ปัญหาขยะพลาสติกเป็นเรื่องใหญ่โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคโควิดที่การใช้ครั้งเดียวทิ้งกลายเป็น “นิวนอร์มอล” เพื่อรักษาสุขลักษณะ หากเราอยู่ในจุดที่ช่วยโลกโดยการ “ลดใช้” (reduce) ไม่ได้ หรือว่าการนำกลับมารีไซเคิลใช้ใหม่อาจเป็นคำตอบ?
ปัจจุบันเทคโนโลยีการรีไซเคิลมีความก้าวหน้ามากจนสามารถนำขวดพลาสติกชนิด PET (พลาสติกประเภท Polyethylene Terephthalate ที่มีลักษณะใสและเหนียว) ที่ใช้แล้วมาผ่านกระบวนการเพื่อผลิตเป็นบรรจุภัณฑ์สำหรับเครื่องดื่มและอาหาร เช่น ขวดพลาสติกรีไซเคิล (Recycled PET หรือเรียกสั้นๆ ว่า rPET) ได้อย่างปลอดภัย เพื่อลดการใช้พลาสติกผลิตใหม่ (virgin plastic) รวมถึงปริมาณพลาสติกใช้แล้วที่จะกลายเป็นขยะ
เทคโนโลยีนี้ไม่ใช่เรื่องไกลตัวที่มีแต่ในต่างประเทศเมื่ออินโดรามาเวนเจอร์สซึ่งมีฐานการผลิตอยู่ที่นครปฐมมีเทคโนโลยีพร้อมผลิตขวดพลาสติกรีไซเคิลที่สะอาดปลอดภัยและได้รับมาตรฐานจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาของสหรัฐอเมริกาและระเบียบคณะกรรมาธิการสหภาพยุโรปโดยนำขวดพลาสติกใช้แล้วเข้ากระบวนการคัดแยกเพื่อเอาสิ่งแปลกปลอมออกทำความสะอาดในอุณหภูมิสูงเพื่อกำจัดเชื้อโรคสิ่งปนเปื้อนก่อนจะสับเป็นเกล็ดพลาสติกและหลอมด้วยความร้อนถึง 285 องศาเซลเซียส
อย่างไรก็ตามวันนี้ความฝันที่จะใช้ขวดพลาสติกรีไซเคิลในไทยยังเจออุปสรรคคือข้อกฎหมายประกาศกระทรวงสาธารณสุขฉบับที่ 295 พ.ศ.2548 ข้อ 8 ระบุว่า
“ห้ามมิให้ใช้ภาชนะบรรจุที่ทำขึ้นจากพลาสติกที่ใช้แล้วบรรจุอาหาร เว้นแต่ใช้เพื่อบรรจุผลไม้ชนิดที่ไม่รับประทานเปลือก”
กฎหมายดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อคุ้มครองผู้บริโภคจากบรรจุภัณฑ์ที่อาจไม่ได้คุณภาพมาตรฐานความปลอดภัยแต่ส่งผลให้บรรจุภัณฑ์พลาสติกที่ต้องสัมผัสอาหารและเครื่องดื่มทั้งหมดในประเทศไทยต้องผลิตขึ้นจากพลาสติกผลิตใหม่ทั้งหมดมาโดยตลอดซึ่งเป็นการปิดโอกาสนำบรรจุภัณฑ์พลาสติกหลังการบริโภคมาใช้หมุนเวียนโดยไม่ต้องคอยเติมพลาสติกใหม่เข้าในระบบการผลิตอย่างต่อเนื่อง
เมื่อเทคโนโลยีพัฒนาก้าวหน้ามากขึ้นจนผลิตขวดจากพลาสติกรีไซเคิลที่สะอาดและปลอดภัยได้จึงเกิดคำถามว่า “ถึงเวลาปลดล็อกกฎหมายแล้วหรือยัง?”

“ประเทศไทยมีข้อได้เปรียบตรงที่มีโรงงานรีไซเคิลขวด PET และผู้ประกอบการที่พร้อมผลิตขวดพลาสติกรีไซเคิลเพื่อบรรจุอาหารได้ แต่ว่ายังติดข้อกฎหมาย จึงได้แต่ผลิตแล้วส่งออกนอกประเทศ ขณะเดียวกัน ประเทศเพื่อนบ้านเราอย่างฟิลิปปินส์ไม่มีโรงงานรีไซเคิลในประเทศเลยมีข้อจำกัดเรื่องวัตถุดิบ แต่เขาไม่มีกฎหมายห้ามใช้พลาสติกรีไซเคิลบรรจุอาหาร จะเห็นว่าเครื่องดื่มอย่างสไปรท์ในฟิลิปปินส์ส่วนหนึ่งเป็นขวดรีไซเคิล”
นันทิวัต ธรรมหทัย ผู้อำนวยการองค์กรสัมพันธ์ การสื่อสาร และความยั่งยืน บริษัทโคคา–โคล่า (ประเทศไทย) จำกัด เผยว่า โคคา–โคล่า ในฐานะผู้ผลิตเครื่องดื่มรายใหญ่ที่ผลิตขวดพลาสติกจำนวนมากในแต่ละปี พร้อมเปลี่ยนมาใช้ขวดพลาสติกรีไซเคิลบรรจุเครื่องดื่ม ตามวิสัยทัศน์ลดปัญหาจากขยะพลาสติกในระดับโลกของบริษัท หรือ ‘World Without Waste’ โดยมุ่งมั่นใช้บรรจุภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของวัสดุรีไซเคิลไม่น้อยกว่า 50% ให้ได้ก่อนปี 2573 ในขณะที่เราสามารถนำวัสดุรีไซเคิลจากกระป๋องอะลูมิเนียมและขวดแก้วมาผลิตบรรจุภัณฑ์สำหรับเครื่องดื่มและอาหารได้ หากติดที่ “ขวดพลาสติก” ซึ่งข้อกฎหมายยังไม่อนุญาต
ขณะนี้โคคา–โคล่าและอีกหลายธุรกิจกำลังเดินหน้าขอปลดล็อกกฎหมายตัวนี้ ด้วยเชื่อว่า การอนุญาตให้ใช้ขวด rPET ในไทยอาจเป็นอีกหนี่งทางในการร่วมเสริมความแข็งแกร่งในการจัดการขยะพลาสติกอย่างยั่งยืน สอดคล้องไปกับนโยบายส่งเสริมการจัดการขยะต่างๆ ที่รัฐบาลไทยตั้งไว้และแนวทางพัฒนาอย่างยั่งยืนของนานาประเทศทั่วโลก
ในโลกยุคโควิดการรีไซเคิลจะเป็นเรื่องยากขึ้นไหม?
“ผมคิดว่าโควิดทำให้เราเห็นว่าบรรจุภัณฑ์และผลิตภัณฑ์พลาสติกมีบทบาทสำคัญในเรื่องการรักษาความสะอาดและความปลอดภัย แต่แน่นอนโควิดทำให้เราจำเป็นต้องใช้พลาสติกมากยิ่งขึ้น ซึ่งยิ่งทำให้เราต้องหันมาส่งเสริมให้มีการรีไซเคิลพลาสติกชนิดต่างๆ ที่สามารถรีไซเคิลได้”