ต้านหนัก “ครม.แอบอนุมัติ CPTPP” จี้รัฐบาลชี้แจง

กระแสต่อต้านพุ่งขึ้นอย่างรวดเร็วภายใน 24 ชั่วโมงผ่านพื้นที่โซเชียลมีเดีย หลังมีการเปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรีพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาได้มีการ “ประชุมลับ และอนุมัติให้ไทยเข้าร่วม CPTPP” ซึ่งเป็นข้อตกลงระหว่างประเทศที่ถูกวิพากษ์วิจารย์อย่างหนักมาต่อเนื่อง ว่าจะก่อผลกระทบกับเกษตรกรไทยทั้งประเทศ โดยเฉพาะเกษตรกรรายย่อย

กรีนพีซ-ไบโอไทย-FTA Watch  ออกแถลงการเรียกร้องให้รัฐบาลชี้แจงข้อเท็จจริง รองโฆษกสน.นายกฯ ทวิตส่วนตัว “แค่ข่าวลือ ไม่มีการอนุมัติ”

กรีนพีซ : รัฐบาลต้องชี้แจง และยืนยันไม่ร่วม

วันนี้ 6 พ.ค. 2564 กรีนพีซประเทศไทยได้เผยแพร่ “แถลงการณ์กรีนพีซ ประเทศไทย นายกรัฐมนตรีต้องชี้แจงต่อสาธารณะอย่างโปร่งใสถึงกรณี CPTPP ในการประชุมคณะรัฐมนตรี และปฏิเสธการเข้าร่วม CPTPP อย่างถาวร” บนเว็บ greenpeace.org ภายหลังเกิดกระแสข่าวออนไลน์บนโซเชียล

“สืบเนื่องมาจากวานนี้ (5 พ.ค. 2564) วีระกร คำประกอบ ประธานคณะกรรมาธิการ สภาผู้แทนราษฎร และ คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาผลกระทบจากการเข้าร่วมความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก CPTPP จำนวน 50 คน ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก  (Comprehensive and Progressive Agreement of Trans-Pacific Partnership) หรือ “CPTPP”

.. นายกรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชาต้องออกมาชี้แจงต่อสาธารณะถึงมติการประชุมคณะรัฐมนตรีในวันที่ 5 พฤษภาคม และหยุดใช้อำนาจเพื่อลงนามในหนังสือแสดงเจตจำนง(Letter of Intent) เพื่อเข้าร่วม CPTPP โดยทันที

..ขณะเดียวกัน นายกรัฐมนตรีและคณะรัฐบาลจะต้องรับฟังข้อกังวลของประชาชน เกษตรกร ผู้บริโภค และภาคประชาสังคม ต่อผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากการเข้าร่วมความตกลง CPTPP และมีมติของรัฐบาลเพื่อปฏิเสธการเข้าร่วมความตกลง CPTPP อย่างถาวร” ธารา บัวคำศรี ผู้อำนวยการ กรีนพีซ ประเทศไทย กล่าวผ่านแถลงการณ์

แถลงการณ์ยังได้เปิดเผย เอกสารประกอบข้อเสนอของคณะกรรมการนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ (กนศ.) นั้น เรื่อง CPTPP อยู่ในลำดับการพิจารณาที่ 9 ซึ่งระบุในวงเล็บว่า “เอกสารแจกและเก็บคืนในที่ประชุม” ทั้งนี้ในเอกสารประกอบการประชุมของคณะรัฐมนตรียังได้ระบุว่า “หากไม่มีข้อทักท้วงให้ถือเป็นเรื่องที่คณะรัฐมนตรีเห็นชอบ/อนุมัติ”

“จากข้อสรุปในรายงานของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาผลกระทบจากการเข้าร่วมความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก

..การเข้าร่วม CPTPP คือการตัดสินใจเลือกผลประโยชน์ของธุรกิจบางกลุ่มและการเอื้ออำนวยให้บรรษัทเมล็ดพันธุ์และบริษัทยักษ์ใหญ่ได้ประโยชน์ แลกกับ “ผลกระทบอย่างมากและกว้างขวาง” ต่อเกษตรกรรายย่อย และความมั่นคงทางอาหารและยาของประเทศ

..การตัดสินใจเช่นนี้จะสร้างความเสียหายทางสังคมและสิ่งแวดล้อมที่ร้ายแรง เป็นการยื่นโอกาสให้มีการปล้นทรัพยากรความหลากหลายทางชีวภาพและอาหาร การผูกขาดเมล็ดพันธุ์ รวมถึงบ่อนทำลายระบบความมั่นคงทางยาและสุขภาพของไทย” ธารากล่าว

ผอ. กรีนพีซประเทศไทยยังเปิดเผยอีกว่า กรีนพีซจะเปิด รณรงค์รวบรวมรายชื่อประชาชน บนเว็บไซต์ greenpeace เพื่อคัดค้านและเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ยุติการพิจารณาเข้าร่วมความตกลง CPTPP

“เป็นเจตจำนงทางการเมืองที่แท้จริง เพื่อแสดงให้เห็นว่าภารกิจของรัฐบาลของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา คือการปกป้องผลประโยชน์สาธารณะ หาใช่ผลประโยชน์ของบรรษัทเมล็ดพันธุ์และบริษัทยักษ์ใหญ่เพียงหยิบมือ

ขณะนี้มีผู้ลงชื่อเรียกร้องให้รัฐบาล ปฏิเสธการเข้าร่วมความตกลง CPTPP กว่า 138,000 คน รัฐบาลจะต้องฟังเสียงประชาชนที่แสดงความกังวลถึงอนาคตของประเทศ” ธารา กล่าว 

BIOTHAI : 7 หายนะจาก CPTPP ต่อคนไทย

มูลนิธิชีววิถี (BIOTHAI) เผยบนเฟซบุค  ได้เปิดเผย 7 หายนะเกษตรกรรายย่อย ‘ทำไมการเข้าร่วม CPTPP จึงเป็นหายนะของเกษตรกรรายย่อยและส่งผลกระทบอย่างร้ายแรงต่อความมั่นคงทางอาหารของประเทศ ?’ โดยในรายงานนี้ดำเนินการโดยกลไกของสภาฯ อธิบายถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นเมื่อเข้าร่วม CPTPP (หน้า 33-34)

คณะกรรมาธิการพิจารณาแล้วเห็นว่า เกษตรกรรายย่อยและวิสาหกิจขนาดกลาง และขนาดย่อมด้านการเกษตรไทย จะได้รับผลกระทบอย่างมากและกว้างขวางถ้าประเทศไทยเป็นสมาชิกความตกลงCPTPP ทั้งจากการเปิดตลาดเสรีสินค้าเกษตร และจากการรอนสิทธิในการใช้พืชพันธุ์การค้าหลังจากการเข้าเป็นภาคีสมาชิกอนุสัญญา UPOV

1.เปิดประตูโจรสลัดชีวภาพ

“สูญเสียประสิทธิภาพในการกำกับดูแลการขออนุญาต และแบ่งปันผลประโยชน์ในกรณีเพื่อประโยชน์ในทางการค้า เนื่องจากไม่สามารถกำหนดให้แสดงหลักฐานการขออนุญาตและแบ่งปันผลประโยชน์ในการยื่นขอจดทะเบียนขอรับความคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ได้อีกต่อไป ทำให้ต่างชาติมีโอกาสที่จะมาลักลอบเอาพันธุ์พืชพื้นเมืองของไทยไปขอรับความคุ้มครองในต่างประเทศ ซึ่งจะทำให้ผู้ส่งออกไม่สามารถจำหน่ายไปยังประเทศที่พันธุ์นั้นได้รับความคุ้มครองสิทธิ และจะเป็นการเปิดโอกาสให้กับต่างชาติเข้ามานำพันธุ์พืชของไทยไปพัฒนาได้ และส่งกลับมาจำหน่ายในประเทศได้เร็วกว่านักปรับปรุงพันธุ์พืชชาวไทยโดยเฉพาะอย่างยิ่งที่ปัจจุบันประเทศไทยยังขาดความพร้อมด้านระบบฐานข้อมูลพันธุ์พืชดั้งเดิม”

2.แค่เกสรผสมข้ามก็ผิดกฎหมายทำลายการคัดเลือกพันธุ์โดยเกษตรกรรายย่อยและชุมชน

“อาจสร้างปัญหาการละเมิดสิทธินักปรับปรุงพันธุ์พืชโดยไม่เจตนา จากการขยายสิทธิคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ให้ครอบคลุมถึงอนุพันธ์สำคัญ (Essentially derived variety; EDV) ของพันธุ์พืชใหม่ด้วย หากเกสรจากพันธุ์พืชใหม่ถูกลมหรือสัตว์พาหะนำไปผสมกับพันธุ์พืชพื้นเมืองทั่วไปในแปลงข้างเคียง ในบางกรณีอาจทำให้เมล็ดพันธุ์ของเกษตรกรในแปลงข้างเคียงเข้าข่ายที่จะเป็น EDV ได้ นอกจากนี้การให้ความคุ้มครองแก่ EDV ยังจะส่งผลกระทบต่อการคัดเลือก และพัฒนาพันธุ์พืชของเกษตรกรรายย่อยและชุมชนท้องถิ่นโดยอาจไม่สามารถทำตามวิถีของเกษตรกรที่มีมาแต่เดิมในการคัดเลือกเก็บพันธุ์ ซึ่งมีลักษณะที่ต้องการที่เกิดขึ้นใหม่จากในแปลงปลูกมาปลูกได้”

3.ส่งผลกระทบฐานพันธุกรรมข้าวต้นทุนเมล็ดพันธุ์สูงขึ้น

“สูญเสียความได้เปรียบจากการที่ประเทศไทยเป็นถิ่นกำเนิดของความหลากหลายของพันธุ์ข้าว (ในปัจจุบันได้รวบรวมเชื้อพันธุกรรมไว้กว่า ๒๔,๘๕๒ ตัวอย่าง) โดยยังไม่มีการจัดทำฐานข้อมูลพันธุกรรมข้าวให้ถูกต้องสมบูรณ์ การเข้าร่วมความตกลง CPTPP จะอำนวยความสะดวกให้เกิดการถ่ายเทพันธุ์ข้าวระหว่างประเทศภาคีสมาชิก โดยประเทศสมาชิกสามารถนำพันธุ์ข้าวของประเทศไทยไปพัฒนาต่อยอดได้ ส่งผลต่อเกษตรกรเรื่องต้นทุนเมล็ดพันธุ์ข้าวที่จะสูงขึ้น”

4.เปิดทางพืชจีเอ็มโอ

“ทำให้ต้องจดทะเบียนคุ้มครองพันธุ์พืชดัดแปลงพันธุกรรม จากเดิมพระราชบัญญัติคุ้มครองพันธุ์พืช พ.ศ. ๒๕๔๒ ไม่จดทะเบียนคุ้มครองพันธุ์ให้พืชดัดแปลงพันธุกรรมที่ยังไม่ผ่านกระบวนการด้านความปลอดภัยทางชีวภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อการเข้าร่วมความตกลง CPTPP จะทำให้ไม่สามารถใช้มาตรการตาม Precautionary approach (อาจถูกพิจารณาว่าไม่เป็นไปตามหลัก SPS) ในการควบคุมการนำเข้าพืชดัดแปลงพันธุกรรมได้ การจดทะเบียนคุ้มครองพันธุ์พืชดัดแปลงพันธุกรรมอาจทำให้ผู้บริโภคประเทศคู่ค้า ซึ่งไม่ยอมรับผลิตผลจากพืชดัดแปลงพันธุกรรม เกิดความเข้าใจผิดและปฏิเสธการสั่งซื้อผลิตผลจากประเทศไทยได้ ซึ่งจะกระทบปริมาณการส่งผลิตผลพืชที่มีราคาสูงไปยังตลาดที่มีกำลังซื้อสูง”

5.เมล็ดพันธุ์แพงขึ้น

“ ทำให้เกษตรกรรายย่อยอาจต้องซื้อเมล็ดพันธุ์ในราคาที่สูงขึ้น เพราะหน่วยงานภาครัฐถูกลดงบประมาณและอัตรากำลังบุคลากรที่เคยทำงานปรับปรุงพันธุ์พืชและขยายพันธุ์พืช เพื่อเป็นทางเลือกให้แก่เกษตรกร ทำให้การพัฒนาและผลิตส่วนขยายพันธุ์ของพันธุ์พืชใหม่จากการดำเนินงานของหน่วยงานของรัฐเพื่อเผยแพร่ให้กับเกษตรกรนั้น เหลือในสัดส่วนที่น้อยมาก ขาดการถ่วงดุลด้านราคาเมล็ดพันธุ์-ส่วนขยายพันธุ์กับภาคเอกชน ขณะที่เกษตรกรในประเทศญี่ปุ่นใช้พันธุ์ทั่วไปและพันธุ์จากหน่วยงานของรัฐในสัดส่วนที่สูง การที่เมล็ดพันธุ์มีราคาสูงขึ้นในช่วงก่อนที่ตลาดเมล็ดพันธุ์จะมีการแข่งขันเสรีอย่างจริงจัง

จะส่งผลต่อต้นทุนวัตถุดิบอาหารมนุษย์และอาหารสัตว์ ซึ่งจะทำให้ระดับค่าครองชีพสูงขึ้น และลดขีดความสามารถในการแข่งขันกับสินค้านำเข้าจากประเทศอื่นที่เป็นภาคีความตกลง CPTPP”

6.เกษตรกรและผู้ค้ารายย่อยเสี่ยงถูกดำเนินคดี เพราะขยายสิทธิครอบคลุมผลผลิตและผลิตภัณฑ์

“อาจทำให้เกษตรกรและพ่อค้าแม่ค้ารายย่อย ซึ่งนผลิตผล/ผลิตภัณฑ์ไปจำหน่ายปลีกในตลาด ถูกดำเนินคดีอย่างกว้างขวาง เนื่องจากอนุสัญญา UPOV ขยายสิทธินักปรับปรุงพันธุ์พืชให้รวมถึงผลิตผลและผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการใช้ส่วนขยายพันธุ์ที่ได้มาโดยละเมิดสิทธินักปรับปรุงพันธุ์พืช เพราะมีความเป็นไปได้ในทางปฏิบัติที่ต่ำมากที่บุคคลเหล่านั้นจะมีใบเสร็จ/สำเนาใบเสร็จการซื้อเมล็ดพันธุ์อันเป็นหลักฐานแสดงว่า ผลิตผล/ผลิตภัณฑ์ที่นำไปจำหน่ายนั้นได้จากพืชที่ปลูกจากส่วนขยายพันธุ์ซึ่งชอบด้วยกฎหมาย”

7.เอื้อบริษัทเมล็ดพันธุ์ยักษ์ใหญ่กีดกันนักปรับปรุงพันธุ์รายย่อย

“จะเป็นอุปสรรคแก่นักปรับปรุงพันธุ์พืชรายย่อยและนักปรับปรุงพันธุ์พีชรายใหม่ แต่จะเอื้อประโยชน์แก่นักปรับปรุงพันธุ์พืชรายใหญ่ที่มีทุน กำลังคน และเทคโนโลยีซึ่งเหนือกว่า เนื่องจากอนุสัญญาUPOV จะทำให้ต้องขยายขอบเขตสิทธิของนักปรับปรุงพันธุ์พืช ให้ครอบคลุมถึงพันธุ์ที่เป็นอนุพันธ์สำคัญของพันธุ์พืชใหม่ และพันธุ์ที่ไม่แตกต่างอย่างชัดเจนจากพันธุ์พืชใหม่ แม้ได้จากการปรับปรุงพันธุ์โดยไม่ได้ใช้พันธุ์พืชใหม่นั้น

“หลังจากนายกรัฐมนตรีไฟเขียวให้ใช้เวทีของสภาฯเพื่อหาข้อยุติการถกเถียงเกี่ยวกับเรื่อง CPTPP ที่รวบรวมมือเศรษฐกิจจากทุกพรรคการเมือง ประธานมาจากพรรคพลังประชารัฐ มีอธิบดีสำคัญจากทุกกระทรวง ภาคธุรกิจ นักวิชาการ และองค์กรภาคประชาสังคม เมื่อรายงานดำเนินการแล้วเสร็จได้เสนอต่อสภาฯเพื่อรับรอง โดยสภาฯให้ความเห็นชอบรายงานนี้อย่างเป็นเอกฉันท์” มูลนิธิชีววิถี กล่าว

FTA-Watch : รัฐบาลฉวยโอกาสโควิด ประชุมลับ อนุมัติ

ด้านกลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (FTA Watch) ได้ออกแถลงการณ์ที่มีใจความดังนี้

“ตามที่วาระการประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวานนี้ (5 พฤษภาคม 2564) ได้มีวาระผลการพิจารณาการเข้าร่วมความตกลง CPTPP เข้าบรรจุอยู่ในวาระแค่เพื่อทราบ แต่ไม่มีการแจกเอกสารการประชุมให้รัฐมนตรีก่อน เป็นเอกสารแจกในที่ประชุมแล้วเก็บกลับคืนในเวลาเพียงสั้นๆ ซ้ำยังระบุในเอกสารวาระว่า ‘หากไม่มีข้อทักท้วงให้ถือเป็นเรื่องที่คณะรัฐมนตรีเห็นชอบ/อนุมัติ’ ดังที่ FTA Watch ได้นำเสนอตั้งแต่เมื่อวานแล้วนั้น

มีคำกล่าวหาว่านี่เป็นข่าวลวง เพราะในเวลาต่อมา รองโฆษกรัฐบาลชี้แจงว่า เป็นเพียงการขออนุมัติขยายเวลาศึกษาเพิ่มเติมอีก 50 วัน ไม่มีการอนุมัติให้นายกรัฐมนตรีลงนามในหนังสือแสดงเจตจำนงขอเข้าร่วมเป็นสมาชิกความตกลง CPTPP ที่จะมีการประชุมปีละครั้งในเดือนสิงหาคมนี้

เอกสารประกอบวาระการประชุมซึ่งมีข้อความที่ตีความได้ว่า ต้องการให้เป็นวาระลับและตีขลุมว่า ได้รับความเห็นชอบและอนุมัติแล้วหากไม่มีข้อทักท้วงดังกล่าว FTA Watch ได้รับช่วงสายของเมื่อวานนี้ จึงแจ้งให้ประชาชนและสื่อมวลชนทราบ ด้วยเห็นว่า เรื่องสำคัญนี้มีผลผูกพันประเทศไทยถึงชั่วลูกชัวหลานและมีผลกระทบต่อทั้งสังคม ไม่ว่าจะเป็นเกษตรกร พันธุกรรมอันเป็นสมบัติของแผ่นดิน ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า นโยบายสาธารณะที่จะออกมาเพื่อปกป้องคุ้มครองประชาชนด้านสาธารณสุข สิ่งแวดล้อม และการคุ้มครองผู้บริโภค รวมถึงผู้ประกอบการไทยที่จะได้รับผลกระทบจากทุนใหญ่ในประเทศและทุนใหญ่ต่างประเทศ ไม่พึงพิจารณาด้วยการหมกเม็ดลับๆล่อๆ

ถามว่า เหตุใดทีมงานโฆษกจึงไม่แถลงข่าวเรื่องการขอขยายเวลาศึกษาอีก 50 วัน หลังการประชุมคณะรัฐมนตรี พร้อมกับวาระอื่นๆ แต่กลับมาชี้แจงตอนค่ำของเมื่อวานนี้ หลังจากถูกผู้สื่อข่าวสอบถามจากกระแสเทรนดิ้งทวีตเตอร์ที่ประชาชนร่วมกันทวีต #NoCPTPP มากกว่าหนึ่งล้านสี่แสนครั้ง

จริงหรือไม่? ที่ก่อนหน้านี้มีความพยายามตีความจากทีมงานกระทรวงการต่างประเทศและทีมเลขาคณะกรรมการนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ (กนศ.) ว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี สามารถลงนามในหนังสือแสดงเจตจำนงขอเข้าเป็นสมาชิก CPTPP ได้เลยโดยไม่ต้องรอการศึกษาครบถ้วนอีก 50 วัน เพราะถือว่านี่เป็นกระบวนการรองรับภายใน แต่อาศัยการอนุมัติ/เห็นชอบของคณะรัฐมนตรีในคราวนี้ จริงอยู่ที่ไม่มีการพูดคุยในคณะรัฐมนตรี แต่เป็นสิ่งที่ทีมงานของนายดอน ปรมัตรวินัย รองนายกฯและรัฐมนตรีว่าการกระทรวการต่างประเทศในฐานะประธาน กนศ.เตรียมไว้ และผู้สื่อข่าวจำนวนหนึ่งก็ทราบเรื่องนี้ดี

ถ้าไม่มีพลังของประชาชนคนรุ่นใหม่ที่ร่วมใจกันทวีต #NoCPTPP ดังเป็นล้านครั้ง รวมทั้งการส่งข้อความผ่านสื่อสังคมออนไลน์อื่นๆอย่างกว้างขวางเช่นนี้ พวกเขาคงตีเนียนเดินหน้าเข้าร่วมความตกลงที่ได้ชื่อว่าจะสร้างผลกระทบกับสังคมไทยอย่างร้ายแรงครั้งสำคัญ

การตื่นตัวของประชาชน การตรวจสอบรัฐบาลอย่างเข้มข้นในเรื่องใหญ่เช่นนี้ เป็นหน้าที่ของคนทุกกลุ่ม เพื่อเป็นหลักประกันว่าจะมีอนาคตที่ดีรออยู่ข้างหน้า ท่ามกลางภาวะวิกฤตที่โลกและสังคมกำลังเผชิญหน้าอยู่ในขณะนี้”

อย่างไรก็ตามวานนี้ (6 พ.ค. 64) กลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (FTA Watch) เผยบนเฟซบุค อ้างว่าเอกสารประกอบวาระการประชุม ที่ปรากฎข้อความ “ต้องการให้เป็นวาระลับ ได้รับความเห็นชอบและอนุมัติแล้วหากไม่มีข้อทักท้วง”

FTA Watch สงสัยได้ว่า ก่อนหน้านี้มีความพยายามตีความจากทีมงานกระทรวงการต่างประเทศและทีมเลขาคณะกรรมการนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ (กนศ.) ว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี สามารถลงนามในหนังสือแสดงเจตจำนงขอเข้าเป็นสมาชิก CPTPP ได้เลย โดยไม่ต้องรอการศึกษาครบถ้วนอีก 50 วัน เพราะถือว่าเป็นกระบวนการรองรับภายใน แค่อาศัยการอนุมัติ/เห็นชอบของคณะรัฐมนตรีในคราวนี้เท่านั้นเอง

รองโฆษกสน.นายกฯ ทวิต “แค่ข่าวลือ ยังไม่อนุมัติ”

ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี โพสต์ทวิตเตอร์ว่า “ไม่มีการประชุมลับ และไม่มีการลงมตินะคะ เรื่องที่เข้ามาคือ ขอขยายระยะเวลาศึกษาเพิ่มอีก 50 วันเพื่อความรอบคอบค่ะ” และรูปเพจ FTA WATCH ตั้งข้อสงสัยในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี

ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกสำนักนายกฯ ทวีตข้อความว่า ไม่มีการประชุมลับและไม่มีการลงมติใด ๆ เรื่องที่เข้ามาคือขอขยายระยะเวลาศึกษาเรื่อง CPTPP เพิ่มอีก 50 วันเพื่อความรอบคอบ รวมทั้งไม่มีการอนุมัติให้นายกรัฐมนตรีลงนามในหนังสือแสดงเจตจำนงขอเข้าร่วมเป็นสมาชิกความตกลง CPTPP ที่จะมีการประชุมปีละครั้งในเดือนสิงหาคมนี้

จากการรายงานประชาชาติ เผยว่า มติดั่งกล่าวนั้น จากการตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรี นั้นยังไม่พบว่ามีวาระดังกล่าวผ่านการพิจารณา และรายงานถึงสถานการณ์เพิ่มเติมว่า หลังจากFTA WATCH ได้ตั้งข้อสงสัยดังกล่าว ทวิตเตอร์ แพลตฟอร์มสังคมออนไลน์ ประชาชนจำนวนมากพร้อมใจ #NoCPTPP กว่า 1.32 ล้านครั้ง วานนี้ ช่วง 21.15 น.ที่ผ่านมา

กระแส #NOCPTPP ลุกฮือในชั่วข้ามคืนทำให้ประชาชน และภาคประชาสังคม บุลคลทั่วไปลุกขึ้นมาตั้งคำถามสถานการณ์ดังกล่าว โดยเพจสื่อเถื่อน จัดเวทีเสวนาออลไลน์ “ข่มขืนคนกำลังป่วย” (ยิ่งกว่าลักหลับ) โดยมีนักวิชาการ ประสิทธิ์ชัย หนูนวล นักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อม ผู้ประสานงานเครือข่ายปกป้อง​อันดามันจากถ่านหิน และ คำรณ ชูเดชา ผู้ประสานงานเครือข่ายเฝ้าระวังธุรกิจแอลกอฮอล์ วิพากษ์วิจารณ์ เวลา 19.00 น. ทางเพจสื่อเถื่อน