เรา-สิ่งแวดล้อม-โควิด : 5 เกร็ดคิดจากคน 5 อาชีพ

5 ทรรศนะจากคน 5 อาชีพ ในวันสิ่งแวดล้อมโลก 5 มิถุนายน 2564 ที่ GreenNews จับมือ EnLAW ชวนคุยเรื่องเดียวกัน ว่าด้วย “เรา-สิ่งแวดล้อม-โควิด” 

ชญาธนุส ศรทัตต์

นางแบบอินเตอร์ ผู้ที่วันนี้เลือกเดินบนรันเวย์ “เพื่อชาติพันธุ์”

“ทุกวันนี้ประเทศไทยมีมายาคติเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมหลายอย่าง เช่น ชาติพันธุ์ทำไร่เลื่อนลอยทำลายป่า เป็นเพราะการพูดคุยเรื่องสิ่งแวดล้อมเป็นการถกเถียงที่มีอำนาจในการพูดคุยไม่เท่ากัน คนทั่วไปที่ไม่ใช่นักวิชาการยังพูดคุยเรื่องสิ่งแวดล้อมที่ไม่ใช่แค่แคมเปญ CSR ได้น้อย เราตั้งกำแพงวิชาการสูงกั้น ทำให้คนส่วนใหญ่เลือกเชื่อวาทกรรมที่ส่งต่อกันมาง่ายๆ แต่ผิด

Public Figure ที่อยากจะออกมาเป็นกระบอกเสียงให้ชุมชน บางทีก็ถูกตั้งคำถามว่าคุณเอาความรู้อะไรมาพูด ทั้งที่จริงเขาอาจจะมีบทบาทช่วยสื่อสารต่อ พวกเขากับนักวิชาการอาจจะต้องเข้าหากันทั้งสองฝ่าย

ความเข้าใจผิดอีกอย่างคือ การอนุรักษ์ธรรมชาติเริ่มต้นได้ที่ตัวเรา หลายคนอาจคิดว่าเราไม่ได้มีอำนาจตัดสินใจในสิ่งแวดล้อมมากขนาดนั้น แต่จริงๆ แล้วในประเทศโลกที่หนึ่งมันทำได้ เอมอยากชวนให้ประชาชนทั่วไปเข้าถึงนโยบายให้ลึกกว่านี้ เราจะเริ่มต้นที่ตัวเองอย่างเดียวไม่ได้ เช่น ใช้รถน้อยลงช่วยลดฝุ่น แต่ยังคงมีการเผาข้าวโพดที่เราทำอะไรไม่ได้ การมีนโยบายสิ่งแวดล้อมให้ผลกระทบที่ใหญ่กว่าคนทั้งประเทศเริ่มที่ตัวเอง

โควิดทำให้เราเห็นความเหลื่อมล้ำชัดขึ้น เราเป็นคนเมืองคนหนึ่ง ซึ่งคนเมืองส่วนใหญ่ไม่ได้ใกล้ชิดธรรมชาติและสามารถซื้อสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยได้ โควิดทำให้เราเข้าพื้นที่ไปสัมผัสชุมชนจริงๆ ไม่ได้ แต่เราพยายามจะมองถอยกลับไปจากตัวเรา ดูว่าทางเลือกการบริโภคของเรานั้นยั่งยืนไหม เช่น ที่มาของอาหารว่ารายได้กลับไปชุมชนหรือเปล่า”

นิติพล ผิวเหมาะ

นักการเมือง ผู้พยายามหว่านเมล็ดพันธุ์สีเขียวบนดินแล้งในสภา

“ถามว่าผมใกล้ชิดสิ่งแวดล้อมขนาดไหนนั้น ผมคือคนๆ หนึ่งที่กินไมโครพลาสติกหลายพันชิ้นทั้งที่ไม่อยากกินเลย และผมก็เป็นคนๆ หนึ่งที่สร้างขยะเยอะมากอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ในสภา ผมประเมินคะแนนตัวเองทำงานเรื่องสิ่งแวดล้อม 4 เต็ม 10 เพราะผมยังไม่สามารถดึงเพื่อนส.ส.จากพรรคการเมืองต่างๆ ให้คล้อยตามเรื่องใกล้ตัวนี้ได้มากเท่าที่ผมต้องการ เห็นได้ว่าร่างพรบ.งบประมาณที่เพิ่งเสร็จ ผมแทบไม่ได้ยินเพื่อนในสภาพูดเรื่องสิ่งแวดล้อมเลย หลายคนยังมองว่าหน้าที่นักการเมืองคือแก้ปัญหาปากท้อง แต่ลืมเรื่องสิ่งแวดล้อมซึ่งจริงๆ ก็เป็นเรื่องสุขภาพความเป็นอยู่เหมือนกัน

ยุคโควิดทำให้ผมใส่ใจเรื่องสิ่งแวดล้อมในชีวิตประจำวันตัวเองมากขึ้น อยากลงมือทำมากขึ้น อย่างเช่น ผมพับหน้ากากอนามัยที่ใช้แล้วใส่ลงในขวดน้ำที่ใช้แล้ว รวบรวมได้หลายขวดค่อยเอาไปใส่ถังขยะติดเชื้อตามจุดรับที่เขามีอยู่” 

สุภาภรณ์ มาลัยลอย

อดีตเด็กบัญชีผู้เลือกเดินบนเส้นทาง“ไม่มั่นคง” เพื่อสร้าง “ความมั่นคง” ในความเป็นธรรมด้านสิ่งแวดล้อม

“ทุกคนรู้จักเราว่าทำงานด้านสิ่งแวดล้อมกับกฎหมาย แต่ว่าเราเป็นลูกเกษตรกรที่เลือกเรียนบัญชี รามคำแหงเพราะอยากมีความมั่นคง จุดเปลี่ยนคือตอนออกค่ายมหาลัย และได้เจอสังคมแบบอื่นๆ ความหลากหลายของคนและความเหลื่อมล้ำ เราเจอว่าเรามีส่วนที่เราช่วยเหลือได้ เลยเริ่มต้นเส้นทาง NGO ที่ถูกทักว่าไม่มั่นคงแน่นอน

งานของเราเป็นการทำงานกับชุมชนแล้วพยายามให้ชุมชนรู้สิทธิของตนในการปกป้องสิ่งแวดล้อม หลายปีที่ผ่านมาเราเห็นการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น แต่สิ่งที่เราทำแล้วเห็นว่าถอยหลังคือการทำงานกับรัฐบาล เราเสียใจที่กฎหมายไม่ได้ก้าวไปข้างหน้าแต่เอื้อให้สร้างผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม มีกฎหมายที่เปิดให้นำเข้าขยะจำนวนมากเข้ามาในบ้านเรา มีกฎหมายที่บอกว่าโรงไฟฟ้าไม่ว่าจะกี่เมกกะวัตต์ไม่ต้องทำอีไอเอ ทั้งที่เป็นเครื่องมือในการป้องกันผลกระทบ ไม่ใช่การห้ามทำ

โควิดทำให้เราทำงานยากขึ้นมาก เพราะเนื้องานเราต้องลงพื้นที่ และที่สำคัญ กลไกราชการไม่ได้หยุดตามโควิด โครงการยังดำเนินต่อและหน่วยงานมีช่องทางออนไลน์ให้เอกชนยื่นทำโครงการได้ แต่กลับไม่มีช่องทางให้ประชาชนมีส่วนร่วมกำกับการพัฒนาอย่างมีความหมายเลย”

นัชชา มั่นศิลป์

นิสิตจุฬาฯ ผู้มองหาเส้นทางรักษ์โลกเชิงโครงสร้าง

“โควิดทำให้หนูได้ใช้เวลาเรียนรู้ ทำความเข้าใจเรื่องสิ่งแวดล้อมมากขึ้น มองเห็นความเชื่อมโยงของแต่ละประเด็น รวมถึงความเชื่อมโยงกับตัวเอง มีอีกหลายเรื่องที่หนูอยากเรียนรู้

หนูค่อนข้างสนใจปัญหาสิ่งแวดล้อมในเชิงโครงสร้าง หนูคิดว่าต่อให้เราพยายามลดใช้พลาสติกมากเท่าไหร่ แต่การแก้ปัญหาที่ได้ผลมากที่สุดคือคนที่มีอำนาจมากที่สุดคือคนในตัวระบบหรือโครงสร้าง สิ่งที่หนูพยายามทำเพื่อสิ่งแวดล้อมจึงเป็นการพยายามนำเสนอข้อเท็จจริงต่อเพื่อนำไปสู่การแก้ไขและผลักดันในระดับโครงสร้างมากที่สุด

วิธีแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมในฝันที่หนูอยากเห็นคืออยากให้ปรับระบบราชการ ซึ่งระบบการทำงานแบบนี้อาจจะล้าหลังและช้าเกินไปที่จะแก้ปัญหาที่เราเจออยู่ทุกวันนี้”

กัญจน์ ทัตติยกุล

ชาวสวนฉะเชิงเทรา ผู้เลือกเส้นทาง Active Citizen สีเขียวเพื่อลูกและชุมชน

“เรียนจบผมกลับไปช่วยงานที่บ้าน ผมเป็นคนภาคตะวันออก พบว่าที่บ้านกำลังจะมีโครงการก๊าซธรรมชาติขนาดใหญ่มาตั้งอยู่กลางอำเภอ กลางชุมชนริมแม่น้ำบางปะกงที่อุดมสมบูรณ์และพื้นที่เกษตรมากมาย เป็นจุดเริ่มต้นให้เราต้องทำอะไรสักอย่าง เลยร่วมกับคนในพื้นที่ทำงานอนุรักษ์มาตลอด มารู้สึกชัดๆ อีกทีตอนมีลูก เราเห็นเลยว่าชีวิตมันยังต้องดำรงต่ออีกนาน คนรุ่นต่อไปเขาจะต้องอยู่ต่อกับผลจากเรา ผมเลยพยายามทำมากขึ้นอีก

ช่วงโควิดนี้ ผมเองอาจจะโชคดีกับคนเมืองที่อยู่ในชนบทเลยมีทางเลือกใช้ชีวิตแบบไม่สร้างมลพิษมากนัก มีโอกาสทำสวน มีวัตถุดิบที่ไปเก็บ ไปตัดกินได้ เลยไม่ต้องพึ่งอาหารกล่องมาก 

สิบปีนี้เป็นสิบปีตัดสินอนาคตของพวกเราว่าเราจะอยู่ปราศจากภัยพิบัติหรือไม่ เราจะปรับเปลี่ยนพฤติกรรมตัวเองให้อยู่กับสิ่งแวดล้อมได้ดีขึ้นหรือไม่ ผมเชื่อว่าต้องทำงานกันทุกระดับ ทุกคนที่อยู่ในที่นี้ คนในสภา นักศึกษา กระบอกเสียงของสังคม NGO หรือผมเองที่เป็นชาวบ้านในชุมชน ทุกระดับต้องตระหนักในสิ่งแวดล้อมและทำหน้าที่ในระดับหนึ่ง ผมว่าถ้าเราช่วยกันทำมันจะมีพลังและกำลังใจด้วย” 

ชม Live วันสิ่งแวดล้อมโลก 2564