“เหมือนเอางบละลายแม่น้ำ” ย้อนฟังเสียงคงสิทธิ์ กลีบบัว กรณีฟื้นฟูคลิตี้ ก่อนถูกยิงเสียชีวิต

29 ธันวาคม พ.ศ.2563 เกิดเหตุฆาตกรรม คงสิทธิ์ กลีบบัว ชาวบ้านคลิตี้บน ตำบลชะแล อำเภอทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรี บุตรชายของนายคงศักดิ์ กลีบบัว กรรมการผู้จัดการบริษัทตะกั่วคอนเซนต์เตรส ประเทศไทย จำกัด ซึ่งทำธุรกิจเหมืองและโรงแต่งแร่ อันเป็นสาเหตุการปนเปื้อนลำห้วยคลิตี้ที่มีการดำเนินการฟื้นฟูต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน

พันตำรวจเอก บุญส่งวิทย์ ห้องแซง ผู้กำกับการสืบสวน 3 กองบังคับการสืบสวนสอบสวนตำรวจภูธรภาค 7 เผยว่า การฆาตกรรมดังกล่าวมีมูลเหตุจากการทะเลาะเบาะแว้ง บุคคลที่ก่อเหตุคือ นครินทร์ ตันติวาณิช บุตรชายผู้ใหญ่บ้านคลิตี้ ทางสำนักงานตำรวจภูธรทองผาภูมิจึงจะออกหมายจับโดยเร็วที่สุด

คงสิทธิ์ กลีบบัว ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนเมื่อกรรมาธิการการมีส่วนร่วมฯ เข้าพื้นที่

คงสิทธิ์ เป็นหนึ่งในผู้ที่แสดงความเห็นคัดค้านโครงการฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้จากการปนเปื้อนสารตะกั่ว ซึ่งปัจจุบันกำลังเข้าสู่ช่วงสิ้นสุดเฟส 1 และเริ่มต้นเฟส 2 ดำเนินการฟื้นฟูโดยบริษัท เบตเตอร์ เวิลด์ กรีน จำกัด (มหาชน) กำกับโดย กรมควบคุมมลพิษ 

คงสิทธิ์เป็น 1 ในเจ้าของที่ดิน 50 ราย ที่คัดค้านไม่ให้มีการขุดตะกอนดินริมห้วยซึ่งทางผู้ดำเนินโครงการให้เหตุผลว่าปนเปื้อนตะกั่วสูง โดยเขาเชื่อว่าเป็นวิธีการฟื้นฟูที่ไม่เหมาะสมและทำให้ชาวบ้านที่ทำเกษตรต้องสูญเสียที่ดินทำกิน นอกจากนี้ยังก่อให้เกิดผลกระทบหลายอย่าง เช่น รถขนตะกอนก่อให้เกิดฝุ่นกระทบชุมชน

แม้ว่าคงสิทธิ์ จะเป็นบุตรชายอดีตเจ้าของเหมือง จำเลยในคดีที่ชาวบ้านฟ้องบริษัทฯ เจ้าของเหมืองฐานทำให้ตะกั่วปนเปื้อนสิ่งแวดล้อม ทว่าเขาเคยให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวตอนปลายเดือนพฤศจิกายน 2563 ว่า ตนเป็นลูกนอกสมรสที่ไม่ได้มีส่วนร่วมกับธุรกิจเหมือง โดยเขาได้กลับมาอยู่และทำไร่ที่คลิตี้บนช่วงปี 2550 และไม่มีปัญหาอะไรกับคนในชุมชน แม้จะเป็นสมาชิกครอบครัวทำเหมืองก็ตาม

ก่อนหน้านี้ คงสิทธิ์ เคยเปิดเผยว่า ตนรู้สึกค่อนข้างอัดอั้นเกี่ยวกับสถานการณ์ฟื้นฟูลำห้วย หากมีโอกาส เขาจะเข้าร่วมประชุมไตรภาคีประจำเดือน ซึ่งเป็นพื้นที่ให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็นกับการฟื้นฟู ซึ่งครั้งล่าสุดจัดขึ้นเมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2563 

“ผมไม่อยากให้ฟื้นฟูเพิ่ม ผมว่ามันเสียประโยชน์ เปลืองเงินเปล่าๆ  เหมือนเอางบไปละลายแม่น้ำ ผมได้คุยกับน้องๆ ในพื้นที่ซึ่งรับจ้างดูดตะกั่ว สิ่งที่ดูดขึ้นมาก็มีแต่หินทรายและใบไม้ ไม่ใช่ตะกอน แล้วอะไรกันที่คุณบอกว่าดูดตะกอนกำจัดตะกั่ว”

โครงการฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้ เริ่มต้นเมื่อปลายปี 2560 โดยมีกำหนดดำเนินงาน 1,000 วัน ภารกิจหลักคือดูดตะกอน 40,000 ตัน ที่ปนเปื้อนหางแร่ตะกั่วจากกิจกรรมโรงแต่งแร่เมื่อ 20 ปีก่อนออกจากลำห้วยเพื่อฟื้นฟูคุณภาพน้ำ ด้วยงบประมาณ 454 ล้านบาท ทว่าทางบริษัทฯ ได้ให้เหตุผลว่าด้วยสถานการณ์โควิด-19 ที่เกิดขึ้น ทำให้ปฏิบัติงานในพื้นที่ไม่ได้ พร้อมกับพบอุปสรรคไม่คาดคิดต่างๆ จึงขอต่อเวลาโครงการเฟส 1 มาจนถึงปัจจุบัน

ภาพถ่ายบ่อสำหรับตกตะกอนและถุงดูดตะกอนไม่ได้มาตราฐาน ซึ่งชุมชนจัดแสดง ณ ที่ประชุม ตอนกรรมาธิการการมีส่วนร่วมฯ เข้าพื้นที่ตรวจสอบ พฤศจิกายน 63
บ่อสำหรับตกตะกอนบริเวณใกล้น้ำตกธิดาดอย ซึ่งคนในพื้นที่ตั้งข้อสังเกตว่าเพิ่งสร้างใหม่ไม่นานก่อนกรรมาธิการการมีส่วนร่วมฯ เข้าพื้นที่ตรวจสอบ พฤศจิกายน 63

โครงการฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้ยังเป็นที่ตั้งคำถามถึงการมีส่วนร่วมของคนในชุมชน เป็นเหตุให้วันที่ 30 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา “คณะกรรมาธิการการพัฒนาการเมือง การสื่อสารมวลชน และการมีส่วนร่วมของประชาชน” ประจำสภาผู้แทนราษฎร เข้าพื้นที่เพื่อตรวจสอบข้อร้องเรียนและได้เชิญตัวแทนจากหลากหลายฝ่ายมาประชุมหาทางออกร่วมกัน เช่น บริษัทฯ ผู้รับจ้างฟื้นฟู กรมควบคุมมลพิษ กรมป่าไม้ นักวิชาการ ชาวบ้านฯลฯ คงสิทธิ์ให้ความเห็นว่า

“เรายอมรับว่าชาวบ้านคลิตี้เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีปัญหาเรื่องภาษาและความรู้แต่บริษัทฯ ประชาสัมพันธ์น้อย และ TOR จะบอกโปร่งใสก็ไม่เชิง ไม่โปร่งใสก็ไม่ใช่ ทุกครั้งที่มีการประชุม ชาวบ้านอาจจะไม่รู้ว่าประชุมวันไหน รู้กระชั้นชิด ผมเองก็รู้สึกเบื่อหน่าย โดนสกัดบ้าง ไม่ทราบวันบ้าง การประชุมยังเป็นการประชุมให้พวกกันเองดู  ลักษณะเหมือนการนำเสนองาน ชาวบ้านมีส่วนแสดงความเห็นน้อยมาก มีแต่เจ้าหน้าที่จากกรมควบคุมมลพิษ บริษัทฯ คณะกรรมการไตรภาคี และชาวบ้านไม่กี่คน”

ปัจจุบัน โครงการฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้ กำลังเดินหน้าเข้าสู่เฟส 2 ด้วยงบประมาณ 217 ล้านบาท

ปัญหา “สายน้ำติดเชื้อ” ชุมชนคลิตี้ปนเปื้อนสารตะกั่วเกิดขึ้นมานานกว่า 40 ปีแล้ว ย้อนกลับไปเมื่อปี 2518 ชาวบ้านสังเกตพบว่าโรงแต่งแร่ บริษัทตะกั่วคอนเซนเตรทส์ (ประเทศไทย) ปล่อยน้ำเสียและทิ้งหางแร่ที่มีสารตะกั่วในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง ชาวบ้านจึงได้ยื่นฟ้องศาล ที่สุดผลพิพากษาให้กรมควบคุมมลพิษดำเนินการฟื้นฟูแทนบริษัทตะกั่วฯ ที่เพิกเฉย ทางหน่วยงานรัฐจึงได้ว่าจ้างบริษัท เบตเตอร์ เวิลด์ กรีน จำกัด (มหาชน) ให้เริ่มดำเนินการฟื้นฟูเมื่อปลายปี 2560

รายงานข่าวชิ้นนี้เป็นส่วนหนึ่งของซีรี่ย์สี่สิบปี คลิตี้สีขุ่นชวนผู้อ่านฟื้นฟูความทรงจำคดีสิ่งแวดล้อมครั้งประวัติศาสตร์ ไปพร้อมกับช่วงเวลาฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้ ติดตามปัญหาการปนเปื้อนสารพิษที่ยังสืบเนื่องสู่ปัจจุบัน