ผลประชุมคณะกรรมการแก้ไขปัญหา ‘บางกลอย’ นัดแรกวันนี้ ตั้งอนุกรรมการ 5 ชุด ศักษา 5 ประเด็นที่ยังไม่ชัดเจนและเป็นที่ถกเถียง ทำงานคู่ขนาน เพื่อหาทางออกบนข้อมูล “ธรรมนัส” ยืนยัน “ประสาน” ถอนตัว
ประชุมคณะกรรมการแก้ไขกรณีปัญหาบางกลอย (ภาพ : สุนี ไชยรส)
ตั้ง 5 อนุกรรมการ ศึกษา 5 ประเด็นที่ยังไม่ชัด-ถกเถียง
วันนี้ 25 มีนาคม 2564 เวลา 09.30 น. คณะกรรมการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยและที่ทำกิน การพัฒนาและฟื้นฟูคุณภาพชีวิตของชาวกะเหรี่ยงในพื้นที่บางกลอย อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี โดยมี ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า เป็นประธานกรรมการ ภาครัฐ ภาคประชาชน นักวิชาการ รวมเป็น 28 คน วันนี้ประชุมวันแรก หลังจากได้รับการแต่งตั้งคณะกรรมการจากนายกรัฐมนตรี ประยุทธ์ จันทร์โอชา เพื่อแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัย ที่ดินทำกิน กรณีชาวบางกลอย เมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2564 ที่ผ่านมา ณ ห้องประชุม 3 ชั้น 3 อาคารสำนักงานกพ. (เดิม)
จากการรายงานเพจเฟซบุค ภาคีSAVEบางกลอย เผยผลการประชุมว่า “โดยในวันที่ 25 มีนาคม 2556 มีการประชุมคณะกรรมการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยและที่ทำกิน การพัฒนาและฟื้นฟูคุณภาพชีวิตของชาวกะเหรี่ยงในพื้นที่บางกลอย อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี ครั้งที่1 เพื่อหาแนวทางในการทำงานสู่การแก้ปัญหากรณีบางกลอย โดยในที่ประชุมเห็นชอบการตั้งคณะอนุกรรมการขึ้น 5 ชุด ประกอบด้วย
- คณะอนุกรรมการศึกษาประวัติศาสตร์การตั้งถิ่นฐานชุมชน และผลกระทบจากการประกาศอุทยานแห่งชาติ และการอพยพชุมชน
- คณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหากฎหมาย
- อนุกกรรมการแก้ไขปัญหาคดีความ
- คณะกรรมการศึกษาแนวทางและผลกระบต่อระบบนิเวศวิทยา สัตว์ป่า และการให้การบริการทางนิเวศ กรณีการกลับไปอยู่อาศัยและทำกินที่บางกลอยบน
- คณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาที่ดินทำกิน ที่อยู่อาศัย และพัฒนาคุณภาพชีวิตบ้านบางกลอยล่าง
ทั้งนี้ องค์ประกอบของอนุกรรมการได้มีการตกลงเบื้องต้นถึงองค์ประกอบ ที่มาจากภาคส่วนวิชาการ หน่วยงานราชการ และผู้เชี่ยวชาญ โดยฝ่ายเลขาฯ จะสรุปเวียนให้กับกรรมการทุกท่านพิจารณาเพื่อเสนอแต่งตั้งอย่างเป็นทางการต่อไป”
ภาคีฯ เผย “ยังไม่วางใจ” จะจับตาใกล้ชิดท่าทีรัฐบาล
ภาคีSAVEบางกลอย เปิดโพสต์ว่า ภาคีฯ จะติดตามความก้าวหน้าของการแก้ปัญหาและการทำงานของคณะทำงานทุกชุดอย่างใกล้ชิด
“เพื่อพิสูจน์ความจริงใจของรัฐบาลและนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้ลงนามแต่งตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยและที่ทำกิน การพัฒนาและฟื้นฟูคุณภาพชีวิตของชาวกะเหรี่ยงในพื้นที่บางกลอย อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี โดยเป้าหมายสำคัญคือ
การคืนความเป็นธรรมให้ชาวบางกลอย และการกลับบ้านของชาวบางกลอย #กลับใจแผ่นดินเท่านั้น บนความคาดหวังว่าการตั้งคณะทำงานจะนำไปสู่การแก้ปัญหา ที่ไม่ใช่เพียงการประวิงเวลาออกไป แต่ไม่มีความจริงใจในการแก้ปัญหา
ซึ่งในขณะการทำงานของคณะทำงานดำเนินไปนั้น เราอยากเห็นการแสดงท่าทีของนายกรัฐมนตรีที่เคารพพี่น้องชาติพันธุ์ เคารพในความเป็นคนที่เท่าเทียม แสดงออกความคิดเห็นที่อยู่บนพื้นฐานข้อมูลข้อเท็จจริงที่รอบด้าน เพื่อสร้างบรรยากาศการทำงานที่เคารพกันและกัน ในสังคมของประชาธิปไตย” ภาคีSAVEบางกลอย กล่าว
สัญญาณยังคงดี จากท่าที “ธรรมนัส”
ด้านสุนี ไชยรส จากวิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต หนึ่งคณะกรรมการแก้ไขปัญหาชาวบางกลอย เผยแพร่บนเฟซบุคส่วนตัวถึงการประชุมวันนี้ว่า
“ประชุมนัดแรก ชุดแก้ปัญหาบางกลอยที่รมต.ธรรมนัสเป็นประธาน 25มีค.64 ตึก กพ. ที่ประธานให้อิงตาม เอ็มโอยู ที่ปธ.และรมว.วราวุธ ลงนาม และพยายามหาทางแก้ไขช่วยกันให้จบเร็วที่สุด โดยทางทีมประชาสังคมและนักวิชาการนำเสนอให้เห็นภาพ ปวศ แผนที่ใจแผ่นดิน ที่ยืนยันว่าที่ชาวบ้านขึ้นไปทำกินเป็นที่ทำกินเก่าที่บางกลอยบน ไม่ใช่ใจแผ่นดิน
เสนอสภาพปัญหาจากการอพยพสองครั้ง ข้อกฏหมายและคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดและเสนอแนวทางแก้ปัญหา .. โดย อ.อภินันท์ (ธรรมเสนา) ผศ.ดร.ปริญญา (เทวานฤมิตรกุล) และ รศ.ดร.นฤมล (อรุโณทัย) เรากับ ผศ.ดร.ดำรงพล (อินทร์จันทร์) ช่วยเติมเต็มและเสนอแนวทางที่ควรเดินเพื่อแก้ปัญหาได้จริง .. ถกเถียงแลกเปลี่ยนกันไป
สรุปวันนี้ตั้งคณะทำงาน 5 ชุด ทำงานคู่ขนาน เรื่องปวศ.ชุมชน /ปัญหาการอพยพ ข้อ กม. คดีความ และแนวทางไร่หมุนเวียนกับระบบนิเวศ และว่าด้วยบางกลอยล่าง .. ดีที่ประธานดูจะเข้าใจปัญหา และขมวดประเด็นได้เร็ว .. ต้องสู้กันไปเพื่อความเป็นธรรมแก่ชาวบ้าน” สุนี ไชยรส กล่าว
ร.อ. ธรรมนัส พรหมเผ่า รมข.เกษตรและสหกรณ์ ประธานคณะกรรมการฯ (ภาพ : Thai PBS)
ยืนยัน “ประสาน” ถอนตัวแน่
ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมช.เกษตรและสหกรณ์ ประธานคณะกรรมการแก้ไขปัญหาบางกลอย ได้กล่าวยืนยันการถอนตัวของนายประสาน หวังรัตนปราณี ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำรองนายกรัฐมนตรี ที่ถูกภาคีฯ ยื่นจดหมายเรียกร้องให้ออกจากกระบวนการแก้ปัญหาบางกลอย ด้วยปัญหาทัศนคติและท่าทีที่ “ไม่เหมาะสม” ในระดับ “เกินรับได้” และน่าจะเป็นอุปสรรคต่อการแก้ปัญหาบางกลอย
“ทราบข่าวจากการลงพื้นที่ และได้คุยแล้วว่า ปล่อยให้คณะกรรมการคนกลางแก้ปัญหาเรื่องนี้ เพราะตราบใดถ้าไม่ใช่คณะกรรมการที่นายกรัฐมนตรี ลงนามแต่งตั้งก็จะมีปัญหาอย่างที่เห็น.. จะไม่กระทบต่อการแก้ไขปัญหาพื้นที่ข้อพิพาท เนื่องจากนายประสาน ไม่ได้เป็นคณะกรรมการที่นายกรัฐมนตรีตั้งขึ้นมา
เตรียมนัดประชุมคณะกรรมการนัดแรก 25 มี.ค.นี้ เพื่อแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยและที่ดินทำกิน รวมทั้งการพัฒนาและฟื้นฟูคุณภาพชีวิตของกลุ่มชาติพันธุ์บางกลอย พร้อมย้ำว่า การแก้ไขปัญหาจะต้องฟังรายละเอียดให้รอบด้านไม่เช่นนั้นก็จะเกิดข้อพิพาทไม่จบสิ้น” ธรรมนัส กล่าวผ่านรายงานของ ThaiPBS เมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2564 ที่ผ่านมา


