“ใช่เลย Climate Change แน่เลย…” เมื่อเพลงรณรงค์ซ่อนปัญหาอยู่ในสิ่งที่สื่อ

บทความโดย : Gainsira

วันนี้มีโอกาสโทรเข้าไปหา call center ของธนาคารกสิกรไทย แต่พอโทรเข้าไปแล้วก็ได้ฟังเพลงรอสายเพลง “Climate Change แย่เลย” ของพี่โต๋กับ Wonderframe ซึ่งจริงๆ ก็เคยได้ยินมาสักพักแล้วจากโครงการเรียนรู้รักษ์ป่าน่านของทางธนาคารกสิกร แต่ก็ไม่ได้คิดว่าจะจริงจังกับการโปรโมทถึงกับเอามาเป็นเพลงรอสาย call center ของธนาคารขนาดนี้ ในเมื่อธนาคารตั้งใจที่จะโปรโมทโครงการ ก็เลยอยากจะส่งความเห็นต่อเนื้อเพลงให้กับทางธนาคารและทีมงาน เพื่อที่จะได้ปรับปรุงเนื้อหาให้ดีขึ้นในอนาคต แน่นอนว่าโครงการสิ่งแวดล้อมหรือ CSR ต่างๆ นั้นมีประโยชน์กับสังคม แต่ในขณะเดียวกันถ้าโครงการนั้นทำ PR และมุ่งประเด็นไปในทางที่ไม่ถูกต้อง ก็อาจที่จะเกิดผลเสียมากกว่าผลดี

ในส่วนของ ผลกระทบจากโลกร้อน ที่เพลงสื่อทั้งเรื่อง ภัยแล้ง อากาศร้อน น้ำท่วม น้ำแข็งขั้วโลกละลาย ภัยพิบัติต่างๆ อันนี้คิดว่าไม่มีปัญหาเท่าไร เพราะเราสามารถพูดรวมๆ แบบนี้ได้ แม้ว่านักวิชาการที่เคร่งๆ บางคนมาอ่านอาจจะคอมเม้นในเรื่องของ natural variability (เหตุการณ์ที่มันเป็นวัฏจักรและความหลากหลายตามธรรมชาติอยู่แล้ว) กับ anthropogenic climate change (สิ่งที่มนุษย์เป็นต้นเหตุที่ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงนั่นเอง) เพราะไม่ใช่ทุกเหตุการณ์ที่จะมีงานวิจัยพิสูจน์ว่าเกิดจาก climate change และบางเหตุการณ์ก็เกิดเป็นรอบปกติตามธรรมชาติ แต่ก็แน่นอนว่าถึงจะไม่มีข้อพิสูจน์ก็ไม่ได้หมายความว่ามันไม่มีอยู่จริง หลายงานวิจัยก็พิสูจน์ไว้แล้วว่า climate change เป็นต้นเหตุของเหตุการณ์ภัยพิบัติต่างๆ มากมาย

มาถึงประเด็นที่ตั้งใจจะมาคอมเม้นกันดีกว่า ก็คือในเรื่องของ วิธีการแก้ปัญหา หรือ climate action ถ้าตามเนื้อเพลงก็จะสรุปได้เป็นข้อๆ ดังนี้

  • มาฟื้นฟูป่าไม้ ให้โลกมีแหล่งน้ำ ถ้าหากว่าพวกเราช่วยกันทุกคน เยี่ยมเลย
  • ป่ายิ่งเพิ่มมากมาย คาร์บอนไดออกไซด์ยิ่งลดลง เยี่ยมเลย
  • ประหยัดพลังงานลดพลาสติกอีกนิด
  • ช่วย ช่วยกันปลูกป่า ปลูกต้นไม้
  • แก้ที่สาเหตุหลัก ป่าดูดซึมคาร์บอนไดออกไซด์
รายงานสถานการณ์ป่าไม้ไทย ประจำปี 2562–2563 // ขอบคุณภาพ: มูลนิธิสืบนาคะเสถียร

กราฟนี้คือสถิติปริมาณพื้นที่ป่าไม้ของไทย ถ้าสังเกตดีๆ ตั้งแต่ช่วงปี 2545 เป็นต้นมาพื้นที่ป่าไม้ของประเทศไทยแทบจะไม่เพิ่มขึ้นหรือลดลงเลย เปอร์เซ็นต์การเปลี่ยนแปลงนั้นน้อยมาก นั่นหมายความว่าอะไร? ก็หมายความว่าที่รณรงค์ให้ทุกคนปลูกป่ากันมาเป็นสิบๆ ปี มันไม่ได้มีผลอะไรเลยในระดับประเทศ แล้วถามว่ามารณรงค์ปลูกป่าวันนี้ เราจะมีพื้นที่ป่าเพิ่มขึ้นไหม – แทบจะเป็นไปไม่ได้ เราต้องมาดูปัญหาจริงๆ ว่าเราเสียพื้นที่ป่าจากอะไร อุปสงค์มาจากไหน และอะไรทำให้เกิดการบุกรุกป่า การรณรงค์ให้ทุกคนไปปลูกป่าจึงเป็นสิ่งที่ไม่มีประโยชน์หรือมีก็น้อยมาก ในระดับท้องถิ่น คำถามที่ตามมาจากการรณรงค์ให้ทุกคนปลูกป่าคือปลูกที่ไหน ปลูกอะไร และปลูกยังไง ซึ่งคำตอบเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องง่ายและแตกต่างกันไปตามท้องถิ่น ส่วนใหญ่โครงการปลูกป่าสำหรับคนเมืองในอดีตก็เป็นแค่โครงการ CSR ที่ไม่ได้สนใจสภาพแวดล้อมของป่านั้นๆ ด้วยซ้ำ หรือเรียกง่ายๆ ก็คือสักแต่ว่าปลูก ดังนั้นการบอกให้ทุกคนปลูกป่าเพื่อแก้ปัญหา climate change จึงไม่ใช่สิ่งที่ทำได้จริง ไม่มีประโยชน์ และไม่ใช่คำตอบสำหรับประเทศไทย

“ปิดไฟ อย่าใช้พลังงานสิ้นเปลือง” การประหยัดพลังงาน เป็นการรณรงค์สุดคลาสสิคที่ทำกันมาทั้งโลกหลายสิบปี ถามว่ามีประโยชน์ไหม – มี แต่ถามว่าแก้โลกร้อนได้ไหม ก็ต้องตอบเลยว่า – ไม่ได้ เพราะปริมาณพลังงานไฟฟ้าที่เราใช้ในระดับครัวเรือนนั้นน้อยมากเมื่อเทียบกับภาคธุรกิจและอุตสาหกรรม และถามว่าภาคธุรกิจเองเขาพยายามจะประหยัดไหม แน่นอนเขาก็อยากประหยัดอยู่แล้วเพราะอยากที่จะลดต้นทุน สิ่งที่น่าจะมีประสิทธิภาพมากกว่าคือการเน้นไปที่นโยบายส่งเสริมการประหยัดพลังงานในภาคธุรกิจ หรือการสนับสนุนภาคอุตสาหกรรมให้เปลี่ยนไปใช้พลังงานทางเลือกหรือพลังงานสะอาดโดยใช้กลไกราคาพลังงานของตลาด

1.) สถานการณ์การใช้น้ำมันและไฟฟ้า ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2563, สนพ. 2.) การปล่อยก๊าซ CO2 จากการใช้พลังงานแยกรายภาคเศรษฐกิจ // ขอบคุณภาพ: สนพ.

มาถึงเรื่อง การลดพลาสติก ช่วง 2–3 ปีที่ผ่านมาไทยมีการรณรงค์เรื่องนี้ค่อนข้างมาก แต่ต้องถามว่าสิ่งที่ทำให้เกิดจุดเปลี่ยนจริงๆ คือทุกคนหันมาใช้พลาสติกน้อยลงเพราะตระหนักถึงความสำคัญ หรือว่าเป็นเพราะนโยบายกลไกการเก็บเงินค่าถุงพลาสติก ทุกคนน่าจะรู้ว่าแค่ต้องจ่ายเพิ่ม 1–2 บาทเป็นค่าถุงพลาสติก ก็ไม่มีใครอยากจ่ายแล้ว และเมื่อภาครัฐจริงจังมากขึ้น บังคับใช้กฎหมายมากขึ้น ปริมาณการใช้ถุงพลาสติกในไทยนั้นก็ลดลงไปมหาศาล ถ้าใครตามข่าวก็คงจะเห็นผลที่เกิดตามมา เช่น ข่าว 400โรงงานดิ้นขอรัฐเยียวยา โรงงานถุงพลาสติกเจ๊งยังไงละ รัฐก็ต้อง หาจุดสมดุลระหว่างจะช่วยภาคธุรกิจหรือจะช่วยสิ่งแวดล้อม แต่การจะมาบอกให้ชาวบ้านแบบเราช่วยลดใช้ถุงพลาสติกช่วยโลกร้อน อันนี้ก็คงตอบได้เลยว่าไม่ได้ช่วยอะไรมาก ประโยชน์ของการลดใช้ถุงพลาสติกจริงๆ แล้วช่วยในเรื่องของสิ่งแวดล้อมมากกว่าทั้งบนดินและมหาสมุทร รวมไปถึงอาหารที่เรากินและคุณภาพอากาศที่เราหายใจ

แต่หลายคนอาจไม่รู้เลยว่าสิ่งหนึ่งที่พลาสติกกับโลกร้อนมีจุดยืนรวมกันก็คือ อุตสาหกรรมปิโตรเลียมเป็นผู้ได้รับผลประโยชน์ ในขณะที่คนอื่นทั้งโลกเสียประโยชน์ นั้นเอง เพราะวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตถุงพลาสติกก็คือน้ำมันดิบนั้นเอง และในยุคที่บริษัทน้ำมันกำลังล่มจม บริษัทน้ำมันเหล่านี้เองก็เร่ง ผลิตพลาสติกออกมาให้ได้มากที่สุดและไวที่สุดเท่าที่จะทำได้เพื่อที่จะชดเชยกำไรที่ลดลงจากการขายน้ำมัน ถ้าใครสนใจสามารถอ่านบทความเพิ่มเติมได้ Big Oil Is in Trouble. Its Plan: Flood Africa With Plastic.

หลายคนอาจจะบอกว่าก็แค่นี้ก็ดีแล้วนิ แน่นอนว่าเราจะใส่รายละเอียดเยอะๆ ไปในเพลงก็คงไม่ได้ แต่ถ้าเราลองไปดูเนื้อหาเต็มๆ ของทางโครงการเรียนรู้รักษ์ป่าน่านในหน้า วิธีรับมือและแก้ปัญหา รวมถึงฟังเพลงรณรงค์ลดโลกร้อนอื่นๆ ในแคมเปญ เช่น ไม่มีผู้วิเศษ — BILLbilly01 X Alyn เราก็จะพบว่าเนื้อหาไม่ได้ต่างกันเลย

ในหน้าขององค์กรบอกให้เปลี่ยนใช้พลังงานสะอาด ใช้กระดาษสองหน้า ในหน้าของระดับบุคคลบอกให้ประหยัดพลังงาน ประหยัดน้ำมัน ลดใช้พลาสติก เพิ่มพื้นที่สีเขียว ซึ่งสิ่งเหล่านี้เองสังคมเราถูกปลูกฝังมาเป็นสิบๆ ปี ไม่ใช่ว่ามันไม่มีประโยชน์ที่จะทำ แต่มันไม่ได้แก้ปัญหาของ Climate Change จริงๆ ต่างหาก

ปริมาณการปล่อย Greenhouse Gas ตาม sector ของประเทศไทย //ขอบคุณภาพ: unfccc

ถ้าเราไปดูปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของไทยเราจะเห็นได้ว่าภาคพลังงานเป็นภาคส่วนที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Greenhouse gas : GHG) ออกมามากที่สุดและมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ดังนั้นถ้าเราจะช่วยโลกจริงๆ เราก็ต้องแก้กันที่ภาคพลังงานของไทย จะทำอย่างไรให้เราลดการปล่อย GHG ลงได้ในขณะที่เรายังคงมีความสามารถที่จะมีพลังงานใช้ในประเทศได้อย่างมั่นคง

สถานการณ์GHG emission 2562
การปล่อยก๊าซ CO2 จากการใช้พลังงานแยกรายชนิดเชื้อเพลิง, สถานการณ์การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากภาคพลังงานรายปี 2562 //ขอบคุณภาพ: สนพ.

พอไปลองเจาะดูปริมาณคาร์บอนที่ไทยเราปล่อยออกมาตามเชื้อเพลิง เราก็จะเห็นได้ว่าส่วนใหญ่มาจาก น้ำมันสำเร็จรูป, ก๊าซธรรมชาติ, และถ่านหิน/ลิกไนต์ เป็นหลัก ดังนั้นถ้าเราจะลดการปล่อย GHG ในภาคพลังงานเราก็ต้องลดพลังงานที่มาจากเชื้อเพลิงเหล่านี้ และเพิ่มการใช้พลังงานทางเลือก/พลังงานสะอาดมากขึ้น

แน่นอนว่าต้องมีคนบอกว่าประเทศเราไม่มีตังค์ เราก็ต้องใช้อะไรที่มันคุ้มค่าและเราซื้อได้ในราคาถูก ความจริงคือถ้าเราไปดูแผนพลังงานของไทย (PDP) ย้อนหลังเราจะเห็นเลยว่าเราลดเป้าหมายการใช้พลังงานจากถ่านหินลงไปเยอะมาก เมื่อเทียบกับอดีต นอกจากนั้น เรามีการปรับแผนบ่อยมาก ในอดีตที่บอกกันว่าเราต้องใช้ถ่านหินเพราะพลังงานทางเลือกแพงเกินไป มาดูทุกวันนี้ก็พิสูจน์แล้วว่ามันไม่จริง เพราะพลังงานทางเลือก เช่น โซลาร์ ลม ถูกลงไปหลายสิบเท่า นั้นหมายความว่าที่เราคาดการกันมามันผิดยังไงละ จริงๆ แล้วเราใช้พลังงานทางเลือกได้มากกว่านี้ และเราก็ควรจะทำให้ไวกว่านี้ด้วย

ในต่างประเทศเองก็มีหลายที่ที่เลิกใช้โรงไฟฟ้าถ่านหินก่อนกำหนดและหันไปใช้พลังงานสะอาดแทนด้วยซ้ำ เพราะเขาประเมินแล้วว่าอนาคตมันจะกลายเป็นทรัพย์สินที่ไม่มีค่า (stranded assets) หรือทำไปก็ไม่คุ้มทุนขนาดที่ว่าธนาคารที่ลงทุนโครงการไม่ยอมปล่อยสินเชื่อให้ด้วยซ้ำเพราะเขาเห็นถึงความเสี่ยง Asian banks joining trend away from coal

  1. ปรับโครงสร้างพลังงานของเรา ให้หันไปใช้พลังงานหมุนเวียนมากขึ้น ไวขึ้น และมีแผนที่ชัดเจน ลงทุนด้านงานวิจัย R&D และส่งเสริมโครงสร้างภาษีให้เอกชนปรับตัวไปใช้พลังงานทางเลือกได้ไวมากขึ้น
  2. ลดการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลทั้งหมดโดยการเปลี่ยนผ่านไปสู่ไฟฟ้าแทน (electrification) อันนี้เราสามารถทำได้ทุกภาคส่วนทั้งขนส่ง พลังงาน ครัวเรือน อุตสาหกรรม การที่เราเปลี่ยนมาเป็นไฟฟ้าแทนจะสามารถลดการปล่อย GHG ได้อย่างมหาศาล และทำให้มีประสิทธิภาพทางพลังงาน (Energy efficiency) เพิ่มมากขึ้นด้วย แน่นอนว่าราคามันไม่ถูก แต่ในระยะยาวแล้วมันคืนทุนอย่างแน่นอน และก็เป็นสิ่งที่เราหลีกเลี่ยงไม่ได้อยู่แล้ว
  3. บังคับให้ภาคเอกชนรายงานปริมาณการปล่อย GHG (GHG Reporting) ถ้าการปล่อยคาร์บอนทำให้โลกร้อน แล้วทำไมบริษัทที่ปล่อยคาร์บอนออกมาเยอะๆ ถึงไม่ต้องจ่ายค่าเสียหายให้กับทรัพยากรที่ใช้? ทุกวันนี้เราไม่รู้เลยว่าใครปล่อยออกมามากน้อยเท่าไหร่และต้องลดที่ตรงไหน องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (อมก.) เองก็มีแผนที่จะให้บริษัทรายงาน GHG ด้วยความ “สมัครใจ” แต่แน่นอนว่าถ้าเราจะแก้ปัญหาโลกร้อนจริงๆ แค่สมัครใจยังไงก็ไม่พอ ในส่วนของแบงค์ชาติเองก็ควรจะบังคับให้บริษัทเอกชนรายงานสถานะทางการเงินและความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับสภาพภูมิอากาศ (Climate-Related Financial Disclosures) กับผู้ถือหุ้นตามกรอบของ TCFD ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ภาคเอกชนร่วมกันจัดตั้งขึ้นเพื่อเพิ่มความโปร่งใสและลดความเสี่ยงจากโลกร้อนต่อความมั่นคงของเศรษฐกิจและธนาคารกลางของหลายๆ ประเทศก็ได้ประกาศแผนที่จะเริ่มบังคับใช้แล้ว เช่น ญี่ปุ่น ฮ่องกง อังกฤษ นิวซีแลนด์
  1. เรียกร้องและกดดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในระดับโครงสร้างและนโยบาย (System change) ตั้งแต่เลือกตั้งจนไปถึงการผลักดันนโยบายและติดตามการทำงานต่างๆ ของรัฐบาล นี้คือสิ่งสำคัญที่สุดที่เราจะสามารถทำได้เพื่อลดโลกร้อน เพราะสิ่งต่างๆ ที่เราทำในระดับบุคคลมันแทบจะไม่มีค่าอะไรเลยถ้าเราไม่เปลี่ยนโครงสร้างพลังงาน เศรษฐกิจ และกฎหมาย การกดดันในที่นี้ไม่ใช่แค่สำหรับรัฐบาล แต่ยังรวมถึงบริษัทเอกชน ธนาคาร กองทุน ข้าวของเครื่องใช้ แบรนด์ต่างๆ ทุกอย่างเรารวมพลังกันกดดันได้ มีตัวอย่างที่ประสบความสำเร็จให้เห็นมากมาย
  2. ติดตามโครงการขนาดใหญ่ที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมท้องถิ่นในต่างจังหวัดหรือประเทศเพื่อนบ้าน ชาวบ้านบางที่ต่อสู้คัดค้านโรงไฟฟ้าถ่านหินมาเป็นสิบๆ ปี ซึ่งโครงการแบบนี้นอกจากจะมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมท้องถิ่นแล้ว ก็ยังปล่อยคาร์บอนออกมามหาศาล เราต้องเลิกเป็นคนเมืองที่ถามคำถามว่าจะเลือกอะไรระหว่างสิ่งแวดล้อมกับความเจริญ และศึกษาทำความเข้าใจถึงต้นตอ สาเหตุ ผลกระทบ และวิธีการแก้ไขปัญหาของรัฐ สิ่งแวดล้อมและความเจริญไปควบคู่กันได้ และถ้าเราเลือกแค่อย่างใดอย่างหนึ่งเราเองนั้นแหละที่จะต้องเป็นคนจ่ายค่าเสียหายให้กับระเบิดเวลาในอนาคต

    สมัยนี้คงจะพูดว่า “ที่ไหนก็ได้ ขอแค่ไม่ใช่หลังบ้านฉันก็พอ” (Anywhere but not in my backyard) ไม่ได้อีกต่อไป เพราะปัญหาโลกร้อนมันเชื่อมโยงกับเราทุกคน ตัวอย่างที่เห็นง่ายๆ เช่น ปัญหา PM2.5 ที่คนกรุงก็โดนไปเต็มๆ ไม่ว่าต้นเหตุจะอยู่ห่างออกไปไกลแค่ไหนก็ตาม

  3. ศึกษาและเรียนรู้ผลกระทบที่เกิดจากตัวเรา (Carbon footprint) ก่อนอื่นเราต้องเข้าใจว่าสิ่งของเครื่องใช้และทรัพยากรต่างๆ มันมีต้นทุนของมัน และการที่เราใช้ชีวิตประจำวันของเรามันก็มีผลกระทบกับสิ่งแวดล้อมทั้งนั้น แต่เราเป็นคนเลือกได้ว่าเราจะทำลายสิ่งแวดล้อมมากน้อยขนาดไหน หลายๆ อย่างทุกวันนี้เราไม่ได้จ่ายในราคาที่เป็นต้นทุนของมันจริงๆ และก็ทำให้เกิดผลกระทบภายนอกทางลบ (Negative externality) กับสิ่งแวดล้อมมากมายที่เรามองไม่เห็น ไม่ช้าก็เร็วต้นทุนเหล่านี้ก็จะเพิ่มขึ้นและมารวมอยู่ในราคาที่เราต้องจ่ายในท้ายที่สุด ถ้าเราใส่ใจเรื่องโลกร้อนจริงๆ เราก็ต้องเริ่มเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นการลด food waste, ลดการกินเนื้อ เพิ่มปริมาณ plant-based diets, ใช้ขนส่งสาธารณะ หรือแม้กระทั่งจ่ายเงินชดเชยคาร์บอนที่เราปล่อย (Carbon offset) ทุกอย่างนี้เป็นเป็นสิ่งที่เราทำได้โดยไม่ต้องรอคนอื่น
  4. ศึกษาวิธีการลด GHG เพิ่มเติมจากโปรเจค Drawdown ที่ได้รวบรวมวิธีการลดโลกร้อน และคำนวนออกมาเป็นตัวเลขไว้หมดแล้ว (มีขายเป็นหนังสือด้วย) ซึ่งหลายๆ อย่างเราก็ต้องมาปรับใช้กับบริบทของประเทศไทย และเน้นที่ที่เป้าหมายใหญ่ๆ ที่จะทำให้เราสามารถลด GHG ของประเทศได้มากที่สุด แต่ไอเดียจากโปรเจคนี้ก็จะทำให้เราเห็นภาพได้เลยว่าเราจะสามารถลด GHG ของแต่ละภาคส่วนได้อย่างไรบ้าง และมันช่วยได้มากน้อยขนาดไหน
  5. พูดเกี่ยวกับ climate change คุยกับเพื่อน คุยกับพ่อแม่ คุยกับเพื่อนร่วมงาน คุยกับหัวหน้าที่ทำงาน แลกเปลี่ยนความรู้ ความคิดเห็น จริงๆแล้วอาจจะมีคนที่คิดแบบเดียวกับเราและสนใจเรื่องเดียวกันกับเรามากกว่าที่เราคิดก็ได้ พอเรามีหลายคนช่วยกันคิดช่วยกันแก้ ทำอะไรให้หลายๆ อย่างมันดีขึ้น ปัญหามันก็อาจจะไม่ได้ยากอย่างที่คิด และเราก็สามารถทำให้มันเกิดเปลี่ยนแปลงได้ไวขึ้นด้วย

เพราะฉะนั้นเวลาที่เราพูดถึงปัญหาโลกร้อน เลิกคิดเถอะครับว่าเราจะเป็นประเทศที่ทำเพื่อส่วนรวมเพื่อน้ำแข็งขั้วโลกหรือหมีอลาสก้า แต่ให้คิดว่าเราจะอยู่รอดและปรับตัวยังไงกับอนาคตที่ประเทศของเราจะเผชิญกับปัญหามากมายจาก climate change ถ้าวันนี้เรายังไม่เริ่มพูดถึงแผนรับมือ อีกสิบปีข้างหน้าก็คงจะไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง

สำนักข่าวสิ่งแวดล้อมเปิดพื้นที่ส่วน “บทวิเคราะห์และความคิดเห็น” สำหรับแสดงทัศนะทางสิ่งแวดล้อมอย่างกว้างขวาง โดยความเห็นผู้เขียนไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ ส่งผลงานได้ที่ greennews.editorial.team@gmail.com