สำรวจความเป็นไป (ไม่) ได้ของข้อเสนอล่าสุด ที่เครือข่ายประชาสังคมไทย-เทศ 76 องค์กร ยื่นจดหมายเรียกร้อง “ปตท.” ระงับจ่ายค่าก๊าซธรรมชาติ เพื่อร่วมกับประชาคมโลกกดดันคณะรัฐประหารเมียนมาให้คลี่คลายสถานการณ์ประชาธิปไตย-สิ่งแวดล้อมในเมียนมา

จดหมายเปิดผนึกถึงปตท.
คณะทำงานติดตามความรับผิดชอบของการลงทุนข้ามพรมแดน (ETOs Watch Coalition) ยื่นจดหมายเปิดผนึกส่งถึง ปตท. และ ปตท.สผ. ในฐานะผู้ลงทุนและผู้รับซื้อก๊าซธรรมชาติจากพม่ารายสำคัญ เพื่อให้ระงับและงดส่งจ่ายเงินค่าก๊าซธรรมชาติให้กับรัฐวิสาหกิจที่ควบคุมโดยกองทัพเมียนมา หวั่นช่วยสนับสนุนการละเมิดสิทธิมนุษยชน
ข้อเรียกร้องส่งถึงธุรกิจปตท. 2 บริษัท ได้แก่ “ปตท. สผ. จำกัด (มหาชน)” ในฐานะผู้ร่วมลงทุนใน 3 โครงการท่อก๊าซธรรมชาติระยะทางกว่า 300 กิโลเมตรในเมียนมา ได้แก่ โครงการท่อส่งก๊าซยาดานา โครงการเยตากุน และโครงการซอว์ติก้า และเรียกร้องถึง “บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)” ในฐานะผู้รับซื้อก๊าซรายหลักเพื่อแปรเป็นพลังงานไฟฟ้าใช้ในประเทศไทย
“ในปี 2017 – 2018 ปตท. จ่ายเงินกว่า 615 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (19,242 ล้านบาท) กับบริษัท MOGE (Myanmar Oil and Gas Enterprise) ซึ่งเป็นบริษัทรัฐวิสาหกิจที่ขณะนี้อยู่ภายใต้การควบคุมของคณะรัฐประหารเผด็จการกองทัพเมียนมา เราเรียกร้องให้ปตท.และปตท.สผ.ระงับการส่งเงินรายได้ผ่านบริษัทนี้และให้ส่งไปไว้ยังบัญชีที่ได้รับการปกป้อง (escrow account/protected account) จนกว่ารัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนจะได้กลับเข้ามาปกครองประเทศ และนำประเทศเมียนมากลับเข้าสู่การปกครองแบบประชาธิปไตย” จดหมายระบุ
จดหมายเปิดผนึกเผยแพร่เมื่อ 20 พฤษภาคม 2564 ร่วมลงชื่อโดย 76 องค์กรประชาสังคมจากไทย เมียนมา และนานาชาติ เช่น มูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน (ศขช.) โครงการอินเตอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) มูลนิธิบูรณะนิเวศ (EARTH) และ Karen Human Rights Group
ชื่อของบริษัทปตท.ยังถูกอ้างอิงถึงในข้อเรียกร้องของ “คณะกรรมการตัวแทนสภาแห่งสหภาพ (CRPH)” คณะทำงานพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตยซึ่งตั้งขึ้นคู่ขนานหลังรัฐประหาร ซึ่งเรียกร้องให้รัฐบาลและนักลงทุนจากประเทศต่างๆ ตัดสายสัมพันธ์ทางธุรกิจที่ควบคุมโดยกองทัพ
ที่ผ่านมา นักลงทุนหลายประเทศยังตั้งคำถามถึงความชอบธรรมจัดตั้ง “รัฐบาลทหาร” ครั้งนี้และได้ร่วมกดดันการใช้ความรุนแรงในเมียนมาผ่านมาตรการทางเศรษฐกิจ รัฐบาลญี่ปุ่นซึ่งเป็นผู้ให้เงินกู้รายใหญ่ที่สุดกับเมียนมาประกาศระงับการให้ความช่วยเหลือทางการเงินครั้งใหม่ ขณะที่สหรัฐอเมริกาใช้มาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจของกองทัพเมียนมา
“ธุรกิจก๊าซ-น้ำมัน” ท่อน้ำเลี้ยงสำคัญ “รัฐบาลทหาร” เมียนมา
ธุรกิจก๊าซธรรมชาติและน้ำมันเองนับเป็นหนึ่งรายได้หลักของเมียนมา โดยรายงานสถิติพลังงานโลกของ BP เผยว่าปลายปี 2019 เมียนมามีก๊าซธรรมชาติสำรอง 1.2 ล้านล้านลูกบาศก์เมตร หรือ 0.6% ของโลก
สัปดาห์ถัดจากรัฐประหาร องค์กรความยุติธรรมเพื่อเมียนมา (Justice for Myanmar) เผยว่า ก๊าซธรรมชาติเป็นรายได้สูงสุดอันดับ 2 ของการส่งออกของประเทศ เมื่อปี 2017/2018 รัฐบาลเมียนมาได้เงินจากธุรกิจนี้ร่วม 737 ล้านเหรียญสหรัฐ (23,060 ล้านบาท) และคาดว่า 2020/2021 นี้จะได้ 1.5 พันล้านเหรียญสหรัฐ (46.93 พันล้านบาท)
โครงการท่อส่งก๊าซ 3 โครงการหลักดังกล่าวมี 5 บริษัทต่างชาติร่วมลงทุน ได้แก่ Chevron (สหรัฐฯ) Total (ฝรั่งเศส) Petronas (มาเลเซีย) Nippon Oil Exploration (ญี่ปุ่น) และ PTTEP (ไทย) โดยมีสัดส่วนลงทุนดังนี้

สำหรับปตท.สผ. เป็นผู้ร่วมลงทุนโครงการท่อส่งก๊าซยานาดา (25.5%) และเยตากุน (19.31%) และเป็นผู้ลงทุนหลัก 80% โครงการท่อส่งก๊าซซอว์ติก้า ซึ่งในปี 2017/2018 ส่งเงินให้เมียนมาร่วม 41 ล้านเหรียญสหรัฐ (1,283 ล้านบาท)
โครงการก๊าซธรรมชาติเหล่านี้ส่งขายให้ประเทศไทยและจีน โดยสัญญาการซื้อขายของไทยนับเป็นสัญญา 30 ปีที่เริ่มผลิตเมื่อปี 2003
องค์กรความยุติธรรมเพื่อเมียนมา ระบุว่า ธุรกิจนี้นับเป็น “ท่อน้ำเลี้ยง” หลักของกองทัพพม่า ซึ่งยังเป็นที่ถกเถียงว่า เนื่องจากรายได้จะส่งผ่านรัฐวิสาหกิจ MOGE ซึ่ง “มีความเชื่อมโยงแนบแน่น” กับธุรกิจกองทัพเมียนมา ซึ่งไม่ได้พยายาม “ทำให้โปร่งใส” เช่น เผยแพร่บัญชีหรือเว็บไซต์หลักของตนเองสู่สาธารณะ
นอกจากนั้น จุดเริ่มต้นของโครงการท่อส่งก๊าซธรรมชาตินี้ยังอยู่ในยุคสมัยรัฐบาลทหารเมียนมาชุดก่อนที่ปกครองนานหลายสิบปีก่อนการเข้ามาของพรรคใต้การนำของอองซานซูจีเมื่อปี 2011 โดยโครงการยาดานาสร้างในปี 1995 โครงการเยตากุนในปี 1996 และซอว์ติก้าใน ปี 2011
ระหว่างนั้นเกิดกรณีละเมิดสิทธิมนุษยชนและสิ่งแวดล้อมในช่วงเวลาก่อสร้างและดำเนินโครงการ เช่น การแย่งยึดที่ดินจากชนกลุ่มน้อย ปิดไม่ให้ชุมชนสามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากป่า หรือการบังคับใช้แรงงาน เช่น คดีโด่งดังเมื่อปี 1996 ซึ่งชาวบ้าน 15 รายในพื้นที่โครงการท่อส่งก๊าซยาดานาลุกขึ้นฟ้องคดีข้ามชาติ โดยยื่นฟ้องศาลสหรัฐฯ ว่าบริษัท Unocal (ซึ่งต่อมาถูกบริษัท Chevron ซื้อ) ได้ริเริ่มโครงการท่อส่งก๊าซซึ่งทำให้มีการส่งทหารเมียนมาและเปิดค่ายทหารคุมการก่อสร้างในพื้นที่ จนเกิดการบังคับใช้แรงงานและข่มขืนคนในพื้นที่

ความเป็นไป (ไม่) ได้ของข้อเรียกร้อง
ความรุนแรงหลังจากรัฐประหารเมียนมายังดำเนินต่อเนื่อง 25 พฤษภาคม Assitance Association for Political Prisoners รายงานว่า มียอดผู้เสียชีวิตร่วม 827 รายและถูกจับกุม 5,421 ราย
ข้อเรียกร้องถึงบริษัทฯ น้ำมันและก๊าซธรรมชาติอาจเกิดขึ้นจริงไม่ง่าย สองบริษัทใหญ่จากต่างประเทศได้มีทีท่าออกมาปฏิเสธความเกี่ยวข้องกับกองทัพเมียนมา แม้จะมีเสียงเรียกร้องจากกลุ่มประชาสังคมและประชาชนจำนวนมาก เช่น แคมเปญระดมชื่อออนไลน์ SumofUs ซึ่งมีผู้ร่วมลงกว่าหนึ่งแสนราย
Total บริษัทสัญชาติฝรั่งเศส ซึ่งเป็นผู้ลงทุนใหญ่สุด เผยว่า บริษัทฯ ได้จ่ายเงินตรงเข้าสู่รัฐบาลเมียนมาและการดำเนินธุรกิจในปัจจุบันหลังเกิดเหตุรัฐประหาร จะช่วยให้บริษัทสามารถคุ้มครองพนักงานในความดูแลได้ อย่างไรก็ตาม ได้มีการรายงานข่าวว่าพนักงานที่แสดงออกว่าคัดค้านการรัฐประหารถูกบังคับให้ลาออก และล่าสุด Total ได้ถอนโฆษณาจากสำนักข่าวฝรั่งเศส Le Monde ซึ่งเปิดเผยหลักฐานเอกสารเกี่ยวข้องกับการส่งเงินค่าก๊าซผ่านบัญชีกองทัพที่จดทะเบียนอยู่ต่างประเทศ
ขณะที่บริษัทสัญชาติสหรัฐ Chevron เผยว่าการงดจ่ายค่าส่งก๊าซจะยิ่งทำให้สถานการณ์ด้านพลังงานในพม่าแย่ลง และมีการรายงานว่ามีการล็อบบี้เกิดขึ้นในรัฐบาลประธานธิบดีไบเดนที่กำลังเดินหน้าคว่ำบาตาตรบัญชีที่เกี่ยวข้องกับกองทัพพม่าต่างๆ ในสหรัฐฯ
“เรากังวลเป็นอย่างมากว่าเงินรายได้ในส่วนนี้จะถูกแปรเป็นอาวุธหรือกระสุนปืนที่สาดใส่แก่ประชาชนผู้บริสุทธิ์ รัฐบาลและธุรกิจทั่วโลกกำลังแสดงออกถึงการไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหารที่ฆ่าชีวิตประชาชนไปแล้วเกือบ 800 ราย เราอยากให้ผู้ลงทุนจากประเทศไทยเคารพข้อเรียกร้องของประชาชาชาวเมียนมา”
ธีระชัย ศาลเจริญกิจถาวร ผู้ประสานงาน ETOs Watch กล่าว
“อีกทั้งเรายังเชื่อว่า การระงับส่งเงินรายได้นี้จะยังเป็นการปกป้องชื่อเสียงของบริษัทฯ สัญชาติไทยให้พ้นจากความเกี่ยวข้องกับคณะเผด็จการรัฐประหาร นับเป็นการปกป้องผลประโยชน์ของประเทศไทยในระยะยาวและเป็นการรักษาความสัมพันธ์ที่ดีกับประชาชนชาวเมียนมาด้วย และเราเชื่อว่าธุรกิจที่ดีจะต้องมีคุณสมบัติที่สำคัญคือต้องยืนอยู่ข้างหลักสิทธิมนุษยชน”
เว็บไซต์ของปตสผ.ระบุถึงหลักการเกี่ยวกับการดำเนินธุรกิจและสิทธิมนุษยชนของพนักงานและผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง และดำเนินการตามหลักสิทธิมนุษยชนตลอดระบบการผลิต รวมถึงยังเป็นสมาชิกของสมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็ก (UNGC) กรอบความร่วมมือนานาชาติเพื่อสนับสนุนภาคเอกชนให้ดำเนินกิจกรรมทางธุรกิจที่สอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชนและเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน
เครือข่ายประชาสังคมได้ส่งจดหมายถึงบริษัทฯ และเผยแพร่บนเว็บไซต์ แม้พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารจะกำหนดให้เฉพาะหน่วยงานรัฐต้องตอบกลับข้อเรียกร้องของประชาชน ทว่าเครือข่ายคาดหวังว่าจะได้รับการตอบกลับจากภาคเอกชนเช่นกัน
“เราหวังเป็นอย่างยิ่งว่าทางบริษัทฯ จะตอบกลับจดหมายที่ระบุข้อกังวลและข้อเรียกร้องของพวกเรา เราไม่ได้เรียกร้องอะไรที่มากเกินไปและคิดว่ามีความเป็นไปได้มากที่สุด เราต้องร่วมกันทำให้แน่ใจว่าเงินรายได้ที่ส่งไปจะต้องทำให้ประชาชนชาวเมียนมาได้ประโยชน์ภายใต้การควบคุมของรัฐบาลพลเรือนในอนาคตที่ยึดถือหลักการประชาธิปไตย”
ชม GreenLive: ยื่นปตท.หยุดเป็นท่อน้ำเลี้ยง “รัฐบาลทหารเมียนมา” โลกสวยไปไหม? คุยกับ ธีระชัย ศาลเจริญกิจถาวร ผู้ประสานงาน ETOs Watch คณะทำงานติดตามความรับผิดชอบของการลงทุนข้ามพรมแดน 1 ใน 76 องค์กรที่ยื่นข้อเรียกร้องถึงปตท.