3 นักวิชาการสิ่งแวดล้อมที่ติดตามโครงการฟื้นฟูคลิตี้จากการปนเปื้อนตะกั่ว “กรรมการไตรภาคีภาคประชาชน” ประกาศค้านเดินหน้างานฟื้นฟูเฟส 2 ตราบที่ยังไม่สามารถอธิบายสาธารณะว่าผลสำเร็จเฟส 1 คืออะไร หลังทุ่มภาษีประชาชนไปกว่า 400 ล้าน เผยกรมควบคุมมลพิษ “มัดมือชก” ชุนชนไฟเขียวงานสู่เฟสถัดไปผ่านเวทีประชุมที่ปิดกั้นการมีส่วนร่วมจากนักวิชาการผู้มีหน้าที่ตรวจสอบ
นับเป็นปีที่ 4 ของโครงการฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมปนเปื้อนตะกั่วในหมู่บ้านกะเหรี่ยงคลิตี้ อ.ทองผาภูมิ จ.กาญจนบุรี โดย 11 ก.พ.ที่ผ่านมา บริษัท เบตเตอร์ เวิลด์ กรีน จำกัด (มหาชน) ว่าจ้างโดยกรมควบคุมมลพิษ ได้ปิดจ๊อปเฟส 1 ฝังกลบตะกอนปนเปื้อนตะกั่วทั้งหมด 97,230 ตัน อย่างไรก็ตาม 3 นักวิชาการที่ติดตามโครงการ (ผศ.ดร.ธนพล เพ็ญรัตน์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร , สมพร เพ็งค่ำ สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ ดร.สรณรัชฎ์ กาญจนะวณิชย์ มูลนิธิโลกสีเขียว) เผยนับเป็นการทำงานที่เน้น “ปริมาณ” มากกว่า “คุณภาพ” ไม่ได้บรรลุจุดประสงค์คืนลำห้วยสะอาดให้คนคลิตี้ตามคำพิพากษาศาลอย่างแท้จริง
“กรรมการไตรภาคีภาคประชาชนเชื่อว่าเป้าหมายที่แท้จริงของการฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้ไม่ใช่เพียงการตักตะกอนออกไปแล้วกี่ตัน ครบตามข้อตกลงที่กรมควบคุมมลพิษ กำหนดไว้หรือไม่ แต่คือการคืนความเป็นธรรมให้คนคลิตี้และประชาชนผู้เสียภาษีได้เห็นว่าเงินภาษีกว่า 400 ล้านบาทที่ใช้ฟื้นฟูลำห้วยนั้นช่วยให้เพื่อนมนุษย์ที่คลิตี้ได้ใช้ชีวิตปกติที่พึ่งพิงลำห้วยอย่างปลอดภัย” แถลงการณ์ระบุ เรียกร้องให้จัดประชุมสรุปผลโครงการฟื้นฟูอย่างโปร่งใสอีกครั้งก่อนเริ่มเฟส 2 โดยตั้งอยู่บนข้อเรียกร้อง 5 ประการ
โครงการเฟส 2 มีแผนดำเนินงานช่วงเมษายน – ธันวาคม 2564 หลังชุมชนทำประชาคม โดยจะนำหางแร่ตะกั่วบนบกใกล้โรงแต่งแร่เก่าไปฝังกลบเพื่อป้องกันไม่ให้รั่วไหลลงลำห้วย ด้วยงบประมาณ 180 ล้านบาท

รายงานข่าวชิ้นนี้เป็นส่วนหนึ่งของซีรี่ย์ “สี่สิบปี คลิตี้สีขุ่น” ชวนผู้อ่านฟื้นฟูความทรงจำคดีสิ่งแวดล้อมครั้งประวัติศาสตร์ ไปพร้อมกับช่วงเวลาฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้ ติดตามปัญหาการปนเปื้อนสารพิษที่ยังสืบเนื่องสู่ปัจจุบัน