เอสซีจี ผนึกกำลัง 180 องค์กรพันธมิตร ผลักดันแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน แก้ 4 วิกฤตสิ่งแวดล้อมใหญ่ – การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ, มลพิษฝุ่น PM2.5, ขยะพลาสติก, และปัญหาทรัพยากรธรรมชาติขาดแคลน – อย่างยั่งยืน พร้อมเดินหน้ามาตรการลดก๊าซเรือนกระจกเข้มข้น ตั้งเป้าเป็นองค์กรปลอดคาร์บอนภายในปี ค.ศ.2050 (พ.ศ. 2593)
เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ.2563 กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี รุ่งโรจน์ รังสิโยภาส และประธานคณะกรรมการการพัฒนาอย่างยั่งยืน เอสซีจี ธนวงษ์ อารีรัชชกุล กล่าวแถลงความคืบหน้าการขับเคลื่อนแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน ในงาน SD Symposium 2020 “Circular Economy: Actions for Sustainable Future” พร้อมประกาศจับมือ 180 องค์กรพันธมิตรจากทุกภาคส่วน ที่มีจุดยืนเดียวกันในการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า ร่วมกันระดมความเห็นแก้ปัญหาน้ำท่วมแล้งน้ำท่วม และภัยจากวิกฤตความแปรปรวนของสภาพภูมิอากาศ ฝุ่น PM2.5 ความเสี่ยงขาดแคลนทรัพยากรธรรมชาติ ปัญหาขยะพลาสติก ซึ่งต่างเป็นปัญหาสิ่งแวดล้อมใหญ่ที่ยิ่งทวีความรุนแรง ส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่ประชาชน เศรษฐกิจของประเทศและของโลก ระหว่างการระบาดของไวรัส COVID-19

โดยกลุ่มพันธมิตร 180 องค์กร ได้น้อมนำหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน มาเป็นทางออกวิกฤตใหญ่สิ่งแวดล้อม 4 แนวทางพื้นฐานได้แก่
- สร้างระบบน้ำหมุนเวียน ให้พร้อมรับวิกฤตแล้งรุนแรงในปีหน้า โดยสนับสนุนให้คนไทยพึ่งพาตนเองเรียนรู้การจัดรูปที่ดินและใช้เทคโนโลยี ควบคู่กับการให้ความรู้การเกษตรแก่เกษตรกรและคนกลับคืนถิ่น และเชิญชวนรัฐบาลร่วมขยายให้ครอบคลุมทั่วประเทศ ไปพร้อมกับที่ภาคเอกชนดำเนินการ เพื่อช่วยลดความเหลื่อมล้ำ ฟื้นคืนเศรษฐกิจชุมชน และเพิ่มผลผลิตเกษตรให้ไทยเป็นครัวโลก
- ส่งเสริมเกษตร “ปลอดการเผา 100%” ในปี พ.ศ.2565 เพื่อลดฝุ่น PM5 ลดโลกร้อน รวมถึงสนับสนุนเทคโนโลยีเพิ่มผลผลิตทางการเกษตร โดยเกษตรกรไม่จำเป็นต้องเป็นเจ้าของเอง ด้วยการจัดตั้งกองทุนชุมชน สามารถสร้างรายได้กว่า 25,000 ล้านบาทต่อปี โดยหมุนเวียนวัสดุเหลือใช้ เช่น ตอซังใบข้าว ใบอ้อย ซังข้าวโพด มาแปรรูปเป็นพลังงานชีวมวล อาหารสัตว์ บรรจุภัณฑ์
- ยกระดับการจัดการขยะพลาสติกให้เป็นวาระแห่งชาติ โดยปรับปรุงหรือเพิ่มเติมกฎหมายการจัดการขยะพลาสติกอย่างจริงจัง มีโรดแมป มีเป้าหมายชัดเจน มีการทำงานที่เป็นรูปธรรม และเปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนดำเนินการไปพร้อมกัน (Plastic Waste Management System Roadmap) รวมถึงออกมาตรการสนับสนุนสินค้า รีไซเคิล และให้สิทธิพิเศษทางภาษีเป็นแรงจูงใจให้ผู้ประกอบธุรกิจรีไซเคิลขยะพลาสติก
- สร้างระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนในอุตสาหกรรมวัสดุก่อสร้าง เพื่อพลิกวงการก่อสร้างสู่ Green and Clean Construction โดยรัฐเป็นต้นแบบกำหนดแนวทางการจัดซื้อจัดจ้างในโครงการสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานขนาดใหญ่ โดยใช้เทคโนโลยีจัดการทรัพยากรให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ลดวัสดุเหลือทิ้งให้น้อยที่สุด หรือการใช้วัสดุเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมที่สามารถหมุนเวียนกลับมาใช้ใหม่ได้ และมอบสิทธิพิเศษทางภาษี

นอกจากนี้ ผู้บริหาร เอสซีจี ได้เน้นย้ำว่า จากปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และปัญหาขยะที่รุนแรงมากขึ้นในปัจจุบัน เอสซีจี จึงได้นำแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนมาประยุกต์ใช้ในการดำเนินธุรกิจ เพื่อให้บรรลุจุดมุ่งหมายด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืน พร้อมทั้งตั้งเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เดินหน้าองค์กรสู่ Net Zero ภายในปี พ.ศ. 2593 เพื่อสนับสนุนพันธกิจควบคุมอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกไม่ให้สูงขึ้นเกินกว่า 1.5 องศาเซลเซียส ตามความตกลงปารีส (Paris Agreement) ตามกลยุทธ์ดังนี้
- ธุรกิจแพคเกจจิ้ง มุ่งเน้นการดำเนินธุรกิจตามแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน โดยการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้สามารถกลับมารีไซเคิลหรือใช้ซ้ำได้ และบริหารจัดการตลอดห่วงโซ่อุปทาน เพิ่มสัดส่วนการเก็บกลับเข้าสู่กระบวนการผลิตอย่างครบวงจร
- ธุรกิจเคมิคอลส์ มุ่งเน้นการใช้เทคโนโลยีในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียนตลอดทั้ง Supply chain ตั้งแต่การออกแบบผลิตภัณฑ์ ที่เพิ่มการรีไซเคิล ได้มากขึ้น เช่น Mono-materials การพัฒนาเทคโนโลยีที่รีไซเคิล ขยะพลาสติกกลับมาเป็นวัตถุดิบในสัดส่วนที่สูงขึ้น ส่งเสริมการคัดแยก และรวบรวมของเสียกลับมาใช้ใหม่ ผ่านชุมชน ไร้ขยะ และการจัดทำธนาคารขยะ โดยใช้ Digital Platform เป็นเครื่องมือในการจัดการ
- ธุรกิจซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง มุ่งเน้นการใช้เทคโนโลยีผสมผสานกับนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการ ที่ตอบโจทย์ผู้บริโภคและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ภายใต้ฉลาก “SCG Green Choice” ตั้งแต่การผลิตสินค้าที่มีส่วนผสมของวัสดุรีไซเคิล สินค้าสำเร็จรูปที่ลด waste ในกระบวนการติดตั้ง สินค้าและบริการที่ลดการใช้พลังงานหรือนำพลังงานหมุนเวียนมาใช้ เช่น พลังแสงอาทิตย์ มุ่งไปสู่ ‘Green Living and Green Society’ รวมถึงการนำของเหลือใช้กลับมาใช้ประโยชน์ ‘Turn Waste to Wealth’ สร้างประโยชน์ให้กับสังคม