เวทีถอดบทเรียนการจัดการน้ำหมุนเวียนชี้ชัด การสร้างความเข้มแข็งและสนับสนุนองค์ความรู้ในการจัดการน้ำ ให้ชุมชนสามารถวางแผนและดำเนินการจัดการทรัพยากรน้ำอย่างสอดคล้องกับสภาพพื้นที่และวิถีการดำรงชีวิตท้องถิ่น ตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน คือหัวใจในการสร้างความยั่งยืนให้ชุมชน–เศรษฐกิจ–สิ่งแวดล้อม พร้อมขยายผลต่อยังชุมชนอื่นๆ ทั่วประเทศ
เมื่อวันที่ 28 ตุลาคม พ.ศ.2563 เครือข่ายชุมชนต้นแบบด้านการจัดการน้ำ หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง เครือข่ายพันธมิตรภาคเอกชน พร้อมผู้ทรงคุณวุฒิรวมกว่า 100 คนร่วมระดมสมอง ถอดรหัสความสำเร็จของ 4 ชุมชนต้นแบบจัดการน้ำหมุนเวียน ในเวที Water Reuse Management Pre-session ครั้งที่ 2 “จัดการน้ำหมุนเวียน ทางรอดวิกฤตน้ำประเทศไทย” ที่ Hall 4 เอสซีจี สำนักงานใหญ่ บางซื่อ เพื่อสร้างแนวทางปรับปรุงการจัดการน้ำโดยชุมชนตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียนแก่ชุมชนอื่นๆ ที่ประสบปัญหาน้ำท่วมน้ำแล้ง

โดยในเวทีดังกล่าว ได้ข้อสรุปว่า จากความสำเร็จด้านการจัดการน้ำของ 4 ชุมชนต้นแบบ ซึ่งแต่เดิมต้องเผชิญกับน้ำท่วมในฤดูฝน แต่กลับประสบปัญหาขาดแคลนน้ำใช้ในฤดูแล้ง จนสามารถแก้ปัญหาน้ำท่วมน้ำแล้งซ้ำซาก และสร้างความยั่งยืนในการจัดการทรัพยากรน้ำในพื้นที่ได้สำเร็จ เป็นผลมาจากการที่ชุมชนมีกลุ่มแกนนำที่เข้มแข็ง เก่งกันคนละด้าน ประสานงานกันได้อย่างดีเยี่ยม สามารถชวนคนในชุมชนมาแก้ปัญหาร่วมกัน และสามารถถ่ายทอดความรู้จากรุ่นสู่รุ่นได้
นอกจากนี้ การทำงานร่วมกันหลายภาคส่วน ระหว่างมูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) และเอสซีจี ที่ร่วมกันเป็นเครือข่ายสนับสนุนชุมชน คอยเป็นพี่เลี้ยงในการส่งเสริมความรู้ ให้คำแนะนำ และสนับสนุนด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านการจัดการน้ำแก่ชุมชน ยังมีบทบาทสำคัญที่ช่วยให้ชุมชนเกิดกระบวนการเรียนรู้สู่การลงมือปฏิบัติ ปรับเปลี่ยนวิธีคิด พลิกแพลงการจัดการน้ำในพื้นที่ได้อย่างเหมาะสม
จากปัจจัยดังกล่าว ทำให้ชุมชนสามารถประยุกต์การจัดการน้ำหมุนเวียนที่ทำได้หลายรูปแบบ อาทิ การทำผังน้ำ ซ่อม/ฟื้นฟูแหล่งน้ำเดิม สร้างแหล่งกักเก็บน้ำใหม่ เชื่อมโยงเครือข่ายน้ำ รวมถึงการใช้น้ำหมุนเวียนในครัวเรือน จนสามารถสร้างระบบการจัดการน้ำที่ตอบโจทย์ความต้องการของทุกคนในชุมชน และแก้ปัญหาการจัดการทรัพยากรน้ำด้วยตนเอง
หนึ่งในสี่ตัวอย่างความสำเร็จได้แก่ ชุมชนศาลาดิน จ.นครปฐม ที่ซึ่งชุมชนได้ร่วมกันแก้ปัญหาน้ำด้วยตนเอง จนสามารถพลิกฟื้นพื้นที่เกษตรที่เคยประสบทั้งปัญหาท่วม น้ำแล้ง น้ำเสีย และน้ำกร่อย จนมีทรัพยากรน้ำพอเพียง สามารถปลูกข้าวได้ปีละ 3 รอบโดยไม่ต้องหว่านใหม่ อีกทั้งยังเปลี่ยนลำคลองในท้องถิ่นที่เคยเน่าเสียให้กลับมาสวยสะอาด

ปัจจัยความสำเร็จของชุมชนศาลาดิน เกิดจากการสร้างการมีส่วนร่วมของชุมชนและผู้นำชุมชนที่เข้มแข็ง การประยุกต์ใช้เทคโนโลยี เช่น การใช้กังหันน้ำเติมอากาศด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ และการเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างชุมชน หน่วยงานท้องถิ่น และผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย จัดการน้ำเสียและใช้น้ำหมุนเวียน ด้วยการพึ่งพาตนเอง ทำเกษตรผสมผสาน ปลูกพืชสวนครัว เลี้ยงปลา และทำนาบัว พัฒนาสู่แหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศ สร้างแหล่งรายได้ใหม่ให้กับชุมชน
ร่วมติดตามผลการระดมสมองตลอด 1 เดือน เพื่อหาทางออกวิกฤตของโลก เรื่องการจัดการน้ำ การจัดการขยะ การนำหลักเศรษฐกิจหมุนเวียนมาใช้ในภาคเกษตรกรรม และการนำหลักเศรษฐกิจหมุนเวียนมาใช้ในอุตสาหกรรมก่อสร้างพร้อมถอดบทเรียนสู่ความยั่งยืน และบทสรุปข้อเสนอสู่การปฏิบัติที่เป็นรูปธรรมในทุกภาคส่วนได้ ในงาน SD Symposium 2020 วันที่ 9 พ.ย. 2563 เวลา 13.30 – 15.00 น. ที่ www.sdsymposium2020.com