‘หนองจิก’ ค้านผังเมืองปัตตานีขยายผังม่วง 2,050 ไร่

“ผังเมืองปัตตานี” เตรียมขยายผังเมืองสีม่วง 2,050 ไร่ ดันอุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ หวั่นกระทบหนัก เครือข่ายเยาวชนฯ บุกยื่นผังเมืองจังหวัด เรียกร้อง “เปิดข้อมูลสาธารณะ” 

วันที่ 15 มีนาคม 2564 เวลา 14.00 น. เครือข่ายเยาวชนก้าวหน้าเพื่อการพัฒนาสังคม (อำเภอหนองจิก) และผู้ร่วมลงนาม อัฟฟาน เยงยูนอ ประธานชมรมอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ม.อ.ปัตตานี, ดอเลาะ  อาแว ประธานกลุ่มชุมชนอนุรักษ์ปกป้องทะเลและชาบฝั่งบ้านตันหยงปาวว์, อารีฟีน  โสะ เลขาธิการ The Patani ภูมิภาค Patani Lama, ฮากิม  เจะโด ผู้ประสานงานกลุ่มศึกษาชุมชนและทรัพยากรปาตานี (Patani Resources) และอนัส  หะยีสะมะแอ หัวหน้าพรรคกิจประชา ม.อ.ปัตตานี

สืบเนื่องมาจากเมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2564 กรมโยธาธิการและผังเมือง ประชาสัมพันธ์ขอให้ประชาชนยื่นคำร้องเกี่ยวกับผังเมืองรวมฯ ภายในวันที่ 18 มีนาคม 2564 (ปิดประกาศ 30วัน) เพื่อขอให้ประชาชนผู้อยู่อาศัย ผู้ครองที่ดินหรืออาคารที่ตั้งอยู่ในเขตท้องที่จังหวัดปัตตานี (ชาวบ้าน 2 ตำบล 1.ท่ากำชำ 2. บ้านเขา ) จำนวน 2,050 ไร่ ตรวจสอบกฎกระทรวงผังเมืองรวมจังหวัดปัตตานี พ.ศ.2560 มีการแก้ไขเพิ่มเติม

เครือข่ายเยาวชนฯ ได้เรียกร้องให้มีการเปิดเผยข้อมูลการประชุมของคณะกรรมการผังเมืองจังหวัดปัตตานีและ ได้ยื่นหนังสือไปยังสำนักงานโยธาธิการและผังเมืองจังหวัดปัตตานี (รับหนังสือ) และขอให้ทางทางโยธาธิการและผังเมืองอธิบายถึงที่มาที่ไปและปัจจัยอะไรในการเปลี่ยนผังเมือง(สีม่วง) พร้อมด้วยชี้แจงเอกสารรายงานการประชุมและเอกสารคำสั่งของนายกรัฐมนตรี ประยุทธ์ จันทร์โอชา และรองนายกรัฐมนตรี เกี่ยวกับแผนการดำเนินการเปลี่ยนแปลงผังเมืองสีม่วงเพื่อรองรับโรงงานอุตสาหกรรม (คลังสินค้า) เพราะภายในเอกสารไม่ได้ระบุถึงปัจจัยในการเปลี่ยนแปลงผังเมืองสีม่วงและการสร้างโรงงานอุตสาหกรรมเกี่ยวกับอะไร แล้วจะไปเสนอเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยได้อย่างไร(เอกสารไม่ได้ระบุอย่างชัดเจน)  เพื่อให้ประชาชนและผู้ที่มีส่วนได้เสียสามารถใช้ประกอบการตัดสินใจได้รวมไปถึงขอรายละเอียดเอกสารต่อไปนี้

1.ข้อมูลการเสนอแก้ไขผังเมืองรวมอำเภอหนองจิก โดยเฉพาะในตำบลบางเขาและตำบลท่ากำชำ รวมทั้งประเด็นการขอแก้ไขผังเมืองรวมจังหวัดปัตตานีของกรมโยธาธิการและผังเมืองพร้อมเอกสารประกอบ 

2.รายงานการประชุมคณะกรรมการที่ปรึกษาผังเมืองรวมในเขตจังหวัดปัตตานี ในวาระเกี่ยวกับการแก้ไขผังเมืองรวมจังหวัดปัตตานี พร้อมเอกสารประกอบการประชุม

3.มติที่ประชุมคณะกรรมการที่ปรึกษาผังเมืองรวมในเขตจังหวัดปัตตานี ในวาระเกี่ยวกับการแก้ไขผังเมืองรวมจังหวัดปัตตานี 

4.รายละเอียดของขั้นตอนการแก้ไขผังเมืองรวมจังหวัดปัตตานี รวมทั้งกำหนดการและวาระการประชุมของกรมโยธาธิการและผังเมือง ตลอดถึงคณะกรรมการผังเมืองเพื่อให้ความเห็นกรณีการแก้ไขผังเมืองรวมจังหวัดปัตตานี

5.รายละเอียดโครงการอุตสาหกรรมที่จะเกิดขึ้นในพื้นที่ดังกล่าวและแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาอุตสาหกรรมในจังหวัดปัตตานี

ด้านไมตรี  สรรพสิน หัวหน้าโยธาธิการและผังเมืองจังหวัดปัตตานี ได้รับหนังสือและได้รับทราบการรับหนังป็นที่เรียบร้อยและได้พูดถึงการประกาศขยายเปลี่ยนแปลงผังเมืองสีม่วงเพื่อรองรับโรงงานอุตสาหกรรมประมาณ 2,050 ไร่ เปิดเผยว่า “ส่วนหนึ่งเกิดจากคำร้องขอจะให้มีการขยายอุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ และอีกส่วนหนึ่งเป็นแผนการขยายการลงทุนอุตสาหกรรมในอนาคตที่ใครก็สามารถมาลงทุนได้ ซึ่งกระบวนการนี่เป็นผลมาจากการทำกระบวนการรับฟังจากชาวบ้านในพื้นที่แล้ว และสอดคล้องกับนโยบายมั่นคง  มั่งคั่ง ยังยืนในการส่งเสริมการลงทุน เศรษฐกิจ เพิ่มรายได้สร้างอาชีพให้กับคนในท้องถิ่น”

ในส่วนของอนาคตนายไมตรีกล่าวว่าจะมีการลงทุนในรูปแบบใดนั้นทางกรมโยธาธิการจังหวัดปัตตานีก็ไม่ทราบได้ เขาอ้างว่ามันเป็นเรื่องของอนาคตต้องไปถามหน่วยงานเกี่ยวข้อง  เพราะตนทำได้เพียงแค่ทำหน้าที่การอำนวยการที่เป็นคำสั่งของนายกรัฐมนตรีตนได้ทำเพียงแค่ไปติดประกาศเฉพาะหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพียงเท่านั้น 

ฮากิม เจะโด กลุ่มศึกษาชุมชนและทรัพยากรปาตานี (Patani Resources) ได้ให้ความเห็นต่อประเด็นเรื่องนี้ว่า “เราไม่ทราบเจตนาที่เขาอย่างนั้น แต่ถ้าถามเรื่องเจตนาการพัฒนาที่สอดคล้องกับชุมชนและสิ่งแวดล้อมควรเป็นการตัดสินใจอย่างมีส่วนร่วมของคนในพื้นที่ละแวกนั้นว่า สิ่งที่จะเกิดหลังจากนี้ในพื้นที่ชุมชนของตัวเอง จะสามารถเอื้อประโยชน์ต่อชุมชนได้อย่างไร ทั้งพื้นการประกอบอาชีพที่ชุมชนพึ่งพิงแหล่งธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม นิเวศวิทยา และความหลากทางชีวภาพ ล้วนเป็นทรัพยากรที่ให้ชีวิตแก่ชุมชน”

และให้ข้อเสนอแนะหาทางออกจากความขัดแย้งนี้ร่วมกันได้ 

“ถ้าพูดถึงเรื่องอุตสาหกรรมก็จะหนีไม่พ้นคำว่า เพื่อการพัฒนาจังหวัดบ้านเราให้ดีขึ้น ดีขึ้นในทิศทางไหนอย่างไร นั้นก็ควรมาจากคนในพื้นที่โดยตรง ไม่ใช่มาจาก นโยบาย หรือ ความเห็นชอบจากคณะทำงานไม่กี่คน และอย่างน้อยที่สุด ทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จะต้องเปิดพื้นที่ประชาสัมพันธ์ให้กว้างขวาง เข้าถึงประชาชนให้ทั่วถึง และทำความเข้าใจต่อแผนพัฒนา การแก้ไขผังเมือง อย่างโปร่งใส  เพื่อเป็นการรักษาสิทธิของประชาชนด้วย อีกทั้งยังเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี ต่อการทำให้เกิดกระบวนการการมีส่วนร่วมของประชาชน ต่อชุมชน สังคม ต่อแผนพัฒนาของจังหวัดหรือของชาติได้” เครือข่ายกล่าว

ดูจดหมายฉบับเต็ม