เมื่อกรมทางหลวงเตรียมขยายทางหลวงหมายเลข 304 จาก 4 สู่ 7 เลน ซึ่งเรียงรายด้วยต้นไม้และดอกสีชมพูของต้นเสลา นักอนุรักษ์กันผู้ดูแลถนนจึงล้อมวงคุย หาสมดุลระหว่างรักษาต้นไม้กับความปลอดภัยผู้ใช้ถนน
ชวนฟังบทสนทนาว่าด้วยเรื่องถนนช่วงสั้นๆ 6 กม.ที่ฉายภาพทิศทางยาวๆ ของถนนกับต้นไม้ไทย

ดอกไม้สีชมพูที่บานรับหน้าร้อน กิ่งก้านที่ประดับประดาด้วยสีเขียวชอุ่ม ถนนหมายเลข 304 มีต้นไม้เรียงรายทั้งเกาะกลางถนนและสองข้างทาง ทว่าภาพคุ้นตานักเดินทางภาคตะวันออกอาจเปลี่ยนไป เมื่อมีข่าวว่า “ต้นเสลา” นับห้าร้อยต้น รวมถึงต้นไม้อื่นๆ อาจถูกตัดเพื่อแลกกับการขยายถนน
โครงการขยายทางหลวง 304 สายฉะเชิงเทรา-กบินทร์บุรี ที่เป็นประเด็นตั้งอยู่ในเขตอ.บางคล้า จ.ฉะเชิงเทรา เป็นระยะทาง 6 กิโลเมตร ช่วงคลองท่าทองหลวง เลยแยกหนองปลาตะเพียน (กม.95+500) ถึงคลองกระจับ (กม.101+500) มีจุดประสงค์ขยายถนนจาก 4 เลนเป็น 7 เลน เพื่อลดปัญหารถติด ซึ่งสถิติปี 2562 พบว่ามีปริมาณจราจรราว 60,000 คัน/วัน
“ตัวเลขดังกล่าวถือว่าสูงมาก โดยปกติถนนลักษณะนี้มีรถจำนวน 8,000 คัน/วัน ก็นับว่าหนาแน่นสูงแล้ว เหตุผลเป็นเพราะเป็นเส้นทางใกล้กรุงเทพฯ มีจุดเริ่มต้นที่ปากเกร็ด ปลายทางด้านทิศเหนือที่นครราชสีมา ทางหลวงเส้นนี้เลยเป็นเส้นทางสำคัญที่ใช้ทั้งโดยสารและขนส่งสินค้าจากเขตเศรษฐกิจภาคตะวันออกไปภาคอีสานและข้ามไปสู่ประเทศลาว”
พิชากร ศรีจันทร์ทอง วิศวกรโยธาเชี่ยวชาญจากสำนักสำรวจและออกแบบถนน กรมทางหลวง เผยในงานเสวนาออนไลน์ “การรักษาต้นไม้จากการขยายถนน 304” ช่วงเย็นหลังเลิกงานของวันที่ 5 เมษายน 2564
แต่การตัดถนนที่ต้องแลกมาด้วยต้นไม้อาจทำให้คนที่สัญจรผ่านและผูกพันไม่เห็นด้วย หนึ่งในนั้นคือผู้เข้าร่วมเสวนาที่เป็นทั้งคนในพื้นที่และครูนักอนุรักษ์อย่าง ผศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ผมจำได้ว่าตอนเด็กๆ ฉะเชิงเทรามีต้นไม้เยอะมาก ต้นไม้ริมถนนเป็นต้นทุนความร่มรื่นและเป็นเอกลักษณ์และมรดกของแต่ละพื้นที่ เช่น ชื่อของอำเภอบางคล้ามาจากชื่อ ‘ต้นคล้า’ ที่พบมากในพื้นที่ ส่วนบ้านของผม พนมสารคามที่อยู่ต่อกันก็มาจากชื่อต้นไม้

เหตุผลที่การขยายถนนต้องตัดต้นไม้นั้นเป็นเพราะพวกมันตั้งอยู่ใน “เขตทาง” พื้นที่สำหรับการสร้างถนนที่กรมทางหลวงกันไว้ โดยไม่ทับที่ซึ่งมีคนถือครองอยู่และต้องเวนคืน กรณี 304 นี้ เขตทางนั้นกว้าง 80 เมตร และอยู่ติดกับคลองส่งน้ำเกษตรกรรมของชุมชนรอบข้าง การขยายถนนจึงไม่อาจเบี่ยงหลบไปด้านข้างเพิ่ม
จากต้นไม้ประมาณ 1,500 ต้นที่โครงการสำรวจในบริเวณดังกล่าว แผนขยายถนนต้องตัดต้นไม้ ราว 1 ใน 3
“ตั้งแต่เริ่มสร้างทางหลวงหลายสิบปีก่อน กรมทางหลวงได้กันเขตทางเผื่อไว้สำหรับอนาคตที่คมนาคมขยายตัว แต่ในช่วงระหว่างนั้นอาจมีการปลูกต้นไม้ในพื้นที่ว่างดังกล่าว พอมีโครงการขยายถนน ทำให้เกิดประเด็นขึ้นมาว่าทำไมต้องตัดต้นไม้” สมประสงค์ อรรถาชิต ผู้อำนวยการแขวงทางหลวงฉะเชิงเทรา ชี้แจง
การเว้นระยะห่างระหว่างทางหลวงกับต้นไม้ริมทางเป็นเรื่องสำคัญ ตามมาตรฐานการออกแบบทางหลวงแผ่นดิน ระบุว่า 5 – 7 เมตรวัดจากขอบไหล่ทาง ต้องเป็น “ระยะปลอดภัย (Clear Zone)” ปราศจากวัตถุสิ่งกีดขวางใดๆ เช่น ต้นไม้ใหญ่เส้นผ่าศูนย์กลางมากกว่า 10 เซนติเมตร หรือ อุปสรรคใดๆ เพราะหากผู้ขับรถเสียการควบคุมพาหนะและพุ่งเข้าชน จะเพิ่มแรงกระแทกทวีความรุนแรง อาจถึงขั้นเสียชีวิต
ในฐานะคนพัฒนาเส้นทาง เราต้องลดความเสี่ยงเกิดอุบัติเหตุได้มากที่สุด และเพื่อไม่ให้ต้นไม้ถูกประณามว่าเป็น ‘ฆาตกร’ เราอาจจะต้องพาต้นไม้ไปอยู่ในที่ที่เหมาะสมมากกว่า
สมประสงค์ ยืนยันกับ GreenNews ว่า แผนขยายถนน 304 ไม่ต้องตัดต้นเสลาทั้งหมดอย่างที่มีข่าวออกไปจนเกิดความเข้าใจผิด และโครงการขยายถนนยังออกแบบมาให้ลดผลกระทบต่อต้นไม้มากที่สุด โดยพยายามเว้นต้นไม้บริเวณกลางทาง

“กรมทางหลวงได้สำรวจลักษณะพื้นที่ ทำบัญชีต้นไม้ที่จะได้รับผลกระทบ และแบ่งแผนการก่อสร้างออกเป็นหลายช่วงขึ้นกับความเหมาะสมพื้นที่ ถนนบริเวณต้นเสลานี้จะยึดโมเดลคล้ายทางหลวงหมายเลข 4 ช่วงต่างระดับวังมะนาว-ชะอำ ซึ่งมีต้นสักอยู่ตรงกลาง”
สำหรับต้นไม้ที่หลีกไม่พ้น โครงการมีแผนล้อมย้าย 125 ต้น เพื่อนำไปปลูกพื้นที่อื่น
เมื่อเกิดกรณีพัฒนาถนนแบบนี้ ต้องเลือกไหมระหว่างถนนกับต้นไม้ คำตอบอาจไม่ได้มีอยู่หนึ่งเดียว ในสายตาของหมอต้นไม้ ดร. พรเทพ เหมือนพงษ์ อาจารย์คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มองว่าการพัฒนาถนนมี 4 ขั้นให้คิด
“สิ่งแรกที่ควรพิจารณา คือ เราสามารถหลีกเลี่ยงถนนให้หลบต้นไม้ได้หรือไม่ ลำดับต่อมาคือการหาทางป้องกันไม่ให้ผู้ขับขี่พลาดชนต้นไม้ เช่น การติดฉนวนกั้นทาง เมื่อจำเป็นต้องเอาต้นไม้ออก จึงเป็นการล้อมย้าย ลำดับสุดท้าย คือ การตัด ผมเชื่อว่าเราจะทำถนน เราตัดต้นไม้ได้และอาจปลูกใหม่”
เขาย้ำความเข้าใจว่าหน่วยงานด้านถนนอย่างกรมทางหลวงมีข้อจำกัดเรื่องงบประมาณและกำลังคน ดังนั้นเมื่อต้องล้อมย้ายต้นไม้ซึ่งมีค่าใช้จ่ายสูงเหยียบแสนบาทต่อต้น กรมทางหลวงอาจเปิดประมูลให้ผู้สนใจมาล้อมย้ายและนำต้นไม้ไปดูแลต่อเพื่อลดค่าใช้จ่าย รวมถึงทำงานร่วมกับรุกขกร เพื่อให้ต้นไม้ที่ย้ายพื้นที่ได้รับการดูแลที่เหมาะสม

รุกขกร นักภูมิสถาปัตย์ กรมทางหลวง และอาจารย์นักศึกษามหาวิทยาลัย วงพูดคุยออนไลน์เรื่องทางหลวงระยะ 6 กิโลเมตรนี้ดำเนินไปกว่าสามชั่วโมงเกินกำหนดเวลา แต่บทสนทนาว่าด้วยการอยู่ร่วมกันของถนนและต้นไม้ไม่จบลงง่ายๆ
สันติ โอภาสปกรณ์กิจ จากกลุ่มอนุรักษ์ต้นไม้ใหญ่ Big trees เผยว่าที่ผ่านมา ไม่เคยมีโอกาสได้คุยกับทางกรมทางหลวงมาก่อน การได้มาคุยเรื่องการขยายถนนต้นเสลาครั้งนี้จึงเป็นเหมือนเสวนาครั้งประวัติศาสตร์ที่คนหลายฝ่ายมาหาจุดสมดุล
เช่นเดียวกับฝั่งกรมทางหลวง ผู้อำนวยการแขวงทางหลวงฉะเชิงเทรา เผยความหวังว่าอยากให้ตัวแทนจากหน่วยงานด้านถนนกับกลุ่มนักอนุรักษ์ได้ร่วมมือกันต่อไปในอนาคต โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อจังหวัดภาคตะวันออกพัฒนาเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ จึงมีโครงการขยายถนนเกิดขึ้นมากมาย แต่กรมทางหลวงยังมีข้อจำกัด จึงอาจต้องเลือกตัดต้นไม้มากกว่าวิธีอื่น จึงเป็นเรื่องดีที่ได้มาคุยกับองค์กรอื่นๆ เพื่อหาทางช่วยเหลือกันต่อ
เมื่อก่อนต่างคนต่างคิด กลุ่มนักอนุรักษ์อาจคิดว่ากรมทางหลวงต้องตัดต้นไม้ ทางกรมเองก็ได้มาฟังว่านักอนุรักษ์ไม่ได้ต้องการจะเก็บต้นไม้อย่างเดียว ผมว่ามันดีมากเลยที่มาคุยเหตุผลและข้อจำกัดของกันและกัน