ปัญหาเรื้อรังนานกว่า 10 ปี ชุมชนบริเวณรอบมหาวิทยาลัยมหาสารคาม (มมส.) ตำบลท่าขอนยาง และตำบลขามเฒ่าพัฒนา จำนวนกว่า 400 คน ประสบปัญหาน้ำเสียปนเปื้อนลงพื้นที่เกษตร นายกเทศบาลชี้อยู่ในช่วงผลักดันงบประมาณ
เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ.2563 บุญบัญชา คณะมะ ชาวบ้านบ้านดอนยม ตำบลท่าขอยยาง จังหวัดมหาสารคาม เปิดเผยว่า ชุมชนบริเวณรอบมหาวิทยาลัยมหาสารคาม ได้แก่ ตำบลท่าขอนยาง และตำบลขามเฒ่าพัฒนา จำนวนกว่า 400 คน กำลังประสบปัญหาย่านหอพักปล่อยน้ำเสียโดยไม่มีระบบบำบัดน้ำ ลงสู่ลำธารสาธารณะกุดน้ำใส ก่อนท่วมทะลักปนเปื้อนลงสู่พื้นที่ทำการเกษตรเสียหายกว่า 100 ไร่ หรือ 160,000 ตารางเมตร เป็นเวลามากกว่า 10 ปี


“เคยประชาคมไปเมื่อหลายปี โดยทางเทศบาลตำบลท่าขอนยางจะแก้ไขปัญหาสร้างบ่อบำบัดน้ำเสีย ซึ่งปัจจุบันนี้ก็ยังไม่ดำเนินการสร้าง ตอนนี้น้ำเสียไหลลงสู่พื้นที่ทำการเกษตร ชาวบ้านแก้ไขกันเองเอารถมาขุดรื้อคลอง ‘นาของใครนาของมัน’ เพื่อกันน้ำเสียไม่ให้ไหลลงมาพื้นที่ทำนา” บุญบัญชา กล่าว
เขาได้อธิบายอีกว่า น้ำเสียที่ไหลลงมาปนเปื้อน ชุมชนต้องประสบปัญหาระคายเคืองตามผิวหนัง เกิดอาการแพ้ ผิวหนังเปื่อย และ ผิวถลอก อีกทั้ง สัตว์น้ำอย่าง ปลา ปู และกุ้ง ที่เป็นแหล่งอาหารของชุมชน กลายเป็นความวิตกกังวลไม่กล้ารับประทานใช้ในการประกอบอาหาร เนื่องจากมีกลิ่นไม่พึงประสงค์ เช่น กลิ่นน้ำยา ผงซักฟอก ‘ตัวผมนั้นก็แก่แล้ว แต่ลูกหลานหากได้รับสารพิษไปจะอยู่อย่างไร’
“25 ปีก่อนตอนตั้งแต่ยังไม่มีมหาวิทยาลัย ปกติตำบลท่าของยางยังเป็นหมู่บ้านธรรมดา กระทั้งมีมหาวิทยาลัย มีคนมาซื้อที่ดินสร้างหอพักความสูงตึก 3-4 ชั้น ห้องเป็นร้อยๆ ตอนนี้เป็นเมืองใหญ่แล้วนะครับ น้ำเสียจากหอพักบริเวณรอบมหาวิทยาลัย และหอพักข้างเทศบาล ไหลผ่านลำธารกุดน้ำใสแล้วลงสู่พื้นที่ทำนา นั้นสร้างความเดือดร้อนกับชุมชน” เขาทิ้งท้าย
ด้านสมชาติ บุตราช นายกเทศมนตรีตำบลท่าขอนยาง กล่าวว่า เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นมานานกว่า 10 ปี สมัยก่อนที่ตนเป็นนายกเทศมนตรีตำบลท่าขอนยาง น้ำเสียจากบริเวณหอพักไหลลงสู่กุดน้ำใสซึ่งเป็นลำธารสาธารณประโยชน์ที่ได้เอ่อล้นทะลักเข้าสู่พื้นที่เกษตร ที่ผ่านมามีการศึกษาผลกระทบน้ำเสียโดยมหาวิทยาลัยขอนแก่น งบประมาณอยู่ที่ 200 ล้าน เกินความสามารถของเทศบาลตำบล จึงต้องผลักดันงบประมาณให้หน่วยงานอื่น ซึ่งยังอยู่ในกระบวนการยื่นเพื่อปรับเป็นนโยบายและแผนของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
“ส่วนโครงการบำบัดน้ำเสีย โดยบริบทพื้นที่ลำธารน้ำรอบหอพัก อยู่ในขั้นตอนการขอสภาพเป็นพื้นที่สาธารณะประโยชน์ น้ำจะไหลไปตามถนนหลักบริเวณหอพัก และบำบัดในอีกพื้นที่ ตอนนี้ระบบบำบัดทั้งหมดไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ ซึ่งต้องใช้ถังแซท ZAD (ถังบำบัดชนิดรวมไร้อากาศแซท) ในตามกฎหมายเรายังไม่มีระบบบำบัดน้ำเสียที่ดีพอ”