บทบรรณาธิการ: เราต่างอยู่บนจุดเปลี่ยนผ่าน ในสายธารแห่งความเปลี่ยนแปลง

สวัสดีเดือนพฤศจิกายน ถึงมิตรรักแฟนข่าว สำนักข่าวสิ่งแวดล้อม ครับ เผลอแปปเดียว เราก็เหลือเวลาอีกเพียง 2 เดือน ก่อนที่จะหมดปี พ.ศ.2563 จากช่วงเวลาที่ผ่านมาในปีนี้ เราได้พบเห็นความเปลี่ยนแปลงมากมายทั้งทางด้านการเมือง เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม ของทั้งในประเทศไทยและทั่วโลก นับได้ว่าเรากำลังอยู่ในช่วงเวลาหัวเลี้ยวหัวต่อ ที่จะกำหนดอนาคตของเราในอีกหลายสิบปีข้างหน้า

จากช่วงปีที่ผ่านมา เราได้เห็นแล้วว่าทั่วโลกได้รับผลกระทบสภาวะการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (climate change) รุนแรงขึ้นอย่างเห็นได้ชัด อย่างเมื่อวันที่ผ่านมา (1 พฤศจิกายน พ.ศ.2563) ประเทศฟิลิปปินส์เพิ่งถูกพายุซูเปอร์ไต้ฝุ่น “โคนี” ซึ่งถือเป็นพายุไต้ฝุ่นที่มีความรุนแรงที่สุดของปีพัดถล่มด้วยความเร็วลมกระโชกสูงถึง 379 กิโลเมตร/ชั่วโมง เป็นเหตุให้ประชาชนกว่า 370,000 คน ต้องไร้บ้าน และมีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 16 คน

พายุ
พายุไต้ฝุ่น Molave กำลังเคลื่อนตัวปะทะชายฝั่งเวียดนาม เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม พ.ศ.2563 //ขอบคุณภาพจาก: NASA Earth Observatory

ประเทศไทยเองก็ประสบปัญหาจากสภาวะโลกร้อนเช่นกัน เห็นได้จากสภาวะแห้งแล้งที่ดำเนินติดต่อกว่า 3 ปี ทำให้เมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมา หลายพื้นที่ของไทยประสบปัญหาน้ำขาดแคลน และปัญหาไฟป่า นำไปสู่ปัญหาสิ่งแวดล้อมและสังคมอื่นๆ เช่น ปัญหาสุขภาพจากหมอกควัน ตามมา

ที่ผ่านมา นักวิทยาศาสตร์ชั้นนำทั่วโลกได้ย้ำเตือนให้สังคมโลกถึงความจำเป็นเร่งด่วนที่มนุษยชาติต้องลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและควบคุมการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลกไม่ให้เกิน 1.5 องศาเซลเซียส มิเช่นนั้น เราอาจต้องประสบกับความล่มสลายของระบบนิเวศ และภัยพิบัติธรรมชาติที่รุนแรงขึ้นและสุดขั้วยิ่งขึ้น จากสภาวะโลกร้อนสุดขั้วในอนาคต และนี่คือช่วงเวลาหัวเลี้ยวหัวต่อที่สำคัญที่สุดที่มนุษยชาติจะสามารถหยุดยั้งวิกฤตการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศไว้ได้ ดังคำกล่าวของกวีนักสิ่งแวดล้อม Laurence Overmire ที่ได้กล่าวเอาไว้ว่า

“We are the last generation with a real opportunity to save the world” “เราคือชั่วอายุสุดท้ายที่มีโอกาสจริงในการกอบกู้โลก”

ภารกิจรักษาเสถียรภาพภูมิอากาศโลกจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเริ่มต้นจากนโยบายด้านการเมืองและสิ่งแวดล้อมที่แข็งแรง เพราะการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเกี่ยวเนื่องอย่างยิ่งเกี่ยวกับนโยบายเศรษฐกิจและสังคมหลายภาคส่วน อาทิ นโยบายพลังงาน นโยบายการขนส่ง ไปจนถึงการสร้างเสริมความสามารถสังคมในการปรับตัวรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

สำหรับประเทศไทย แม้ว่า รัฐมนตรีกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม วราวุธ ศิลปอาชา ได้ประกาศเมื่อวันที่ 29 ตุลาคมที่ผ่านมา ว่า ประเทศไทยประสบความสำเร็จในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตามเป้าหมาย Nationally Appropriate Mitigation Actions (NAMAs) โดยในปี พ.ศ.2563 ไทยสามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงได้ร้อยละ 7-20 หรือ 25–73 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า (MtCO2eq) เมื่อเทียบเคียงกับปี พ.ศ.2548

แม้ว่าเรารู้สึกยินดีที่ รัฐมนตรี วราวุธ เผยว่า ประเทศไทยได้ขยับเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่อไปอีกที่ร้อยละ 20-25 ภายในปี พ.ศ.2573 ซึ่งเขาชี้ว่า “นับว่ามีความท้าทายเป็นอย่างมาก แต่ไม่เกินความสามารถ” เราหวังว่ารัฐบาลจะมีการออกนโยบายและกฎหมายที่จะส่งเสริมให้ทุกภาคส่วนสามารถเปลี่ยนผ่านสู่สังคมปลอดคาร์บอนอย่างแท้จริง โดยคำนึงถึงหลักความเป็นธรรมทางสังคมและสิ่งแวดล้อม เพื่อนำไปสู่การสร้างอนาคตที่ยั่งยืน ปลอดภัยจากการวิกฤตการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

อีกข้อเสนอที่เราอยากฝากถึงผู้มีอำนาจ ตลอดจนทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง นั่นคือ เราอยากเห็นการเปลี่ยนมุมมองและแนวคิดในการจัดการบริหารทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เราอยากเห็นรัฐมองการวางนโยบายชาติอย่างเป็นองค์รวม ตระหนักรู้ว่าทุกนโยบายของรัฐบาลล้วนมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง และที่สำคัญที่สุดคือ รัฐต้องให้ความสำคัญกับการรักษาระบบนิเวศให้มากขึ้น

เพราะปฏิเสธไม่ได้ว่าผลพวงจากกิจกรรมของมนุษย์ที่เกิดขึ้นแล้ว จะยังก่อให้เกิดผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมต่อไปอีกในอนาคตข้างหน้า การมีสิ่งแวดล้อมที่ดีและระบบนิเวศที่สมบูรณ์จะเป็นแต้มต่อสำคัญที่จะทำให้เราสามารถผ่อนหนักให้เป็นเบา และปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไปในอนาคตได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

เช่นเดียวกัน สำนักข่าวสิ่งแวดล้อม เอง ก็กำลังเดินมาถึงจุดเปลี่ยนสำคัญ ในยุคที่สื่อทั่วโลกเผชิญกับสภาวะ media disruption เราเองก็ต้องปรับตัวให้สอดรับกับการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมของวงการสื่อ

นับตั้งแต่เดือนนี้เป็นต้นไป เราจะปรับรูปแบบการรายงานข่าวสิ่งแวดล้อมผ่านช่องทางเพจ สำนักข่าวสิ่งแวดล้อม GreenNews และช่องทางการนำเสนออื่นๆ ของเราได้แก่ ทวิตเตอร์ และยูทูป ให้มีความหลากหลาย ตอบโจทย์กับพันธกิจของเราในการสร้างความตระหนักรู้และความเข้าใจที่ถูกต้องในประเด็นสิ่งแวดล้อมต่อสังคมให้มากยิ่งขึ้น เป็นอีกกลไกที่สร้างให้เกิดอนาคตที่ยั่งยืนเป็นธรรมต่อไป