“ปรากฏการณ์วนศาสตร์รุ่นใหม่” ในสายตาอาจารย์วน. พรเทพ เหมือนพงษ์

กมล สุกิน บรรณาธิการ GreenNews คุยกับ ผศ.ดร.พรเทพ เหมือนพงษ์ อาจารย์ภาควิชาวนวัฒนวิทยา และรองคณบดีฝ่ายกิจการนิสิต คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัย​เกษตรศาสตร์ ว่าด้วย “ปรากฎการณ์วนศาสตร์รุ่นใหม่” ว่ามีความหมายและนัยสำคัญอย่างไรต่อ “วนศาสตร์” ในฐานะเป้าปลอมเดียวที่ผลิต “วนกร” ป้อนสู่วงการจัดการป่าไม้ไทย 2564 

ชม GreenLive 23 เม.ย. 2564 

 

สวัสดีครับอาจารย์

สวัสดีครับ

ขอบคุณอาจารย์มากนะครับ ที่วันนี้ให้เกียรติมาสนทนากับพวกเราชาว GreenNews 

ยินดีครับ

ก่อนอื่นอยากจะให้อาจารย์แนะนำตัวเองสำหรับคนที่อาจจะยังไม่รู้จักอาจารย์ รบกวนอาจารย์ช่วยแนะนำตัวเองเร็ว ๆ ให้กับคนที่ติดตามการสนทนาของเราหน่อยครับ เชิญครับ

สวัสดีครับ ชื่อพรเทพ เหมือนพงษ์ครับ ปัจจุบันทำหน้าที่เป็นรองคณบดีฝ่ายกิจการนิสิตด้วย งานวิจัยของตัวเองก็จะทำเรื่องต้นไม้ในเขตเมืองมากกว่า อาชีพที่เรียกว่า “รุกขกร” ส่วน background ผมเคยทำงานรับราชการอยู่ที่กรมป่าไม้อยู่ประมาณ 12 ปี ก่อนที่จะมาเป็นอาจารย์ที่นี่ ก็เข้ามารับตำแหน่งกิจการนิสิตได้ประมาณ 4-5 เดือนนี่เองครับ

ค่อนข้างเป็นรองคณบดีฝ่ายกิจการนิสิตที่สดพอสมควร ประมาณ 4-5 เดือนนะครับ

 

“ปรากฎการณ์วนศาสตร์รุ่นใหม่”

ผมไม่อยากให้มองถึงกับว่าเป็น “ปรากฎการณ์” .. นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่มีเวทีอะไรแบบนี้ เพียงแต่ครั้งนี้อาจจะเป็นมุมมองที่ วนศาสตร์อาจจะไม่ค่อยได้มองมุมนี้เท่าไหร่ในอดีตที่ผ่านมา

ผมขอเริ่มด้วยคำถามที่เราชวนอาจารย์คุยวันนี้นะครับ คือเรื่องที่ไม่รู้จะเรียกเป็นปรากฎการณ์ได้รึเปล่า แต่เท่าที่ทราบจากข่าวคราวว่ามีกลุ่มนิสิตวนศาสตร์ม.เกษตร รุ่นนี้ เขากำลังจัดกิจกรรมขึ้นมา (และเป็นประเด็นที่สาธารณะให้ความสนใจมาก) เป็นปรากฎการณ์ที่น่าสนใจพอสมควร อยากจะให้อาจารย์ลองช่วยแสดงความคิดเห็นหน่อยครับว่า เรียกมันเป็นปรากฎการณ์ได้ไหม หรือว่ามันมีนัยยะสำคัญอย่างไรในมุมมองของคนใน

ครับ จริง ๆ ก็ในมุมมองของความเป็นอาจารย์ จะเรียกว่าปรากฎการณ์ไหม ผมไม่อยากให้มองถึงกับว่าเป็นปรากฎการณ์นะครับ ถึงแม้ว่าอาจจะเป็นเรื่องที่ในอดีต วนศาสตร์อาจจะไม่ได้มีเวทีที่เป็นสาธารณะให้ใครก็ตามที่อยากจะพูดเรื่องใดใดก็ตามได้มีโอกาสออกมาพูด แต่ตั้งแต่ผมมารับงานนี่ ผมตั้งใจเลยว่า คณะวนศาสตร์จะเปิดโอกาสและก็เปิดพื้นที่ให้ทุกคน ก็เลยเป็นที่มาของการเสวนาในวันนั้น ซึ่งผมนี่เองแหละที่ก็เป็นคนอนุญาตให้นิสิตทำ 

ก่อนหน้านั้น ผมก็ไม่แน่ใจว่าในอดีตก่อนที่ผมจะเข้ามารับงานนี้น่ะ มันได้มีการพยายามจัดเวทีเสวนาไหม แต่จริง ๆ มันมีมาเรื่อย ๆ แหละ นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่มีเวทีอะไรแบบนี้ เพียงแต่ว่าครั้งนี้อาจจะเป็นมุมมองที่…อาจจะเป็นมุมมองนึงที่ในทางวนศาสตร์อาจจะไม่ค่อยได้มองมุมนี้เท่าไหร่ในอดีตที่ผ่านมาครับ แต่ว่าเวที เรามีการจัดมาตลอดอยู่แล้ว  

หมายถึงก่อนหน้านี้ก็จะมีเวทีอยู่ แต่อาจจะไม่ได้แตะประเด็นที่มันค่อนข้างจะแหลมคมแบบนี้ หรือทันสถานการณ์แบบนี้ หรืออย่างไรครับ

อืม..มันก็อยู่กับว่าช่วงนั้นหรือในขณะนั้นมีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้น ที่เกี่ยวข้องกับบริบทการเรียนการสอนวนศาสตร์นะครับ เช่น ช่วงก่อนที่มีการสร้างรถไฟฟ้าที่มีการตัดต้นไม้ เราก็เคยมีการจัดเวทีสาธารณะขึ้นเกี่ยวกับต้นไม้ในกรุงเทพฯ ที่มีการตัดทิ้ง หรือเสือดำที่มีการล่าในเขตอนุรักษ์ต่าง ๆ หรือว่าแก่งกระจานเอง ก็มีทั้งสองมุมมองที่มีการพูดคุยกันอยู่ตลอดนะครับ ก็มีเรื่อย ๆ ครับไม่ใช่ไม่มี แต่ว่าอันนี้อาจจะเป็นอีกประเด็นที่เราหยิบยกกันขึ้นมาครับ

เอาอย่างนี้ละกัน ผมคิดว่าให้ง่ายกับคนที่ยังไม่ได้ติดตามเรื่องราวนะครับ หนึ่งในประเด็นที่กลุ่มที่เรียกตัวเองว่า “วนศาสตร์รุ่นใหม่” เขาพยายามหยิบมาก็คือว่า พวกเขาค่อนข้างที่จะรู้สึกเห็นด้วยกับแนวคิดเรื่องคนอยู่กับป่าได้ อันนี้ก็คือความเข้าใจจากคนนอกที่มองเข้าไปนะครับ แล้วก็ค่อนข้างเป็นชุดแนวคิดที่ไม่สอดคล้องกับทิศทางหลักของการเรียนการสอนในวนศาสตร์ อันนี้จริงไหมครับ 

ต้องเรียนอย่างนี้ครับว่า จริง ๆ แล้วจะการจะแบ่งเป็นวนศาสตร์รุ่นใหม่-รุ่นเก่าชัดเจนแบบนั้นนี่ ก็คงจะไม่ได้มีความเห็นที่ตรงกันไปในซะทั้งหมดในกลุ่ม Generation หมายถึงว่าถ้าเป็นคนนิสิตปัจจุบันนี้เองก็เถอะ มันก็มีทั้งสองมุมมองทั้งการที่จะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย 

ในคนรุ่นก่อนๆหรือรุ่นพี่ที่จบไปเองก็มีทั้งมุมมองที่เห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย คือมันไม่ได้มีชุดความคิดเดียวกับคนทั้ง Generation ขนาดนั้น มันไม่ได้ชัดขนาดนั้นนะครับ เพียงแต่ว่ารุ่นใหม่เองเขาอาจจะมีโอกาสได้แสดงออก ได้มีเวที ได้มี Social Network และมีการทำงานร่วมกับคนภายนอกมากขึ้น มันทำให้สื่อออกไปว่ามีการขยับตัวของวนศาสตร์จากการอนุรักษ์แบบเดิมไปเป็นอะไรแบบนั้น

วนศาสตร์ไม่ได้สอนแบบสุดโต่งว่าคนอยู่กับป่าได้หรือไม่ได้ เราไม่ได้มีแนวคิดหรือการสั่งสอนใด ๆ ว่าคนอยู่กับป่าไม่ได้ อันนี้ผมยืนยัน ไม่มีวิชาใดที่สอนหรือพูดว่าคนอยู่กับป่าไม่ได้ ไม่มี 

แต่ว่าผมต้องบอกแบบนี้ครับ ว่าวนศาสตร์นี่ไม่ได้สอนแบบ สุด สุด สุดโต่งขนาดว่าคนอยู่กับป่าได้หรือคนอยู่กับป่าไม่ได้ เราไม่ได้มีแนวคิดหรือการสั่งสอนใด ๆ ว่าคนอยู่กับป่าไม่ได้ อันนี้ผมยืนยัน ไม่มีวิชาใดที่สอนหรือพูดว่าคนอยู่กับป่าไม่ได้ ไม่มี 

แต่ว่าเราเป็นการสอนนะครับในวิชาความรู้ที่เป็นพื้นฐานที่เกี่ยวข้องกับวิชาการป่าไม้ทั้งหมดที่เขาควรจะใช้ในการประกอบการตัดสินใจต่าง ๆ อันนั้นจะเป็นความคิดที่เราอยากให้เกิดความอิสระในนิสิตแต่ละคนมากกว่า 

ดังนั้น การจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยก็จะเป็นเรื่องปกติที่จะเกิดขึ้นอยู่แล้วในกลุ่มคนขนาดใหญ่แบบวนศาสตร์นะครับ

แล้วอาจารย์คิดว่า ความเข้าใจหรือความรู้สึกของคนทั่วไปที่มองเข้ามาที่วนศาสตร์ ทำไมถึงเกิดความรู้สึกร่วมกัน ในทิศทางเดียวกันว่า วนศาสตร์นี่มองการจัดการป่าไม่ค่อยมีคนอยู่ในนั้น ไม่ค่อยเห็นด้วย ความคิดชุดนี้ของสาธารณะมันมาจากไหน

ก็เป็นสิ่งที่สังคมภายนอกมองว่า บุคลากรส่วนใหญ่ที่ทำงานเกี่ยวกับด้านป่าไม้ก็แล้วกันนะครับ กรมป่าไม้ กรมอุทยานต่าง ๆ ส่วนใหญ่ทั้งหมดจบจากวนศาสตร์นะครับ อันนี้ก็เป็นข้อเท็จจริงอยู่แล้ว และภารกิจหน้าที่ขององค์กรเหล่านั้นนี่ส่วนใหญ่เป็นการป้องกัน ปกป้อง อนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ โดยเฉพาะป่าไม้ 

ทีนี้ไอคำว่าอนุรักษ์ปกป้องหรือป้องกันหรืออะไรก็แล้วแต่นี่ มันก็มีส่วนนึงที่ต้องไปเกี่ยวข้องกับคน คนนี่อาจจะเป็น คนที่ตั้งใจเข้ามาบุกรุกจริง ๆ หรือคนที่อยู่กับป่าอยู่แล้วต่าง ๆ มันก็เลยทำให้เกิดมุมมองที่ว่า อ๋อ การไปจัดการคนเหล่านี้ มันก็คือการอยู่คนละฝั่งกับคนหรือป่าหรืออะไรทำนองนั้น ภาพเลยกลายเป็นว่า นี่ วนศาสตร์สอนให้เรารักษาป่า ห้ามแตะต้อง ห้ามคนอยู่กับป่านะครับ ซึ่งจริง ๆ แล้วอาจจะไม่ใช่อย่างนั้นซะทีเดียว

ครับ ก็คือว่า มองจากมุมผลิตผลของวนศาสตร์ที่เข้าไปสู่สังคม

แน่นอนครับ ภารกิจงานมันเป็นแบบนั้นเราปฏิเสธไม่ได้

เดี๋ยวเราค่อยกลับมาประเด็นนี้กันอีกทีนะครับ วนศาสตร์กับประเด็นบุคลากร ในส่วนของปรากฎการณ์วนศาสตร์รุ่นใหม่นี่ อาจารย์คิดว่า เอ่อ..มันมีอีกคำถามที่ซ่อนอยู่ว่า สิ่งที่เด็กเขาทำหรือกลุ่มนิสิตจำนวนนึง ผมไม่แน่ใจว่าใหญ่หรือเล็กขนาดไหน ถ้าอาจารย์ในฐานะคนที่อนุญาตให้ทำกิจกรรมด้วยอาจจะลองช่วยอธิบายภาพหน่อยว่า กลุ่มนี้เป็นกลุ่มเล็ก ๆ ในวนศาสตร์ใหญ่ หรือเป็นกลุ่มทั่วไปสามัญ หรือเป็นกลุ่มพิเศษหัวก้าวหน้าอะไรอย่างนี้ .. แล้วปรากฎการณ์นี้มัน Represent ความคิดของเด็กรุ่นนี้ วนศาสตร์รุ่นปัจจุบันไหม อาจารย์ช่วยอธิบายจากมุมมองอาจารย์หน่อยครับ  

ครับ ก็ มันเป็นความซับซ้อนในหลายมิติของการเป็นนิสิตวนศาสตร์มาก มันมีเรื่องของการที่เป็นลักษณะของคณะที่ค่อนข้างจะไปในทางอนุรักษ์เสียมาก อันนี้ก็ต้องยอมรับ การมีนิสิตกลุ่มนี้เกิดขึ้น จากที่เราพูดคุยกัน จริง ๆ ผมก็คุยกับกลุ่มนี้บ่อย เขามาพูดคุยกันที่ห้องบ่อยครับ หลายท่านก็น่าจะฟังกันอยู่ตอนนี้แหละ ก็..น่าจะเป็นเรื่องที่พวกเขาพยายามหาโอกาสหาพื้นที่ในการแสดงออกชุดความคิดของเขา ซึ่งที่ผ่านมา ถ้าเป็นเรื่องแบบนี้ชัด ๆ นะครับ อาจจะยังไม่มีพื้นที่ให้เขามากครับ ซึ่งผมก็เปิดโอกาสและยินดีอย่างยิ่งเลย 

ถามว่าเป็นนิสิตกลุ่มใหญ่ไหม ก็อาจจะบอกว่ายังไม่ใช่นิสิตกลุ่มใหญ่นะ จริง ๆ กลุ่มใหญ่ตอนนี้อาจจะเป็นกลุ่มคนหรือ Generation ที่อาจจะไม่ได้เข้ามายุ่งเกี่ยวกับ ไม่ว่าจะเรื่องใดใดก็ตามแต่ คือคนที่อนุรักษ์แบบ อนุรักษ์จริง ๆ ห้ามมีคนอยู่กับป่าเลย อันนั้นผมว่านิสิตกลุ่มนี้ก็มีอยู่ ซึ่งผมเองก็พยายามจะกระตุ้นไม่ว่าฝ่ายความคิดไหนก็ตามให้ออกมาหาพื้นที่ของตัวเองในการพูด 

ผมไม่ได้เป็นคนที่ฝักใฝ่ฝ่ายใด ด้วยความเป็นอาจารย์นี่ทุกคนก็คือลูกศิษย์เหมือนกันนะครับ เปิดโอกาสให้ลูกศิษย์เท่า ๆ กัน อันนั้นคือสิ่งที่เรายินดีมาก ๆ ที่จะเกิดสิ่งนี้ขึ้นครับ

ฟังดูเป็นปรากฎการณ์ที่สร้างสรรค์พอสมควร หมายถึงว่าในบรรยากาศของการเรียนการสอนวนศาสตร์ที่นี่

แน่นอนครับ ใช่

เป็น Positive movement เนาะ คราวนี้ก็คือว่า อย่างที่อาจารย์บอกว่าเป็นกลุ่มนึงที่เกิดขึ้นในท่ามกลางความคิดความอ่านที่หลากหลายของคนวนศาสตร์รุ่นนี้นี่ คำถามคือไอ้ชุดความคิดแบบนี้ซึ่งหลาย ๆ คนมองว่าค่อนข้างก้าวหน้าสำหรับความเป็นวนศาสตร์ ถ้าเทียบกับวนศาสตร์รุ่นก่อนหรือรุ่นดั้งเดิม 

คำถามคือ มันจะเป็นแค่ความสนใจชั่วครู่ชั่วยาม เป็นไฟไหม้ฟาง หรือว่ามันเป็นสัญญาณที่บอกถึงการเปลี่ยนแปลงใหญ่ ๆ เชิงโครงสร้าง หรือเชิงชุดความคิดของเด็กที่จะขยับ อาจารย์คิดว่ามันเป็นแค่ไฟไหม้ฟางหรือมันจะเป็นอาการของการเรียกร้องการเปลี่ยนแปลงใหญ่ ๆ ผ่านกลุ่มนักศึกษากลุ่มนี้

ครับ เรียกว่าไฟไหม้ฟางไหม จริง ๆ มันก็ต้องเริ่มจากประกายไฟเล็ก ๆ ของฟางนี่แหละครับ มันถึงจะเกิดการเปลี่ยนแปลงใหญ่ ๆ ได้ วนศาสตร์เองมันก็เป็นภาพสะท้อนของสังคมปัจจุบันในภาพใหญ่ ที่ทุกอย่างกำลังมี Movement และกำลังจะมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้นี้ ผมคิดว่าไฟไหม้ฟางมันก็เป็นเรื่องที่ดีนะ อย่างน้อยมันก็ไหม้ ไหม้แล้วก็มีประกายขึ้นมา แล้วก็ผมเชื่อว่ามันก็คงมีอย่างนี้ต่อไปเรื่อย ๆ แล้วก็ขยายชุดความคิดต่อไปเรื่อย ๆ ซึ่งก็ไม่มีใครถูกใครผิดนะครับ 

ในแง่ของการเป็นอาจารย์หรือสถาบันการศึกษาเราไม่มีหน้าที่ในการตัดสินถูกหรือผิด แต่มีหน้าที่ในการ Support กิจกรรมต่าง ๆ หรือชุดความคิดของเขานะครับ อย่างที่บอกย้ำอีกครั้งนึงว่าทุกชุดความคิดเรายินดีสนับสนุน ภายใต้ขอบเขตของกฎหมายของสังคมต่าง ๆ ซึ่งผมย้ำเสมอว่า ใครอยากทำกิจกรรม ใครอยากจัดเวทีอะไร ผมสนับสนุนทุกอย่าง เพียงแต่ว่าต้องอยู่ภายใต้กฎและกติกาที่เหมาะสมเท่านั้นเองนะครับ

อันนี้คือบรรยากาศ ณ วันนี้ของวนศาสตร์ที่เปิดให้แสดงความเห็น

ใช่ครับ

อาจารย์พอจะทราบไหมครับ ก่อนหน้าที่อาจารย์จะเข้ามานี่ บรรยากาศมันเหมือนอย่างนี้ไหม หรือว่ายังไง หรือนี่คือเหตุผลที่อาจารย์เข้ามา

ก็.. เอ่อ จริง ๆ ผมทำงานร่วมกับกิจกรรมของนิสิตวนศาสตร์ตั้งแต่เริ่มทำงานที่นี่เมื่อ 7 ปีที่แล้วนะครับ ก็เห็นการเปลี่ยนแปลงและพัฒนาไปเรื่อย ๆ ขึ้นอยู่กับว่าชุดผู้บริหารแต่ละคนที่เข้ามานี่ ได้ให้ความสำคัญหรือน้ำหนักในแง่มุมไหนของกิจกรรมของนิสิตไปมากกว่ากันหรืออะไรทำนองนี้ 

สำหรับส่วนตัวผมที่เพิ่งรับงานนี่ ผมอยากเปิดโอกาสให้นิสิตได้แสดงออกทางความคิดที่หลากหลายซึ่งมันเป็นสิ่งสวยงามนะครับ คณะ โดยเฉพาะกิจกรรมของนิสิตนี่ไม่พยายามทำเป็นกล่องเพื่อสร้างความคิดที่เหมือน ๆ กันออกไป ซึ่งเราคิดว่ามันไม่ใช่ผลดีในการที่จะทำงานต่อไปในอนาคตแน่นอนครับ

 

 

“วนศาสตร์” กับ โซตัส (SOTUS)

ผมไม่ปฏิเสธเลยว่าจริง ๆ วนศาสตร์มีการใช้ระบบโซตัสมายาวนานหลายสิบปีต่อเนื่อง .. ผมยังมองว่าโซตัสในบางแง่มุมนี่มันก็อาจจะยังสามารถที่จะทำให้การทำงานของวนศาสตร์มีผลสัมฤทธิ์ได้ แต่ในบางมุมมันก็ไม่สามารถที่จะขับเคลื่อนในบริบทของสังคมปัจจุบันได้แล้ว ก็จะเป็นอะไรที่มันถึงเวลาที่ควรจะต้องเปลี่ยนแปลง

ครับ ฟังดูเป็นทิศทางที่น่าสนใจมากในเชิงกิจกรรมหรือบรรยากาศการแลกเปลี่ยนในวนศาสตร์เอง คราวนี้มาสู่อีกคำถามนึงที่เกี่ยวข้องกันนะครับว่า เวลาคนนึกงถึงวนศาสตร์นี่ แว้บนึงที่จะนึกขึ้นมาคือ โซตัส ระบบในห้องเรียนอาจจะสอนเรื่องศาสตร์การจัดการป่าไม้แบบตรงไปตรงมา หลากหลาย แล้วก็เอาไปคิดเอาเองอย่างที่อาจารย์ว่ามาเมื่อกี้ ไม่ได้จะไปจงใจบอกว่าคนอยู่กับป่าได้หรือไม่ได้ แต่ตัวระบบการเรียนการสอนหรือบรรยากาศที่ผ่านมาของวนศาสตร์เอง 

มีคนตั้งข้อสังเกตว่า การอยู่กันแบบพี่น้องในระบบโซตัส ระบบอุปถัมภ์ที่แข็งแรงในช่วงวัยเรียนนี่ มันหล่อหลอมอะไรบางอย่างขึ้นมา หล่อหลอมวิธีปฏิบัติ วิธีคิดที่มันค่อนข้างอยู่ภายใต้ระบบอุปถัมภ์ ซึ่งอาจจะส่งผลต่อการคิดหรือตัดสินใจ หรือเลือกไม่เลือกเรื่องคนอยู่กับป่าได้ หลังเรียนจบอะไรแบบนี้ มุมนี้อาจารย์มองอย่างไรว่าความเป็นโซตัสกับไอ้ความเลือกอะไรพวกนี้ยังไง

ก็ต้องเรียนอย่างนี้ว่าจริง ๆ โซตัสนี่มันก็ .. ผมไม่ปฏิเสธเลยว่าจริง ๆ วนศาสตร์มันก็มีการใช้ระบบโซตัสมายาวนานหลายสิบปีต่อเนื่องมาก แต่ว่าสังคมปัจจุบันหรือสภาพสังคมปัจจุบัน ผมยังมองว่าโซตัสในบางแง่มุมนี่มันก็อาจจะยังสามารถที่จะทำให้การทำงานของวนศาสตร์มีผลสัมฤทธิ์ได้ แต่ว่าในบางมุมมันก็ไม่สามารถที่จะขับเคลื่อนในบริบทของสังคมปัจจุบันได้แล้ว ก็จะเป็นอะไรที่มันถึงเวลาที่ควรจะต้องเปลี่ยนแปลงมัน 

ส่วนที่ถามว่ามันมีผลกระทบกับการตัดสินใจต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของคนกับป่าหรือระบบอุปถัมภ์ต่าง ๆ นี่ มันก็คงจะต้องมีบ้างอยู่แล้ว ระบบอุปถัมภ์มันก็เริ่มตั้งแต่คำว่า Seniority แล้ว โซตัสตัวแรกก็คือการที่เป็นรุ่นพี่รุ่นน้องกันนะครับ 

การเข้าไปทำงานในหน่วยงานเดียวกัน การขับเคลื่อนคนส่วนใหญ่ที่จบมาจากที่เดียวกัน มันต้องมีการใช้ความเป็นพี่เป็นน้องในการทำงานอยู่บ้าง นะครับ ซึ่งผมที่เคยอยู่กรมป่าไม้ผมเข้าใจดีว่าการเป็นรุ่นพี่รุ่นน้องมันมีผลยังไงในการทำงานนะครับ ระบบอาวุโส Hierarchy ของการอยู่มาก่อนมันส่งผลยังไง มันสร้างผลกระทบยังไงกับคนรุ่นใหม่ที่เข้าไป 

จะเห็นได้ว่าใน Facebook นี่ คนที่เริ่มทำงานใหม่ ๆ นี่ เข้าไปดูได้เลยครับ จะบ่นกันแทบทุกวันว่าเจออย่างนี้ ๆ อย่างนั้น ๆ นั่นเองส่วนหนึ่งนี่ผมก็เชื่อว่าอาจจะเกิดจากการที่เรามีระบบโซตัสในคณะด้วย ก็ มีความตั้งใจอย่างนึงที่ผมพยายามจะเข้ามาปรับปรุงหรือเปลี่ยนแปลงบางอย่างในเงื่อนไขที่ผมสามารถทำได้ 

ระบบอุปถัมภ์..ถามว่ามันดีไหม บางมุมมันก็ดี บางมุมมันก็มีข้อไม่ดี คือผมพยายามมองอะไรกลาง ๆ จริง ๆ ตัวเองนะครับก็ได้รับผลกระทบจากระบบอุปถัมภ์มา ก็โดยตรงก็โดนมาหลายครั้งเหมือนกันนะครับ แต่ว่า อย่างที่บอกว่าตราบใดเท่าที่กรมกองต่าง ๆ ยังถูกขับเคลื่อนโดยคนส่วนใหญ่ที่จบจากที่เดียวกันนี่ การที่จะทำให้ระบบอุปถัมภ์มันหายไปนี่ก็เป็นเรื่องที่ยาก ต้องเรียนอย่างนี้เลย

อะ ผมจะทิ้งประเด็นนี้ไว้ตรงนี้ก่อน แต่ว่าเมื่อกี้สะดุดนิดนึงตรงที่อาจารย์บอกว่า อาจารย์เองก็อยู่ในระบบโซตัสที่แข็งแรงมาก่อน แล้วก็เข้าไปทำงานในกรม 10 กว่าปี แชร์ให้ฟังนิดนึงได้ไหมครับว่าประสบการณ์ตรงที่เกี่ยวกับโซตัส เอาเท่าที่พูดได้นะครับว่ามีผลผยังไงกับการทำงานจริง ๆ อะครับ

เอาเรื่องของมุมบวกก่อนแล้วกัน การเป็นรุ่นพี่รุ่นน้อง การมีความสามัคคี ความรักกัน ทีเราเรียกนี่ มันก็เป็นข้อดีที่พอเราเข้าไปถึงที่ทำงานใหม่นี่ เราจะรู้สึกว่า เหมือนเรามีรุ่นพี่ที่คอยอุปการะหรือให้ความอุปถัมภ์เรานี่ มันทำให้เรารู้สึกว่าเราสามารถทำงานได้อย่างสะดวกสบายได้มากยิ่งขึ้น การมีรุ่นพี่คอยช่วยเหลือต่าง ๆ แนะนำงานต่าง ๆ นะครับ 

วนศาสตร์ไปถึงก็จะถามว่าเออคุณรุ่นอะไร ผมรุ่นอะไร แล้วก็นับกันเป็นพี่น้องต่าง ๆ นะครับ อันนี้ก็เป็นข้อดีนึง แต่ว่าส่วนนึงมันก็ไม่ใช่แค่ระบบของกรมป่าไม้หรือกรมอุทยาน มันคือข้าราชการทั่ว ๆ ไปที่มันมีคำว่า Seniority นะครับ ที่ คุณจะต้องรับราชการมาก่อนกี่ปีต่าง ๆ นา ๆ แล้วก็ พอไปถึงจุดนั้นปั้ปนี่ มันไม่มีโอกาสให้น้องที่เพิ่งเข้ามาใหม่ได้มีโอกาสเติบโต หรือ ใช้คำว่า “แซง” รุ่นพี่ไปได้ น้องมาที่หลัง น้องรอก่อน อะไรทำนองนี้ครับ 

รุ่นพี่ ความเป็นรุ่นเองก็เถอะ บางครั้งมันก็มีปรากฎการณ์ว่า ถ้ารุ่นนี้ สมมติว่ารุ่นผม ขึ้นมาเป็นผู้บริหารนี่ ก็จะมีการดึงเอาพวกพ้องที่เป็นรุ่นเดียวกันขึ้นมา นะครับ เพื่อจะครอบครองตำแหน่งต่าง ๆ ที่มีอำนาจในการบริหารต่าง ๆ อะไรพวกนี้ จริง ๆ มันแค่ระบบของทหารตำรวจ คล้าย ๆ กัน คือมีความเป็นรุ่นที่ชัดเจนมาก ๆ ครับ

 

 

อุดมการณ์และบุคลากร “วนศาสตร์”

เราไม่ใช่โรงเรียนนายร้อยนะครับ ที่ผลิตทหารหรือตำรวจเข้าไปรับราชการเป็นทหารหรือตำรวจ ..ถ้าย้อนไปตอนตั้งโรงเรียนป่าไม้เมื่อ 2470 กว่า ๆ ก็ต้องบอกว่าใช่ครับ ตั้งขึ้นโดยกรมป่าไม้เพื่อผลิตบุคลากรไปป้อนให้จริง ๆ ถูกครับ แต่ Context ของสังคมเปลี่ยนไปเยอะและหลายรอบมากแล้ว ปัจจุบันไม่ใช่แบบนั้นแล้ว

น่าสนใจครับ ก็คือเป็น Seniority เป็นระบบอุปถัมภ์ภายใต้การจัดการฝั่งอนุรักษ์ คราวนี้ผมอยากจะขอขยับประเด็น มาที่ประเด็นพื้นฐานหน่อยนะครับ เมื่อกี้ที่เราพูดกันไว้หน่อยนึงแล้วว่า อาจารย์บอกว่า ใช่ วนศาสตร์นี่ถูกตั้งขึ้นมาเพื่อผลิตคนให้กรมป่าไม้ อันนี้หมายถึงความเข้าใจกว้าง ๆ แบบเหมารวมทั่วไป คำถามแรกคือ ถูกไหมถ้าคิดแบบนี้

บอกเลยว่าไม่ถูกนะครับ ไม่ถูก เราไม่ใช่โรงเรียนนายร้อยนะครับ ที่ผลิตทหารหรือตำรวจเข้าไปรับราชการเป็นทหารหรือตำรวจ เราเป็นคณะวนศาสตร์ที่ผลิตบุคลากรที่ทำงานเกี่ยวกับป่าไม้ อะไรก็ได้ หรือแม้แต่การเป็นอาชีพอิสระ ผู้ประกอบการเอกชน เป็นธุรกิจต่าง ๆ ของภาคเอกชนนี่ คือเราเป็นการผลิตบุคลากรออกไปเพื่อทำอะไรก็ดได้ที่เกี่ยวข้องกับป่าไม้ ย้ำอีกครั้งนึง 

แต่การที่ภายนอกมองว่าเราผลิตบุคลากรเพื่อป้อนกับกรมป่าไม้ เนื่องจากว่ากรมเหล่านี้นี่ ในการที่คุณจะเข้าไปทำงานได้เขาระบุชัดเจนเลย ว่าคุณจะต้องจบปริญญาตรีทางด้านวนศาสตร์เท่านั้น มันชัดอยู่แล้วว่ากรมรับเฉพาะวนศาสตร์ แต่วนศาสตร์ไม่ได้ผลิตมาเพื่อกรม ต้องเข้าใจตรงจุดนี้ด้วยนะครับ

ครับ มีคนตั้งข้อสังเกตว่าตั้งแต่ Day One ของการตั้งวนศาสตร์ หรือการก่อเกิดของคณะวนศาสตร์นี่ จริง ๆ มันพัฒนามาจากกิจการป่าไม้หรืออะไรทำนองนี้ อาจารย์พอจะจำได้ไหมครับว่าเจตนารมย์ของการตั้งคณะวนศาสตร์นี่มันกว้างเท่ากับการตีความของเรา ณ วันนี้ไหม หรือ ณ วันที่ตั้งก็เพื่อจะป้อนคนเข้ามากรมป่าไม้นั่นแหละ

ถ้าจะย้อนเวลาไปถึงตอนตั้งโรงเรียนป่าไม้นี่ นะครับ เมื่อตั้งแต่ 2470 กว่า ๆ มันก็ต้องบอกว่าใช่ครับ ในตอนนั้นมันเป็นโรงเรียนที่ตั้งขึ้นมาโดยกรมป่าไม้เพื่อผลิตบุคลากรไปป้อนให้จริง ๆ ถูกครับ แต่ Context ของสังคมมันเปลี่ยนไปเยอะและหลายรอบมากแล้วนะครับ ปัจจุบันมันไม่ใช่แบบนั้นแล้ว นึกออกไหมครับ

แต่ภาพเดิมมันยังอยู่เนาะ ในความรู้สึกของคนทั่วไป

ใช่ ๆ อันนั้นก็แล้วแต่ฮะ ใช่ ๆ

อาจารย์พอจะพูดทรรศนะได้ไหมครับว่า การเปลี่ยนแปลงที่อาจารย์ว่ามาเมื่อกี้นี่ จาก Day One (วันแรก)  ที่เริ่มตั้งเพื่อผลิตบุคลากรให้กรมป่าไม้ แล้ว Context (บริบท) สังคมที่เปลี่ยนไปนี่มีจุดเปลี่ยนชัดเจนไหมครับ จุดที่ทำให้มันถูกขยับจากป้อนคนในกรมมาเป็นป้อนบุคลากรให้วงการป่าไม้ ความหมาย เจตนารมณ์ หรือการปฏิบัติที่มันเปลี่ยนแปลงไปนี่ มีจุดตัดเปลี่ยนแปลงไหม ว่า เออ เกิดเหตุการณ์อะไรขึ้นเลยทำให้ วนศาสตร์มีเป้าหมายที่ขยับมากขึ้นหรืออะไรทำนองนี้ครับ

ก็ คือด้วยวิวัฒนาการของการป่าไม้นี่มันก็ ในประเทศไทยนี่ จริง ๆ ก็ร้อยสองร้อยปีมาแล้วที่เรามีการใช้ประโยชน์จากป่า มีการทำไม้ เก็บหาของป่านี่ มันคือคู่กับมนุษย์อยู่แล้ว แต่เมื่อสักร้อยกว่าปีก่อน เริ่มมีการเข้ามาของชาวตะวันตก มาอยู่ที่พม่าบ้าง มีการใช้การตัดไม้ การสัมปทาน การใช้รอกหมุนเวียนในการตัดไม้ออก ซึ่งเราก็รับชุดความนี้มาจากตะวันตก หรือก็คือชาวอังกฤษเป็นส่วนใหญ่ที่มาอยู่พม่า นะครับ 

อาจารย์และนักเรียนวนศาสตร์สมัยแรก ก็ต้องไปเรียนที่พม่า โดยที่ชาวตะวันตกเป็นคนสอน มันมาที่อินเดียก่อนแล้วค่อยมาที่พม่านะครับ แล้วก็ไทย นะครับ ช่วงนั้นนี่เนื่องจากว่าป่าในมุมมองของสังคมหรือคนในตอนนั้น คือเราจะเอาสายตาของคนปัจจุบันไปตัดสินตอนนั้นว่าผิดก็คงไม่ได้ นะครับ ก็มีป่าทั่วประเทศ ผมว่ามันก็ค่อนทั่วประเทศเป็นป่า เรามองป่าเป็นทรัพยากรประเทศที่เก็บเกี่ยวได้ มาใช้ได้ ตอนนั้นเรามองว่าป่าสามารถตัดออกมาใช้ได้ ศาสตร์ที่เราเรียนและสอนในตอนนั้น คือการเรียนการสอนเพื่อให้เราจัดการสามารถตัดไม้ป่าได้อย่างยั่งยืนนะครับ 

พรบ.ป่าไม้ 2484 ส่วนใหญ่ก็เป็นเรื่องของการตัดไม้ การทำไม้ การเก็บหาของป่า ถ้าเราดูกฎหมายป่าไม้จะเห็นวิวัฒนาการของกรมป่าไม้ไทยว่ามันค่อย ๆ ขยับจากการทำไม้มาเป็นเรื่องของการอนุรักษ์มากยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของพรบ. อุทยานฯ 2504 พรบ.ป่าสงวน 2507 นะครับ จนถึงคุ้มครองสัตว์ป่าฯ 2535 ร่างป่าชุมชน 2562 จะเห็นว่ามันมีการเปลี่ยนแปลงมาตลอดเป็นระยะ ๆ มันทำให้การผลิตบุคลากรจากวนศาสตร์หรือโรงเรียนป่าไม้ในสมัยนั้น เปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิง

น่าสนใจ เข้าใจว่ายุคตอนเริ่มก่อตั้งคือยุคที่อังกฤษมีอิทธิพลต่อภูมิภาคนี้ และเข้ามาด้วย Approach ว่ามาซื้อไม้ มาทำธุรกิจไม้กับพื้นที่แถว ๆ นี้ มีการตั้งบริษัทอะไรทำนองนั้นในยุคนั้น ยุคก่อตั้ง คราวนี้นี่ จุดตัดมันไม่มีใช่ไหมครับ จุดตัดหรือจุดเปลี่ยนในสังคมไทยที่ทำให้วนศาสตร์ต้อง Revise ตัวเองให้เป็นศาสตร์ที่พหุมากขึ้น กว้างมากขึ้น มองมิติเยอะขึ้น หรือพูดถึงคำว่า “ยั่งยืน”

มันล้อไปกับการเปลี่ยนแปลงของบริบทของสังคมอยู่แล้ว ถ้าจุดเปลี่ยนแบบชัดเจน แบบพลิกฝ่ามือเลยนี่ ผมว่าไม่ได้ชัดเจนขนาดนั้น มันมีวิวัฒนาการของมันอยู่ตลอดเวลาอยู่แล้ว แม้แต่ทุกวันนี้

ครับ ก็ถ้าให้เดาว่าน่าจะควบคู่ไปกับการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม ในภาพรวม ที่เริ่มพูดถึงการพัฒนาที่ยั่งยืน การพัฒนาที่ใช้คนเป็นศูนย์กลางหรืออะไรทำนองนั้นใช่มั้ยครับ ซึ่งภาพนั้นก็สะท้อนเข้ามาในการจัดการป่าไม้ไทยด้วย

แน่นอนครับ ใช่ครับ

 

 

“วนศาสตร์” VS สิ่งที่สอน และงานที่ทำหลังจบ

เรามีอยู่ประมาณ 10 สาขา สอนตั้งแต่เรื่องของระบบนิเวศ เรื่องของป่า สัตว์ป่า การฟื้นฟูป่า การใช้ประโยชน์ สอนตั้งแต่ต้นทางถึงปลายทาง ทุกคนจะได้เรียนในทุกมิติของป่า ..วิชาที่เกี่ยวกับคนในป่าที่เรียกว่าป่าชุมชน เป็นวิชาบังคับคือทุกคนก็เรียน ..(คนที่จบ) 70 – 80% ก็ไปอยู่ที่หน่วยงานราชการต่าง ๆ

กลับไปสู่อีกประเด็น เรื่ององค์ความรู้ อาจารย์บอกว่า โอเค เราไม่ได้สอนให้เด็กวนศาสตร์เชื่อหรือมุ่งไปที่การจัดการป่าแบบไม่มีคน เลยอยากจะลองถามรายละเอียดให้อาจารย์ฉายภาพให้ดูหน่อยว่า ในคณะวนศาสตร์ที่สอนตอนนี้มันมีกี่สาขาวิชา แล้วก็บุคลากรส่วนใหญ่เป็นกลุ่มไหนยังไง ในเชิงคนและหลักสูตร

ก็จริง ๆ ตอนนี้เรามีอยู่ประมาณ 10 สาขา นะครับ คือสอนตั้งแต่เรื่องของระบบนิเวศ เรื่องของป่า สัตว์ป่า การฟื้นฟูป่า การใช้ประโยชน์ เช่นเชิงการท่องเที่ยว การตัดต้นไม้ออกมาใช้เราก็สอน ไปถึงสุดท้ายก็คือการทำออกมาให้เป็นผลิตภัณฑ์หรือผลิตผลต่าง ๆ ที่เกิดจากไม้ นะครับ คือเราสอนตั้งแต่ต้นทางถึงปลายทาง ทั้งหมดสอนในคณะวนศาสตร์ นิสิตที่เรียนสี่ปี ทุกคนจะได้เรียนในทุกมิติของป่านะครับ ไม่ว่าจะเรื่องของการอนุรักษ์หรือการใช้ประโยชน์ เพราะฉะนั้นมุมมองของเขาหรือแม้แต่ในเรื่องของคน 

ต้องเรียนอย่างนี้ว่าวนศาสตร์ เรามีการเรียนการสอนวิชาที่เกี่ยวกับคนในป่าที่เรียกว่าป่าชุมชน เป็นวิชาบังคับ คือทุกคนก็เรียน เพราะฉะนั้นในมิติของคนกับป่า ผมเชื่อว่าอาจารย์ท่านก็น่าจะได้ให้องค์ความรู้ที่เขาสามารถซึมซับและใช้ในกระบวนการคิดและตัดสินใจของเขาได้อยู่แล้ว 

แต่ว่าวิชานี้เท่าที่ข้อมูลที่มี มันเพิ่งกำหนดให้เป็นวิชาที่ทุกคนต้องเรียนเมื่อปี 2550 นี้เอง ก็ซักสิบกว่าปี ทีนี้ก่อนหน้านี้สมัยรุ่นผม วิชานี้อาจไม่ใช่วิชาที่ทุกคนได้เรียนนะครับ ทำให้..อาจจะนะ เราไม่มีข้อมูลสนับสนุนนะ อาจจะทำให้คนรุ่นเก่า ๆ หรือเจนผมก็ตามแต่อาจจะมองในมิติที่คนกับป่าในมุมที่ไม่ชัดนัก หรือมองว่าคนอาจจะอยู่กับป่าไม่ได้ อันนี้อาจจะเป็นไปได้ 

แต่หลังปี 2550 มานี่ พอมีการเรียนการสอนมากขึ้น เราอาจจะมองในมิติที่เราไม่เคยมองมาก่อนได้ชัดมากขึ้น ทำให้เกิดปรากฏการณ์แบบที่เราว่า/เราเห็นทุกวันนี้แหละ

เวลาวนศาสตร์สอนเรื่องวิชาป่าชุมชน เขาพูดถึงอะไรบ้าง เนื้อหาของป่าชุมชน

จริง ๆ เนื้อหามันเกี่ยวข้องกับ อย่างนี้ครับ เรามีการเปิดสาขาที่เรียนร่วมกับคณะสังคม เป็นหลักสูตรปริญญาตรีคู่ขนาน คือเรียนทั้งวนศาสตร์ด้วยแล้วก็ทางคณะสังคมที่เรียนเกี่ยวกับมิติของมนุษย์ด้วย คู่กัน เป็นหลักสูตร 5 ปี นะครับ ด้วยมุ่งหวังว่านิสิตกลุ่มนี้เองจะได้บูรณาการของการจัดการป่าบนคนเข้าไปอยู่ใน Context ด้วย หรือว่าการเรียนการสอนในวิชาวนศาสตร์ชุมชนที่เราก็มองในมิติของคที่อยู่ร่วมกับป่าได้อย่างยั่งยืน แล้วก็มันก็จริง ๆ เราอยากให้เขามองว่ามันน่าจะอยู่ร่วมกันได้นะถ้ามีการจัดการที่ดี คือไม่อยากให้มองว่ามีอะไรสุดไปฝั่งใดฝั่งหนึ่งจนเกินไป

ก็คือ อาจจะพูดถึงคอนเซปป่าชุมชน พัฒนาการ หรือ..

การจัดการป่าที่มีคน ว่าคนอยู่ร่วมกับป่าได้ด้วยอะไร ยังไง วัตถุประสงค์ยังไง

ซึ่งตอนนี้เป็นหลักสูตรบังคับสำหรับทุกคน

เป็นวิชาบังคับที่ทุกคนต้องได้เรียนครับ

ครั้งนึง หรือหนึ่งคอร์ส หรือมันต่อเนื่องยังไงครับ

เป็นวิชาหนึ่งวิชาครั้ง อย่างนิสิตปริญญาตรีทุกคนจะได้เรียนในแต่ละหัวข้อนะครับ ที่ผมบอกว่ามันครอบคลุมตั้งแต่ต้นทางถึงปลายทาง เรามองว่าปริญญาตรีนี่เป็นบัณฑิตที่ควรจะรู้รอบด้านแต่ไม่ต้องลึก นึกออกไหมฮะ ถ้าสนใจด้านไหนเป็นพิเศษเขาจะต้องได้ไปเรียนต่อในระดับบัณฑิตศึกษาต่อไป ปริญญาโท ปริญญาเอก ได้ลงลึกไปในแต่ละด้านที่เขาสนใจ ดังนั้นนี่ ป่าชุมชนเองนะครับ ก็เป็นมิตินึงในหลายสาขาวิชาหรือหลายมิติของป่าที่เราอยากให้เขาได้รู้ ดังนั้นก็เป็นแค่หนึ่งวิชาในระดับปริญญาตรีครับ

ซึ่งเรียนตอนปี 3 หรือปีอะไรนะครับ หรือเลือกตอนไหนก็ได้

ผมจำไม่ได้แน่นอน อาจจะเป็นปี 2 ปี 3 สักอย่าง แต่ก็บังคับให้เรียน

อีกอันนึง หลักสูตรปริญญาตรีคู่ขนานกับ ทราบว่าเป็นสาขามานุษยวิทยาใช่มั้ยครับ อันนี้อธิบายนิดนึงได้ไหมครับว่ามันยังไง หมายความว่าเด็กเข้าไปเรียนวนศาสตร์สามารถเลือกมีสองปริญญา อย่างนี้เหรอครับ หรือยังไง หรือเป็นปริญญาเดียวที่มีสองเอก

คือเขาจะมีการเรียนวิชาของทางด้านสังคมเพิ่มเติมเข้ามาอีกประมาณสัก ผมจำแน่นอนไม่ได้แต่ประมาณสัก 20 หน่วยกิต หรือ 30 หน่วยกิต ทำนองนี้ ก็เป็นเรื่องของสังคมทั้งหมดเกี่ยวกับมนุษย์ ต่าง ๆ นะครับ ตอนจบเขาก็จะได้ปริญญาทั้งทางด้านวนศาสตร์ (วท.บ.) แล้วก็ทางสังคมวิทยาและมานุษยวิทยาด้วย

ก็คือเรียนเพิ่มจากหลักสูตรปกติใช่มั้ย เทคคอร์สเพิ่มจากหลักสูตรปกติของวนศาสตร์แล้วจะได้ 2 ปริญญา

ใช่ครับ เขาต้องเรียนกับนิสิตวนศาสตร์ในหลักสูตรวนศาสตร์ปกติด้วย แล้วก็ไปเรียนเพิ่มทางสังคมด้วยนะครับ ใช่ครับ ต้องเรียนมากกว่าเพื่อน เรียนหนักกว่าเพื่อนหน่อย

แต่ยังอยู่ในกรอบ 4 ปีปกติ

5 ปีครับ หลักสูตรคู่ขนานต้องเรียน 5 ปี

อ๋อ แต่วนศาสตร์ปกตินี่เรียน 4 ปีใช่ไหมครับ

ใช่ครับ (สำหรับหลักสูตรคู่ขนาน) ต้อง Extra มา 1 ปี

แต่ก็ได้ข่าวว่าหลักสูตรนี้ถูกพับไปเมื่อเร็ว ๆ นี้

ใช่ครับ ก็หยุดรับนิสิตไปเมื่อสัก 2 ปีที่แล้วนะครับ

เหตุผลคืออะไรครับ

เหตุผลจริง ๆ นี่เนื่องจากว่า ผู้รับผิดชอบหลักสูตรนี่ได้พิจารณาแล้ว ปรากฏว่าหน่วยกิตที่ต้องเรียนนี่มันเยอะมาก มันเยอะจนกระทั่งมันทำให้ไปโหลดกับตัวนิสิตที่ต้องเรียนเยอะมาก ๆ นะครับ แต่จริง ๆ ต้องบอกว่าในคณะวนศาสตร์เรามีสาขาวนศาสตร์ชุมชนอยู่แล้ว ที่เขาสามารถเลือกเรียนในหลักสูตร 4 ปีได้ หมายความว่า การเรียนด้านป่าชุมชนนี่ไม่ได้หายไปไหนหรอก นะครับ เพียงแต่ว่าอันที่เรียน 5 ปีก็กลับมาเรียน 4 ปีปกติเท่านั้นเอง

เป็นเหตุผลด้านการจัดการหลักสูตร ไม่ได้เกี่ยวกับด้านนโยบาย

ไม่ใช่เลยครับ ป่าชุมชนเราให้ความสำคัญแน่นอนครับ ไม่ได้หายไปไหนนะครับ ยังอยู่เหมือนเดิม

เข้าใจว่าพอคนเห็นจิกซอว์ของข้อมูล ชิ้นส่วนของข้อมูล ข้อเท็จจริงพวกนี้นี่ ก็อาจจะเผลอตั้งคำถามไปโดย เผลอตัดสินไปแล้วครับว่า เอ้าไหนบอกว่าจะเอาคนมีหลักสูตร เอ้าหลักสูตรพับไปแล้ว เกิดอะไรขึ้น แบบนี้

ก็เป็นโอกาสได้พูดก็ขอบคุณมากครับ

ครับ โอเค เอาให้จบเรื่องคน ตอนนี้ผมคิดว่าหลายคนก็อาจจะยังไม่เห็นภาพว่าแต่ละปีนี่ วนศาสตร์ผลิตบัณฑิตออกมากี่คน หรือเข้ามา รับเพิ่ม แนวโน้มเป็นยังไง อาจารย์พอจะให้คำตอบได้ไหมครับ

แนวโน้มนิสิตเพิ่มขึ้นทุกปี แล้วก็เฉลี่ยปีนึงนี่ ที่เรารับเข้ามาประมาณ 350 คนนะครับ

คือปีหนึ่งทุกปีจะเข้ามาประมาณ 350 คน

ใช่ครับ ทุกปี

แล้วจบ 350 ไหมครับหรือจบน้อยกว่านั้น

จบก็ประมาณ .. จริง ๆ มันมีการเปลี่ยนไปเรียนที่อื่นบ้าง เรียนไม่จบบ้าง ต่าง ๆ มีอันเป็นไประหว่างทางบ้างนิดหน่อย ก็เฉลี่ยปีนึง รวมบัณฑิตศึกษาด้วยจะจบประมาณ 300 กว่า ๆ คน

นั่นหมายความว่าแต่ละปีก็จะมี “วนกร” หรือชาววนศาสตร์ออกมาสู่สังคมไทย 300 คนต่อปี ซึ่งตอนนี้ส่วนใหญ่ไปอยู่ไหนกันหมด ไปทำงานอะไรเหรอครับ

70 – 80% ก็ไปอยู่ที่หน่วยงานราชการต่าง ๆ ก็มีสองกรมหลัก ก็คือกรมป่าไม้กับกรมอุทยาน มีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งบ้าง และหน่วยงานราชการอื่น ๆ บ้าง ส่วนใหญ่เลยก็ต้องบอกว่ารับราชการ บางส่วนก็ไปเป็นผู้ประกอบการ ธุรกิจส่วนตัวบ้าง อันนี้จะเริ่มมีปรากฎการณ์นี้ขึ้นเหมือนกันในวนศาสตร์รุ่นใหม่ที่ไปประกอบธุรกิจของตัวเอง เช่น การเป็นรุกขกร ก็มีเด็กที่จบไปใหม่ ๆ ทำงานนี้เยอะมากขึ้น

รุกขกร ทำอะไรครับ คืออาชีพยังไง

รุกขกร คืออาชีพในการดูแลต้นไม้ใหญ่ในเขตเมืองนะครับ เช่น คนที่อยากตัดต้นไม้ในบ้าน ต้นไม้มีโรค เขาก็จะเรียนรุกขกร หรือเรียกง่าย ๆ ว่าหมอต้นไม้ (Tree Doctor) ก็ได้ ก็คือเป็นคนที่ดูแลต้นไม้

หมอต้นไม้ในเมืองอย่างนี้เหรอครับ

ใช่ ๆ เป็นอาชีพใหม่ที่เกิดขึ้น

นี่คือที่อาจารย์(ทำงาน)เป็นสมาคมอยู่รึเปล่าครับ

ใช่ครับ ใช่

สมาคมหมอต้นไม้ในเมือง

สมาคมรุกขกรรมไทยครับ เรื่องนี้ต่อกันอีกครั้งดีกว่าเรื่องมันยาว

ความหมายไม่ผิดนะครับ เป็นหมอต้นไม้ในเมือง ..เดี๋ยววันหลังอาจจะชวนอาจารย์มาคุยเรื่องนี้นะครับ

ยินดีครับ ยินดี

 

 

“วนศาสตร์” กับ บทบาทใน “นโยบายและการจัดการ” ป่าไม้ไทย

ส่วนใหญ่ในการกำหนดนโยบาย การขับเคลื่อนทิศทางป่าไม้ รวมถึงผู้ปฏิบัติ มักจะมาจากวนศาสตร์ ซึ่งเป็นผลผลิตของคณะ 

 

อีกคำถามสำคัญ อาจารย์บอกว่าวนศาสตร์ไม่ได้สอนให้คิดยังไงไปด้านใดด้านหนึ่ง แต่บทบาทของคนวนศาสตร์ที่ไปอยู่ในกรมต่าง ๆ ภายใต้การบ่มเพาะแบบโซตัสที่นับถือรุ่นพี่รุ่นน้องนี่ มันไปส่งผลในภาคปฏิบัติ เวลาคนวนศาสตร์เข้าไปอยู่ในระบบการจัดการป่าไม้บ้านเรา ภาพที่อาจารย์ฉายมาส่วนหนึ่งก็จะช่วยให้เห็นภาพว่า คนวนศาสตร์เข้าไปอยู่ในส่วนต่าง ๆ ของกรมป่าไม้ กรมอุทยาน หรือกระทรวงทรัพยากรฯ ซึ่งนั่นแปลว่าตั้งแต่ระดับนโยบายยันระดับปฏิบัติ คนส่วนใหญ่จะเป็นคนวนศาสตร์ทั้งหมด 

คำถามคือว่า อาจารย์มองว่าบทบาทของคนวนศาสตร์ในการไปกำหนดทั้งนโยบายและทิศทางการจัดการป่าไม้ไทยมีอย่างไรบ้าง ผ่านมุมมองวนกรแบบอาจารย์

ก็ คือเราเคยเป็นสถาบันหลักหนึ่งเดียวในการเรียนการสอนด้านวนศาสตร์ คือเมื่อก่อนก็เคยมีป่าไม้แพร่ซึ่งเขาปิดไปเมื่อปี 36 หลัง ๆ ก็มีมสธ. ซึ่งรับรองวุฒิเป็นวนศาสตร์แล้ว ที่แม่โจ้แพร่ก็มีวุฒิวนศาสตร์แล้ว ถึงจะชื่อใด ๆ ก็ตามแต่ นะครับ แต่ว่าในอดีตที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบันนี่ ก็ต้องบอกว่าการขับเคลื่อนส่วนใหญ่เกิดจากบุคลากรที่ผลิตโดยวนศาสตร์เพียงคณะเดียว ส่วนใหญ่ในการกำหนดนโยบาย การขับเคลื่อนทิศทางป่าไม้ รวมถึงผู้ปฏิบัติ มักจะมาจากวนศาสตร์ ซึ่งเป็นผลผลิตของคณะ 

ดังนั้น ทั้งหมดทั้งมวลก็เกิดขึ้นจากการสร้างบุคลากรเหล่านั้นของคณะภายใต้บริบทของสังคม และการไปทำงานจริง ๆ ก็ไม่ได้มีแต่วนศาสตร์ที่สามารถจะกำหนดอะไรเหล่านั้นได้ เวลาคนไปทำงานมันก็จะต้องมีคนที่ใหญ่กว่าคุณ คนที่มีนโยบายสูงกว่าขึ้นไป มากำหนดให้คุณทำอย่างนู้นอย่างนี้อีก 

ผมต้องบอกเลยว่า สิ่งหนึ่งที่ผมอยากจะเข้ามาอยู่ที่นี่นี่ เพราะว่า ผมก็จะมามองว่าทุกสิ่งทุกอย่างมีจุดกำเนิดจากวนศาสตร์นี่แหละ ถ้าเราอยากให้ป่าไม้ของเราเป็นอย่างไรนี่ วนศาสตร์มีส่วนสำคัญที่สุด แล้วเราก็อยากทำให้มันดีขึ้นกว่าในอดีตที่ผ่านมานะครับ นี่คือความตั้งใจ

มันก็จะเห็นบทบาทของคนวนศาสตร์อยู่ในนั้นจริง ๆ หมายถึงว่าในแง่ตัวคนหรือบุคลากรที่ไปฝังตัวอยู่ตามส่วนต่าง ๆ ของกรมกองที่จัดการป่าไม้ไทย มาสู่ข้อสังเกตอันนึงของสาธารณะที่รู้สึกว่า ทำไมคนวนศาสตร์ถึงมีนโยบายแบบที่เป็นอยู่ ณ วันนี้ เช่นทำไมถึงยังเกิดกรณีแบบบางกลอย ที่ทิศทางเหมือนจะบอกว่าต้องมีป่าเท่านั้น คนออกมาให้หมด คือปลายทางที่เป็นแบบนี้ คนก็จะตั้งคำถามย้อนกลับไปว่าแล้วรากมันคืออะไร เพราะว่าฟังดูแล้วนี่ เอ่อ คำสั่งมันมาจากส่วนกลาง หรือว่าจากกระทรวง/ทบวง ที่ก็เป็นคนวนศาสตร์อยู่ในนั้น และก็หน่วยงานปฏิบัติที่เป็นเจ้าหน้าที่อุทยานซึ่งก็เป็นคนวนศาสตร์เหมือนกัน คราวนี้ ต่อให้ไม่ตั้งใจนี่ แต่ก็เกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้นมา อาจารย์จะอธิบายปรากฎการณ์แบบนี้อย่างไรครับ

ต้องอย่างนี้ก่อนครับว่า จริง ๆ เราจะเหมารวมว่าทั้งหมดนี่เป็นความคิดของคนที่จบจากวนศาสตร์ทั้งหมดเลยก็คงไม่ได้ ผมก็จะบอกว่ามีคนวนศาสตร์เองที่ไม่เห็นด้วยกับกรณีนี้ก็ไม่ใช่น้อย วนศาสตร์ไม่ได้เห็นอะไรเหมือนกันหมด เราก็มีความคิดที่หลากหลาย เพียงแต่ว่า เราอาจจะได้ฟังหรือเห็นในชุดความคิดนั้นทางสื่อมากก็เลยอาจจะเหมารวมว่าวนศาสตร์คิดแบบนี้ทั้งหมด อันนี้ก็เป็นเรื่องนึงที่ผมอยากบอก 

ประเด็นที่ 2 ก็คือ วนศาสตร์เอง เราจบไปแล้วมันก็ไม่ใช่นิสิตแล้ว เขาคือบุคลากรนึงของหน่วยงานนั้น ๆ เช่นเคสนี้ก็คือหน่วยงานของกรม ซึ่งแต่ละกรมก็จะมีอำนาจหน้าที่และพันธกิจภายใต้สิ่งที่เขาต้องทำ คุณนึกออกมั้ย ถ้าเราบอกว่ามองว่าเป็นป่าอนุรักษ์ เรามองตามกฎหมายก่อนนะ มีกฎหมายที่เกี่ยวกับการอนุรักษ์เขาว่าไว้ว่า หนึ่ง สอง สาม สี่ ห้า คนเหล่านั้นไม่ว่าจะจบจากที่ไหนก็ตามแต่ เขาก็ต้องปฏิบัติตามภารกิจเหล่านั้น ไม่ว่าคุณจะจบวนศาสตร์เองหรือคุณจบอะไรเองก็ตามแต่ 

ผมพยายามจะบอกว่า มันมีอำนาจหน้าที่ และภารกิจที่เขาจะต้องทำ ดังนั้นบอกว่า ถ้าตีความตามตัวกฎหมายเองนี่ การไปตัดไม้ทำลายป่าบนต้นน้ำ ป่าอนุรักษ์ มีความผิดตามกฎหมาย บลาบลาบลา ดังนั้นคนที่ทำงานก็ต้องรักษากฎหมาย อันนี้ผมเข้าใจเขานะ เพียงแต่ว่าถ้าเรามองในมิติของมนุษย์ สิทธิมนุษยชนต่าง ๆ เราอาจจะมองในมุมที่ว่าเอ้ะ ทำไมเขาถึงไม่มีสิทธิ์ อันนี้มันเป็นเรื่องเดียวกันที่อยู่คนละฝั่งเท่านั้นเอง ผมก็ขอ Defend ให้คนที่ทำงานด้วยนะครับ

ครับ ที่อาจารย์พูดมาเมื่อกี้ ส่วนหนึ่งก็คือบอกว่า โอเค พอจบมาแล้วไปทำงานตามหน่วยงานต่าง ๆ ก็ไปเป็นคนของที่นั่น ก็จะมีภารกิจภายใต้ตามแต่ละองค์กรไป อยากจะชวนอาจารย์มองเรื่องนึง คือมันมีคนมองว่าวนศาสตร์เป็นศาสตร์หลักของการจัดการป่าไม้ เพราะฉะนั้นควรที่จะเป็นคนที่กำหนดทิศทางของการจัดการป่าไม้บ้านเราใช่มั้ย คำถามที่จะถามอาจารย์ก็คือว่า ที่เป็นอยู่ ณ วันนี้ / ทุกวันนี้ วนศาสตร์เป็นตัวกำหนดนโยบาย หรือ คนกำหนดนโยบาย(มา)กำหนดวนศาสตร์

วนศาสตร์ในที่นี้หมายถึงคณะ หรือคนที่จบวนศาสตร์

ศาสตร์ของวนศาสตร์ ควรที่จะเป็นทางหลักหรือฉายภาพทิศทางการจัดการป่าไม้ไทยอันนี้คือสิ่งที่ควรใช่มั้ยฮะ แต่คำถามหลักก็คือว่าที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ มันเป็นแบบนั้นไหม หรือว่ามันเป็นทิศทางกลับกันว่า วนศาสตร์เองหรือคนที่เกี่ยวข้องกับวนศาสตร์กำลังถูกใช้ น้ำหนักมันอยู่ตรงไหนมากกว่ากัน

เป็นคำถามที่ตอบยากเหมือนกัน แต่ถ้าให้ผมตอบ ผมก็จะมองว่าวนศาสตร์เองเป็นผู้กำหนดทิศทางการขับเคลื่อนในเรื่องของนโยบายป่าไม้ต่าง ๆ ซึ่งจะเห็นได้ว่ามีคนวนศาสตร์เข้าไปเกี่ยวข้องในทุกกระบวนการในการกำหนดนโยบายหรือตัวกฎหมายที่จะออกมาอยู่แล้ว คงไม่ใช่คนที่จบสาขาอื่นหรือด้านอื่นหรอกนะครับ ส่วนใหญ่หรือส่วนหนึ่ง ผู้ที่เป็นผู้นำในการทำอะไรเหล่านั้นจบจากวนศาสตร์ แน่นอนมันมีสาขาอื่นเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย แต่น้ำหนักของการเกิดอะไรเหล่านั้นมันเกิดมาจากวนศาสตร์นะครับ การที่กำหนดเหล่านั้นมันก็เกิดจากมุมมองของผู้ที่เขียนกฎหมายเองนั้นว่า มองป่ายังไง นะครับ ถ้าเขามองว่าป่าไม่ควรจะมีคนอยู่ตามหลักการ บลาบลาบลา เขาก็จะออกระเบียบกฎหมายมาแบบนั้น อย่างนั้นเป็นต้นครับ

ซึ่งอันนั้นก็อาจจะเป็นคำถามที่ค่อนข้าง เส้นแบ่งแคบ ๆ มาก ๆ ว่าใครใช้ใครในทางปฏิบัติจริง แต่ก็แลกเปลี่ยนกันได้ในมุมนี้นะครับ 

 

 

“วนศาสตร์” กับความท้าทายวันนี้

เราต้องตั้งรับกับการเปลี่ยนแปลงของโลกแน่นอนครับ Disruptive ต่าง ๆ มันเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วการทำงานของเราจะว่ายากขึ้นก็ยากขึ้น จะว่าง่ายขึ้นก็ง่ายขึ้น สำคัญที่สุดคือวนศาสตร์พร้อมที่จะยอมรับว่าทุกอย่างต้องมีการเปลี่ยนแปลง เราคงไม่สามารถที่จะเป็นคณะที่อนุรักษ์สุดโต่งได้เหมือนในอดีตที่ผ่านมา ..คือคณะต้องเปิดมากขึ้น เราคงจะต้องรับฟังความคิดเห็นของบุคคลภายนอกมากยิ่งขึ้น กระแสของสังคมต่าง ๆ ที่มองคณะเอง หรือมององค์กรต่าง ๆ ที่ทำงานเกี่ยวกับภารกิจด้านป่าไม้ เราต้องฟังมากยิ่งขึ้น เพื่อปรับวิธีการทำงาน รวมถึงวิธีคิดด้วย นั่นคือความตั้งใจหนึ่งของผมที่เข้ามาเป็นอาจารย์ อยากจะทำให้เกิดอย่างนี้ขึ้นในสังคมของวนศาสตร์

 

คำถามสุดท้ายจากผมนะครับ ก็คือ อยากให้อาจารย์ช่วยมองหน่อยนึงว่าในบริบทที่อาจารย์ว่ามาทั้งหมด วนศาสตร์ในวันนี้เราเข้าใจว่าหน้าตามันเปลี่ยนแปลงไปจากวันแรกที่เราตั้งวนศาสตร์ไปเยอะ ทั้งเจตนารมณ์ อุดมการณ์ และสิ่งที่เรียนที่สอนกัน วนศาสตร์วันนี้เผชิญกับความท้าทายอะไรบ้างในมุมของอาจารย์ คนที่เรียนวนศาสตร์ต้องตั้งรับกับอะไรบ้าง รวมถึงคนที่เกี่ยวข้องกับวนศาสตร์ทั้งหมด

ก็.. เราต้องตั้งรับกับการเปลี่ยนแปลงของโลกแน่นอนครับ Disruptive ต่าง ๆ มันเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วนะครับ เอ่อ การทำงานของเรามันก็จะว่ายากขึ้นก็ยากขึ้น จะว่าง่ายขึ้นก็ง่ายขึ้น แต่สำคัญที่สุดคือวนศาสตร์พร้อมที่จะยอมรับว่าทุกอย่างต้องมีการเปลี่ยนแปลง เราคงไม่สามารถที่จะเป็นคณะที่อนุรักษ์สุดโต่งได้เหมือนในอดีตที่ผ่านมานะครับ 

คือคณะจะต้องเปิดมากขึ้นในอนาคต ผมเชื่อว่าอย่างนั้น เราคงจะต้องรับฟังความคิดเห็นของบุคคลภายนอกมากยิ่งขึ้นนะครับ กระแสของสังคมต่าง ๆ ที่มองคณะเอง หรือมององค์กรต่าง ๆ ที่ทำงานเกี่ยวกับภารกิจด้านป่าไม้ เราต้องฟังมากยิ่งขึ้นนะครับ เพื่อจะปรับวิธีการทำงาน รวมถึงวิธีคิดด้วย นั่นคือความตั้งใจนึงของผมที่เข้ามาเป็นอาจารย์ ว่าอยากจะทำให้เกิดอย่างนี้ขึ้นในสังคมของวนศาสตร์ แน่นอนว่าทุกการเปลี่ยนแปลงจะต้องมีกระแสทั้งในเชิงสนับสนุนหรือไม่สนับสนุน เป็นเรื่องธรรมดาซึ่งผมเองก็รับกับอะไรแบบนี้มาพอสมควร

อาจารย์มีอะไรอยากชี้แจงหรือว่าพูดเพิ่มเติมในมิติเรื่องแบบนี้ไหมครับ หรือจะฝากไปถึงน้อง ๆ วนศาสตร์รุ่นใหม่ไหมว่ายังไง

ก็วนศาสตร์รุ่นใหม่ วนศาสตร์รุ่นเก่าต่าง ๆ จริง ๆ เราก็คือคนนึงที่อยู่ในสังคมนี้ สิ่งที่ผมอยากจะฝากก็คือ อยากให้ทุกคนลองเปิดหู เปิดใจ รับฟังความคิดเห็นที่มีอยู่ อาจจะไม่ตรงใจหรือไม่ถูกใจเรานัก แล้วก็ลองคิดดู คือผมว่าเราพูดกันเยอะแต่เราฟังกันน้อย จะเห็นว่ามีการตอบโต้กันไปกันมา แม้แต่ในสังคมของวนศาสตร์กันเองก็เถอะ มีวนศาสตร์รุ่นก่อน วนศาสตร์รุ่นใหม่ ผมอยากจะให้ทุกคนเปิดใจและฟังกันมากขึ้น ซึ่งคณะวนศาสตร์เองพร้อมที่จะเปิดพื้นที่ให้ทุกคน ที่มีความคิดเห็นไม่ว่าจะด้านใดก็ตามได้แสดงออกอย่างเต็มที่ อันนี้ผมยืนยันอีกครั้งนึง

อันนี้คือ ทิศทางใหม่ของวนศาสตร์จากมุมมองของอาจารย์ใช่มั้ยครับ เพราะพอฟังอาจารย์เสร็จก็ไม่แน่ใจว่าคนทั้งคณะเอากับอาจารย์ด้วยไหม

ใช่ อันนี้เป็นประเด็นผมอยากจะบอกว่ามันเป็นมุมมองของผม ซึ่งผมพยายามจะทำ แน่นอนพอพูดจบวันนี้เดี๋ยวก็จะต้อง.. คือผมเป็นคนที่โดนอะไรแบบนี้มาตลอดอยู่แล้ว พอพูดถึงการเปลี่ยนแปลงปั้ปนี่ คือคนเราน่ะไม่ชอบการเปลี่ยนแปลงไม่ว่าจะเป็นใครก็ตามแต่ ถ้าเกิดการเปลี่ยนแปลงใดก็ตามนี่มันจะมีความรู้สึกว่า เราไม่อยากเปลี่ยนแปลง แต่ถ้าเราไม่เปลี่ยนแปลงเราจะไม่สามารถดำรงอยู่ในสังคมอนาคตได้ นี่คือสิ่งที่ผมอยากจะเข้ามาทำตรงนี้ และพร้อมที่จะรับฟังทุกความเห็นไม่ว่าจะเป็นด้านใดก็ตามแต่ผมยินดีอย่างยิ่งครับ

ตอนที่อาจารย์ทำกรมป่าไม้นี่ทำส่วนไหนของกรมป่าไม้ครับ

ผมทำเรื่องป่าชุมชนเลยนะ ผมทำงานเรื่องคนกับป่าในช่วงแรกที่บรรจุราชการเลย ต่อมาก็ไปทำงานด้านปราบปราม คือไปทวงคืนผืนป่า ตัดต้นยงต้นยางของเขาผมก็ทำมาหมดแล้ว ทำเชิงบวกก็ทำ เชิงไม่บวกก็ทำ ทำงานวิจัยตามชายแดน รวมถึงทำงานระดับนโยบายส่วนต่าง ๆ ก็ทำ คือส่วนตัวผมก็เชื่อว่าผมพอที่จะมีประสบการณ์ที่เห็นในทุกมิติของการทำงานด้านป่าไม้ คือปัญหามันมีทุกอย่างแหละครับ แล้วเราพยายามจะแก้มันอยู่แล้ว ณ ตอนนี้

เหตุผลหลักที่อาจารย์ตัดสินใจเดินออกจากกรมมาเป็นอาจารย์ เพราะอะไรครับ

เหตุผลหลักคือนี่แหละครับ ตอนนั้นผมคิดว่าการเปลี่ยนแปลงทุกอย่างมันต้องเริ่มจากตัวเรา พอไปถึงจุดนึงผมมองว่าคนเพียงไม่กี่คนมันไม่สามารถทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทุกองคาพยพของสังคม หรือของกรมได้ คนส่วนใหญ่ในกรมมาจากคณะวนศาสตร์ ถ้าเราอยากจะพัฒนา ปรับปรุง เปลี่ยนแปลงใดใดก็ตามก็ต้องเริ่มจากการผลิตคนที่มีชุดความคิดต่าง ๆ ที่เราอยากให้เขามองอะไรแบบนั้นออกไป ก็คือที่นี่ มันทำให้ผมตัดสินใจลาออกมาอยู่ที่นี่ เพราะผมอยู่ที่กรมผมไม่สามารถเปลี่ยนแปลงอะไรได้ พูดง่าย ๆ นะครับ

คำถามสุดท้ายจริง ๆ มีคนคิดแบบอาจารย์กี่เปอร์เซ็นต์ในกรมป่าไม้

ไม่ทราบครับ ผมบอกไม่ได้หรอกครับว่ามีกี่เปอร์เซ็นต์ ต้องเรียนอย่างนี้ว่า คนคิดมีอยู่แล้วผมมั่นใจ คนที่ฟังอยู่ตรงนี้ส่วนใหญ่ก็คิดนะครับ เพียงแต่ว่าเขาอาจจะไม่ได้มีโอกาส ข้าราชการตัวเล็ก ๆ หรือว่าคนที่ยังไม่ได้บรรจุเป็นลูกจ้าง คุณไม่มีสิทธิ์จะพูดอะไรหรอกครับ คุณนั่งอยู่ท้ายแถวพูดไปเขาก็ไม่ได้ยินครับ ผมกดไมค์แดงวาบ ๆ เขายังไม่ชี้ผมเลย แต่นั่นแหละครับผมเข้าใจ และผมอยากจะเปลี่ยนแปลงมัน อยากให้คนรุ่นใหม่ที่มีชุดความคิดใหม่ ๆ เข้าไปทำงานนะครับ 7 ปีที่ผมอยู่ที่นี่ผมตั้งใจตลอด ปวารณาตัวว่าผมจะผลิตบัณฑิตที่เปิดกว้างทางความคิดออกไปทำงานนะครับ แต่ผมไม่ใช่คนเดียวหรอก มีอีกเยอะผมมั่นใจ

ครับ ก็ขอให้สิ่งที่อาจารย์พยายามทำให้พวกเราเห็นว่าการเติบโตแบบนี้หรือทิศทางแบบนี้ก็น่าสนใจสำหรับสังคมไทยที่จะติดตามต่อไปนะครับ สำหรับวันนี้เราอาจจะจบกันแค่นี้

ช่วงบ่ายนี้ก็จะมีอาจารย์สุรินทร์ อาจารย์อีกท่านมาช่วยแลกเปลี่ยนมุมมองที่คล้ายกัน อาจจะเห็นเหมือนหรือต่าง ก็สำหรับท่านที่สนใจในประเด็นวนศาสตร์รุ่นใหม่ก็ติดตามกันได้ในช่วงบ่าย 2 นะครับ และ GreenNews ก็จะพยายามสะท้อนความคิดเห็นของคนวงการวนศาสตร์ในประเด็นนี้ต่อไปเรื่อย ๆ นะครับ ขอบคุณมาก ๆ ครับอาจารย์

ครับยินดีครับ สวัสดีครับ