ไทยเดินหน้ายื่นแก่งกระจานขึ้นเป็นมรดกโลกครั้งที่ 4 กลางปีหน้า ประวิตรเผยชื่นชมความร่วมมือหน่วยงานต่างๆ ด้านชาวกะเหรี่ยงในพื้นที่กังวล ซ้ำเติมความทุกข์ปู่คออี้และบิลลี่ แถลงคัดค้านการขึ้นเป็นมรดกโลกจนกว่าจะแก้ปัญหาที่ทำกินและสิทธิมนุษยชนได้อย่างแท้จริง
17 ธันวาคม พ.ศ.2563 พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยอนุสัญญาคุ้มครองมรดกโลกครั้งที่ 2/2563 ณ กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม โดยสำนักข่าว NationTV เผยว่า พลเอกประวิตร กล่าวชื่นชมการดำเนินการร่วมกันของหน่วยงานต่างๆ เพื่อผลักดันพื้นที่กลุ่มป่าแก่งกระจานให้ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกทางธรรมชาติ แห่งที่ 3 ของไทย ซึ่งจะพิจารณาผลในการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกที่ประเทศจีนกลางปีหน้า
“คณะรัฐมนตรีเล็งเห็นถึงความสำคัญในการผลักดันนี้ เพราะนอกจากจะเป็นการสร้างความภาคภูมิใจ ความรัก และความหวงแหนต่อแหล่งมรดกโลกของท้องถิ่นแล้วยังทำให้เป็นที่สนใจในฐานะแหล่งท่องเที่ยว และสร้างแรงจูงใจกับกระตุ้นเศรษฐกิจชุมชนท้องถิ่นในช่วงที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19” รองนายกฯ กล่าว
กลุ่มป่าแก่งกระจานมีพื้นที่กว่า 2 ล้าน 9 แสนไร่ ประกอบไปด้วย 4 เขตอนุรักษ์ในภาคตะวันตกของไทย ได้แก่ อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน อุทยานแห่งชาติกุยบุรี อุทยานเฉลิมพระเกียรติไทยประจัน และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแม่น้ำภาชี ครอบคลุม 3 จังหวัด (เพชรบุรี ราชบุรี ประจวบคีรีขันธ์)
เมื่อปีพ.ศ.2554 กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช ได้เริ่มเดินเรื่องขอขึ้นทะเบียนกลุ่มป่าแก่งกระจานเป็นมรดกโลก ตามเกณฑ์ข้อ 10 ที่ระบุว่าเป็นถิ่นที่อยู่อาศัยของชนิดสัตว์และพันธุ์พืชหายาก
ทว่าช่วงปีเดียวกันนั้น เป็นเวลาเดียวกับกรณีของ “ปู่คออี้” ผู้เฒ่าชาวกะเหรี่ยงและชาวบ้านที่อยู่อาศัยในพื้นที่ซึ่งประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานต้องอพยพและเผชิญการไล่รื้อเผาบ้าน โดยเจ้าหน้าที่อุทยาน ให้ย้ายลงมาอยู่ในบริเวณบางกลอยล่างในปัจจุบัน เป็นเหตุให้การขึ้นกลุ่มป่าแก่งกระจานเป็นมรดกโลกถูกตั้งคำถามเรื่อยมาถึงเรื่องความขัดแย้งในพื้นที่แล้วเลื่อนการพิจารณาให้ผ่านเป็นมรดกโลก
ล่าสุด คณะกรรมการมรดกโลกมีมติให้เวลาไทย 3 ปีกลับไปตรวจสอบข้อกังวลเกี่ยวกับการอพยพชาวกะเหรี่ยงและปัญหาที่ดินทำกิน รวมถึงเปิดให้ประชาชนมีส่วนร่วมในกระบวนการขึ้นเป็นมรดกโลกมากขึ้น ทว่าเมื่อเส้นทางสู่มรดกโลกเดินทางมาถึงโค้งสุดท้าย กลับยังเต็มไปด้วยคำถามและคำร้องเรียนมากมาย

“บางกลอยยังมี 50-60 บ้านที่ยังเจอปัญหาเรื่องไม่มีที่ดินทำกิน ก่อนที่จะประกาศมรดกโลก ควรจะจัดการเรื่องที่อยู่อาศัยกับพื้นที่ทำกินเสียก่อน” พงษ์ศักดิ์ ต้นน้ำเพชร เยาวชนบางกลอย อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ว่า
แม้เขาจะไม่ทันช่วงเวลาที่ปู่คออี้อยู่ที่ “ใจแผ่นดิน” ทว่าเขาทราบว่าวิถีชีวิตและธรรมชาติบริเวณนั้นต่างไปจากที่อยู่อาศัยวันนี้ และหวังว่าจะได้กลับไปประกาศเขตวัฒนธรรมพิเศษที่รักษาอัตลักษณ์วัฒนธรรมกะเหรี่ยงอย่างการทำไร่หมุนเวียนที่นั้น
พรมแดนมรดกโลกกลุ่มป่าแก่งกระจานจะครอบคลุมทั้งสิ้นกว่า 5,000 ครัวเรือน ทั้งหมู่บ้านในเขตอนุรักษ์และหมู่บ้านที่ตั้งรอบเขตป่า หนึ่งในนั้นคือหมู่บ้านท่าเสลา อ.หนองหญ้าปล้อง จ.เพชรบุรี
“ฉันคือเหยื่อทวงคืนผืนป่าที่โดนจับในวันที่ 16 สิงหา 61 ข้อหาบุกรุกแผ้วถางที่ดินนั้นมันไม่ใช่ที่ที่ฉันจับจองมา มันเป็นที่มรดกพ่อแม่ตั้งแต่ฉันยังไม่เกิด ศาลชั้นต้นตัดสินให้จำคุก 3 ปี 8 เดือน ปรับ 2 ล้านบาท ตลอด 3 ปีที่โดนคดี ต้องไปกู้หนี้ยืมสินมาขึ้นศาล เขาบอกว่าผิดตั้งแต่เกิดมาเป็นกะเหรี่ยงแล้ว”
วันเสาร์ พู่งาม คือหนึ่งในหลายคนที่ถูกตั้งคดีหลังการรังวัดที่ดินใหม่เมื่อปีพ.ศ.2557 ซึ่งชาวบ้านหลายคนตั้งข้อสังเกตว่าขยายออกมากินพื้นที่จากการประกาศเขตอนุรักษ์หลายปีก่อน อาจเป็นเพื่อรวบรวมพื้นที่ให้ได้ตามเป้าที่ตั้งไว้ส่งเพื่อส่งป่าแก่งกระจานขึ้นมรดกโลก
ปัจจุบันเธอยังไม่ทราบดีว่าเจ้าหน้าที่จะเดินหน้าฎีกาคดีเธอต่อหรือไม่

เครือข่ายกะเหรี่ยงเพื่อวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อมภาคตะวันตก จึงได้จัดงานเสวนา “สุนทรียเสวนา โค้งสุดท้าย กลุ่มป่าแก่งกระจานสู่มรดกโลก” ณ บ้านพุน้ำร้อน จ.เพชรบุรี เมื่อ 16 ธันวาคม เพื่อเปิดพื้นที่แลกเปลี่ยนปัญหาและทางออกของชาวบ้านใน 4 ป่าอนุรักษ์ พร้อมแถลงคัดค้านการเสนอป่าแก่งกระจานขึ้นเป็นมรดกโลกครั้งที่ 4
“เรายืนยันว่าปัญหาความขัดแย้งเรื่องสิทธิที่ดินทำกินของชุมชนดั้งเดิมยังไม่ได้รับการแก้ไขอย่างจริงใจและเป็นธรรม ยังมีหลายคนที่ไม่ได้รับสัญชาติ ทำให้ขาดสิทธิและสวัสดิการพื้นฐาน แกนนำที่ลุกขึ้นมาเรียกร้องสิทธิกลับถูกฟ้องคดี และคดี ‘บิลลี่’ ยังไม่มีบทสรุปและความคืบหน้าอย่างเป็นธรรม
การออกกฎหมายอุทยานและป่าไม้นำไปสู่การล้มสลายของวิถีจารีตวัฒนธรรมของชาติพันธุ์ที่อยู่กับป่า เราขอเสนอให้ตั้งกลไกแก้ปัญหาทุกระดับที่เน้นการมีส่วนร่วมจากเครือข่ายใน 4 ป่า และขอร้องเรียนกับคณะกรรมการมรดกโลกว่าการดำเนินการที่ผ่านมาไม่ได้ช่วยคลี่คลายปัญหาแต่ยิ่งซ้ำเติม”
ด้าน สำนักอุทยานแห่งชาติ ดำรัส โพธิ์ประสิทธิ์ ผู้อำนวยการให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวถึงสถานการณ์ปัญหาที่ดินทำกินในผืนป่าว่าที่มรดกโลกแห่งใหม่ว่า ทางกรมอุทยานได้ดำเนินการรังวัดที่ดินเรียบร้อยแล้วตามพ.ร.บ.อุทยาน และอยู่ในขั้นพิสูจน์ทราบรายละเอียดต่างๆ เช่น ผู้จะได้รับสิทธิทำกินต้องมีสัญชาติไทย ซึ่งเป็นกระบวนการที่ต้องใช้เวลาเพราะเกี่ยวข้องกับหน่วยงานหลายฝ่าย
“ผมว่าวันนี้กรมอุทยานทำมาถูกทางแล้ว หลายคนอาจจะถามว่า ทำไมไม่แล้วเสร็จสักที แต่คำว่า ‘สำเร็จ’ นั้นจะต้องยอมรับในเหตุและผล จะเอาตามความต้องการที่ทุกคนเรียกร้องไม่ได้ ซึ่งบางคนขอพื้นที่ทำกินครอบครัวละร้อยไร่ คนบางคนในพื้นราบยังไม่มีที่ทำกินเท่านั้นเลย เราต้องดูความถูกต้องและเหมาะสม จัดสรรพื้นที่ป่าโดยคิดถึงภาพรวมของประชาชนทั้งประเทศ”

การประชุมพิจารณามรดกโลกครั้งต่อไปจะจัดขึ้นระหว่างมิถุนายน – กรกฎาคมปีพ.ศ.2564 โดยยังไม่มีกำหนดวันทางการ ณ เมืองฝูโจว ประเทศจีน หากกลุ่มป่าแก่งกระจานขึ้นเป็นมรดกโลก จะนับว่าเป็นมรดกโลกทางธรรมชาติลำดับที่ 3 ในไทยหลังจากเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่ – ห้วยขาแข้ง และกลุ่มป่าดงพญาเย็น – เขาใหญ่