RDF หนองไข่น้ำ เมื่อโครงการ “กรีน”​ อาจไม่กรีนจริง

เมื่อโครงการ “กรีน” มูลค่าพันล้านมาเยือน “หนองไข่น้ำ” พร้อม “ความกังวลและความไม่ชัดเจน” มากมาย ตามด้วยการผลักดันโครงการแบบ “ผิดปกติ” ที่ในพื้นที่ไม่มีคำตอบ นำมาสู่การลงขันพากันเดินทางเข้ามา “ทวงถาม”​ในกรุงของคนหนองไข่น้ำ

ท่ามกลางความร้อนระอุของอากาศกรุงเทพฯ ช่วงบ่ายวันที่ 17 ก.พ.2564 บรรยากาศการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลดูจะร้อนแรงไม่แพ้กัน ประเดิมชัย บุญช่วยเหลือ ส.ส.พรรคเพื่อไทย กำลังหยิบประเด็นส่อแววทุจริตและใช้อำนาจมิชอบเพื่อเปิดทางทำ “โครงการเตาเผาขยะ” มาอภิปรายในสภา ขณะที่ริมถนนข้างทำเนียบรัฐบาล หญิงสาวคนหนึ่งกำลังอภิปรายประเด็นคล้ายคลึงกันอย่างเผ็ดร้อน

“เราตระเวนไปหาทุกหน่วยงาน ห้าหกเดือนก่อน ไม่ได้รับความช่วยเหลือใดๆ ทั้งสิ้น จนตอนนี้โรงงานไฟฟ้าตอกเสาเข็มแล้วนะคะ ถ้าใครสงสัย อยากให้ลงไปในพื้นที่ ดูว่าพื้นที่มันมีความเหมาะสมเหรอที่จะสร้าง” ธนพร วิจันทร์ จากต.หนองไข่น้ำ อ.หนองแค จ.สระบุรี แผดเสียงผ่านโทรโข่งในมือ 

นี้ไม่ใช่ครั้งแรกที่หญิงสาวจาก “เครือข่ายแรงงานเพื่อสิทธิประชาชน” มาทำเนียบรัฐบาลเพื่อเรียกร้องสิทธิ แต่เป็นครั้งแรกที่เธอมาในนามคนหนองไข่น้ำ นำเพื่อนบ้านที่ส่วนใหญ่ไม่เคยเยือนสถานที่แห่งนี้ออกมาแสดงจุดยืนว่าไม่ต้องการให้ “โรงไฟฟ้า RDF” มูลค่าพันล้านตั้งในชุมชนของตน

ชมฉบับเต็ม : ธนพร วิจันทร์และชาวหนองไข่น้ำปราศรัยหน้าทำเนียบ

โครงการ “กรีนพันล้าน” ต้นปัญหา 

โครงการ RDF ดังกล่าว มีชื่ออย่างเป็นทางการว่า “โครงการกำจัดขยะมูลฝอยเทศบาลเมืองพระพุทธบาทด้วยวิธีแปรสภาพเป็น RDF และนำไปใช้การผลิตไฟฟ้า ณ ต.หนองไข่น้ำ อ.หนองแค จ.สระบุรี กำลังการผลิตไฟฟ้า 9.5 เมกะวัตต์” ซึ่งชื่อเรียก RDF คือชื่อย่อของเทคโนโลยี Refuse Derived Fuel 

แนวคิดหลัก คือ นำขยะชุมชนมาคัดแยกและแปรสภาพเป็นเชื้อเพลิงที่เรียกว่า RDF ก่อนนำไปเผาเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้า เป็นกระบวนการที่กำจัดขยะไปพร้อมกับผลิตไฟฟ้า จึงถูกเรียกว่า “โครงการกรีน”

บริษัท มิทท คอร์ปอเรชั่น ที่ชนะการประกวดราคาและรับดำเนินโครงการฯ ระบุว่า โรงไฟฟ้านี้จะตั้งบนเนื้อที่ 11 ไร่ 2 งาน ในต.หนองไข่น้ำ ออกแบบให้สามารถกำจัดขยะได้วันละ 110 ตัน (ขยะใหม่ 80 ตัน และขยะเก่า 30 ตัน) ทำให้สามารถจัดการขยะที่ชุมชนสร้างขึ้นใหม่ในแต่ละวันได้หมด ควบคู่ไปกับการทยอยจัดการขยะเก่าในบ่อขยะขนาด 166 ไร่ ของเทศบาลเมืองพระพุทธบาท อ.พระพุทธบาท จ.สระบุรี ซึ่งคาดว่ามีมากกว่า 200,000 ตัน

“สระบุรียังประสบปัญหาจัดการขยะไม่เหมาะสม ผู้ว่าราชการจังหวัดสระบุรีจึงได้พัฒนาแนวทาง 3R : ลด คัดแยก นำกลับมาใช้ใหม่ เพื่อลดขยะ และอีกหนึ่งแนวคิดและโครงการปฏิบัติอย่างเร่งด่วนที่เล็งเห็นว่าจะเกิดประโยชน์สูงสุด คือ การจัดตั้งโรงงานแปรรูปขยะมูลฝอยชุมชนเป็น RDF”

RDF หนองไข่น้ำจะกำจัดขยะที่อยู่ในความดูแลของเทศบาลเมืองพระพุทธบาท ซึ่งรวบรวมจากตัวเมืองพระพุทธบาทเองและพื้นที่รอบข้างตามหลักการจัดการขยะแบบรวมศูนย์ (Cluster) นอกจากนี้ บริษัทยังระบุในเอกสารประกอบการรับฟังความคิดเห็นจากชุมชนต.โคกแย้ที่ตั้งอยู่ติดกับต.หนองไข่น้ำว่า “โครงการจะเป็นประโยชน์เพราะช่วยลดปริมาณขยะมูลฝอยในพื้นที่”

บริษัทจะขายไฟฟ้าให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เป็นเวลา 20 ปี ภายใต้โครงการรับซื้อไฟฟ้าแบบ Feed-in Tariff (FiT) ซึ่งเป็นมาตรการส่งเสริมให้เอกชนเข้ามาลงทุนธุรกิจพลังงานหมุนเวียน โดยจะมีอัตรารับซื้อไฟฟ้าคงที่ตลอดโครงการ ไม่ผันผวนตามค่าไฟฐาน 

RDF หนองไข่น้ำ เป็นหนึ่งในโครงการผลิตไฟฟ้าจากขยะชุมชน 11 แห่งใน 9 จังหวัดทั่วไทยที่กองทุนพัฒนาไฟฟ้า สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ร่วมมือกับกระทรวงมหาดไทย เนื่องจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นซึ่งเป็นหน่วยงานสังกัดมหาดไทยมีหน้าที่บริหารจัดการขยะในแต่ละพื้นที่ โครงการแนวนี้เปิดให้เอกชนเข้ามีส่วนร่วม ด้วยเหตุผลว่าต้องใช้การลงทุน 

ไม่พบว่ามีการเปิดเผยงบประมาณโครงการอย่างเป็นทางการจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แต่จากการรายงานของ hoonsmart.com ได้ระบุตัวเลขภาพรวมงบประมาณสำหรับทั้ง 11 โครงการดังกล่าวว่ามากถึง 13,000 ล้านบาท หากอนุมานว่าทุกโครงการราคาเท่ากัน อาจตีความได้ว่าโครงการหนึ่งมีมูลค่าลงทุนราว 1 พันล้าน

ดร.พิรียุตม์ วรรณพฤกษ์ นักวิชาการสิ่งแวดล้อมอิสระและที่ปรึกษาสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย ให้ความเห็นกับ GreenNews ว่า ในเชิงเทคโนโลยี RDF ถือว่าเป็นโครงการกรีน หากในทางปฏิบัติ มีหลายประเด็นที่ต้องคำนึง 

“ตามหลักการจัดการขยะพื้นฐานแล้ว เทคโนโลยีเตาเผาขยะ (Waste to Energy) เป็นวิธีการลำดับที่ 4 เพราะฉะนั้นถ้าท้องถิ่นเข้าใจถูกต้อง สิ่งแรกที่ต้องทำก่อนสร้างโรงไฟฟ้า RDF คือกระบวนการ 3R: Reduce Reuse Recycle โครงสร้างกำจัดขยะเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่ต้องยอมรับว่า ส่วนมากไม่ได้ช่วยจบปัญหาขยะ”

เขาเผยว่าประเด็นแรกคือจุดประสงค์ของการสร้าง การมอง ‘เตาเผาขยะ’ กับ ‘โรงไฟฟ้า’ นั้นต่างกัน เพราะจุดประสงค์หลักของเตาเผาขยะ คือ การกำจัดขยะ บำบัดมลภาวะที่เกิดขึ้น โดยคิดว่าพลังงานที่ได้ในรูปของไฟฟ้าเป็นผลพลอยได้ แต่ว่าสมมุติถ้าเอกชนเข้ามาและบอกว่าอยากทำโรงไฟฟ้า เพราะฉะนั้นสิ่งที่เขาต้องการคือจะทำอย่างไรให้มีเชื้อเพลิง (ขยะ) มากที่สุดเพื่อให้สามารถผลิตกระแสไฟฟ้าได้ตามที่เซ็นสัญญาไว้กับการไฟฟ้า

อีกประเด็นคือ ขยะที่สามารถแปรสภาพเป็น RDF ได้นั้นเป็นเพียงส่วนหนึ่งของขยะทั้งหมด แล้วส่วนที่เหลือนั้นจะมีการจัดการอย่างไรต่อ ขยะมูลฝอยชุมชนที่ใช้เป็นเชื้อเพลิงได้มีไม่เกิน 30% เนื่องจากมักปนเปื้อนขยะเปียกอย่างเศษอาหาร และยังมีวัสดุบางอย่างที่เป็นเชื้อเพลิงไม่ได้ เช่น แก้ว ขยะที่เผาได้จึงเหลือไม่มากจำพวกยาง พลาสติกและไม้ 

“คำถามสำคัญคือ ขยะอีก 70% ที่เผาไม่ได้ไปไหนต่อ ยังสร้างผลกระทบให้ชาวบ้านหรือเทศบาลยังต้องฝังกลบอยู่ไหม” ดร.พิรียุตม์ ตั้งคำถาม

ชมฉบับเต็ม : พื้นที่ก่อสร้างโรงไฟฟ้าหนองไข่น้ำ (มกราคม 2564)

เต็มไปด้วยความกังวลและความไม่ชัดเจน

“โรงไฟฟ้าจะมาตั้งอยู่กลางบ้านเรา รอบๆ เป็นพื้นที่เกษตรและหอพัก มลพิษทางอากาศ ทางน้ำ กลิ่น ยังไม่นับเรื่องรถขนขยะที่ต้องวิ่งเข้ามาอีก จะกระทบคนตั้งไม่รู้เท่าไหร่” ณัฐนภัทร ตัวแทนจากหมู่ 2 ซึ่งเป็นที่ตั้งของโรงไฟฟ้ากล่าวด้วยท่าทีขึงขังหน้าทำเนียบ 

เธอบอกว่า เธอกับชาวหนองไข่น้ำคนอื่นๆ ไม่รู้ว่าอนาคตตนจะเป็นอย่างไรต่อ หากสูญเสียรายได้จากการเปิดห้องพักให้พนักงานจากนิคมอุตสาหกรรมหนองแคที่ตั้งอยู่ใกล้เคียง

“เราไม่ได้ประโยชน์อะไร นอกจากมลพิษ เขาบอกจะเอาขยะมาจากอำเภอพระพุทธบาทและพื้นที่ใกล้เคียงมาเป็นเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้า ไม่ได้ช่วยกำจัดขยะในบ้านเรา” รุ่งศักดิ์ สุจริต ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 2 กล่าว  

สำหรับ ธนพร ซึ่งเป็นแกนนำเครือข่ายชาวหนองไข่น้ำ เธอตั้งคำถามถึงความจำเป็นของโครงการนี้ และทางเลือกการจัดการปัญหาขยะของเทศบาล

“สระบุรีมีโรงแปรรูปเชื้อเพลิงขยะ RDF กำลังการผลิตสูง 60 เมกะวัตต์ของบริษัท ทีพีไอ โพลีน เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) อยู่แล้ว ซึ่งน่าจะสามารถรองรับขยะได้ปริมาณมาก รวมถึงขยะจากเทศบาลพระพุทธบาท ทำไมถึงต้องสร้างโรงไฟฟ้าเพิ่มอีกแห่ง ใกล้พื้นที่ชุมชนขนาดนี้ และทำไมโรงไฟฟ้าถึงเลือกตั้งกลางชุมชน แทนที่จะตั้งในนิคมอุตสาหกรรมหนองแคซึ่งตั้งอยู่ไม่ไกลและยังมีที่ว่าง

เงื่อนไขโครงการระบุว่าที่ตั้งโรงไฟฟ้าจะต้องมีระยะห่างจากชุมชน 300 เมตร แต่กลับสร้างได้ในพื้นที่หนองไข่น้ำซึ่งตามผังเมืองแล้วกำหนดให้เป็นพื้นที่ชุมชน (สีชมพู) โดยด้านข้างติดหอพักและที่ทำการผู้ใหญ่บ้าน รวมถึงบ้านเรือนและพื้นที่เกษตร” 

ด้านนักวิชาการสิ่งแวดล้อม ดร.พิรียุตม์ ให้ความเห็นต่อประเด็นที่ชาวบ้านกังวล 

“กระบวนการเผาเชื้อเพลิง RDF เป็นพลังงานจะทำให้เกิดความร้อน มลพิษทางอากาศและขี้เถ้า ในทางวิศวกรรมแล้ว สามารถคาดการณ์ผลกระทบได้ล่วงหน้าและหากระบวนการบำบัดให้ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน 

อย่างไรก็ตาม โรงไฟฟ้าขยะไม่ควรตั้งติดชุมชน แต่ควรตั้งในนิคมอุตสาหกรรมเพราะเจ้าของนิคมอุตสาหกรรมจะมีมาตรฐานในการกำกับดูแลผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม ทว่าเมื่อตั้งอยู่พื้นที่ชุมชนเช่นนี้ หน้าที่ดังกล่าวจะตกเป็นขององค์การบริหารส่วนตำบล ซึ่งหน่วยงานท้องถิ่นมักมีกำลังคนจำกัด เมื่อมีโครงการใหม่ๆ มาจึงอาจดูแลได้ไม่รัดกุม ทำให้ชุมชนเกิดความเสี่ยง” 

ชมฉบับเต็ม: ความเห็น ดร.พิรียุตม์ วรรณพฤกษ์

2 ความผิดปกติในพื้นที่และมหภาค

ความกังวลของชาวหนองไข่น้ำอาจดูเล็กน้อย เมื่อเทียบกับข้อสังเกตขององค์กรกฎหมาย ที่ได้ติดตามตรวจสอบโครงการลักษณะนี้ทั่วไทย

“กรณีโรงไฟฟ้าขยะหนองไข่น้ำสะท้อนความผิดปกติของรัฐสองเรื่อง คือการแก้ข้อบัญญัติท้องถิ่นอย่างไม่ชอบธรรม และการออกคำสั่งคสช.ที่ 4/2559 เพื่อยกเว้นการบังคับใช้ผังเมือง ทั้งหมด เพื่อเปิดทางให้เกิดกิจการแบบนี้นับร้อยทั่วประเทศ” อมรินทร์ สายจันทร์ ทนายความมูลนิธินิติธรรมทางสิ่งแวดล้อม (EnLAW) ให้ความเห็น

“เดิม ข้อบัญญัติ อบต. หนองไข่น้ำกำหนดห้ามไม่ให้สร้างโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนและโรงไฟฟ้าขยะในพื้นที่ ทว่าตอนเมษายน 2563 อบต. หนองไข่น้ำได้แก้ไขกฎหมายท้องถิ่นดังกล่าว และเดือนสิงหาคมต่อมา บริษัทฯ ได้ทำเรื่องขอก่อสร้าง”

กฎหมายรัฐธรรมนูญระบุไว้ว่าชุมชนมีสิทธิที่จะจัดการดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ร่วมกับองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นได้ การแก้ไขข้อบัญญัติท้องถิ่นมีระเบียบกำหนดอยู่ว่าต้องจัดรับฟังความคิดเห็นและให้ข้อมูลชุมชนก่อน เพื่อเขาจะได้มีส่วนร่วมตัดสินใจ ทว่าในกรณีนี้กลับไม่มี”

อีกหนึ่งความผิดปกติ คือคำสั่งคสช.ที่ 4/2559 ยกเว้นการบังคับใช้ผังเมืองทั่วประเทศสำหรับกิจการด้านพลังงานและขยะ ซึ่งออกคำสั่งโดยพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เมื่อ 20 มกราคม 2559 แม้คำสั่งดังกล่าวจะดู “กรีน” เพราะตั้งใจลดข้อจำกัดทางกฎหมายเพื่อส่งเสริมให้ทำกิจการผลิตไฟฟ้าและจัดการขยะ ทว่ากลับเป็นการยกเลิกผังเมืองอันเป็นหลักประกันในการคุ้มครองสิทธิด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนเชิงพื้นที่ ทำให้เกิดโครงการมากมายโดยไม่ได้พิจารณาถึงสถานที่ตั้ง ขีดจำกัดรองรับในพื้นที่ รวมถึงความจำเป็น

“ปกติพื้นที่ตรงนี้ไม่ให้สร้างโรงงานแบบนี้อยู่แล้ว แต่เมื่อมีคำสั่งคสช.ขึ้นมา ก็เกิดประเด็นนี้ขึ้น ทางเราคงไม่สามารถอนุญาตหรืออนุมัติที่ขัดกับกฎหมาย” พรเทพ โชตินุชิต ผู้อำนวยการฝ่ายส่งเสริมการมีส่วนร่วมและคุ้มครองสิทธิประโยชน์ กกพ. กล่าวในทิศทางเดียวกันกับข้อสังเกตของนักกฎหมาย

ชมฉบับเต็ม : ความเห็น อมรินทร์ สายจันทร์ ทนายความ EnLAW

หาทางออกในกรุง ในวันที่โครงการเริ่มก่อสร้าง

ต้นปี 2564 เสียงตอกเสาเข็มดังขึ้นจากพื้นที่โครงการ ด้วยระยะห่างเพียง 100 เมตร คนหนองไข่น้ำจึงเห็นภาพการเดินหน้าก่อสร้างโครงการที่ตนคัดค้านอย่างเด่นชัดจากบ้านตนเอง

แม้จะร้องเรียนกับหน่วยงานในจังหวัดหลายแห่ง ทว่ากลับไม่ได้รับการตอบกลับ ทำให้พวกเขาตัดสินใจเดินทางเข้ากรุงเทพฯ เป้าหมายแรกคือ คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ซึ่งเป็นผู้อนุมัติโครงการรับซื้อไฟจากโรงไฟฟ้า RDF

29 มกราคม 2564 ตัวแทนชุมชนกว่า 20 คน ได้เดินทางมายื่นหนังสือร้องเรียนและคัดค้านโครงการ และใช้สิทธิทางพ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสาร ขอเข้าถึงเอกสาร CoP กับทางกกพ.

ตามข้อกำหนด โครงการโรงไฟฟ้า RDF ต้องจัดทำรายงานผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและแนวทางการป้องกัน เรียกว่า CoP (Code of Practice) ซึ่งมีลักษณะคล้ายการประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม (EIA: Environmental Impact Assesment) รวมถึงการจัดเวทีรับฟังความเห็นในพื้นที่ โดยแจ้งล่วงหน้าให้ชุมชนทราบก่อน 15 วัน

“เราไม่ทราบเกี่ยวกับโครงการมาก่อน เคยมีการจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นตอนปี 2563 พอเราถามเรื่องผลกระทบ เขาก็พูดว่าแก้ได้ แต่ก็ตอบเราไม่ได้ว่ายังไง” วุธ วิมลประดิษฐ์ ตอบโต้ 

เวทีรับฟังความคิดเห็นชุมชนได้จัดขึ้นแล้ว 2 ครั้ง เมื่อ 19 มิถุนายนและ 2 กรกฎาคม 2563 ทว่า มีชาวหนองไข่น้ำไม่กี่คนที่ทราบเกี่ยวกับงานรับฟังความคิดเห็นที่บริษัทฯ จัดและได้เข้าร่วมเวที ฯ ดังกล่าว

ส่วนประเด็นการขอข้อมูลแนวทางป้องกันผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมของโครงการ ฝ่ายรับเรื่องร้องเรียน กกพ.เผยกับ GreenNews หลังการยื่นหนังสือฯ ของตัวแทนชาวบ้านว่า 

“ปัจจุบันอยู่ในกระบวนการพิจารณาว่าเอกสารส่วนไหนเปิดเผยต่อสาธารณะได้จึงจะแจ้งเครือข่ายกลับไป” 

GreenNews ได้ติดต่อทางบริษัทมิททฯ เพื่อขอข้อมูลโดยตรง ในหลากหลายช่องทางที่มีการแจ้งไว้ในเว็บไซต์ แต่ไม่สามารถติดต่อได้

เมื่อความพยายามครั้งแรกดูจะไม่ค่อยเป็นผลนัก ความพยายามของฝ่ายคัดค้านครั้งใหม่จึงเกิดขึ้น พร้อมกับโครงการที่ทยอยคืบหน้า

เช้าวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2564 เครือข่ายชาวบ้านตำบลหนองไข่น้ำ 52 รายได้ยื่นฟ้องศาลปกครองกลาง ฟ้องร้องหน่วยงานท้องถิ่นของตน (อบต.หนองไข่น้ำ , นายกอบต. , สภาอบต., นายอำเภอหนองแค) ขอให้เพิกถอนข้อบัญญัติท้องถิ่นที่ไม่ชอบมาพากล

“วันนี้พวกเราต่างลางานและบริจาคเงินกันมาเพื่อชุมชนของเรา แต่ตอนนี้คนอื่นนอกชุมชนกลับมาตัดสินใจแทน พวกเราเลยมาส่งเสียงให้แก้ไขเพราะเราอยากเป็นประชาชนและก็มีสิ่งแวดล้อมที่ดีในบ้าน” ธนพรกล่าว

“เครือข่ายชาวบ้านตำบลหนองไข่น้ำขอให้เพิกถอนข้อบัญญัติองค์การบริหารส่วนตำบลหนองไข่น้ำนี้ หากทางอบต.จะดำเนินการออกหรือแก้ไขข้อบัญญัติท้องถิ่นที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม สุขภาพ หรือประโยชน์สาธารณะต่อไปในอนาคต ต้องให้ข้อมูลและจัดให้มีกระบวนการมีส่วนร่วมรับฟังความคิดเห็นของประชาชนตามที่รัฐธรรมนูญและกฎหมายกำหนดก่อนดำเนินการ”

บ่ายวันเดียวกันนั้น ตัวแทนเครือข่ายยังเดินทางไปทำเนียบรัฐบาลเพื่อยื่นหนังสือถึงนายกฯ ขอให้ยกเลิกโครงการโรงไฟฟ้าขยะหนองไข่น้ำและยกเลิกคำสั่งคสช. 4/2559 

“นายกมีนโยบายว่ารัฐไปลงทุนทำอะไรในพื้นที่จะต้องไม่กระทบสภาพความเป็นอยู่และสภาพแวดล้อมของชาวบ้าน ท่านไม่ได้นิ่งนอนใจ ท่านนายกก็จะมีกระบวนการตรวจสอบของท่านต่อ”

สมพาศ นิลพันธ์ ที่ปรึกษาสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ผู้แทนรับหนังสือกล่าวกับชาวหนองไข่น้ำ พร้อมยอมรับว่าได้รับการร้องเรียนเรื่องโครงการโรงไฟฟ้า RDF จากหลายชุมชน เช่น อ.บ้านลาด จ.เพชรบุรี

ถึงวันนี้ ยังไม่มีคำตอบชัดเจนจากหน่วยงานใดอย่างเป็นทางการ ต่อข้อร้องเรียนของชาวบ้านที่ได้ยื่นไป ไม่มีใครทราบได้ว่า วันนี้ คนหนองไข่น้ำที่พยายามหาทางออกเท่าที่นึกได้ในช่วงที่ผ่านมานั้น คิดอย่างไร 

หากจะลองคาดเดา คำพูดไม่กี่ประโยคของ “ระเบียบ” ชาวบ้านวัย 77 หนึ่งในตัวแทนชาวหนองไข่น้ำที่หน้าทำเนียบวันนั้น อาจสะท้อนความรู้สึกของพวกเขาในวันนี้ได้ไม่น้อย

“ไม่อยากให้โครงการแบบนี้เกิดขึ้น ไม่รู้ว่าที่มาฟ้องศาลและยื่นหนังสือถึงนายกวันนี้จะได้ผลไหม แต่อย่างน้อยรู้สึกดีใจที่ได้พยายาม เมื่อไม่มีใครช่วยเรา เราก็ต้องช่วยเหลือตัวเอง”

ชมฉบับเต็ม : เครือข่ายหนองไข่น้ำยื่นหนังสือถึงนายก