เริ่มจากการติดตามความเคลื่อนไหวเรื่อง “บางกลอย” ผ่านสื่อออนไลน์เหมือนคนอื่น ๆ ตามมาด้วยการถกเถียงแลกเปลี่ยนในหมู่เพื่อน ผ่านเพจ “Ladkrabang Politics – ประชาลาด” ที่พวกเธอช่วยกันสร้างขึ้น เพื่อนำเสนอเนื้อหาเกี่ยวกับการเมืองสังคม และสิ่งแวดล้อมให้เพื่อนนักศึกษาหลากหลายคณะได้เข้ามาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นผ่านพื้นที่ออนไลน์
จนวันที่แฮชแท็ก #saveบางกลอย ติดเทรนด์ทวิตเตอร์อันดับหนึ่ง พวกเธอจึงตัดสินใจชวนกันหาทางเข้ามาดูสถานการณ์วิกฤติบางกลอยด้วยตาตัวเองในพื้นที่
ศิริรุ่ง ศริสิทธิพิศาลภพ ผู้สื่อข่าวพิเศษ GreenNews ชวนพวกเธอมาจับเข่าคุย
“บิ๊ว” พัชราคำ นพเคราะห์ และ “ปอ” กุลธิดา กระจ่างกุล .. สองนักศึกษา’ถาปัดสาว ชั้นปีที่ 2 ภาควิชาศิลปกรรม สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าคุณทหารลาดกระบัง
แม้จะเป็นบทสนทนาภายใต้ 7 คำถามเร็ว ๆ รัว ๆ ในช่วงเวลาสั้น ๆ แต่ก็พอจะสะท้อนภาพ ความคิดและตัวตนของ “นักกิจกรรมสิ่งแวดล้อม” ยุคนี้ได้ในระดับที่น่าสนใจทีเดียว

Q1
เล่าให้ฟังหน่อยค่ะ ว่าทำไมอยู่ดี ๆ ถึงเดินทางมาที่หมู่บ้านโป่งลึก–บางกลอย
บิ๊ว : เห็นแฮชแท็กในทวิตเตอร์ค่ะ #SAVEบางกลอย แล้วกับประเด็นชาติพันธุ์ เรารู้สึกมันเป็นปัญหามานาน มีปัญหามานานมาก ๆ แล้วในประเทศไทย เรารู้สึกมันไม่ถูกแก้ไขให้ตรงจุดสักที แล้วเราก็อยากมาเห็นว่าทำไม เออ .. มันถึงแบบแก้ปัญหาไม่ได้สักที
แต่พอมาเห็น ก็รู้สึก มันไม่ใช่ความผิดเขานะ มันมีความผิดของรัฐบาลของอุทยานด้วย คนที่มีส่วนได้ประโยชน์ ทุนนิยมด้วย อะไรด้วย อีกมาก
ปอ: พอดีรู้จักกับรุ่นพี่ที่ทำ NGOs ค่ะ แล้วปกติเราจะชอบติดตามการทำงานของรุ่นพี่ในโซเชียลที่เป็น NGOs บางกลุ่มในจังหวัดขอนแก่นซึ่งเป็นบ้านเกิดหนู ทำเรื่องการปฏิรูปที่ดินการจัดสรรที่ดิน
ตอนแรก เราก็เข้าไปเรียนรู้การปฏิรูปที่ดินการจัดสรรที่ดิน พอมันได้เกิดกรณีปัญหาจริง ๆ เราเลยไปขอรุ่นพี่เขา ว่าถ้ามีโอกาสขึ้นมาที่หมู่บ้าน ขอตามไปได้ไหม เราอยากรู้จักพื้นที่นี้ ขอติดตามมาด้วย เพราะเราไม่เข้าใจ ว่าทำไมรัฐถึงไม่มีการทำตามคำพูด ในหลาย ๆ พื้นที่ที่มีปัญหาอย่างนี้ หรือหาวิธีที่จะเยียวยาให้ชาวบ้านเหมาะสม ไม่มีการจัดสรรที่ดินอย่างที่ควรจะเป็นและถูกต้อง
Q2
มีหลายคนมองว่าชาวบ้านที่อยู่ในป่าได้เปรียบ หากินกับป่า ไม่ต้องซื้อที่ทำกิน ในขณะที่คนเมืองจะได้ที่ทำกิน ต้องจ่ายเงินทุกบาททุกสตางค์ เรารู้สึกอย่างไรกับประเด็นนี้
บิ๊ว : รู้สึกว่ามันไม่ใช่ความจริงนะ เพราะถึงแม้เขาจะมีที่ทำกิน แต่ก็จะถูกช่วงชิงได้ตลอดเวลา จากรัฐหรือส่วนอื่น ๆ พวกเขาไม่มีความมั่นคงในการใช้ชีวิตอยู่เลย โดยเฉพาะกลุ่มชนพื้นเมืองในประเทศไทย มันแบบว่า บางทีเขาอาจจะ (อยู่สถานการณ์ที่) แย่กว่าคนแบบภาคกลางหรือภาคอื่น ๆ ที่เป็นเจ้าของที่ดิน เพราะไม่รู้ว่า พรุ่งนี้ ที่ดินที่บ้านของเขาอาจจะโดนเวนคืนได้อยู่ตลอดเวลาค่ะ
Q3
บางกลอยที่รู้จักจากการนำเสนอของสื่อ กับที่ได้มาเห็นของจริง แตกต่างกันมากไหม ในความรู้สึกเรา
บิ๊ว : ส่วนใหญ่ก็ไม่ได้ตามสื่อหลักอยู่แล้ว ตามพวก Twitter Facebook สื่อแบบคนรุ่นใหม่ ไม่ค่อยเชื่ออะไรมาก
ปอ : ตามทาง Facebook กับ Twitter เป็นหลักเลยค่ะ อย่าง #SAVEบางกลอย กระแสแรกได้ยินจากรุ่นพี่ ที่เคยเข้ามาในพื้นที่แล้วมาเล่าให้เราฟัง เขาพูดว่า “มึงไปดูปัญหาพื้นที่นี้นะ น้อยคนที่จะรู้” เราก็ฟังเรื่องบางกลอยมาเรื่อย ๆ
เรามารู้สึกสนใจจริง ๆ ตอนที่กระแสเจ้าหน้าที่ใช้ความรุนแรง เริ่มมีการสกัดการขนส่งเสบียงให้ชาวบ้านโป่งลึก–บางกลอย ไม่เข้าใจ ว่าทำไมเจ้าหน้าที่อุทยานถึงเลือกที่จะทำแบบนี้ มันทำให้เราตามข่าวเรื่อง #SAVEบางกลอย มากขึ้น
Q4
รู้จัก“บิลลี่” หรือ “พอละจี รักจงเจริญ” ไหมคะ รู้จักยังไง
ปอ / บิ๊ว : รู้จักค่ะ
ปอ: รู้จักว่าเขาเป็นคนในชุมชน ที่ทำให้คนในชุมชนหรือชาวบ้านบางกลอยออกมารู้เรื่อง หรือยืนขึ้นมาต่อสู้ในเรื่องปัญหาที่เกิดขึ้นในพื้นที่นี้ ออกมาเรียกร้องสิทธิของตนเองกับทางอุทยานฯ กับทางรัฐบาล ทำให้ชาวบ้านกล้าออกมา เหมือนเขาเป็นจิตวิญญาณชาวบ้าน
บิ๊ว: ส่วนบิ๊วรู้จักว่าเขาเป็นนักสู้ของชนพื้นเมือง ชนเผ่าพื้นเมืองของประเทศไทย แล้วก็รู้สึกว่าเขามีความกล้าหาญมาก ๆ รู้จากข่าวที่เขาหายตัวไป อันนั้นคือทำให้เราไปตามหาอ่านต่อ ว่าเขาเกิดอะไรขึ้น มันโหดร้ายมาก ๆ เลย

Q5
พอมีโอกาสได้เห็นของจริงในพื้นที่ รู้สึกยังไงบ้าง
ปอ : ปกติเราอยู่ในเมือง ชีวิตเราไม่ได้เกี่ยวพันอะไรกับคนในพื้นที่ป่าหรือกลุ่มชาติพันธุ์เลยค่ะ ก็เหมือนเวลานึกภาพเวลาอ่านข่าว เราก็ไม่ได้รู้สึกเชื่อ โดยส่วนตัวหนู เวลาที่ดูข่าวชาวบ้าน ไม่คิดว่าเขาจะทำร้ายถิ่นที่เขาอาศัยดำรงอยู่
ก็คือมันเป็นการจัดสรรและเกิดกฎหมาย โดยคนที่ไม่ได้อยู่ เพื่อทำลายคนที่อยู่ คือเราไม่เข้าใจ ว่าคนที่เขาอยู่พื้นที่เอง เขาจะไปทำลายที่ดินทำกินของตัวเขาเองทำไม เขาเกิดมาที่นี่ก็คือที่นี่ ทำไมเขาต้องไปทำร้ายที่ที่ทำให้เขามีอยู่มีกินด้วย รู้สึกมันเป็นเรื่องตลกร้ายที่มันสร้างมาให้ดูเหมือนโฆษณาชวนเชื่อ ว่า “ชาวบ้านทำร้ายที่อยู่ของตัวเอง ชาวบ้านทำลายป่า” ทั้งที่จริง ๆ มันก็คือบ้านของชาวบ้าน
บิ๊ว : ตอนเด็กมาก ๆ มันเป็นความเชื่อแต่ไม่ได้เชื่อจนฝังรากลึก ว่าเออ เขา .. แบบชาวเขาเผาป่า แบบทำไมคนต้องเผาป่า ทำไมคนต้องเข้ามาอยู่ในอุทยานแห่งชาติด้วย ก็เหมือนจะแบบเชื่อ เพราะอ่านข่าวด้านเดียวด้วย แล้วก็ผู้ใหญ่เขาก็พูดกัน ผลิตซ้ำคำที่ออกมาจากข่าว ซึ่งมันด้านเดียวไง
Q6
เห็นบอกว่าขอตามพี่ ๆ มาเรียนรู้ ตกลงมาแล้วได้เรียนรู้อะไรบ้างจากบางกลอย
ปอ : รู้สึกยุ่งยากมากเลยกว่าจะเข้ามาได้ ตั้งแต่กีดกันขบวนชาวเล ที่เดินทางเอาข้าวสารและปลาแห้งมาให้ชาวบ้าน ก็ถูกกักหลายช่วงนาน ๆ การตรวจที่เข้มงวดของเจ้าหน้าที่ การไม่สนใจการเดินทางของคณะที่เข้ามาในพื้นที่ แต่พอเข้ามาถึงหมู่บ้านที่เดินทางมากกว่า 3 ชั่วโมงจากอุทยาน มันก็รู้สึกมันชุมชนเป็น community ที่ดีมากเลย เป็น solidarity
ช่วงที่เขาเอาอาหารมามอบให้กะเหรี่ยงบางกลอย เรารู้สึกชนเผ่าพื้นเมืองของแต่ละภาค เขาก็แบบว่าเห็นอกเห็นใจกัน และมันทำให้รู้สึกมันเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ถึงแม้เขาจะอยู่ไกลกัน เรารู้สึกว่าเขาปกครองด้วยตัวเองได้ เขามีความพอใจที่เขาจะเป็นเขาแบบนี้ บางทีที่เราช่วยเรา ก็แค่ช่วยที่เขาต้องการไม่ได้แบบยัดเยียดอะไรมาก ให้เขาต้องเปลี่ยนไปในแบบที่เขาไม่อยากไป
ปอ : รัฐค่อนข้างจัดการได้แย่มากเลย คือแบบว่า ถ้าทางรัฐจัดการกับเรื่องนี้ มีการเยียวยาหรือมีมาตรการที่ทำตามสิทธิใช้มาตรการที่เป็นไปตามสิทธิมนุษยชน เห็นค่าเรื่องชาติพันธุ์ หนูรู้สึกว่า กลุ่มชาวบ้านที่เป็นกลุ่มชาติพันธุ์หรือชนพื้นเมืองต้องมาช่วยเหลือกันเอง แทนที่จะทางรัฐมาช่วยเหลือเขา เห็นชัดเจน ว่ารัฐภาคผลักภาระให้ประชาชนจะต้องช่วยเหลือกันเองไม่ใช่ว่ารัฐจะต้องช่วยเหลือประชาชน
Q7
กลับออกไปแล้ว คิดว่าจะทำอะไรไหม กับเรื่องบางกลอย
บิ๊ว : ก็คงช่วยกระจายข่าวสาร ถ้ามีโอกาสคงกลับมาเพื่อนำไปทำงานศิลปะอะไรบางอย่างตามที่เรียนวิจิตรศิลป์มา อยากถ่ายทอดต่อไปให้คนอื่นเข้าใจมากยิ่งขึ้น การได้เก็บข้อมูลไปทำงานศิลปะ แล้วใช้เป็นกระบอกเสียงต่อคนรุ่นใหม่ เพื่อให้คนตระหนักถึงวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของกลุ่มชาติพันธุ์ เวลาจะพูดคุยอะไร ให้คิดถึงความหลายของผู้คนและวิถีชิวิตที่มีหลากหลายในประเทศไทย
มาครั้งนี้ เรารู้สึกยอมรับในตัวตนชาวบ้านบางกลอยมาก ๆ เรา respect ในการที่เขาลุกขึ้นมารู้เรื่องสิทธิในการต่อสู้ของเขา รู้ว่าเขามีสิทธิที่จะต่อสู้แบบนี้ได้ และทำอะไรเพื่อชนพื้นเมืองของเขาได้
เราเห็นด้วย กับการที่เขาอยากกลับไปใจแผ่นดิน เพราะเรารู้สึก วัฒนธรรมของเขาโดนกลืนหายไป และไม่สามารถทำอะไรได้เลย ในพื้นที่บางกลอยล่างที่เขาถูกอพยพลงมาโดยการบังคับกว่าหลายสิบปี เรามองว่า รัฐขาดความรับผิดชอบ ไม่มีประสิทธิภาพในการจัดการเรื่องสิทธิมนุษยชนในประเทศไทยเลย
ปอ : คิดว่าจะศึกษาเรื่องการศึกษาที่ดินของรัฐกับประชาชน แล้วก็จะนำเรื่องที่ลงพื้นที่โป่งลึก–บางกลอยไปรวมกลุ่มพูดคุยกับเพื่อนนักศึกษาด้วยกันว่ามันมีปัญหาเกิดขึ้นอย่างนี้ แบบนี้ สังคมต้องรับรู้ว่ามีอะไรเกิดขึ้นกับชาวบ้าน แล้วก็จะไปถามผู้ที่มีความรู้ กรณีอย่างนี้ควรจะมีรูปแบบไหนแก้ปัญหาต่อไปยังไง แล้วก็คิดว่าจะกลับขึ้นไปที่บางกลอยอีก
เราอยากมีส่วนช่วยเหลือ ในการที่จะทำปัญหานี้ให้มันจบลงแบบที่ชาวบ้านได้ที่ทำกินอย่างเหมาะสม และได้มีวิถีชีวิตประเพณีดั้งเดิมกลับคืนมา ภาครัฐควรเข้าใจได้ว่า “คนกับป่า” อยู่ร่วมกันได้
ในส่วนความรู้สึกส่วนตัว เราออกมา เรารู้เลยว่าคนต้องได้รับรู้เรื่องนี้ แม้คนไม่ได้ขึ้นไป ก็ต้องได้รู้เรื่องนี้ในวงกว้าง ไม่ให้เป็นเพียงกระแสช่วงเดียวใน twitter และหนูรู้สึกมาก ๆ กับความไม่ยุติธรรมที่เกิดขึ้น ถ้าช่วยอะไรได้เรื่องนี้ ก็จะช่วยอย่างเต็มที่
..

หมายเหตุ หลังการสนทนา
1.
27 กุมภาพันธ์ 64 เกิดสถานการณ์การเผชิญหน้าระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐและชาวกะเหรี่ยงบางกลอย อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี ภายใต้ปฏิบัติ ยุทธการพิทักษ์ป่าต้นน้ำเพชร ที่เริ่มตั้งแต่เช้าวันที่ 22 – 24 กุมภาพันธ์ 2564
กำลังเจ้าหน้าที่ประกอบด้วย หน่วยเฉพาะกิจทัพญาเสือ(กองพลที่ 9 ) หน่วยเฉพาะกิจพญาเสือ (อช.) สำนักป้องกันปราบปราม (สปป.1) ตำรวจตระเวณชายแดนและเจ้าหน้าที่อุทยานฯแห่งชาติแก่งกระจานไม่น้อยกว่า 80 นาย ถูกส่งขึ้นไปบนบางกลอยบน–ใจแผ่นดิน รวม 20 เที่ยวบิน เพื่อนำตัวชาวบ้านชาติพันธุ์กะเหรี่ยงบางกลอย 10 -12 คน ลงมารับทราบข้อกล่าวหา โดยเจ้าหน้าที่อ้างว่าพบผู้บุกรุกพื้นที่ป่าบางกลอยบน ที่ห่างจากบางกลอยล่างประมาณ 13 กิโลเมตร และมีการถางและเผาป่าหลายพื้นที่
ภาพการปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่ดังกล่าวถูกเผยแพร่ผ่านสื่อจำนวนมาก และได้รับความสนใจจากสาธารณชนอย่างมาก ส่งผลให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางโดยคนแทบทุกภาคส่วน และทำให้แฮชแท็ก #Saveบางกลอย ขึ้นอันดับหนึ่งเทรนด์ทวิตเตอร์ในประเทศไทย
2.
หลายคนตั้งข้อสังเกตุถึงสาเหตุที่ทำให้ #Saveบางกลอย ขึ้นอันดับหนึ่งเทรนด์ทวิตเตอร์ในประเทศไทย ว่าน่าจะเกี่ยวข้องกับหลายเหตุการณ์ หลายประเด็น รวมถึง ..
- การจัดกิจกรรมชุมนุมเพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์บ้านบางกลอยในหลายจังหวัด เมื่อ 22 กุมภาพันธ์ 2564 ซึ่งเนื้อหาส่วนใหญ่ของการพูดคุยมีความวิตกกังวลต่อกระทำของเจ้าหน้าที่ที่ดำเนินการแก้ไขปัญหาดังกล่าว ที่ดูเหมือนเข้าลักษณะการละเมิดสิทธิมนุษยชน และเป็นการกระทำที่ไม่สอดคล้องกับการเจรจาต่อรองประเด็นปัญหาดังกล่าวในช่วงที่ผ่านมา
- ประเด็นความขัดแย้งเรื่องประวัติศาสตร์บ้านบางกลอย ที่ขัดแย้งต่อเนื่องยาวนานตั้งแต่ ปี 2554 ที่เจ้าหน้าที่ดำเนินการเผาที่อยู่อาศัย รุกไล่ที่กลุ่มชาติพันธุ์ ย้ายมาจัดสรรในพื้นที่ที่รัฐจัดให้ นำไปสู่คดีความต่อศาลปกครองกรณีข้อกล่าวหาการละเมิดสิทธิมนุษยชน
- กรณีการฆาตกรรม ปี 2554 นายทัศน์กมล ทัศน์กมล โอบอ้อ หรือที่รู้จักกันในพื้นที่แก่งกระจานเรียกว่า “อาจารย์ป็อด” ที่คลุกคลีอยู่กับชุมชนชาวกะเหรี่ยงในป่าแก่งกระจาน และเป็นผู้ให้ความช่วยเหลือในฐานะอาสาสมัครฟื้นฟูคุณภาพชีวิตกะเหรี่ยง ดำเนินการร้องเรียนเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานในกรณีดังกล่าว
- กรณีที่ยังหาข้อสรุปไม่ได้ตั้งแต่ปี 2557 จนถึงปัจจุบันของ “บิลลี่” หรือ “พอละจี รักจงเจริญ” นักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิมนุษยชนหายตัวไประหว่างการเดินทางออกจากหมู่บ้านโป่งลึก–บางกลอย
- ความไม่มั่นใจในการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่รัฐต่อกลุ่มคนดังกล่าว เพราะความซับซ้อนของปัญหาที่ยาวนานและความคืบหน้าของการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นนั้นดูเหมือนยังจะไม่มีวี่แววว่าจะหาข้อยุติที่สามารถไว้วางใจได้ทั้งต่อฝ่ายเจ้าหน้าที่รัฐเองและต่อชาวบ้านกะเหรี่ยงบางกลอย
- การขับเคลื่อนของภาคประชาชนและคนรุ่นใหม่ที่สนใจประเด็นปัญหาเรื่องสิทธิมนุษยชน ชาติพันธุ์ และสิ่งแวดล้อม ด้วยมองว่า กรณีปัญหานี้เป็นภาพสะท้อนความขัดแย้งที่ชัดเจนต่อแนวคิด “การอนุรักษ์ธรรมชาติ” ของรัฐไทย และ “วิถีชีวิตทางวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์” ในประเทศไทย ซึ่งต้องหาจุดสมดุลของการอยู่ร่วมกัน โดยนอกจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและชุมชนชาติพันธุ์แล้ว ยังคงต้องอาศัยความเห็นร่วมและแรงสนับสนุนจากทุกฝ่าย เพื่อให้เกิดทางออกของปัญหา “คนอยู่กับป่า” โดยอยู่บนฐานของการไม่ละเมิดสิทธิมนุษยชน ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และต้องส่งเสริมให้เกิดการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ