80% สปีชี่ส์อาเซียนกำลังจะหายไป วิกฤตกว่าโควิด นักชีววิทยาเยอรมันเตือน

จุดสิ้นสุดของวิวัฒนาการกำลังใกล้เข้ามาเร็วกว่าที่คนส่วนใหญ่คิด นักชีววิทยาชาวเยอรมันเตือน วิกฤตความหลากหลายทางชีวภาพน่ากลัวกว่าโควิด ชี้สปีชีส์ 80% ในอาเซียนกำลังจะหายไปและไม่อาจมีสปีชีส์ใหม่พัฒนาขึ้นทดแทน เสนอทางออกรักษา 30% พื้นผิวโลกให้เป็นเขตอนุรักษ์ โดยมีชนพื้นเมืองร่วมรักษา

“จี้หลอ” จิ้งหรีดดินที่อาศัยอยู่ใต้ดินริมแม่น้ำโขงเป็นสปีชีส์ที่พบน้อยลงหลังจากระบบนิเวศเปลี่ยน (ภาพ: GreenNews)

“เมื่อเทียบกับโรคระบาด วิกฤตการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพนั้นหนักหนากว่ามาก เพราะว่ามนุษยชาติต้องพึ่งพิงทรัพยากรชีวภาพอย่างพืชและสัตว์ ไม่ว่าจะเพื่อความเป็นอยู่ที่ดีหรือสารอาหาร แต่พวกเราไม่เคยตระหนักถึงจุดนี้เลย” 

“การสูญพันธุ์ครั้งใหญ่” อาจไม่ใช่เรื่องใหม่และยิ่งฟังไปเรื่องไกลตัวในวันที่โรคระบาดและเศรษฐกิจถดถอยกำลังเป็นวิกฤตเร่งด่วนอยู่ตรงหน้า ทว่าเราอาจเปลี่ยนความคิด เมื่อได้ฟังผลการศึกษาตลอดหลายปีของนักชีววิทยาวิวัฒนาการชาวเยอรมัน ศ.ดร.Matthias Glaubrecht ที่เล่าให้ผู้ฟังชาวไทยเนื่องในโอกาสวันแห่งความหลากหลายทางชีวภาพโลกปีนี้

เขาย้ำถึงความหนักหนาของการสูญเสียสิ่งมีชีวิตต่างๆ บนโลกที่เราคาดไม่ถึง พร้อมกับชี้ให้เห็นถึงความเร่งด่วนของวิกฤตนี้ ซึ่งผลการศึกษาชี้ว่าสิ่งมีชีวิตกว่าหนึ่งล้านสปีชีส์บนโลกจะสูญพันธุ์จากจำนวนกว่าเก้าล้านสปีชีส์ภายในไม่กี่สิบปีข้างหน้า ในสัมมนาพิเศษหัวข้อ “จุดสิ้นสุดของวิวัฒนาการ : มนุษย์และการทำลายล้างความหลากหลายทางชีวภาพ” จัดโดยภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร เมื่อ 21 พฤษภาคม 2564

ศ.ดร.Matthias ศึกษาด้านชีววิทยาวิวัฒนาการมาหลายปี โดยเคยทำงานศึกษาเรื่องหอยน้ำจืดร่วมกับนักวิชาการไทย ปัจจุบันดำรงตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการศูนย์ประวัติศาสตร์ทางธรรมชาติ มหาวิทยาลัย Hamburg และออกหนังสือเล่มล่าสุดชื่อเดียวกับประเด็นสัมมนาพิเศษคราวนี้ ซึ่งได้รับการเสนอชื่อเป็นหนังสือวิทยาศาสตร์ยอดเยี่ยม โดยกระทรวงการศึกษา ประเทศออสเตรีย

ศ.ดร.Matthias Glaubrecht บรรยายประเด็น “จุดสิ้นสุดของวิวัฒนาการ” แก่ผู้ฟังไทย (ภาพ: ภาควิชาชีววิทยา มหาวิทยาลัยศิลปากร)

เขาเผยว่า ปัจจุบัน โลกของเราอยู่ในจุดที่อาจเรียกได้ว่า “จุดสิ้นสุดของวิวัฒนาการ” เมื่อสิ่งมีชีวิตต่างๆ ทยอย “สูญพันธุ์” ด้วยฝีมือมนุษย์และไม่อาจมีสปีชีส์ใหม่พัฒนาขึ้นทดแทนในเร็ววันนี้ ความสูญเสียดังกล่าวไม่อาจนับว่าเป็นปรากฎการณ์วิวัฒนาการตามธรรมชาติได้เมื่อเทียบกับการสูญพันธุ์ครั้งอื่นๆ ในประวัติศาสตร์โลก เนื่องจากเป็นผลผลิตของมนุษย์อย่างชัดเจน

“เรามักจะเข้าใจผิดเกี่ยวกับวิวัฒนาการอยู่ 3 เรื่อง หนึ่ง เราเข้าใจว่าการสูญพันธุ์ของสปีชีส์เป็นส่วนหนึ่งของปรากฏการณ์ธรรมชาติ สอง สิ่งมีชีวิตหนึ่งสูญพันธุ์เพราะว่าไร้ศักยภาพที่จะปรับตัว และสาม เมื่อสปีชีส์จำนวนหนึ่งหายไป จะมีสปีชีส์ใหม่พัฒนาขึ้นมาทดแทน ทว่าทั้งหมดนี้คือความเข้าใจผิด”

“แท้จริงแล้ว การสูญพันธุ์ที่กำลังเกิดขึ้นวันนี้เป็นการสูญพันธุ์ที่เกิดจากฝีมือมนุษย์​ มันถูกวิถีชีวิตมนุษย์เร่งให้เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วในไม่กี่ปี ทำให้สปีชีส์ต่างๆ สูญพันธุ์โดยไม่มีโอกาสจะปรับตัวทัน และโลกจะไม่มีสปีชีส์ใหม่พัฒนาขึ้นมาทดแทนได้ในเร็ววัน เห็นได้จากการสูญพันธุ์ในยุคไดโนเสาร์เมื่อ 66 ล้านปีก่อน โลกต้องใช้เวลาถึง 10-15 ล้านปีกว่าความหลากหลายของสิ่งมีชีวิตจะกลับมาเป็นเช่นเดิม”

ผลการศึกษามากมาย เช่น งานวิจัยเมื่อปี 2558 ของศาสตร์จารย์ Douglas Mccauley ชี้ให้เห็นว่าการสูญพันธุ์ครั้งใหญ่ของสัตว์นั้นสอดคล้องกับกิจกรรมมนุษย์ ในออสเตรเลีย หลังจากมนุษย์อพยพจากทวีปแอฟริกาเข้าไปอาศัย พืชและนกบางชนิดได้สูญพันธุ์ และเช่นเดียวกันในทวีปอื่นๆ 

การสูญพันธุ์ยิ่งรุดหน้าอย่างรวดเร็ว เมื่อประชากรมนุษย์เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด งานวิจัยได้คาดการณ์ว่าประชากรมนุษย์กว่าเจ็ดพันล้านคนวันนี้ จะเพิ่มขึ้นเป็นสิบเจ็ดล้านในปี 2643 แม้จะมีความพยายามคุมกำเนิดมากมาย ทว่าต้องใช้เวลาในการปรับเปลี่ยน

การปรากฏขึ้นของมนุษย์ในทวีปต่างๆ สัมพันธ์อย่างมีนัยยะสำคัญกับการสูญพันธุ์ของสิ่งมีชีวิตในพื้นที่ (ภาพ: Tobias Andermann)

ดร.Matthias ย้ำว่า ปัจจัยหลักของการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพคือการเปลี่ยนแปลงการใช้ที่ดิน ซึ่งเป็นถิ่นอาศัยของสิ่งมีชีวิต ปี 2563 ที่ผ่านมายังเป็นหมุดหมายสำคัญที่พื้นผิวบนโลกของเราถูกแปรสภาพโดยมนุษย์ แซงหน้าพื้นผิวธรรมชาติอย่างป่าหรือทะเล ปัจจุบัน เหลือพื้นที่ซึ่งยังมีลักษณะเป็นธรรมชาติเพียง 1 ใน 4 ขณะที่ที่เหลือได้ถูกเปลี่ยนสภาพโดยมนุษย์เป็นพื้นที่เกษตร ฟาร์มปาร์มน้ำมัน หรือเมือง

พื้นที่ป่าบนโลกได้หายไปแล้วกว่าครึ่งหนึ่งภายในรอบหนึ่งหมื่นปีที่ผ่านมา โดยกว่า 35% หายไปในรอบ 13 ปี (2543-2556) ชี้ให้เห็นว่าวิถีชีวิตมนุษย์วันนี้เป็นตัวเร่งความสูญเสียของธรรมชาติ

วิกฤตความหลากหลายทางชีวภาพยังรุนแรงต่างกันในแต่ละทวีป เนื่องจากสภาพแวดล้อมของทวีปบางแห่งเป็นแหล่งความหลากหลายทางชีวภาพมากกว่าพื้นที่อื่น ได้แก่ อเมริกาใต้ แอฟริกา รวมถึงเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งพื้นที่เหล่านี้กลับเป็นเป้าทำลายล้างสภาพแวดล้อมมากกว่าทวีปอื่นๆ 

หากเทียบกับอัตราการสูญพันธุ์ในสิงคโปร์ ซึ่งเมื่อสองร้อยปีก่อนเป็นเกาะเต็มไปด้วยป่าร้อนชื้น ทว่าการเปลี่ยนแปลงการใช้ที่ดินเป็นเมืองและเกษตร กลับทำให้สูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพกว่า 80% อาจกล่าวได้ว่าทวีปเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กำลังจะมุ่งหน้าสู่การสูญเสียสปีชีส์ในอัตราเดียวกันอีกไม่กี่สิบปีข้างหน้า

ปัจจุบัน 70% ของพื้นที่ธรรมชาติที่ปราศจากเงื้อมมือมนุษย์อยู่ในเพียงประเทศ 5 ประเทศ ได้แก่ รัสเซีย แคนาดา ออสเตรเลีย และสหรัฐ ซึ่งโดยลักษณะภูมิศาสตร์แล้ว ไม่ได้เป็นแหล่งความหลากหลายทางชีวภาพ มีเพียงผืนป่าอะแมซอนในบราซิลเท่านั้นที่ยังเป็นปราการสำคัญสุดท้าย

“จริงๆ แล้ว สิ่งมีชีวิตต่างๆ จะไม่ได้ ‘สูญพันธุ์’ หรือหายไปจากโลกของเราอย่างสิ้นเชิงหรอก เพราะว่ามนุษย์จะพยายามทุกวิถีทางเพื่อรักษาพวกมันไว้ เช่น เพาะพันธุ์สัตว์ในสถานเลี้ยงเหมือนเสือซึ่งจำนวนในธรรมชาติลดลงมากจนเชื่อว่าเหลือเพียงแค่ 4,000 ตัวในโลก ทว่าโลกของเรากำลังเผชิญกับการ ‘สูญพันธุ์’ ในนิยามที่กว้างกว่าที่เรามักเข้าใจ เมื่อจำนวนสิ่งมีชีวิตและถิ่นอาศัยของพวกมันลดลงอย่างมหาศาล (Defuanation) และสิ่งมีชีวิตบางชนิดนับว่าได้ ‘ตาย’ ไปจากระบบนิเวศแล้วเพราะไม่ได้มีบทบาทสำคัญทางระบบนิเวศอีกต่อไป”

ท่ามกลางข่าวร้าย ยังมีทางออก นักชีววิทยาเยอรมันเสนอว่า เราควรจะตระหนักถึงความรุนแรงของวิกฤตความหลากหลายทางชีวภาพเหมือนกับวิกฤตสภาพภูมิอากาศ และนานาประเทศควรกำหนดเป้าหมายที่อยากไปถึงร่วมกันเหมือนกับเป้าหมายรักษาอุณหภูมิโลกให้ไม่ขึ้นเกิน 2 เซลเซียส

“หัวใจของการรักษาความหลากหลายทางชีวภาพคือการรักษาพื้นที่ธรรมชาติให้สิ่งมีชีวิต ข้อตกลงสีเขียวของยุโรป (Green New Deal) ประกาศจะรักษาพื้นผิวโลก 30% ให้เป็นพื้นที่อนุรักษ์ ซึ่งเป็นความพยายามสำคัญที่นานาชาติจะหารือกันในงานประชุมความหลากหลายทางชีวภาพกันยายนนี้” ดร.Matthias เผยกับ GreenNews 

เป้าหมายนั้นอ้างอิงมาจากงานศึกษา GlobalSafetyNet แบบจำลองที่วิเคราะห์และเสนอว่าควรจะพัฒนาพื้นที่อนุรักษ์ในพื้นที่ใดของโลกเพื่อชะลอการสูญพันธุ์ โดยดร.Matthias เชื่อว่าพื้นที่อนุรักษ์ธรรมชาตินั้นไม่จำเป็นต้องปลอดคนโดยสิ้นเชิง ทว่าอาจมีชนพื้นเมืองอยู่ร่วมด้วยหรือเปิดให้นักท่องเที่ยวเข้าชม 

“เราจะสามารถปกป้องพื้นที่ธรรมชาติได้ต่อเมื่อเราประนีประนอมการใช้ที่ดินที่หลากหลายในพื้นที่อนุรักษ์และฟื้นฟู ความท้าทายที่เราจะเจอในศตวรรษ 21 คือการหาจุดสมดุลระหว่างการรักษาธรรมชาติและการเกษตรที่มีความเป็นอุตสาหกรรมสูงของพวกเรา” 

GlobalSafetyNet แผนที่วิเคราะห์และเสนอว่าควรจะพัฒนาพื้นที่อนุรักษ์ในพื้นที่ใดของโลกเพื่อชะลอการสูญพันธุ์และรักษาเสถียรสภาพภูมิอากาศ (ภาพ: GlobalSafetyNet)

ปีนี้ ทั่วโลกร่วมกันระลึกถึงวันแห่งความหลากหลายทางชีวภาพในธีม “เราเป็นส่วนหนึ่งของทางออก” ซึ่งต่อยอดจากธีมปีก่อน “ทางออกของพวกเราอยู่ในธรรมชาติ”ย้ำเตือนว่าความหลากหลายทางชีวภาพเป็นคำตอบสำคัญของการพัฒนาที่ยั่งยืน อีกทั้งยังเป็นพื้นฐานการไขทางออกวิกฤตสภาพภูมิกาศ ปัญหาสุขภาพและความมั่นคงทางน้ำและอาหาร เพื่อสร้างโลกที่ดีกว่าเดิมหลังวิกฤตโรคระบาดที่กำลังเผชิญอยู่วันนี้

การประชุมสมัชชาภาคีอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพครั้งที่ 15 (CBD COP15) มีกำหนดการจัดขึ้นที่เมืองคุนหมิง ประเทศจีน กันยายน 2564