ปิดฉากม็อบค้านนิคมอุตฯ จะนะ หลัง ครม.มีมติตั้งคณะกรรมการศึกษาโครงการ

ม็อบ “จะนะรักษ์ถิ่น” พอใจผลการประชุมคณะรัฐมนตรีที่มีมติให้ตั้งคณะกรรมการศึกษาโครงการก่อสร้างนิคมอุตสาหกรรม “เมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต” ที่ อ.จะนะ จ.สงขลา และได้สลายการชุมนุม ด้านฝั่งรัฐบาลเผย โครงการยังไม่ยกเลิก เพียงแต่เป็นการชะลอการวางผังเมืองเท่านั้น

วันนี้ (15 ธันวาคม พ.ศ.2563) ครม.มีมติตัดสินให้รองนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประวิตร วงศ์สุวรรณ แต่งตั้งคณะอนุกรรมการติดตามและแก้ไขปัญหาโครงการจะนะ เมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต ภายหลังจากผู้ชุมนุมกลุ่ม “จะนะรักษ์ถิ่น” ซึ่งได้ปักหลักคัดค้านโครงการฯ บริเวณทำเนียบรัฐบาล เป็นเวลากว่า 6 วัน ได้ยื่นข้อเรียกร้องต่อรัฐบาลให้ยกเลิกโครงการทั้งกระบวนการ รวมถึงให้มีการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมในระดับยุทธศาสตร์ของ จ.สงขลา หรือ SEA

ผู้ชุมนุมกลุ่ม “จะนะรักษ์ถิ่น” เดินทางกลับบ้านวันนี้ หลังจากครม.มีมติให้ตั้งคณะกรรมการศึกษาโครงการก่อสร้างนิคมอุตสาหกรรม / สำนักข่าวสิ่งแวดล้อม / ณิชา เวชพานิช

รองนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประวิตร เปิดเผยระหว่างการให้สัมภาษณ์ผ่านรายงานข่าว สำนักข่าวประชาชาติธุรกิจ ว่า จากนี้จะมีการตั้งคณะอนุกรรมการขึ้นมาศึกษาปัญหา และสร้างการรับรู้ให้ประชาชนรับทราบว่า เราทำอะไรไปบ้าง ซึ่งประโยชน์ก็จะได้กับประชาชนโดยตรง อย่างไรก็ตาม มติดังกล่าวไม่ได้เป็นการชะลอโครงการ เพียงแต่เป็นการสร้างความรับรู้ ว่าทำอะไรไปแล้ว โดยเฉพาะเรื่องของสิ่งแวดล้อม และเรื่องของประมงด้วย ซึ่งจะไปชี้แจงรายละเอียดให้ประชาชนเข้าใจ

“ผมว่าเป็นเรื่องดีที่ตั้งคณะกรรมการศึกษา เพราะเรื่องจะนะมีทั้งกลุ่มเห็นด้วยและไม่เห็นด้วยกับโครงการ รัฐบาลและนายกรัฐมนตรีเองต้องฟังเสียงประชาชนอยู่แล้ว แม้แต่หนึ่งเสียงก็ต้องฟัง” ประสาน หวังรัตนปราณี ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ทางไลฟ์สด The Reporters

เขาย้ำว่า การกระทำต่างๆ เพื่อเดินหน้าโครงการดังกล่าวต้องชะลอไปก่อน ทั้งการประชุมเรื่องผังเมืองของกรมโยธาธิการและผังเมืองที่มีกำหนดเดิมวันนี้ และการทำประชาคมผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมของบริษัทผู้ลงทุนที่มีแผนจะทำในวันที่ 6 มกราคมที่จะถึง

“คาดว่าจะเลือกคณะกรรมการศึกษาฯ ได้ภายในเดือนธันวาคมนี้และรีบลงพื้นที่ศึกษาปัญหาช่วงหลังปีใหม่ รวมไปถึงการศึกษาเพื่อประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมเชิงยุทธศาสตร์ (SEA) ต่อไป”

ผลสรุปดังกล่าวสอดคล้องกับข้อตกลงบางส่วนของกลุ่มจะนะรักษ์ถิ่นที่ตกลงเมื่อวันที่ 14 ร่วมกับร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ตัวแทนเจรจาหาข้อยุติแนวทางแก้ไขปัญหาโครงการจะนะ ซี่งได้เข้ามาพูดคุย โดยกลุ่มเรียกร้องให้รัฐบาลมีมติยกเลิกมติครม.เกี่ยวข้องกับการเดินหน้าโครงการจะนะทุกฉบับ ทั้งการแก้ไขผังเมือง และศึกษาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม (EIA และ EHIA) และจัดให้มีการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมในระดับยุทธศาสตร์ (SEA) โดยมีหลักประเมินบนฐานทรัพยากรของพื้นที่ คำนึงถึงศักยภาพของระบบนิเวศ การเติบโตของท้องถิ่น โดยทุนภายนอกให้เป็นปัจจัยส่งเสริมต่อยอดศักยภาพของพื้นที่

นอกจากนี้ กลุ่มยังเรียกร้องให้มีคณะกรรมการศึกษาเพื่อจัดทำข้อมูลวิชาการที่มีคุณภาพประกอบการตัดสินใจเลือกพัฒนาจ.สงขลาให้เหมาะสม โดยมาสัดส่วนจากประชาชน นักวิชาการภาคประชาชน และต้องไม่มีศอ.บต.เป็นผู้มีส่วนดำเนินการ ทั้งนี้ ตัวแทนรัฐได้ให้คำตอบว่าจะศึกษาและทำงานในประเด็นดังกล่าวต่อไป

จะนะ
อีกด้านหนึ่ง ผู้ชุมนุมสนับสนุนโครงการนิคมอุตสาหกรรมจะนะ เดินทางมายื่นหนังสือเรียกร้องให้เดินหน้าโครงการต่อที่ ศูนย์รับเรื่องร้องเรียน ทำเนียบรัฐบาล / สำนักข่าวสิ่งแวดล้อม / ณิชา เวชพานิช

ล่าสุด ราว 13.00 กลุ่มจะนะรักษ์ถิ่นได้ทยอยเก็บของเพื่อเดินทางกลับบ้าน หลังจากปักหลักชุมนุมค้างคืน 6 วัน บริเวณข้างอนุสาวรีย์กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ เยื้องสะพานชมัยมรุเชฐ ทำเนียบรัฐบาล

โครงการเมืองต้นแบบนิคมอุตสาหกรรมจะนะมีทั้งเสียงสนับสนุนและเสียงคัดค้านจากคนในพื้นที่ ช่วง 11.00 กลุ่มสนับสนุนโครงการฯ ราว 20 ราย เดินทางจากสงขลาเพื่อมายื่นหนังสือ ณ  ศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ของรัฐบาล สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ตรงข้ามทำเนียบรัฐบาล

“เราอยากให้รัฐบาลมาฟังเสียงประชาชนในพื้นที่จริงๆ กลุ่มคัดค้านเป็นเพียงแค่คนส่วนหนึ่งและหลายคนยังเป็น NGO นอกพื้นที่ เช่น มาจากสตูล คนในพื้นที่อยากให้จะนะพัฒนาเป็นเมืองต้นแบบอุตสาหกรรมเพื่อสร้างอาชีพเพื่อจะได้ไม่ต้องไปทำงานต่างประเทศ กระบวนการที่ผ่านมานำกระบวนการประชาขนมีส่วนคิด ออกแบบ และเำเนินการด้วยตนเองแล้ว ถ้ารัฐบาลเลื่อนหรือไม่รับโครงการนี้อีกจะเป็นการทำลายฝันพี่น้องประชาชน 30,000 คนใน 3 อำเภอและพี่น้องในจังหวัดชายแดนภาคใต้อีก 2 ล้านคน” ซาปีตะห์ หวังโส๊ะ ตัวแทนกลุ่มสนับสนุน อ่านแถลงการณ์

ด้านฝ่ายไม่เอานิคม สมบูรณ์ คำแหง ผู้ประสานงานเครือข่ายฯ เผยว่า โครงการเมืองต้นแบบอุตสาหกรรมจะนะมีทั้งผู้สนับสนุนและผู้เห็นต่าง เราพร้อมที่จะถอยคนละก้าว ตั้งคณะกรรมการและเปิดพื้นที่พูดคุยบนหลักวิชาการขึ้นมาศึกษาความเป็นไปได้และผลกระทบของโครงการ ว่าควรสร้างหรือไม่ควรสร้าง

“มติให้ใช้กลไกร่วมกับ P-Move แก้ปัญหาจะนะ เพื่อนำไปสู่ข้อเรียกร้องทั้งสองข้อที่ชาวจะนะยื่น ข้อเสนอทำ EIA ของบริษัท TPIPP ก็จะยกเลิก รมต.จะลงพื้นที่ในช่วงเดือนมกราคมนี้” สมบูรณ์ กล่าว

“ตอนนี้ก็ชาวบ้านก็กำลังกลับบ้านกันแล้ว เพื่อติดตามการทำงานของคณะกรรมการชุดนี้ เราตั้งความหวังว่ากรรมการชุดนี้จะนำไปสู่การแก้ปัญหาความขัดแย้งการก่อสร้างโครงการนิคมอุตสาหกรรมจะนะต่อไป”

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง