำนวนกลุ่มละไม่เกินห้าคน โดยการเลือกกันเองให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่ประธานสภากำหนด ทั้งนี้ให้คำนึงถึงสัดส่วนที่เหมาะสมทั้งเพศชาย เพศหญิง เพศสภาพ ตัวแทนเยาวชน ความเท่าเทียมภายในระหว่างกลุ่มชาติพันธุ์และมีความสอดคล้องทางวัฒนธรรม โดยให้ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) ทำหน้าที่สำนักงานสภากลุ่มชาติพันธุ์
2. กำหนดให้สมาชิกสภากลุ่มชาติพันธุ์มีวาระการดำรงตำแหน่งสี่ปี และอาจได้รับการคัดเลือกใหม่ได้ แต่จะดำรงตำแหน่งติดต่อกันเกินสองวาระมิได้ และการพ้นจากตำแหน่งนอกจากตามวาระ
3. กำหนดเรื่องการประชุมสภากลุ่มชาติพันธุ์ครั้งแรกภายในหกสิบวัน นับแต่วันที่มีการประกาศรายชื่อสมาชิกในราชกิจจานุเบกษา เพื่อเลือกคณะกรรมการ โดยให้สภามีการประชุมสามัญสภาอย่างน้อยปีละสองครั้ง และมีการประชุมวิสามัญสภา เมื่อสมาชิกเข้าชื่อกันจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในห้าของจำนวนสมาชิกสภาทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ขอให้มีการประชุมสภา หรือมีเหตุจำเป็นอันมิอาจเพิกเฉยได้
4. กำหนดให้การประชุมสภากลุ่มชาติพันธุ์ต้องกระทำโดยเปิดเผย และกำหนดองค์ประชุมคือต้องมีสมาชิกมาประชุมไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ ส่วนการลงมตินั้นให้ถือหลักฉันทามติ
5. กำหนดให้หน่วยงานหรือบุคคลให้ความร่วมมือแก่สภากลุ่มชาติพันธุ์ในการมาให้ข้อเท็จจริง หรือแสดงความคิดเห็นหรือให้จัดส่งเอกสาร หรือข้อมูลเพื่อประกอบการพิจารณาได้ตามที่เห็นสมควร
6. กำหนดให้สภากลุ่มชาติพันธุ์มีอำนาจตราข้อบังคับการประชุมและข้อบังคับอื่นที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติงานของสภา
7. กำหนดให้สภากลุ่มชาติพันธุ์ มีหน้าที่และอำนาจเสนอนโยบาย มาตรการส่งเสริมและคุ้มครอง แก่คณะกรรมการส่งเสริมและคุ้มครองกลุ่มชาติพันธุ์แห่งชาติ เป็นศูนย์กลางในการประสานงาน แลกเปลี่ยน เรียนรู้ ประชาสัมพันธ์ และเผยแพร่ เกี่ยวกับเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม และข้อมูลข่าวสารของกลุ่มชาติพันธุ์ ส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน และสิทธิกลุ่มชาติพันธุ์ อนุรักษ์ ส่งเสริม และฟื้นฟู อัตลักษณ์ ภาษา วัฒนธรรมอันดีงาม ภูมิปัญญา อาหาร สมุนไพร พันธุ์พืช พื้นที่ทำมาหากิน และจารีตประเพณีของกลุ่มชาติพันธุ์ เสนอแนะ ให้คำปรึกษาต่อภาครัฐหรือเอกชน ในนโยบายหรือกิจการหรือโครงการใด ที่อาจส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตของกลุ่มชาติพันธุ์ รวมทั้งขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มชาติพันธุ์ สนับสนุน ส่งเสริม วิจัย และพัฒนาศักยภาพและความเข้มแข็งขององค์กร ชุมชน ชมรม สตรี เยาวชน และผู้นำของกลุ่มชาติพันธุ์ สร้างความร่วมมือกับหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อจัดทำแผนงาน โครงการ หรือกิจกรรมที่เป็นการส่งเสริมคุ้มครองและพัฒนาศักยภาพกลุ่มชาติพันธุ์ เสนอแนวทางการแก้ไขปัญหา ที่ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตจากนโยบายหรือกิจการหรือโครงการใด ๆ ต่อรัฐและหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง จัดทำรายงานและข้อเสนอในประเด็นกลุ่มชาติพันธุ์ เพื่อเสนอต่อคณะรัฐมนตรีและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แต่งตั้ง คณะที่ปรึกษา คณะอนุกรรมการ และคณะทำงาน ตามที่สภาเห็นชอบ พิจารณาให้ความเห็นชอบแผนงาน โครงการ และงบประมาณของสภา ออกกฎ ระเบียบ ประกาศ ข้อบังคับเพื่อปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้ และหน้าที่อื่นตามที่กฎหมายกำหนด
8. กำหนดให้สภากลุ่มชาติพันธุ์มีคณะกรรมการสภาประกอบด้วย ประธานสภาหนึ่งคน รองประธานสภาห้าคน เลขานุการสภาหนึ่งคน และกรรมการสภาสิบห้าคน โดยคณะกรรมการสภากลุ่มชาติพันธุ์มีการประชุมตามภารกิจอย่างน้อยสองเดือนต่อครั้ง
9. กำหนดให้มีคณะผู้อาวุโสสภาจำนวนสิบห้าคน โดยคำนึงถึงสัดส่วนที่เหมาะสมทั้งเพศชาย เพศหญิง และเพศสภาพ และให้กระจายสัดส่วนไปตามกลุ่มชาติพันธุ์และภูมิภาค โดยคณะกรรมการสภาเสนอให้ที่ประชุมสภารับรอง กำหนดเรื่องคุณสมบัติของคณะผู้อาวุโสสภา หน้าที่และอำนาจของคณะผู้อาวุโสสภา
10. กำหนดให้ให้ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) ทำหน้าที่สำนักงานสภากลุ่มชาติพันธุ์
หมวด 4 : บทลงโทษ
กำหนดบทลงโทษผู้โฆษณาหรือเผยแพร่ทางสื่อมวลชนหรือสื่อสารสนเทศประเภทใด อันเป็นการเหยียดหยาม สร้างความเกลียดชัง หรือเลือกปฏิบัติโดยทางเชื้อชาติต่อกลุ่มชาติพันธุ์ ที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ เกียรติยศ ชื่อเสียง ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ หรือสิทธิของกลุ่มชาติพันธุ์โดยต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทำงานบริการสังคมหรือสาธารณะประโยชน์ในกลุ่มชาติพันธุ์
บทเฉพาะกาล
1. กำหนดให้กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและ
ความมั่นคงของมนุษย์ สำรวจและจัดทำข้อมูลกลุ่มชาติพันธุ์ ข้อมูลชุมชน ข้อมูลพื้นที่ชุมชนและชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิม พื้นที่อยู่อาศัย พื้นที่ทำกิน พื้นที่ทางวัฒนธรรมและจิตวิญญาณ ของกลุ่มชาติพันธุ์ ภายในสามร้อยหกสิบวันนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ โดยระหว่างการดำเนินการสำรวจและจัดทำพื้นที่ดังกล่าว ให้ กลุ่มชาติพันธุ์สามารถใช้สิทธิในพื้นที่ดังกล่าวได้ตามวิถีชีวิตและวัฒนธรรม
2. กำหนดให้ศูนย์พัฒนาราษฎรบนพื้นที่สูง กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ปฏิบัติหน้าที่เป็นศูนย์ประสานงานส่งเสริมและคุ้มครองกลุ่มชาติพันธุ์ จนกว่าจะมีการจัดตั้งศูนย์ประสานงานส่งเสริมและคุ้มครองกลุ่มชาติพันธุ์แล้วเสร็จ
3. กำหนดให้ ให้กระทรวงวัฒนธรรมจัดตั้งสภากลุ่มชาติพันธุ์ให้แล้วเสร็จภายในหนึ่งร้อยแปดสิบวันนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ และองค์ประกอบ หลักเกณฑ์ และวิธีการได้มาซึ่งสมาชิกสภากลุ่มชาติพันธุ์ให้เป็นไปตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรมกำหนด
