1 พฤษภาคม คือ วันครบรอบการสถาปนาคณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ปีนี้นับเป็นปีที่ 85 ของการก่อตั้งโรงเรียนเพาะพันธุ์นักจัดการป่าไม้ไทย
จริงไหมว่ามุมมองของสาธารณะว่าการจัดการป่าแบบคณะวนศาสตร์เป็น “ป่าปลอดคน” วงการป่าไม้ไทยสืบทอดระบบ“โซตัส” จากรั้วโรงเรียนสู่สถานที่ทำงาน และทิศทางของวนศาสตร์หลังจากนี้ กรีนนิวส์ชวนฟังเสียงจาก “คนใน” ผศ.ดร.พรเทพ เหมือนพงษ์ ศิษย์เก่าวนศาสตร์และกรมป่าไม้ ผู้ตัดสินใจหวนกลับมายังโรงเรียนป่าไม้ในบทบาทครูร่วมกว่าเจ็ดปี พร้อมความมุ่งมั่นเพาะกล้าไม้ที่มีความหลากหลายทางความคิด
ไม่เพียงแต่จะสอนวิชาการด้านวนวัฒนวิทยาแล้ว เขายังเป็นรองคณบดีฝ่ายกิจการนิสิตที่เพาะกล้าความคิดนอกห้องเรียน สนับสนุนนักเรียน “วนศาสตร์รุ่นใหม่” ให้ลุกขึ้นมาจัดเวทีพูดคุย เช่น เวทีของนิสิตกลุ่มหนึ่งที่แสดงจุดยืนว่าคนกับป่าไม่ได้เป็นปริปักษ์กัน ในวันที่อุดมการณ์ป่ากับคนกำลังเป็นที่ถกเถียงร้อนแรง
บทความเรียบเรียงจากสัมภาษณ์ GreenLive “คนใน” คิดอย่างไรกับปรากฏการณ์ “วนศาสตร์รุ่นใหม่” 23 เมษายน 2564

เราเรียกการลุกขึ้นมาแสดงความเห็นของวนศาสตร์รุ่นใหม่ครั้งนี้เป็น “ปรากฏการณ์” ได้ไหม
ผมไม่อยากให้มองถึงกับว่าเป็นปรากฏการณ์นะครับ นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่วนศาสตร์มีเวทีสาธารณะพูดคุยเรื่องเหตุการณ์สังคมที่เกี่ยวข้องกับบริบทการเรียนการสอน ที่ผ่านมาก็มีการจัดเรื่อยๆ เช่น ช่วงก่อนที่มีการสร้างรถไฟฟ้าที่มีการตัดต้นไม้ เราก็เคยมีการจัดเวทีสาธารณะขึ้นเกี่ยวกับต้นไม้ในกรุงเทพฯ ที่มีการตัดทิ้ง หรือเสือดำที่มีการล่าในเขตอนุรักษ์ต่าง ๆ หรือว่าแก่งกระจานเองก็มีทั้งสองมุมมอง
ตั้งแต่ผมเข้ามารับงานด้านกิจการนิสิตเมื่อสี่ห้าเดือนก่อน ผมตั้งใจเลยว่า คณะวนศาสตร์จะเปิดโอกาสและพื้นที่ให้ทุกคนและทุกความคิดเห็น จึงเป็นที่มาของการเสวนาในวันนั้น เพียงแต่ว่าครั้งได้รับความสนใจจากสาธารณะมากเพราะอาจจะเป็นมุมมองที่…เป็นมุมมองหนึ่งที่ในทางวนศาสตร์อาจจะไม่ค่อยได้มองเท่าไหร่ในอดีตที่ผ่านมา
มุมมองสนับสนุนการอยู่ร่วมกันของคนกับป่านี้ไม่สอดคล้องกับทิศทางการเรียนการสอนในวนศาสตร์?
ผมต้องบอกแบบนี้ครับว่าวนศาสตร์ไม่ได้สอนสุดโต่งว่าคนอยู่กับป่าได้หรือคนอยู่กับป่าไม่ได้ เราไม่ได้มีแนวคิดหรือการสั่งสอนใดๆ ว่าคนอยู่กับป่าไม่ได้ อันนี้ผมยืนยัน ไม่มี แต่ว่าเราเป็นการสอนวิชาความรู้พื้นฐานที่เกี่ยวข้องกับวิชาการป่าไม้ทั้งหมดที่นิสิตควรจะใช้ในการประกอบการตัดสินใจต่างๆ
จริงๆ แล้วจะการจะแบ่งเป็น “วนศาสตร์รุ่นใหม่-รุ่นเก่า” ชัดเจนก็ไม่ถูกต้อง หมายถึงว่าถ้าเป็นคนนิสิตปัจจุบันนี้เองก็เถอะ มันก็มีทั้งสองมุมมองทั้งการที่จะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย ในคนรุ่นก่อนๆ หรือรุ่นพี่ที่จบไปเองก็มีทั้งมุมมองที่เห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย คือมันไม่ได้มีชุดความคิดเดียวกับคนทั้งรุ่นขนาดนั้น เพียงแต่ว่ารุ่นใหม่เองเขาอาจจะมีโอกาสได้แสดงออก ได้มีเวที ได้มีโซเชียลเน็ตเวิร์กและทำงานร่วมกับคนภายนอกมากขึ้น ทำให้มันสื่อออกไปว่ามีการขยับตัวของวนศาสตร์จากการอนุรักษ์แบบเดิม

นิสิตปัจจุบันที่คิดแบบนี้มีมากไหม
ถามว่าเป็นนิสิตที่คิดอย่างนี้เป็นกลุ่มใหญ่ไหม ก็อาจจะบอกว่ายังไม่ใช่นิสิตกลุ่มใหญ่นะ ผมว่านิสิตกลุ่มที่อนุรักษ์แบบอนุรักษ์จริง ๆ เชื่อว่าห้ามมีคนอยู่กับป่าเลยก็มีอยู่ ซึ่งผมเองก็พยายามจะกระตุ้นไม่ว่าฝ่ายความคิดไหนก็ตามให้ออกมาหาพื้นที่ของตัวเองในการพูด กลุ่มใหญ่ที่สุดตอนนี้อาจจะเป็นกลุ่มคนที่อาจจะไม่ได้เข้ามายุ่งเกี่ยวกับไม่ว่าจะเรื่องใดๆ ก็ตาม
ทุกวันนี้ หลักสูตรวนศาสตร์สอนเรื่องคนกับป่าอย่างไรบ้าง
ตอนนี้เรามีอยู่ประมาณ 10 สาขา สอนตั้งแต่เรื่องของระบบนิเวศ เรื่องของป่า สัตว์ป่า การฟื้นฟูป่า การใช้ประโยชน์ เช่น เชิงการท่องเที่ยว การตัดต้นไม้เพื่อใช้ประโยชน์ ถึงสุดท้ายคือการแปรรูปไม้ออกมาเป็นผลิตภัณฑ์หรือผลิตผลต่างๆ เราสอนตั้งแต่ต้นทางถึงปลายทาง นิสิตที่เรียนสี่ปี ทุกคนจะได้เรียนในทุกมิติของป่า
เรามีการเรียนการสอนวิชาที่เกี่ยวกับคนในป่าที่เรียกว่า “ป่าชุมชน” เป็นวิชาบังคับ ที่นิสิตทุกคนต้องเรียน เพราะฉะนั้นในมิติของคนกับป่า ผมเชื่อว่าอาจารย์ท่านก็น่าจะได้ให้องค์ความรู้ที่เขาสามารถซึมซับและใช้ในกระบวนการคิดและตัดสินใจของเขาได้อยู่แล้ว
ข้อสังเกตหนึ่ง คือ เท่าที่ทราบ วิชานี้เพิ่งกำหนดให้เป็นวิชาบังคับเมื่อปี 2550 นี้เอง ราวสิบกว่าปี ทีนี้ก่อนหน้านี้สมัยรุ่นผม วิชานี้อาจไม่ใช่วิชาที่ทุกคนได้เรียนนะครับ ต่อไปนี้เป็นเพียงข้อสันนิฐานนะครับ อาจจะทำให้คนรุ่นเก่าหรือคนรุ่นผม อาจมองมิติคนอยู่ร่วมกับป่าไม่ชัดนัก หรือมองว่าคนอาจจะอยู่กับป่าไม่ได้
แต่หลังปี 2550 มาเนี่ย พอมีการเรียนการสอนมากขึ้น เราอาจจะมองในมิติที่เราไม่เคยมองมาก่อนได้ชัดมากขึ้น ทำให้เกิดปรากฏการณ์นิสิตรุ่นใหม่ออกมาสนับสนุนแนวคิดนี้อย่างที่เราเห็น

นอกจากวิชาพื้นฐานแล้ว มีสาขาเฉพาะ “วนศาสตร์ชุมชน” ไหม
มีครับ มีสาขาที่เลือกตอนปีสาม และยังมีหลักสูตรคู่ขนานปริญญาวนศาสตร์-สังคมวิทยาและมานุษยวิทยา เป็นหลักสูตร 5 ปี เรียนวิชาด้านสังคมเพิ่มประมาณ 20-30 หน่วยกิต ด้วยมุ่งหวังว่านิสิตกลุ่มนี้เองจะได้บูรณาการการจัดการป่าที่มีคนเข้าไปอยู่ในบริบทด้วย จริงๆ เราอยากให้เขามองว่ามันน่าจะอยู่ร่วมกันได้นะถ้ามีการจัดการที่ดี เราไม่อยากให้มองว่ามีอะไรสุด ต้องเลือกระหว่างคนกับป่า ฝั่งใดฝั่งหนึ่งจนเกินไป
ได้ข่าวว่าหลักสูตรนี้ถูกพับไปเมื่อเร็วๆ นี้
ใช่ หยุดรับนิสิตไปเมื่อสัก 2 ปีที่แล้ว
เหตุผลคืออะไร
ผู้รับผิดชอบหลักสูตรพิจารณาว่าหน่วยกิตที่นิสิตต้องเรียนมันเยอะมาก จนกระทั่งมันไปโหลดกับตัวนิสิตที่ต้องเรียนเยอะมาก แต่การเรียนด้านป่าชุมชนเนี่ยไม่ได้หายไปไหนหรอก คนที่สนใจยังเลือกเรียนสาขาวนศาสตร์ชุมชนแบบ 4 ปีได้
เป็นเหตุผลด้านการจัดการหลักสูตร ไม่ได้เกี่ยวกับด้านนโยบาย
ไม่ใช่เลยครับ ป่าชุมชนเราให้ความสำคัญแน่นอน
แล้วทำไมสาธารณะถึงเกิดความรู้สึกในทิศทางว่าการจัดการป่าแบบคณะวนศาสตร์เป็นป่าปลอดคน
ผมคิดว่าเป็นสิ่งที่สังคมภายในมองเชื่อมโยงคณะวนศาสตร์กับพันธกิจของหน่วยงานด้านป่าไม้ จริงว่าบุคลากรส่วนใหญ่ที่ทำงานเกี่ยวกับด้านป่าไม้ ไม่ว่าจะกรมป่าไม้ กรมอุทยานต่างๆ ทั้งหมดจบจากวนศาสตร์ อันนี้เป็นข้อเท็จจริง และภารกิจหน้าที่ขององค์กรเหล่านั้นเนี่ยส่วนใหญ่เป็นการป้องกัน ปกป้อง อนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ
ทีนี้ไอ้คำว่า “อนุรักษ์ ปกป้อง” หรือ “ป้องกัน” อะไรก็แล้วแต่เนี่ย มันก็มีส่วนนึงที่ต้องไปเกี่ยวข้องกับคน อาจจะเป็นคนที่ตั้งใจเข้ามาบุกรุกจริงๆ หรือคนที่อยู่กับป่าอยู่แล้วต่างๆ เลยทำให้เกิดมุมมองที่ว่า “อ๋อการไปจัดการคนเหล่านี้มันก็คือการอยู่คนละฝั่งกับคนหรือป่า” ภาพเลยกลายเป็นว่าวนศาสตร์สอนให้เรารักษาป่า ห้ามแตะต้อง ห้ามคนอยู่กับป่านะครับ ซึ่งจริงๆ แล้วอาจจะไม่ใช่อย่างนั้นซะทีเดียว
คณะวนศาสตร์ตั้งขึ้นมาเพื่อผลิตคนให้กรมป่าไม้ คิดแบบนี้ถูกไหม
บอกเลยว่าไม่ถูกนะครับ ไม่ถูก เราไม่ใช่โรงเรียนนายร้อยที่ผลิตคนเข้าไปรับราชการเป็นทหารหรือตำรวจ เราเป็นคณะวนศาสตร์ที่ผลิตบุคลากรที่ทำงานเกี่ยวกับป่าไม้ อะไรก็ได้ หรือแม้แต่การเป็นอาชีพอิสระ หรือผู้ประกอบการเอกชน
นิสิตวนศาสตร์รุ่นหนึ่งมีราว 300 คน ทุกวันนี้ เริ่มมีปรากฎการณ์เด็กจบใหม่ทำธุรกิจส่วนตัวเพิ่มขึ้น เช่น การเป็นรุกขกร เป็นอาชีพดูแลต้นไม้ใหญ่ในเขตเมือง เช่น คนที่อยากตัดต้นไม้ในบ้าน หรือเมื่อต้นไม้มีโรค เขาก็จะเรียกรุกขกร หรือเรียกง่ายๆ ว่าหมอต้นไม้ (Tree Doctor) ก็ได้
แต่การที่ภายนอกมองว่าเราผลิตบุคลากรเพื่อป้อนกับกรมป่าไม้ เนื่องจากว่ากรมเหล่านี้ เขาระบุชัดเจนเลยว่าคุณจะเข้าได้ต้องจบปริญญาตรีทางด้านวนศาสตร์เท่านั้น จุดสำคัญที่ต้องแยกให้ชัดคือ กรมรับเฉพาะวนศาสตร์ แต่วนศาสตร์ไม่ได้ผลิตมาเพื่อกรม
คนวนศาสตร์ทุกคนไม่จำเป็นต้องทำงานกรม แต่คนกรมป่าไม้ส่วนมากมาจากวนศาสตร์อยู่ดี
เราก็ปฏิเสธความจริงไม่ได้ว่าเด็กวนศาสตร์ที่จบไป 70 – 80% อยู่ที่หน่วยงานราชการต่างๆ สองกรมหลัก คือกรมป่าไม้กับกรมอุทยาน และในอดีตที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบันเนี่ย ก็ต้องบอกว่าการขับเคลื่อนวงการป่าไม้ไทยส่วนใหญ่เกิดจากบุคลากรที่ผลิตโดยวนศาสตร์เพียงคณะเดียว การกำหนดนโยบาย การขับเคลื่อนทิศทางป่าไม้ส่วนใหญ่ รวมถึงผู้ปฏิบัติ ซึ่งเป็นผลผลิตของคณะ
สิ่งหนึ่งที่ผมอยากจะเข้ามาอยู่ที่นี่เนี่ย เพราะว่าผมมองว่าทุกสิ่งทุกอย่างมีจุดกำเนิดจากวนศาสตร์นี่แหละ ถ้าเราอยากให้ป่าไม้ของเราเป็นอย่างไรเนี่ย วนศาสตร์มีส่วนสำคัญที่สุด แล้วเราก็อยากทำให้มันดีขึ้นกว่าในอดีตที่ผ่านมา นี่คือความตั้งใจ
สุดท้าย สังคมอาจกลับมาตั้งคำถามถึงวนศาสตร์ ซึ่งเป็นรากหล่อเลี้ยงการจัดการป่าไม้ ว่าทำไมทุกวันนี้ถึงยังเกิดกรณีแบบบางกลอย ที่เหมือนจะบอกว่าป่าต้องไม่มีคน
เราจะเหมารวมว่าทั้งหมดเนี่ยเป็นความคิดของคนที่จบจากวนศาสตร์ทั้งหมดเลยก็คงไม่ได้ มีคนวนศาสตร์เองที่ไม่เห็นด้วยกับกรณีนี้ก็ไม่ใช่น้อย เราก็มีความคิดที่หลากหลาย เพียงแต่ว่า เราอาจจะได้ฟังหรือเห็นในชุดความคิดนั้นทางสื่อมากก็เลยอาจจะเหมารวมว่าวนศาสตร์คิดแบบนี้ทั้งหมด
ประเด็นที่ 2 คือ ผมก็ต้องพูดแทนคนทำงานด้วย วนศาสตร์เอง เราจบไปแล้วมันก็ไม่ใช่นิสิตแล้ว เขาคือบุคลากรหนึ่งของหน่วยงานนั้นๆ ซึ่งแต่ละกรมก็จะมีอำนาจหน้าที่และพันธกิจภายใต้สิ่งที่เขาต้องทำ
คุณนึกออกไหม ถ้าเราบอกว่ามองว่าเป็นป่าอนุรักษ์ เรามองตามกฎหมายก่อนนะ มีกฎหมายที่เกี่ยวกับการอนุรักษ์เขาว่าไว้ว่า 1 2 3 4 5 คนเหล่านั้นไม่ว่าจะจบจากที่ไหนก็ตามแต่ เขาก็ต้องปฏิบัติตามภารกิจเหล่านั้น ดังนั้นบอกว่า ถ้าตีความตามตัวกฎหมายเองเนี่ย การไปตัดไม้ทำลายป่าบนต้นน้ำ ป่าอนุรักษ์ ถือว่ามีความผิดตามกฎหมาย จุดนี้คนที่ทำงานก็ต้องรักษากฎหมาย
เพียงแต่ว่าถ้าเรามองในมิติของมนุษย์ สิทธิมนุษยชนต่างๆ เราอาจจะมองในอีกมุมหนึ่งและตั้งคำถามว่า เอ๊ะ ทำไมคนที่บุกรุกป่าถึงไม่มีสิทธิ์ในพื้นที่นั้น

อาจเป็นเพราะจุดกำเนิดของคณะวนศาสตร์พัฒนามาจากกิจการป่าไม้ เจตนารมณ์จึงมุ่งที่การรักษาทรัพยากรป่าไม้
ถ้าจะย้อนเวลาไปถึงตอนตั้งโรงเรียนป่าไม้ราวปี 2470 ก็ต้องบอกว่าใช่ครับ ในตอนนั้นมันเป็นโรงเรียนที่ตั้งขึ้นมาโดยกรมป่าไม้เพื่อผลิตบุคลากรไปป้อนให้หน่วยงานจริงๆ แต่บริบทของสังคมมันเปลี่ยนไปเยอะมากแล้ว การป่าไม้ในไทยวิวัฒนาการจากการตัดไม้ทำสัมปทาน ขยับสู่การอนุรักษ์มากขึ้น เกิดกฎหมายคุ้มครองทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมต่างๆ รวมถึงพ.ร.บ.ป่าชุมชน คณะวนศาสตร์หรือโรงเรียนป่าไม้ จึงวิวัฒนาการล้อไปกับการเปลี่ยนแปลงของบริบทของสังคมตลอดมา แม้แต่ทุกวันนี้
มีคนตั้งข้อสังเกตว่า ความเป็นวนศาสตร์เป็นสิ่งที่เปลี่ยนยาก คนรุ่นใหม่ต้องฟังความคิดเห็นคนรุ่นเก่าและวิพากษ์วิจารณ์ไม่ได้มาก เพราะอิงอยู่กับความเป็นพี่น้องในระบบโซตัส
ผมไม่ปฏิเสธเลยว่าจริงๆ วนศาสตร์มันก็มีการใช้ระบบโซตัสมายาวนานหลายสิบปี ผมมองว่าโซตัสในบางแง่มุมก็มีข้อดี เพราะสามารถทำให้การทำงานของวนศาสตร์มีผลสัมฤทธิ์ได้ แต่ว่าในบางมุมมันก็ไม่สามารถที่จะขับเคลื่อนในบริบทของสังคมปัจจุบันได้แล้ว ก็ถึงเวลาที่ควรจะต้องเปลี่ยนแปลงมัน
เรื่องของมุมบวกก่อน การเป็นรุ่นพี่รุ่นน้อง การมีความสามัคคี ความรักกัน มันก็เป็นข้อดีที่พอเราเข้าไปถึงที่ทำงานใหม่ เราจะรู้สึกว่า เหมือนเรามีรุ่นพี่ที่คอยอุปการะหรือให้ความอุปถัมภ์ มันทำให้เรารู้สึกว่าเราสามารถทำงานได้อย่างสะดวกสบายได้มากยิ่งขึ้น การมีรุ่นพี่คอยช่วยเหลือต่างๆ แนะนำงานต่างๆ คล้ายกับระบบของทหารตำรวจ คือมีความเป็นรุ่นที่ชัดเจนมาก วนศาสตร์ไปถึงก็จะถามว่า “เออคุณรุ่นอะไร ผมรุ่นอะไร” แล้วก็นับกันเป็นพี่น้อง การขับเคลื่อนคนส่วนใหญ่ในหน่วยงานที่จบมาจากที่เดียวกัน มันต้องมีการใช้ความเป็นพี่เป็นน้องในการทำงานอยู่บ้าง
แต่ว่าในบางมุม ความเป็นโซตัสก็ไม่สามารถที่จะขับเคลื่อนในบริบทของสังคมปัจจุบันได้แล้ว มันกระทบกับคนรุ่นใหม่ ตัวผมเองตอนอยู่กรมป่าไม้ก็ได้รับผลกระทบโดยตรงมาหลายครั้งเหมือนกัน หรือจะเห็นได้ว่าในเฟซบุ๊กคนรุ่นใหม่ที่เริ่มเข้าไปทำงาน บ่นกันแทบทุกวันว่าเจออย่างนี้อย่างนั้น
อีกส่วนหนึ่งมันไม่ได้เกี่ยวกับความเป็นกรมป่าไม้หรือกรมอุทยาน แต่มันคือระบบข้าราชการทั่วไปที่มีระบบอาวุโส พอไปถึงจุดนั้นเนี่ย มันไม่มีโอกาสให้น้องที่เพิ่งเข้ามาใหม่ได้มีโอกาสเติบโต หรือ ใช้คำว่า “แซง” รุ่นพี่ไปได้ น้องมาที่หลัง น้องรอก่อน สมมติว่ารุ่นผมขึ้นมาเป็นระดับผู้บริหาร ก็จะมีการดึงเอาพวกพ้องที่เป็นรุ่นเดียวกันขึ้นมาเพื่อจะครอบครองตำแหน่งต่างๆ ที่มีอำนาจในการบริหารต่างๆ
ในมุมมองอาจารย์ การที่คนวนศาสตร์รุ่นใหม่ลุกขึ้นมา “บ่น” หรือวิพากษ์วิจารณ์มากขึ้น มันเป็นแค่ไฟไหม้ฟางหรือจะเป็นจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลง
เรียกว่าไฟไหม้ฟางไหม จริงๆ มันก็ต้องเริ่มจากประกายไฟเล็กๆ ของฟางนี่แหละครับมันถึงจะเกิดการเปลี่ยนแปลงใหญ่ได้ วนศาสตร์เองมันก็เป็นภาพสะท้อนของสังคมปัจจุบันในภาพใหญ่ ที่ทุกอย่างกำลังมีการเคลื่อนไหวและกำลังจะมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในอนาคตอันใกล้นี้ ผมคิดว่าไฟไหม้ฟางมันก็เป็นเรื่องที่ดีนะ อย่างน้อยมันก็ไหม้ ไหม้แล้วก็มีประกายขึ้นมา แล้วก็ผมเชื่อว่ามันก็คงมีอย่างนี้ต่อไปแล้วก็ขยายชุดความคิดต่อไปเรื่อยๆ
ในแง่ของการเป็นอาจารย์หรือสถาบันการศึกษาเราไม่มีหน้าที่ในการตัดสินถูกหรือผิด แต่มีหน้าที่ในการสนับสนุนกิจกรรมต่างๆ หรือชุดความคิดของเขานะครับ ผมสนับสนุนทุกอย่าง เพียงแต่ว่าต้องอยู่ภายใต้กฎและกติกาที่เหมาะสมเท่านั้นเอง
อาจารย์คิดว่าวนศาสตร์จะตั้งรับกับการเปลี่ยนแปลงได้อย่างไรบ้าง
เราต้องตั้งรับกับการเปลี่ยนแปลงของโลกแน่นอนครับ ยุคนี้คือยุคที่เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างพลิกผันในหลายๆ ด้าน (Disruptive) การทำงานของเรามันก็จะว่ายากขึ้นก็ยากขึ้น จะว่าง่ายขึ้นก็ง่ายขึ้น แต่สำคัญที่สุดคือวนศาสตร์พร้อมที่จะยอมรับว่าทุกอย่างต้องมีการเปลี่ยนแปลง เราคงไม่สามารถที่จะเป็นคณะที่อนุรักษ์สุดโต่งได้เหมือนในอดีตที่ผ่านมา
เราคงจะต้องรับฟังความคิดเห็นของบุคคลภายนอกและกระแสของสังคมที่มองคณะเอง หรือมององค์กรต่างๆ ที่ทำงานเกี่ยวกับภารกิจด้านป่าไม้มากยิ่งขึ้น เพื่อจะปรับวิธีการทำงาน รวมถึงวิธีคิดด้วย นั่นคือความตั้งใจนึงของผมที่เข้ามาเป็นอาจารย์ด้วย ว่าอยากจะทำให้เกิดอย่างนี้ขึ้นในสังคมของวนศาสตร์

อาจารย์มีอะไรฝากไปถึงวนศาสตร์รุ่นใหม่ไหม ว่าอย่างไร
วนศาสตร์รุ่นใหม่ วนศาสตร์รุ่นเก่าต่างๆ เราก็คือคนหนึ่งที่อยู่ในสังคมนี้ สิ่งที่ผมอยากจะฝากก็คือ อยากให้ทุกคนลองเปิดหู เปิดใจ รับฟังความคิดเห็นที่มีอยู่ อาจจะไม่ตรงใจหรือไม่ถูกใจเรานัก แล้วก็ลองคิดดู ผมยืนยันว่าคณะวนศาสตร์เองพร้อมที่จะเปิดพื้นที่ให้ทุกคนที่มีความคิดเห็นไม่ว่าจะด้านใดก็ตามได้แสดงออกอย่างเต็มที่
ไม่แน่ใจว่าคนทั้งคณะเอากับอาจารย์ด้วยไหม
ใช่ มันเป็นมุมมองของผม ซึ่งผมพยายามจะทำ แน่นอนพอพูดจบวันนี้เดี๋ยวก็จะต้อง… คือผมเป็นคนที่โดนอะไรแบบนี้มาตลอดอยู่แล้ว พอพูดถึงการเปลี่ยนแปลง แต่แน่นอนว่าทุกการเปลี่ยนแปลงจะต้องมีกระแสทั้งในเชิงสนับสนุนหรือไม่สนับสนุน เป็นเรื่องธรรมดา
คนคิดอยากสร้างการเปลี่ยนแปลงมีอยู่แล้วผมมั่นใจ เพียงแต่ว่าเขาอาจจะไม่ได้มีโอกาส ข้าราชการตัวเล็กๆ หรือว่าคนที่ยังไม่ได้บรรจุเป็นลูกจ้าง คุณไม่มีสิทธิ์จะพูดอะไรหรอกครับ คุณนั่งอยู่ท้ายแถวพูดไปเขาก็ไม่ได้ยิน ผมกดไมค์แดงว้าบๆ เขายังไม่ชี้ผมเลย แต่นั่นแหละครับ ผมเข้าใจและผมอยากจะเปลี่ยนแปลงมันจึงมาทำงานสอนหนังสือ
ผมอยากให้คนรุ่นใหม่ที่มีชุดความคิดใหม่ๆ เข้าไปทำงานนะครับ 7 ปีที่ผมอยู่ที่นี่ผมตั้งใจตลอด ปวารณาตัวว่าผมจะผลิตบัณฑิตที่เปิดกว้างทางความคิดออกไปทำงาน แต่ผมไม่ใช่คนเดียวหรอก มีอีกเยอะผมมั่นใจ
