เชียงใหม่ไปก่อนไม่รอ รวมพลังรับมือฝุ่น ปีหน้าลดการเผาไหม้ 25%

เชียงใหม่ไปก่อนไม่รอ ประกาศสู้ฝุ่น ปีหน้าลดการเผาไหม้อย่างน้อย 25% เน้นกระจายอำนาจให้ชุมชนป้องกันไฟป่า พร้อมกิจกรรมยาวถึงเมษายน ท่ามกลางความกังวลถึงแผนรับมือฝุ่นควันระดับประเทศที่ล่าช้า

2 พฤศจิกายน พ.ศ.2563  ส่วนราชการจังหวัดเชียงใหม่ และภาคประชาสังคมในนาม “สภาลมหายใจเชียงใหม่” จัดงานเปิดตัวเทศกาล “Lanna Breeze ล้านนาฟ้าใส ลมหายใจเดียวกัน”​ ณ พิพิธภัณฑ์พื้นถิ่นล้านนา อ.เมือง เชียงใหม่ รวมพลังทุกภาคส่วนจัดกิจกรรมเพื่อร่วมลดปัญหาฝุ่นควันต่อเนื่อง 5 เดือน ตั้งแต่พฤศจิกายน ถึงเมษายน พ.ศ.2564

งานเปิดตัวเทศกาลล้านน้าฟ้าใส ลมหายใจเดียวกัน / สำนักข่าวสิ่งแวดล้อม / ณิชา เวชพานิช

“ปีที่ผ่านมา เชียงใหม่มีจำนวนวันที่ค่ามลพิษสูงเกินมาตรฐานเกินกว่า 70 วัน ปี 2564 ที่จะถึงนี้ เราตั้งเป้าว่าจะลดจุดความร้อนและพื้นที่ไหม้ลงให้ได้อย่างน้อย 25% จากปีที่ผ่านมา” เจริญฤทธิ์ สงวนสัตย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ กล่าว

ในปีที่จะถึงนี้ เชียงใหม่มีกรอบแนวทางการปฏิบัติรับมือปัญหาฝุ่นควันที่เปลี่ยนแปลงจากปีก่อนหน้าหลายประการ เช่น เป้าหมายลดการเผาไหม้ 25% ที่ตั้งไว้นั้น ได้ปรับให้อ้างอิงจากพื้นที่ถูกเผา (burnt scars) ด้วย เนื่องจาก จุดความร้อน (hotspots) ยังเป็นหน่วยชี้วัดที่มีความคลาดเคลื่อนจากการเผาไหม้จริง นอกจากนี้ยังเน้นการกระจายอำนาจให้หน่วยงานและชุมชนท้องถิ่นมีงบประมาณและวางแผนกำหนดเขตป้องกันการเผาทางการเกษตรและช่วยกันบริหารจัดการไฟ โดยอ้างอิงจากความรู้วิชาการและท้องถิ่น เช่น พื้นที่ต่างๆ จะเกิดระยะแล้ง ต้นไม้ทิ้งใบ ซึ่งจะเป็นเชื้อเพลิงไฟป่า ไม่ตรงกัน จึงกำหนดโซนจัดการไฟเน้นพื้นที่ทางตอนล่างก่อน

“การทำงานเรื่องฝุ่นต้องร่วมมือกับทุกภาคส่วน โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาคส่วนที่ใหญ่ที่สุดอย่างภาคประชาชน” ผู้ว่าจังหวัดเชียงใหม่ กล่าว

ผลไม้จากชุมชนปลอดการเผา / สำนักข่าวสิ่งแวดล้อม / ณิชา เวชพานิช

ภายในงานเปิดตัว มีการจัดแสดงโครงการลดฝุ่นจากภาคส่วนต่างๆ เช่น แอพพลิเคชั่น Anywheel จัดจุดให้เช่าจักรยานทั่วตัวเมืองเชียงใหม่ โดยผู้ใช้สามารถใช้มือถือสแกนใช้บริการได้ สนับสนุนให้ผู้คนหันมา “ปั่นเพื่อเปลี่ยน”​ ลดการปล่อยฝุ่นควันจากรถยนต์ , โครงการหมู่บ้านปลอดการเผาจากบริษัทเอกชนที่สนับสนุนให้ชุมชนลดการปลูกพืชเชิงเดี่ยว เช่น ข้าวโพด ที่ต้องมีการเผากำจัดซังตอ เป็นการปลูกผักและผลไม้หลากหลายชนิดส่งขาย มีสัญลักษณ์แสดงว่า “ปราศจากหมอกควัน” (Haze Free) และด้านฝั่งการศึกษา สำนักงานศึกษาธิการจังหวัดเชียงใหม่ ได้ออกคู่มือหลักสูตรแก้ไขฝุ่นควัน เพื่อสอนวิธีป้องกันตัวจากฝุ่นและสร้างความเข้าใจเรื่องนี้ในโรงเรียน (ดาวน์โหลดได้ที่นี้)

“การร่วมมือของภาคต่างๆ นี้ จะเป็น ‘โมเดลเชียงใหม่’ ที่จะสามารถขยายไปสู่จังหวัดอื่นๆ และส่งเสียงถึงรัฐบาลส่วนกลางให้ออกกฎหมายและแผนที่ทำให้คุณภาพอากาศและให้ลูกหลานของเรามีลมหายใจที่สะอาดอย่างยั่งยืน” ชัชวาล ทองดีเลิศ ประธานสภาลมหายใจเชียงใหม่ กล่าว

เพจ Wevo สื่ออาสา เผยแพร่ว่า แผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่นควันพ.ศ.2564 นั้นยังไม่เข้าสู่มติคณะรัฐมนตรี นับว่าดำเนินล่าช้ากว่าปีที่ผ่านมาซึ่งเสนอเรื่องเข้าพิจารณาตั้งแต่ตุลาคม อีกทั้งเมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมได้ตรวจสอบแผนดังกล่าวแล้ว ได้เห็นชอบให้นำแผนกลับไปทบทวนก่อนส่งเข้าสู่ครม.เพื่อยกระดับการรับมือเฉพาะกิจ ระหว่างนี้ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้ดำเนินการเปิดตัวศูนย์การแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ ดูแลเรื่องนี้โดยเฉพาะ

ขณะเดียวกัน อีกหนึ่งกลุ่มประชาชนที่เคลื่อนไหวเรื่องฝุ่นควัน “เครือข่ายอากาศสะอาด” ซึ่งมีศูนย์กลางอยู่ที่กรุงเทพฯ กำลังดำเนินการรวบรวมรายชื่อประชาชน 10,000 รายชื่อเพื่อเสนอร่างพ.ร.บ.อากาศสะอาด หวังให้เป็นกลไกทางกฎหมายใหม่ในการจัดการประเด็นคุณภาพอากาศโดยเฉพาะ

ตัวแทนฝ่ายต่างๆ เสวนาในงานเทศกาลล้านนาฟ้าใส // ขอบคุณภาพ: สภาลมหายใจเชียงใหม่