ส่อง 3 ความเคลื่อนไหวสำคัญใน 3 ยักษ์บริษัทพลังงานข้ามชาติระดับโลกที่เกิดในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา ความเคลื่อนไหวที่ถูกวิเคราะห์ว่าจะนำธุรกิจพลังงานไปสู่บรรทัดฐานใหม่ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น พร้อมมุมมองน่าสนใจจากผู้ที่ติดตามเรื่องนี้ใกล้ชิดในไทย

Shell : “คดีโลกร้อน” ประวัติศาสตร์
26 พฤษภาคม 2564 เกิดความเคลื่อนไหวที่นับเป็น “คดีประวัติศาสตร์” เมื่อศาลเนเธอร์แลนด์มีคำตัดสินสั่งให้บริษัทน้ำมันยักษ์ใหญ่ Shell ต้องลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้ 45% จากระดับการปล่อยในปี 2019 หลังจากกลุ่มนักสิ่งแวดล้อมและประชาชนเนเธอร์แลนด์กว่า 17,000 ชื่อยื่นฟ้อง Shell เมื่อปีที่แล้ว ในข้อหาสร้างผลกระทบให้ชาวเนเธอร์แลนด์
คำสั่งศาลกรุงเฮก ระบุว่านโยบายลดโลกร้อนของ Shell ที่มีอยู่ยัง “จับต้องไม่ได้” และไม่เพียงพอ จึงตัดสินให้ยกระดับเป้าหมายลดก๊าซเรือนกระจก “ทันที” ตามข้อตกลงปารีส ซึ่งตั้งเป้ารักษาอุณหภูมิโลกไม่ให้เพิ่มขึ้นเกิน 1.5 องศาเซลเซียสภายในปี 2030 เพื่อรักษาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม
Shell หรือ บริษัท Royal Dutch Shell PLC คือ บริษัทน้ำมันสัญชาติเนเธอร์แลนด์-อังกฤษ นับเป็นผู้ปล่อยก๊าซเรือนกระจกรายใหญ่อันดับ 9 ของโลก โดยบริษัทฯ ประกาศเมื่อกุมภาพันธ์ปีนี้ว่าจะลดการปล่อยก๊าซ 20% ในปี 2030 และ 45% ในปี 2035
“นี้คือจุดเปลี่ยนสำคัญในประวัติศาสตร์ เพราะเป็นครั้งแรกที่ศาลตัดสินให้บริษัทเอกชนผู้ก่อมลพิษรายใหญ่ให้ปฏิบัติตามข้อตกลงปารีส” Roger Cox ทนายจากองค์กร Friends of the Earth Netherlands ซึ่งดำเนินการฟ้องคดี ชี้
Cox มองว่าคดีนี้จะช่วยกำหนดบรรทัดฐานใหม่สำหรับผู้ประกอบการที่มีส่วนก่อวิกฤตโลกร้อน เพราะก่อนหน้านี้ ความรับผิดชอบปฏิบัติตามข้อตกลงปารีสยังตกอยู่กับรัฐบาลเป็นหลัก ครั้งนี้ศาลได้ตัดสินว่าการทำธุรกิจของ Shell ละเมิดสิทธิมนุษยชน (สิทธิในชีวิตและครอบครัว) โดยการทำให้เกิดอันตราย แม้ว่าจะมีทางเลี่ยงได้ ตามกฎหมายเนเธอร์แลนด์และยุโรป
คำตัดสินนี้ยังน่าสนใจเพราะให้ความสำคัญกับผลประโยชน์ของสังคมและสิ่งแวดล้อม มากกว่าผลประกอบการบริษัท ยิ่งกว่านั้นคำตัดสินยังระบุว่า Shell ต้องลดการปล่อยก๊าซตลอดระบบการผลิต “ทั้งทางตรงและทางอ้อม ดังนั้น Shell จึงต้องดูแลการปล่อยก๊าซทั้งในกระบวนการผลิตของตนและผู้บริโภคน้ำมันของ Shell ทั่วโลก
ด้านนักสิ่งแวดล้อมไทย ผศ. ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ แสดงความเห็นว่า ผลคดีครั้งนี้ชี้ให้เห็นเทรนด์โลกที่มุ่งสู่พลังงานสะอาดมากยิ่งขึ้น นักลงทุนและบริษัทต่างๆ หันมา “กรีน” มากขึ้นด้วยเหตุผลว่าลดความเสี่ยงทางธุรกิจ
“หันกลับมามองเมืองไทย ผมเน้นย้ำการเปลี่ยนแนวคิด ผมคุยกับผู้บริหารหลายท่านในด้านนี้ ทราบดีว่าทุกท่านตระหนัก แต่เนื่องจากระมัดระวังเรื่องธุรกิจ การเปลี่ยนแรงย่อมกระทบแผนต่างๆ ที่จะสร้างรายได้ ฯลฯ บริษัทของไทยจึงนิยมค่อยๆ ขยับ ลดคาร์บอนให้ได้มากขึ้นกว่าที่เคยกำหนดไว้ เช่น ‘เพิ่มการลงทุน Green Energy ตรงนั้นตรงนี้’ แต่อยากบอกเหมือนที่บอกมาเสมอ ว่าโลกเปลี่ยนแรงและเร็ว สังคมโลกจะไม่ทนต่อไป จะไม่ให้เวลากับการเปลี่ยนแปลงช้าๆ แบบสมัยก่อน”
อย่างไรก็ตาม Shell ได้ประกาศว่าจะอุทธรณ์คดีต่อ โดยให้เหตุผลว่าบริษัทได้ตั้งเป้าลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เหลือศูนย์ให้ได้ในปี 2050 และลงทุนหลายพันล้านเหรียญสหรัฐเพื่อเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาด ซึ่งกระบวนการทางกฎหมายอาจกินเวลากว่า 2 ปีจากนี้
Exxon : นักกิจกรรมโลกร้อนนั่งบอร์ดบริหาร
ข้อเรียกร้องของ Greta Thunberge นักกิจกรรมโลกร้อนรุ่นเยาว์ชาวเยอรมันชื่อดังระดับโลก ที่บอกว่า “วิกฤตโลกร้อนแก้ได้ ถ้าผู้นำหันมาจริงจัง” ดูจะใกล้ความจริงขึ้นมามาก หากวัดจากผลการประชุมประจำปีของบริษัทปิโตรเลียมสัญชาติอเมริกัน ExxonMobil เมื่อ 26 พ.ค. ที่ผ่านมา
เมื่อนักกิจกรรมโลกร้อนชนะเสียงโหวตเข้ามานั่งอยู่ในบอร์ดบริหาร
2 กรรมการบริหารคนใหม่คือ Gregory Goff ผู้บริหารจากธุรกิจโรงกลั่นน้ำมันซึ่งนิตยสารธุรกิจของมหาวิทยาลัยฮาร์เวิร์ดจัดให้เป็นหนึ่งในผู้บริหารที่ดีที่สุดในโลก และ Kaisa Hietala นักวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อมและอดีตผู้บริหารบริษัทพลังงานชีวมวลในฟินแลนด์ ทั้งสองคนได้รับการเสนอชื่อจากกองทุน “Engine No.1” ซึ่งเริ่มแคมเปญ “จุดพลังใหม่ Exxon (Reenergize Exxon)” มุ่งจัดบอร์ดบริหารใหม่เพื่อปรับ Exxon ให้พัฒนาอย่างยั่งยืน
ExxonMobil ถูกจัดอันดับเป็นผู้ปล่อยก๊าซเรือนกระจกรายใหญ่อันดับ 5 ของโลก และยังคงเดินหน้าลงทุนธุรกิจพลังงานกับปิโตรเลียม เช่น การสำรวจน้ำลึกนอกชายฝั่งประเทศกายอานา
แม้ผลเลือกตั้งครั้งนี้จะเปิดให้นักกิจกรรมโลกร้อนเข้าไปนั่งตำแหน่งสัดส่วน 2 จาก 12 และ Engine No.1 แต่ยังนับว่าเป็นเสียงขนาดเล็ก เพราะถือหุ้นอยู่เพียงแค่ 40 ล้านในธุรกิจหลายพันล้านของ Exxon หรือเพียงแค่ 1% ของทั้งหมด ทว่าผลการเลือกตั้งครั้งนี้ถูกมองว่าเป็น “ข่าวใหญ่” ที่วงการธุรกิจจะมุ่งสู่ทางเลือกที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเพิ่มขึ้น
“นี่ไม่ใช่เรื่องของอุดมการณ์อะไร แต่นี้เป็นเรื่องของเศรษฐกิจ” Chris James ผู้ก่อตั้ง Engine No.1 ให้สัมภาษณ์สำนักข่าว New York Times “เศรษฐกิจคือสิ่งที่ผลักดันให้นำพลังงานทางเลือกมาใช้แทนพลังงานปิโตรเลียม เราอยากจะให้ Exxon เริ่มยอมรับการเปลี่ยนแปลง”
ด้านเสียงจากผู้ติดตามเรื่องธุรกิจและความยั่งยืนในไทย สฤณี อาชวานันทกุล โพสแสดงความเห็นต่อข่าวนี้ว่า “นี่ก็ข่าวใหญ่ในแวดวงความยั่งยืนโลก โลกเรากำลังเปลี่ยนในทิศทางที่น่าสนใจมากมาย”

Total : ระงับจ่ายปันผล “รัฐบาลทหาร” เมียนมา
นอกจากผลกระทบต่อสภาพภูมิอากาศแล้ว ธุรกิจน้ำมันและก๊าซยังอาจสร้างผลกระทบที่เห็นได้ชัดเจนอย่างละเมิดสิทธิมนุษยชนและกระทบสิ่งแวดล้อมในท้องที่โครงการ เช่น กรณีท่อส่งก๊าซธรรมชาติในเมียนมา
26 พฤษภาคม Total บริษัทพลังงานฝรั่งเศส ซึ่งได้รับการจัดอันดับเป็นผู้ปล่อยก๊าซเรือนกระจกอันดับ 19 ของโลกได้ ประกาศระงับการจ่ายเงินปันผลโครงการก๊าซธรรมชาติยาดานา ซึ่งเงินร่วมหลายสิบล้านเหรียญสหรัฐ ส่งให้ “บริษัท MOGE” รัฐวิสาหกิจน้ำมันและก๊าซเมียนมาที่ปัจจุบันอยู่ในการควบคุมของรัฐบาลทหาร
โครงการก๊าซธรรมชาติยาดานามีผู้ร่วมลงทุนและถือหุ้นบริษัท Moattama Gas Transportation Company (MGTC) อยู่ 4 เจ้า โดย Total ถือส่วนใหญ่สุดราว 30% รองมาด้วย Chevron ปตท.สผ. และ MOGE
Justice for Myanmar องค์กรที่ติดตามความสัมพันธ์ของธุรกิจและรายได้กองทัพเมียนมา เปิดเผยว่า กำไรจากธุรกิจขายก๊าซธรรมชาติให้ประเทศไทยโครงการนี้สร้างกำไรมหาศาล ร่วม 26,160 ล้านบาท ใน 3 ปี (2017-2019) ทำให้การงดส่งเงินครั้งนี้ให้ผู้ถือหุ้น 15% อย่าง MOGE เป็นการตัดท่อน้ำเลี้ยงกองทัพพม่าอย่างน้อย 1,290 ล้านบาทต่อปี
การเคลื่อนไหวครั้งนี้นับเป็น “ปฏิกิริยาทางบวก” ครั้งแรกจากทางผู้ลงทุนก๊าซต่างชาติ หลังจากภาคประชาชนจำนวนมากเรียกร้องและกดดันให้บ.ตัดสายสัมพันธ์ทางการค้ากับกองทัพเมียนมา ด้วยเชื่อว่าเงินอาจจะถูกนำไปซื้อกระสุนและสนับสนุนการปราบปรามประชาชนที่ออกมาคัดค้านกรรัฐประหาร จนมีผู้เสียชีวิตมากกว่า 800 รายในเวลา 4 เดือน
นอกจากนี้โครงการท่อส่งก๊าซธรรมชาติยังเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ว่าละเมิดสิทธิมนุษยชนและกระทบสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ตลอด 26 ปีหลังเริ่มสร้าง โดยนำก๊าซธรรมชาติจากอ่าวอันดามัน ส่งผ่านแขวงตะนาวศรีสู่ภาคตะวันตกของไทย ระหว่างระยะทางท่อร่วม 300 กิโลเมตร เกิดการแย่งยึดที่ดินจากชนกลุ่มน้อย ปิดไม่ให้ชุมชนสามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากป่า
ธีระชัย ศาลเจริญกิจถาวร ผู้ประสานงานคณะทำงานติดตามความรับผิดชอบของการลงทุนข้ามพรมแดน (ETOs Watch) แสดงความเห็นว่า แม้จะฟังดูเป็นข่าวดี เงินจำนวนดังกล่าวยังอาจเรียกได้ว่า “เล็กน้อย” เมื่อเทียบกับเงินทั้งหมดจากธุรกิจน้ำมันและก๊าซที่หลั่งไหลเข้าสู่กองทัพ เช่น รายได้จากการขายก๊าซและภาษีเงินได้จากบรรดาบริษัทต่างชาติ
ล่าสุดเครือข่ายได้ส่งจดหมายเปิดผนึกร่วมกับองค์กรภาคประชาชนกว่า 75 แห่งถึงปตท.ให้งดส่งค่าก๊าซธรรมชาติเข้ากระเป๋ารัฐบาลทหารเมียนมา
“การระงับจ่ายเงินโครงการท่อส่งก๊าซยาดานาเป็นจุดเริ่มต้น แต่ว่ายังเป็นแค่โครงการเดียวในอีกหลายโครงการ เช่น ท่อส่งก๊าซเยตากุนและซอติก้า เงินก้อนใหญ่ที่สุดแล้วอาจเป็นรายได้จากการขายก๊าซธรรมชาติ ซึ่งผู้รับซื้อหลักคือประเทศไทย”
สัปดาห์หน้า เตรียมพบ GreenLive วิเคราะห์ “คดีประวัติศาสตร์” โลกร้อน ศาลเนเธอร์แลนด์ตัดสิน Shell สะเทือนถึงไทยอย่างไร? กับ ดร.ปิติ เอี่ยมจำรูญลาภ คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย