“ต้องแก้ทั้งระบบ” 5 ประเด็นวนศาสตร์ในสายตา “สุรินทร์ อ้นพรม”

วนศาสตร์คือศาสตร์การจัดการป่าไม้ พัฒนาขึ้นในสังคมไทยร่วม 85 ปี นักวนศาสตร์หรือที่เรียกกันว่า “วนกร” ​ต่างรู้ดีถึงธรรมชาติของป่าที่เต็มไปด้วยความหลากหลายของพืชพันธุ์และอายุต้นไม้ กล้าไม้อ่อนแตกหน่อและเติบโตภายใต้แสงที่ส่องผ่านกิ่งก้านของไม้ใหญ่ เมื่อไม้ใหญ่ร่วงโรย ชีวิตใหม่จึงเกิดขึ้นทดแทน

แต่การเปลี่ยนแปลงอาจเจอแรงต้าน หรือโครงสร้างบางอย่างที่ไม่เอื้อให้กล้าใหม่เติบโต ดร.สุรินทร์ อ้นพรม อดีตอาจารย์วนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์​ มองว่าการศึกษาป่าไม้ไทยทุกวันนี้กำลังอยู่ในจุดนั้นเช่นกัน

อดีตเจ้าหน้าที่ศูนย์วนศาสตร์ชุมชน (RECOFTC) องค์กรไม่แสวงหาผลกำไรระหว่างประเทศที่ทำงานเรื่องคนกับป่า สุรินทร์ขยับมาเป็นอาจารย์ประจำสาขาวนศาสตร์ชุมชนเพราะอยากพัฒนาการศึกษาป่าไม้ที่มีหัวใจอยู่ที่ “คน”

ผ่านไปร่วม 16 ปี ทว่าความเป็น “วนศาสตร์แบบไทยๆ” ที่ยากต่อการเปลี่ยนแปลง​ กลายเป็นเหตุผลหนึ่งที่ผลักให้เขาตัดสินใจเดินออกมา แต่ยังคงแวะเวียนไปเกี่ยวพันกับเรื่องราวของคนกับป่าเป็นครั้งคราว เช่น ไปร่วมเสวนา “ทำไมต้อง save บางกลอย” ริมทำเนียบรัฐบาลเมื่อต้นปี 

จากการเป็นคนใน ถอยมามองวนศาสตร์จากภาพนอก สุรินทร์ชวนวิเคราะห์ 5 ปัญหา วันนี้ของระบบวนศาสตร์และการป่าไม้ไทย

หมายเหตุ : บทความเรียบเรียงจากสัมภาษณ์ GreenLive “คนใน” คิดอย่างไรกับปรากฏการณ์ “วนศาสตร์รุ่นใหม่” 23 เมษายน 2564 

1. “คนกับป่า” องค์ความรู้น้องใหม่ในวนศาสตร์ 

เพื่อให้เข้าใจความเป็นวนศาสตร์ทุกวันนี้ เรามามองประวัติศาสตร์และวิวัฒนาการแนวคิดการจัดการป่าไม้ไทยซึ่งแบ่งได้เป็น 3 ระยะ 

ระยะ 1 การป่าไม้เริ่มต้นจากแนวคิดการทำซุง ความรู้จัดการป่ามีเพื่อตอบคำถามว่า จะทำอย่างไรให้ป่าสามารถผลิตไม้ซุงได้ตลอดไป เป็นแนวคิดเพื่อสร้างผลผลิตอย่างต่อเนื่อง (sustain yield) ไม่ใช่เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (sustain development) 

หลังจากที่เราตัดถนนเข้าไปในป่าเพื่อทำไม้ จึงมีคนที่ตามเข้าไปทำงานและบุกเบิกที่ทำกินอยู่ในป่า กลายเป็นคนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ป่าสงวนร่วมกับชุมชนที่อาศัยอยู่ในป่าอยู่แล้ว ดังน้ันการที่มีคนอยู่ในป่า ส่วนหนึ่งก็เป็นผลจากนโยบายของรัฐเองที่สนับสนุนให้คนบุกเบิกพื้นที่เพื่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจ เพลงของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ยังร้องว่าช่วยกันบุกเบิกพงไพรให้ศิวิไลซ์

ผมมองว่าการทำไม้ไม่ใช่ปัญหา เพราะวิชาการพิสูจน์แล้วว่าสามารถจัดการให้การทำไม้ยั่งยืนได้ เพียงแต่ว่าในยุคนั้น มีปัญหาเรื่องระบบการควบคุม ทำให้ศาสตร์ป่าไม้ไม่สามารถทำงานตามที่ควรเป็น การทำซุงจึงทำให้ป่าเสื่อมโทรมและจำนวนลดลงไปเรื่อยๆ เป็นเหตุให้แนวคิดของการอนุรักษ์เข้ามา

ระยะ 2 แนวคิดอนุรักษ์ป่าเริ่มชัดเจน ปี 2504 มีการประกาศอุทยานแห่งชาติครั้งแรก เป็นการรับแนวคิดการอนุรักษ์แบบป่าต้องปลอดคนจากตะวันตก เช่น โมเดลอุทยานแห่งชาติ Yellowstone ที่สหรัฐฯ สอดคล้องกับแผนเศรษฐกิจและสังคมชาติฉบับที่ 1 จะเห็นได้ว่าบริบทการจัดการป่าปรับไปตามบริบทเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองในสมัยนั้น 

เมื่อมีการกีดกันคนไม่ให้เข้าพื้นที่ป่า จึงเป็นต้นตอของปัญหาความขัดแย้งเรื่องที่ดินทำกินต่างๆ จึงนำมาสู่ระยะ 3 ช่วงปี 2530 ที่เริ่มมีแนวคิดว่าต้องมี “คน” อยู่ในโมเดลของการจัดการป่าด้วย ศาสตร์วนศาสตร์ชุมชนจึงพัฒนาในช่วงนั้น อย่างสาขาวนศาสตร์ชุมชนของคณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรฯ เองเป็นสาขาวิชาที่เกิดขึ้นมาใหม่ประมาณ 30 กว่าปี ถ้าเทียบกับสาขาอื่น ก็ถือว่าเป็นน้องใหม่ของวนศาสตร์ 

ดังนั้นวนศาสตร์จึงไม่ได้สอนว่าป่าที่ดีไม่มีคนเสียทีเดียว แต่ต้องยอมรับว่าแกนหลักของตัวศาสตร์ยังเป็นลักษณะการมองป่าแบบนั้น ป่าเป็นระบบนิเวศของต้นไม้โดยไม่มีชีวิตคนอยู่ข้างใน ศาสตร์เองก็มีพัฒนาการ คณะเองก็พยายามที่จะปรับให้มีมิติของคนเข้าอยู่ในหลักสูตร แต่เปลี่ยนแปลงค่อนข้างช้าและมีแรงต้านบางอย่างที่ทำให้เนื้อหาของหลักสูตรนี้ไม่เติบโต 

2. “คุณไม่มีประสบการณ์ คุณจะรู้อะไร” : ระบบโซตัสมีผลมากกว่าที่คุณคิด

เมื่อเราพูดถึงความเป็นวนศาสตร์ในไทย มันคือความเป็น “วนศาสตร์แบบไทยๆ” ที่มีระบบโซตัสเป็นแกนกลางยึดโยงโครงสร้างปัญหา

ระบบการรับน้องแบบโซตัสยังทำงานอยู่มาก เพราะช่วยเชื่อมสัมพันธ์กับรุ่นพี่ ทุกคนที่จบวนศาสตร์จะมี “เลขรุ่น” ของตนเอง เมื่อเราเข้าไปในที่ต่างๆ คำถามแรกที่จะถูกถาม คือ “คุณรุ่นอะไร” เลขรุ่นมันไม่ได้เป็นแค่ตัวเลข แต่เป็นรหัสในการเข้าสู่สังคมทางวนศาสตร์ 

อย่างกระบวนการรับน้องปี 1 จะมีกิจกรรมเต้นรอบกองไฟเพลงอินเดียแดง (การเต้นประเพณีคอว์ไลก้า) เหมือนเป็นพิธีกรรมอย่างหนึ่งเพื่อเปลี่ยนผ่านคุณให้เป็นวนศาสตร์และได้เลขรุ่น ตอนผมเป็นรุ่นพี่ ผมก็ไม่ให้รุ่นกับเด็กปี 1 จนกว่าจะผ่านพิธีก่อน 

เมื่อก่อน ใครที่ไม่เข้าสู่กระบวนการรับน้อง เราจะเรียกว่า “กาแฟ” มาจากกาแฟดำ เหมือนเป็นแกะดำ ซึ่งต้องเป็นคนกล้าหาญมากในช่วงเวลานั้น เด็กปีหนึ่งอาจจะบ่นกับรับน้องช่วงแรก แต่แล้วตัวเองก็กลายเป็นผู้กดขี่ต่อ กิจกรรมการรับน้องนี้ศิษย์เก่าก็มีส่วนรู้เห็น แต่ไม่ได้ลงมากระทำการเอง คนที่กระทำการเองจะเป็นนิสิตรุ่นพี่ปริญญาตรี

ในยุคหนึ่งที่นิสิตวนศาสตร์ยังมีคนน้อยอยู่ การมีเลขรุ่นอยู่มีผลต่อการได้งานทำเพราะเป็นเรื่องของ “คอนเนคชั่น” กับรุ่นพี่ เพียงแต่ว่าพอบริบทสังคมเปลี่ยนไป นิสิตวนศาสตร์เยอะขึ้น คนในรุ่นเยอะขึ้นและไม่ได้มุ่งเข้ารับราชการอย่างเดียวเหมือนเคย ความศักดิ์สิทธิ์และความขลังของเลขรุ่นก็ลดน้อยลงตามธรรมชาติ 

ทว่าหลายครั้งเราพบว่าระบบโซตัสนี้มันยังทำงานอยู่แม้ในปัจจุบัน ความเป็นรุ่นพี่พยายามใช้อำนาจความเป็นพี่ต่อรุ่นน้อง เช่น ปรากฏการณ์ของวนศาสตร์รุ่นใหม่ที่ตั้งคำถาม รุ่นพี่ก็บอกว่าคุณยังไม่มีประสบกาณ์ คุณจะรู้อะไรล่ะ ยังมีรุ่นพี่ที่มีทัศนคติแบบนี้อยู่ คนที่มองว่าตนเป็นพี่มีอำนาจ มีความรู้และประสบการณ์มากกว่า ซึ่งเป็นผลผลิตของระบบโซตัสอย่างชัดเจน

3. “การเรียนการสอนวนศาสตร์” ในข้อจำกัดของระบบราชการไทย

ผมเชื่อว่ามีคนอยากปรับปรุงรายวิชาให้สอดคล้องกับปัญหาป่าไม้ที่เราเผชิญอยู่มากขึ้น แต่ทุกวันนี้มันยังมีโครงสร้างอำนาจบางอย่างที่ไม่อนุญาตให้ทำ 

คณะวนศาสตร์ไม่ได้มีอำนาจเต็มที่ในการออกแบบตัวหลักสูตร เพราะยังมีช่องว่างที่ใหญ่มากระหว่างสถาบันการศึกษาและหน่วยงานราชการที่รองรับเด็กจบไป ถึงแม้ว่าคณะพยายามจัดและปรับปรุงหลักสูตรโดยการประเมินบริบทสังคมเพื่อผลิตคนออกไป  แต่คนที่จะกำหนดว่าหลักเกณฑ์และคุณลักษณะการรับข้าราชการเข้ากรมด้านสิ่งแวดล้อมนั้นไม่ใช่มหาวิทยาลัย ทว่าเป็นเรื่องของคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (กพ.) มันยังไม่ชัดเจนและไม่เคยมีการวิเคราะห์ให้เห็นว่าหน่วยงานราชการต้องการคนที่มีคุณลักษณะ มีความรู้และทักษะแบบไหน ขณะที่ตัวหลักสูตรก็วิเคราะห์ตัวมันเองไป ทำให้ไม่สอดรับกัน

ตัวอย่างเช่น คณะวนศาสตร์เปิดสอนสาขา “วนศาสตร์ชุมชน” แต่นิสิตสาขาวนศาสตร์ชุมชนเมื่อไปสอบเข้าทำงานราชการจริง บางคนต้องเข้าไปทำงานเกี่ยวกับสัตว์ป่า เพราะไม่มีตำแหน่งทางวนศาสตร์ชุมชนให้และไม่สามารถเลือกได้ ยังไม่นับว่าการระบุคุณลักษณะของคนทำงานไม่ชัดเจนจะเปิดช่องให้มีการใช้เงินเบิกทางเข้าสู่ตำแหน่งสูงๆ

คณะเองก็รับรู้ปัญหาตรงนี้ สังเกตว่าในยุคแรก วนศาสตร์จะแบ่งสาขาวิชาไว้ชัดเจนมาก นิสิตแต่ละสาขาจะมีวิชาความรู้ที่แตกต่างกัน 15 – 20 หน่วยกิต แต่ว่าในยุคหลัง พอนักศึกษาเข้าทำงานจริงก็ถูกจับไปคละกันโดยไม่ได้อิงตามฐานความรู้ คณะเองจึงปรับตัวโดยลดจำนวนหน่วยกิตของแต่ละสาขาวิชาลง เป็นการผลิตคนให้มีพื้นฐานความรู้วนศาสตร์ทั่วไป การเลือกสาขาเฉพาะตอนปีสามทุกวันนี้ก็เป็นการเรียนต่างกันแค่ 6 หน่วยกิต

นอกจากนั้น ผู้สอนวนศาสตร์เองก็ขาดความหลากหลาย เพราะมาจากหลักสูตร ระบบ และองค์กรเดียวกัน ถึงแม้ว่าจบป.ตรีแล้วจะแยกย้ายกันไปเรียนต่างประเทศ แต่ว่าจุดกำเนิดเรายังมาจากจุดเดียวกัน ความที่ไม่หลากหลาย ทำให้ยังมีแรงต้านบางอย่างไม่ให้พากันเปลี่ยนแปลง

4. วนกร : เกษตรพันธสัญญากับ 3 กรม 1 องค์การ

การเป็น “วนกร” ในไทยเท่ากับว่าเป็นเจ้าหน้าที่ป่าไม้ ขณะที่ประเทศอื่น คนที่ทำอาชีพเกี่ยวกับป่าไม้ เช่น ปลูกป่าหรือว่าทำไม้ ไม่จำเป็นจะต้องเป็นเจ้าหน้าที่ป่าไม้ก็ได้ หากเป็นอาชีพอิสระอื่นๆ 

ดังนั้นปลายทางของคนวนศาสตร์จึงมีไม่มาก คือ 3 กรมกับ 1 องค์การ (กรมป่าไม้ กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพรรณพืช กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง และองค์การอุตสาหกรรมทะเลป่าไม้) ซึ่งหน่วยงานเหล่านี้ระบุชัดว่ารับเฉพาะวุฒิวนศาสตร์

มันจึงทำให้คนวนศาสตร์และอาชีพวนกรถูกกำกับด้วยสองหน่วยงานหลัก คือ หน่วยงานราชการเหล่านี้และสมาคมศิษย์เก่าวนศาสตร์ ซึ่งอย่างหลังนี้มีบทบาทค่อนข้างสูงมาก ทั้งในเรื่องการศึกษาและการกำหนดคุณลักษณะของการเป็นวนกรมืออาชีพต่างๆ 

5. เหนือปัญหาวงการป่าไม้ไทย คือ การเมืองแบบไทยๆ

วนศาสตร์ต้องปรับตัว แต่ถ้าจะทำให้วงการป่าไม้ดีขึ้น จะมองเฉพาะวงการป่าไม้อย่างเดียวไม่ได้

ต้องยอมรับความจริงว่าวงการป่าไม้และกรมป่าไม้ก็เป็นส่วนหนึ่งของระบบของโครงสร้างในสังคมไทยที่กดทับมาอีกชั้นหนึ่ง ถ้าจะไปแก้จริงๆ ก็ต้องไปถึงโครงสร้างข้างบน

โครงสร้างราชการแบบไทยๆ ที่เรามักบ่นกันก็พบได้ในหน่วยงานด้านป่าไม้ ถึงแม้ว่าวนศาสตร์จะพึ่งพิงระบบโซตัส โซตัสอาจทำงานในบริบท เช่น การสั่งการ การเชื่อฟังรุ่นพี่ การช่วยเหลือเกื้อกูลกันแบบอุปถัมภ์ แต่เมื่อต้องเข้าสู่ตำแหน่งบางอย่างที่มีผลประโยชน์ ผมคิดว่าว่าระบบโซตัสไม่ทำงานแล้ว กลายเป็นเรื่องเฉพาะบุคคลและผลประโยชน์

ผมเคยไปช่วยงานกรมป่าไม้หนึ่ง แน่นอนว่าก็เห็นเรื่องของการจัดสรรประโยชน์ที่ยังไม่ตรงไปตรงมาและไม่สามารถใช้ความรู้ที่เรามีอยู่เข้าไปทำงานได้เต็มที่ แม้ว่าการเรียนการสอนวนศาสตร์พยายามจะทำให้ตัวเองเป็นวิทยาศาสตร์ ปฏิเสธความเป็นการเมืองทุกเรื่อง แต่เมื่อเข้าไปในองค์กรกลับต้องเจอการเมืองในทุกระดับ

เบื้องบนมีผลประโยชน์ทางการเมือง ขณะที่บางคนก็ตั้งใจทำงาน แต่ไม่สามารถจะใช้ศาสตร์ความรู้ที่เรียนด้านวนศาสตร์ได้เต็มที่ พอมันไปอยู่ในระบบตรงนั้นนานๆ ก็น่าเห็นใจคนระดับผู้ปฏิบัติงานเหมือนกันที่มีใจอยากเปลี่ยนแปลง แต่มันยากสำหรับเขา 

นอกจากความเป็นไทยในระบบราชการ เราต้องไม่ลืมว่าการจัดการป่าไม้คือการจัดการทรัพยากรที่ตั้งอยู่บนฐานความคิดว่ารัฐเป็นเจ้าของ ดังนั้นหากจะแก้ปัญหาป่าไม้ทุกวันนี้ จะต้องกระจายอำนาจออกไป อย่างน้อยคุณต้องยอมรับว่าอำนาจจัดการป่าไม่ได้เป็นของของรัฐเพียงผู้เดียว 

ทุกวันนี้เริ่มมีสัญญาณการถ่ายโอนอำนาจที่ดีเกิดขึ้น มีการปรับปรุงกฎหมายบางมาตราต่างๆ เช่น กฎหมายอุทยานแห่งชาติ กฎหมายสงวนพันธุ์และสัตว์ป่า และกฎหมายป่าชุมชน แต่ทั้งหมดทั้งมวลเพิ่งเริ่มต้นเมื่อปี 2562 นี้เอง และยังไม่ได้เป็นการถ่ายโอนอำนาจไปท้องถิ่นอย่างแท้จริง หากเป็นเพียงการถ่ายโอนภารกิจบางอย่างไปสู่ในระดับล่าง ขณะที่อำนาจตัดสินใจจริงๆ ยังอยู่ที่ตรงกลางอยู่  

เราไม่อาจจะทำให้ดีเฉพาะวงการป่าไม้ โดยไม่มองว่ารัฐธรรมนูญเป็นอย่างไร เพราะท้ายที่สุดก็จะกลับมาวังวนเดิม ปัญหาไม่ได้ถูกแก้ เราต้องไม่ลืมว่าป่าไม้เป็นส่วนหนึ่งของโครงสร้างใหญ่ของไทย ต้องมองตรงนั้นด้วย

กล้าไม้ใหม่และความหวัง

ที่ผ่านมาเราอยู่กันอย่างไม่เห็นความชัดเจน ไม่ได้เห็นว่าวนศาสตร์มันทำงานอย่างไร ถูกกำกับด้วยใคร ด้วยวิธีคิดแบบไหน เพราะระบบโซตัสเป็นแกนกลางหล่อเลี้ยงปัญหาต่างๆ ทั้งหมดอยู่ ท้ายสุดแล้วคุณไม่ได้สนใจว่าคุณมีความรู้ ทักษะ ความสามารถอะไร แต่สนเพียงแค่ว่า “คุณวนศาสตร์รุ่นอะไร”

ผมคิดว่าถ้าเรารื้อถอนโครงสร้างที่ค้ำจุนปัญหาทั้งหมดออกจากกัน มันน่าจะดีเหมือนกันนะ ทำความเข้าใจปัญหาของวนศาสตร์และวงการป่าไม้ให้ดีและยอมรับกัน ผมเชื่อว่าจะทำให้มีการเปลี่ยนแปลงได้ 

ทุกวันนี้คนรุ่นใหม่ลุกขึ้นมาตั้งคำถามมากขึ้น ผมเชื่อว่ามีคนคิดอย่างนี้มาตลอด แต่อาจจะเลือกเงียบ ทุกวันนี้บริบทเปลี่ยนไป โซเชียลมีเดียเปิดให้คุณพูดได้มากขึ้น การที่มีคนกลุ่มหนึ่งที่คิดต่างลุกขึ้นมาตั้งคำถามเป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติและธรรมดามาก คนที่เรียนป่าไม้น่าจะเข้าใจในเรื่องนี้ดี เพราะมันเป็นการทดแทนทางธรรมชาติ ในป่า ต้นไม้ใหญ่วันหนึ่งก็ต้องแก่ตายไป เมื่อมีช่องว่าง กล้าไม้ก็ต้องขึ้นมาทดแทนต้นไม้ใหญ่เหล่านั้น เป็นป่าที่มีความหลากหลายมากยิ่งขึ้น 

ศาสตร์​ในวนศาสตร์เรารู้ดีอยู่แล้วว่าควรจะเปิดแสงและจัดการสิ่งแวดล้อมให้เอื้ออย่างไร แม่ไม้ควรจะสื่อสารกับลูกไม้อย่างไร ถ้าเราเปิดใจให้กว้าง ปรากฏการณ์นี้จะเป็นเรื่องธรรมชาติ

ฟังและอ่านสัมภาษณ์ฉบับเต็ม