กมธ.ยืนยันเหมืองทองเมืองเลยสิ้นสุดสัมปทาน เร่งหน่วยงานรัฐให้ภาคปชช.มีส่วนร่วมการฟื้นฟู

กมธ.ที่ดินและสิ่งแวดล้อมสภา ประชุมหาแนวทางแก้ไขปัญหากรณีมลพิษปนเปื้อนน้ำ และดิน หลังจากประกอบกิจการเหมืองแร่ทองคำจังหวัดเลย กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด 6 หมู่บ้าน ชูแผนฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม (ภาคประชาชน) คณะกรรมมาธิการฯ เร่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม และสำรวจพื้นที่

เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน พ.ศ.2563 คณะกรรมาธิการการที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม, สภาผู้แทนราษฎร, นักวิชาการ และผู้ว่าราชการจังหวัดเลย ได้แก่ อภิชาติ ศิริสุนทร, สมชาย ฝั่งชลจิตร, สฤษฎ์พงษ์ เกี่ยวข้อง และ เพิ่มศักดิ์ มกราภิรมย์ ร่วมประชุมหาแนวทางแก้ไขปัญหากระบวนการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมบริเวณรอบเหมืองของชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากเหมืองแร่ทองคำ ตำบลเขาหลวง อำเภอวังสะพุง จังหวัดเลย ที่ ศาลากลางจังหวัดเลย

สืบเนื่องมาจากเมื่อวันที่ 5 สิงหาคม ตัวแทนกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด 6 หมู่บ้าน ตำบลเขาหลวง อำเภอวังสะพุง จังหวัดเลย ชุมชนผู้ได้ผลกระทบมลพิษปนเปื้อนน้ำ และดิน จากการประกอบกิจการทำเหมืองแร่ทองคำ โดยยื่นหนังสือร้องเรียนเรื่องกระบวนการฟื้นฟูชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากเหมืองแร่ทองคำ ถึงคณะกรรมาธิการการที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร รัฐสภา 

วิรอน รุจิไชยวัฒน์ ชูแผนฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม (ภาคประชาชน) ในที่ประชุมศาลากลางจังหวัดเลย // ขอบคุณภาพจาก: protection international

วิรอน รุจิไชยวัฒน์ ตัวแทนกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด 6 หมู่บ้าน กล่าวว่า ชุมชนร่วมทำแผนฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม ระบบนิเวศ สังคม วัฒนธรรมและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ (ภาคประชาชน) โดยมีเป้าหมายการฟื้นฟู ด้านนโยบาย โครงสร้างทางกฎหมาย เพื่อยุติการทำเหมืองหรือขยายพื้นที่เหมืองแห่งใหม่ พร้อมทั้งเยียวยาชุมชนที่ได้รับผลกระทบสุขภาพติดตามเฝ้าระวังผู้ป่วยมีโลหะหนักต่อเนื่องโดยไม่ต้องรอคำสั่งศาล ตรวจคัดกรองผู้ที่ความเสี่ยงจนกว่าจะไม่พบผู้ที่มีโลหะหนักปนเปื้อน และฟื้นฟูแก้ไขปัญหาที่ดินที่ได้รับการปนเปื้อนบริเวณฝั่งร่องห้วย จนกว่าประกอบอาชีพทำเกษตรกรรมได้

“นอกจากนี้แล้วจะต้องมีการฟื้นฟูภายในเขตประทานบัตร กำจัดแหล่งกำเนิดมลพิษซึ่งเป็นต้นเหตุของการปนเปื้อนและก่อให้เกิดผลกระทบต่อธรรมชาติสิ่งแวดล้อมและความเสี่ยงต่อสุขภาพ โดยการฟื้นฟูความเสียหายทางกายภาพ,แหล่งน้ำผิวดิน,แหล่งน้ำใต้ดิน, ตะกอนหน้าดินป้องกันการกระจายการปนเปื้อนหยุดการรั่วต้นกำเนิดของการปนเปื้อน บริเวณบ่อเก็บกากแร่,กองหินทิ้ง,ขุมเหมืองภูทับฟ้า,ขุมเหมืองภูซำป่าบอน และโรงแต่งแร่ เป็นต้น” วิรอน กล่าว

ขณะที่ธวัช เนียมศิริ ผู้ว่าราชการจังหวัดเลย เปิดเผยว่า การแก้ไขปัญหาจะต้องมีการสำรวจประเมินตามความเป็นจริงซึ่งแบ่งออกเป็น 2 มิติ ได้แก่ มิติที่ 1 – การฟื้นฟู และ มิติที่ 2 – พัฒนาคุณภาพชีวิตด้านเศรษฐกิจชุมชน อีกทั้งได้ทำหนังสือเรียนไปยังกพร. เรื่องการตั้งคณะกรรมการฟื้นฟู โดยมีภาคประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วม และด้านนโยบายของส่วนกลาง ซึ่งต้องแบ่งเป็น 2 ส่วน 

“กรอบเวลาดำเนินการเป็นหน้าที่ของกพร.ที่ได้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาแล้ว และหากภาคประชาชนยังไม่มีส่วนร่วมมันก็จำเป็นต้องเริ่มจากตรงนี้ก่อน ต้องไปปรับแก้คำสั่งให้มันเกิดการมีส่วนร่วมก่อน แล้วถึงจะมาคุยกัน ถ้ามาถามผมว่าจะต้องทำยังไงต่อไป  มันจะทำยังไงต่อไปได้มันยังนับหนึ่งไม่ได้เลย ก็ต้องมานับหนึ่งก่อน” ธวัช กล่าว

ด้านอภิชาติ ศิริสุนทร  ประธานคณะกรรมาธิการที่ดิน  ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สภาผู้แทนราษฏร  อธิบายว่า การประชุมได้ข้อสรุป 2 ประการ ได้แก่ หนึ่ง – เรื่องสิทธิในสัมปทานบัตรหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และตัวแทนของกพร. อุตสาหกรรมจังหวัด ยืนยันว่าสัมปทานได้สิ้นสุด ลงตามเงื่อนไขการล้มละลายของบริษัทเจ้าของสัมปทานเรียบร้อยแล้ว สอง – ดำเนินการทำหนังสือไปถึงกพร.ส่วนกลาง เพื่อชี้แจงข้อกฎหมายที่ได้ระบุหนังสือเป็นทางการว่าสัมปทานได้หมดลงแล้ว โดยมีคณะกรรมาธิการเป็นเจ้าภาพ 

“ประเด็นเรื่องของการฟื้นฟู จะให้กพร.ส่วนกลางเป็นผู้ดำเนินการขึ้นมาเพื่อให้ประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วมในแผนฟื้นฟู เพื่อเสนอคณะกรรมาธิการส่วนกลาง เพื่อเกิดความเป็นกลางมากที่สุด หลังกลับไปแล้วทางคณะกรรมาธิการ จะเร่งส่งหนังสือไปยังเจ้าหน้าที่ ที่เกี่ยวข้องในการเร่งดำเนินการทันที” อภิชาติ กล่าว

ภายหลังเสร็จจากการประชุมคณะกรรมาธิการที่ดิน  ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สภาผู้แทนราษฏร ได้ร่วมพูดคุยกับหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง จากนั้นในช่วงบ่ายได้ลงพื้นที่เหมืองทองคำ สำรวจตามพื้นที่ต่างๆ อาทิ โรงเหมืองทอง  หลุดขุดเหมืองที่ลึกกว่า 180 เมตร รวมทั้งบริเวณเนินเขาปลอม ซึ่งเป็นดินที่เหมืองขุดจากหลุมมาถมที่ไว้ มีความสูงกว่า 50 เมตร รวมทั้งโรงเก็บสารไซยาไนด์ที่มีอยู่เป็นจำนวนมากอีกด้วย

คณะกรรมาธิการที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สภาผู้แทนราษฏร สำรวจพื้นที่เหมืองแร่ทองคำจังหวัดเลย // ขอบคุณภาพจาก: protection international
ภาพแสดงถึงพื้นที่ที่เคยประกอบกิจการเหมืองแร่ทองคำ จังหวัดเลย // ขอบคุณภาพจาก: protection international