งานวิจัย ‘RWI’ ชี้ การรับมือผู้ลี้ภัยวิกฤตภูมิอากาศ คือจุดอ่อนแผนสู้โลกร้อนเอเชียแปซิฟิก

เผยผลการศึกษา Asia-Pacific Research on Displacement in the Context of Disasters and Climate Change ชี้ ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกกำลังเผชิญปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศหนักหน่วงขึ้น นำไปสู่ตัวเลขผู้ที่ต้องอพยพย้ายถิ่นฐานเพราะภัยพิบัติที่สูงขึ้นเรื่อยๆ หากแต่การรับมือของหลายชาติยังไม่คำนึงถึงวิกฤตสิทธิมนุษยชนนี้เท่าที่ควร

เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม พ.ศ.2563 สถาบัน Raoul Wallenberg Institute of Human Rights and Humanitarian Law (RWI) เปิดเผยผลการศึกษานโยบายและแผนการรับมือปัญหาผู้อพยพและการสูญเสียถิ่นฐานจากวิกฤตการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ใน 10 ประเทศแถบเอเชียแปซิฟิก พบว่า ภูมิภาคดังกล่าวถือเป็นพื้นที่ด่านหน้าที่จะได้รับผลกระทบจากสภาวะโลกร้อน โดยกว่า 90% ของการโยกย้ายถิ่นฐานจากภัยพิบัติในปี ค.ศ.2019 (พ.ศ.2562) เกิดขึ้นในภูมิภาคนี้ นำไปสู่ความรุนแรงและการละเมิดสิทธิมนุษยชนด้านต่างๆ

climate refugees
ครอบครัวชาวเอธิโอเปียครอบครัวนี้ ต้องกลายเป็นผู้พลัดถิ่นฐาน จากผลกระทบภัยแล้งรุนแรง //ขอบคุณภาพจาก: Rikka Tupaz / UN Migration Agency (IOM) 2017

ปัญหาผู้อพยพและการสูญเสียถิ่นฐานถือเป็นหนึ่งในวิกฤตสิทธิมนุษยชน เนื่องจากผู้ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติที่ต้องสูญเสียที่อยู่อาศัย ต้องตกอยู่ในความเสี่ยงโดยตรงต่อการถูกละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานต่างๆ อาทิ สิทธิในการมีที่พักพิง สิทธิในการเข้าถึงอาหารและการรักษาพยาบาล ไปจนถึงสิทธิที่จะอยู่อย่างปลอดภัยจากความรุนแรง

อย่างไรก็ตาม ทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยและสถาบันชั้นนำในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก เปิดเผยว่า จากการศึกษาปรากฎการณ์ปัญหาการสูญเสียถิ่นฐานจากภัยพิบัติภูมิอากาศในภูมิภาคตลอดช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ตลอดจนกลไกกฎหมายและนโยบายอื่นๆ ของแต่ละประเทศ ในด้านการรับมือภัยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการจัดการความเสี่ยงภัยพิบัติ ได้ข้อสรุปสำคัญดังนี้

  • กฎหมายและกรอบนโยบายที่เกี่ยวข้องกับการจัดการความเสี่ยงภัยพิบัติและการรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในแต่ละประเทศ ยังไม่มีการเตรียมการป้องกันและรับมือปัญหาการสูญเสียถิ่นฐานจากภัยพิบัติ รวมถึงการปกป้องสิทธิขั้นพื้นฐานตลอดกระบวนการอพยพโยกย้ายอย่างเป็นระบบ ด้วยเหตุนี้ จึงทำให้ประเทศไม่สามารถจัดการความเสี่ยงภัยพิบัติและรับมือผลกระทบการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้อย่างครอบคลุม
  • การเตรียมการป้องกันและรับมือปัญหาการสูญเสียถิ่นฐานจากภัยพิบัติในกรอบกฎหมายและนโยบายที่มีกำหนดไว้แล้ว ยังพบว่าไม่ได้สะท้อนถึงแง่มุมการปกป้องสิทธิมนุษยชน หรือว่าไม่ตรงไปตามมาตรฐานการปกป้องสิทธิมนุษยชนอย่างรอบด้าน โดยในแง่มุมดังกล่าว ทีมนักวิจัยเสนอว่า หลักการชี้นำด้านการอพยพย้ายถิ่นฐานภายในประเทศ ค.ศ.1998 สามารถใช้เป็นหลักการอ้างอิงในการจัดการความเสี่ยงและแก้ไขปัญหาการสูญเสียถิ่นฐานจากภัยพิบัติภูมิอากาศ
  • แม้ว่าจะมีบางประเทศในเอเชียแปซิฟิกที่มีนโยบายเร่งด่วนต่อการแก้ปัญหาการโยกย้ายถิ่นฐานในบริบทผลกระทบการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เช่น บังคลาเทศ และวานูอาตู อันเป็นข้อได้เปรียบที่จะได้พัฒนาแนวทางในการแก้ปัญหานี้ได้ก่อน อย่างไรก็ตามประเทศเหล่านี้ก็ยังมีความท้าทายในการสร้างความตระหนักต่อนโยบายดังกล่าวในหมู่ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในระดับพื้นที่ รวมถึงสนับสนุนทรัพยากรอย่างพอเพียงให้สามารถนำนโยบายเหล่านี้มาปฏิบัติจริง

“จากมุมมองของเรา [RWI] การมีกรอบกฎหมายและนโยบายถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการป้องกันรับมือปัญหาการสูญเสียถิ่นฐานจากภัยพิบัติภูมิอากาศ อย่างไรก็ตาม การนำกรอบกฎหมายและนโยบายดังกล่าวมาปฏิบัติใช้ ถือเป้นหัวใจหลักที่ทุกๆ ประเทศควรให้ความสำคัญที่สุด” Matthew Scott หัวหน้าทีมศึกษาของ RWI กล่าวทิ้งท้าย

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง