จากการเคลื่อนไหวของพี่น้องในนามเครือข่ายประชาชนปกป้อง 2 ฝั่งทะเล (เครือข่ายปกป้องอันดามันจากถ่านหิน และ เครือข่ายเทใจให้เทพาหยุดโรงไฟฟ้าถ่านหิน) ปฎิบัติการอดอาหารเพื่อปกป้องแผ่นดินถิ่นเกิดจากโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินในพื้นที่ภาคใต้ เป็นเวลา 23 วัน ที่บริเวณหน้าองค์กรสหประชาชาติ (UN) จนนำไปสู่ข้อตกลงเพื่อยุติความขัดแแย้งของโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหิน โดยเกิดข้อตกลงร่วมกันระหว่างกระทรวงพลังงาน และเครือข่ายประชาชนปกป้อง 2 ฝั่งทะเล เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2561 เพื่อศึกษารายงานการประเมินผลกระทบเชิงยุทธศาสตร์ (SEA) โดยได้สถาบันบัณฑิตพัฒนาบริหารศาสตร์ เป็นสถาบันที่เป็นผู้ศึกษารายงานในครั้งนี้ ผ่านมาเกือบ 2 ปีของกระบวนการ ใกล้ถึงเวลาที่จะนำไปสู่ข้อยุติ
โดยเมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2563 ณ กระทวงพลังงาน เป็นการประชุมของคณะกรรมการกำกับการศึกษาการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินภาคใต้ ในการประชุมครั้งนี้ทางกรรมการได้เชิญตัวแทนจากพื้นที่ทั้ง 2 ฝ่ายเข้าร่วมเพื่อสังเกตุการณ์และร่วมแลกเปลี่ยนความเห็นด้วย

เวทีเริ่มด้วยการนำเสนอความคืบหน้าของการศึกษาโดยสถาบันบัณฑิตพัฒนาบริหารศาสตร์ โดยกรรมการก็ยังมีข้อโต้แย้งในการศึกษา ทั้งเรื่องวิธีการศึกษา และการกำหนดค่า setting ของโรงไฟฟ้าแต่ละประเภท ปรับค่าน้ำหนักของตัวชี้วัด และการทบทวนตัวชี้วัดและเกณฑ์การพิจารณา ชี้ให้เห็นว่าข้อมูลพื้นฐานยังไม่เป็นที่ยอมรับร่วมกัน
มนูญ ศิริธรรม คณะกรรมการกำกับการศึกษาและประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ ได้เสนอให้ขจัดข้อขัดแย้ง คือ การต้องทำข้อมูลให้ชัดเจนข้อมูล นำไปสู่การยอมรับร่วมกัน ไม่ใช่ต่างฝ่ายต่างมีชุดข้อมูลของตนเอง
“ถึงวันนี้ผมยังไม่เห็นความชัดเจนของข้อมูลนั้น อีกอย่างคือกระบวนการสานเสวนามันไม่เวิร์ค มันไม่ได้นำไปสู่การหาทางออก มันต้องสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริงไม่ใช่สร้างให้พื้นที่ให้แค่ร่วม ส่วนเรื่องความชัดเจนในการเลือกพื้นที่ กรรมการไม่มีสิทธิในการพิกัดพื้นที่ กรรมการมีหน้าที่กำกับให้ผลการศึกษาที่จะเป็นข้อมูลให้รัฐบาลใช้ประกอบในการตัดสินใจ” มนูญ กล่าว
ประสิทธิ์ชัย หนูนวล ตัวแทนเครือข่ายปกป้องอันดามันจากถ่านหิน กล่าวว่า ทางเครือข่ายจึงมีความกังวลต่อผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นจากระบวนการการประเมินของผู้รับผิดชอบโครงการ ในแง่ของการยอมรับร่วมกัน
เขาให้เหตุผลว่า กระบวนการประเมินผลกระทบเชิงยุทธศาสตร์ควรเป็นกระบวนการที่ทำให้ทุกฝ่ายยอมรับร่วมกัน โดยการยอมรับร่วมกันนั้นต้องมาจากการยอมรับตัวเลขและข้อมูลร่วมกันก่อน แต่ในกระบวนการประเมินของนิด้า การยอมรับข้อมูลร่วมกันยังไม่เกิดขึ้นเนื่องจากยังมีข้อถกเถียงถึงความเที่ยงตรงของข้อมูลตัวเลข และโดยกระบวนการประเมินตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา เครื่องมือที่ใช้คือการสานเสวนา หากแต่กระบวนการดังกล่าวเป็นการสานเสวนาที่ให้ประชาชนแสดงความเห็นตามจุดยืนและมุมมองของตนเอง ไม่ได้ทำหน้าที่ในการสร้างความเข้าใจร่วมกัน
“นอกจากนี้ กระบวนการตัดสินใจทางเลือกการพัฒนาในช่วงท้ายถูกตัดสินโดยเครื่องมือที่เรียกว่าแบบประเมิน ซึ่งเป็นการประเมินจุดยืนและความเห็นของแต่ละฝ่ายโดยไม่ได้เปลี่ยนแปลงจากจุดเริ่มต้น โดยรวมของกระบวนการไม่ได้ทำหน้าที่กับความคิดกับคนในภาคใต้เพื่อการเปลี่ยนแปลงมุมมองภายใต้ข้อมูลที่ยอมรับร่วมกัน” ประสิทธิชัย กล่าว
“สุดท้ายเมื่อข้อมูลพลังงานไฟฟ้าที่เกี่ยวข้องทั้งหมดตกผลึกร่วมกันแล้ว จึงจะนำข้อมูลนั้นมาพิจารณาร่วมกันกับปัจจัยอื่น เช่น ทิศทางการพัฒนาภาคใต้ ศักยภาพของการผลิตพลังงานภาคใต้ ปัจจัยด้านเศรษฐกิจ สังคม ภูมิศาสตร์ เป็นต้น แต่บัดนี้ข้อมูลและกระบวนการศึกษายังไม่เป็นที่ยอมรับร่วมกัน ความกังวลต่อผลลัพธ์ที่จะเกิดจากกระบวนการประเมินของผู้รับผิดชอบโครงการ ในแง่ของการยอมรับร่วมกัน”
ในขณะที่ตัวแทนเครือข่ายฝ่ายสนับสนุนโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินจากพื้นที่ อ.เทพา จ.สงขลา และ อ.เหนือคลองจ.กระบี่ ต่างนำเสนอถึงความพร้อมทั้งเรื่องพื้นที่ตั้งโครงการ การขนส่ง รวมถึงความต้องการของชาวบ้านในพื้นที่ โดยได้เสนอความคิดเห็นและทางออกของข้อยุติคือการทำประชามติ และต้องยอมรับและจบจากผลการทำประชามติ โดยผู้ที่จะมีสิทธิลงคะแนนประชามติคือพื้นที่ชุมชนที่อยู่บริเวณรอบโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเท่านั้น
อีกทั้งยังให้ข้อมูลว่า ปัจจุบันการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานถ่านหินมีเทคโนโลยีที่ทันสมัยแล้ว ฝ่ายค้านก็อย่าเอาแต่เรื่องความผิดพลาดในอดีตมาสร้างความหวาดกลัวให้กับสังคม พวกเราในฐานะเป็นผู้นำชุมชน ยืนยันว่าเรามีความพร้อมและยินดีที่จะให้เกิดโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินในพื้นที่ของเรา
นันธิกา ทังสุพานิช อธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน กระทรวงพลังงาน ในฐานะประธานกรรมการ SAE กล่าวสรุปว่า หลังจากนี้ จะมีการประชุมของคณะกรรมการอีก 1 รอบ ในช่วงปลายเดือนธันวาคมนี้ เพื่อดูรายงานที่ให้ทางสถาบันบัณฑิตพัฒนาบริหารศาสตร์ ปรับปรุง แก้ไขการศึกษา ตามที่คณะกรรมการให้ให้ข้อคิดเห็น และในเดือนมกราคม พ.ศ.2564 ถ้าไม่มีการเปลี่ยนแปลงก็จะเป็นเวทีสุดท้าย ที่จะนำไปสู่ข้อยุติของความขัดแย้ง