เสร็จแล้ว “Road Map พลังงานโลกฉบับแรก” สู่การไม่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกเลยภายใน 30 ปี เตรียมเผยแพร่ให้คนทั่วโลกถกวิจารณ์ 18 พ.ค. 64 ก่อนให้ผู้นำประเทศตัดสินใจในเวทีเจรจาโลกร้อน (COP26) ปลายปี ที่อังกฤษ

Road Map พลังงานโลก
วันนี้ (2 เม.ย.2564) สถานฑูตอังกฤษประจำประเทศไทย ได้เปิดเผยถึงการดำเนินการสำคัญสู่เวทีเจรจาโลกร้อน (COP26) ที่เมืองกลาสโกว์ สหราชอาณาจักร ในปลายปีนี้ (พฤศจิกายน) ว่า ล่าสุด องค์กรพลังงานระหว่างประเทศ (International Energy Agency, IEA) ได้มีการจัดทำโร้ดแมปสำหรับภาคพลังงานโลก ที่จะพัฒนาพลังงานโดยมีเป้าหมายทที่จะไม่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกออกมาเลย ภายในปี 2593 หรือราว 30 ปีจากนี้
“จะเป็นโร้ดแมปฉบับแรกที่ประกอบด้วยละเอียดสำหรับภาคพลังงานของโลกในการบรรลุการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี พ.ศ. 2593
เอกสารนี้จะกำหนดแนวทางที่ภาครัฐ เอกชน นักลงทุน และพลเมืองต้องร่วมมือกันเพื่อควบคุมการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของโลกให้สอดคล้องกับการป้องกันไม่ให้อุณหภูมิโลกเพิ่มขึ้นเกิน 1.5 องศาเซลเซียส ซึ่งจะช่วยให้ผู้กำหนดนโยบายสามารถจัดลำดับความสำคัญในการดำเนินการเร่งด่วนได้ก่อนถึงการประชุม COP26 ที่เมืองกลาสโกว์” สถานฑูตฯ เปิดเผยผ่านข่าวแถลง
IEA-COP26 Net Zero Summit
นอกจากนี้ สถานฑูตฯ ยังได้เปิดเผยอีกว่า เมื่อวันที่ 31 มี.ค. 64 ที่ผ่านมา ผู้นำด้านพลังงานและสภาพภูมิอากาศจากทั่วโลกให้คำมั่นดำเนินการเพื่อพลังงานสะอาด ผ่านที่ประชุม IEA-COP26 Net Zero Summit ซึ่งจัดขึ้นในรูปแบบประชุมออนไลน์ ด้วยเหตุผลหลีกเลี่ยงความเสี่ยงจาก “การระบาดของโควิด-19”
การประชุม IEA-COP26 Net Zero Summit ดังกล่าวเป็นการประชุมสุดยอดว่าด้วยการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ จัดโดยองค์กรพลังงานระหว่างประเทศ และที่ประชุมสมัชชาประเทศภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศครั้งที่ 26 หรือ COP26 (เจ้าภาพหลักการจัดเวทีเจรจาโลกร้อน) เพื่อหาแนวทางร่วมกันเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและบรรลุเป้าหมายในความตกลงปารีส
โดยมีผู้นำด้านพลังงานและสภาพภูมิอากาศจากกว่า 40 ประเทศเข้าร่วม อาทิ ออสเตรเลีย บราซิล จีน สหภาพยุโรป ฝรั่งเศส เยอรมนี อินเดีย อินโดนีเซีย อิตาลี ญี่ปุ่น แอฟริกาใต้ สหราชอาณาจักร และอื่น ๆ รวมทั้งไทย นอกจากนี้ยังมีภาคประชาสังคมภาคเอกชน และหน่วยงานรัฐบาลหลากหลายภาคส่วนร่วมการหารือด้วย
ผู้เข้าร่วมที่สำคัญ ได้แก่ นายฟาติห์ บิโรล์ ผู้อำนวยการองค์กรพลังงานระหว่างประเทศ นายอล็อค ชาร์มา ประธานการประชุม COP26 จากสหราชอาณาจักร นายจาง เจียนหัว รัฐมนตรีกระทรวงพลังงานของจีน นายฟรานส์ ทิมเมอร์แมนส์ รองประธานบริหารคณะกรรมาธิการยุโรป นายจอห์น เคอร์รี ผู้แทนพิเศษด้านสภาพภูมิอากาศของประธานาธิบดีสหรัฐ นอกจากนี้ยังมีรัฐมนตรีพลังงานของอินเดีย กรรมาธิการด้านพลังงานจากสหภาพแอฟริกา และผู้อำนวยการองค์การการค้าโลกเข้าร่วม
ด้านประเทศไทย มีรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีพลังงาน นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ ร่วมเสวนาในหัวข้อการกระตุ้นการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานในระยะใกล้ (Catalysing Near-Term Implementation)

“การประชุมสุดยอดครั้งนี้ถือเป็นก้าวสำคัญไปสู่การประชุม COP26 ณ เมืองกลาสโกว์ในเดือนพฤศจิกายน โดยมีตัวแทนจากหลายประเทศเข้าร่วมครอบคลุมกว่าร้อยละ 80 ของจีดีพี ประชากร และปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั่วโลก
ถึงเวลาแล้วที่จะเปลี่ยนทศวรรษแห่งการคิดวางแผนไปสู่การลงมือทำจริง สหราชอาณาจักรขอเรียกร้องให้ประเทศต่าง ๆ รับรองนโยบายหลัก 7 ประการขององค์กรพลังงานระหว่างประเทศเพื่อการบรรลุเป้าการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์
การประชุมสุดยอดครั้งนี้แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของภาครัฐ ภาคประชาสังคมและภาคธุรกิจที่จะทำงานร่วมกันในแต่ละภาคที่มีส่วนปล่อยก๊าซเรือนกระจก และร่วมกันบรรลุเป้าหมายจำกัดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลกให้ไม่เกิน 1.5 องศาเซลเซียส
เราไม่ควรมองว่านี่คือการร่วมกันแบกรับภาระ แต่ควรมองว่าเป็นการแบ่งปันโอกาส การทำงานร่วมกันจะช่วยให้เราคืบหน้าได้เร็วขึ้น สร้างงานและความมั่งคั่ง และปกป้องโลกของเราเพื่อคนรุ่นหลัง” อล็อค ชาร์มา ประธานการประชุม COP26 กล่าวระหว่างการประชุม
(ชมวิดีโอจากการประชุม นาที 8.40 สุนทรพจน์ สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีพลังงานของไทย)
“การประชุมดังกล่าว หลายประเทศสมาชิกได้กล่าวรับรองนโยบายหลัก 7 ประการดังกล่าว ที่เสนอโดยองค์กรพลังงานระหว่างประเทศ ณ ที่ประชุมสุดยอดนี้ โดยนโยบายครอบคลุมถึงประเด็นสำคัญอย่าง
ความจำเป็นของการฟื้นฟูที่ยั่งยืนจากวิกฤตการณ์โควิด-19 ความสำคัญของการมีแนวทางลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ปฏิบัติได้จริงในทศวรรษนี้ และการพัฒนากลไกการประสานงานระดับนานาชาติที่แน่นแแฟ้นยิ่งขึ้นเพื่อเร่งให้เกิดนวัตกรรมและการนำไปใช้ร่วมกันในภาคธุรกิจที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงของโลก
นโยบายดังกล่าวยังระบุถึงประเด็นอย่างเช่น ความร่วมมือทางเทคโนโลยี แนวทางปฏิบัติที่ดี การติดตามการลงทุน การเปลี่ยนผ่านที่คำนึงถึงคนเป็นหลักและการบูรณาการความมั่นคงทางพลังงานและราคาที่จับต้องได้เข้าไปในแผนการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์นี้ด้วย เพื่อสนับสนุนให้เกิดการดำเนินการของภาครัฐ” สถานฑูตฯ เปิดเผย