ศาลยกฟ้องคดีชัยภูมิ ป่าแส เยาวชนนักกิจกรรมชาวลาหู่ที่ถูกยิงเสียชีวิต เชื่อค้ายาเสพติด องค์การพิทักษ์สิทธิฯ ชี้หลังเหตุวิสามัญฆาตกรรม เจ้าหน้าที่คุมพื้นที่เข้มขึ้น กระทบวิถีชีวิตชาติพันธุ์ทำมาหากินกับป่า ทนายและครอบครัวตั้งข้อสังเกต คำให้การพยานทะแม่งและไร้หลักฐานกล้องวงจรปิด เตรียมยื่นอุทธรณ์ต่อ

26 ตุลาคม พ.ศ.2563 ศาลแพ่งพิพากษายกฟ้องคดีการเสียชีวิตของชัยภูมิ ป่าแส นักกิจกรรมชาวลาหู่วัย 17 จ.เชียงใหม่ (คดีหมายเลขดำที่พ.2591/2561) ที่ฝ่ายโจทก์ นาปอย ป่าแส มารดาผู้เสียชีวิต ยื่นฟ้องกองทัพบก (จำเลย) ซึ่งเป็นหน่วยงานของเจ้าหน้าที่ทหารผู้ก่อเหตุวิสามัญฆาตกรรมให้ชดใช้ทางละเมิด ณ ศาลแพ่งรัชดา กรุงเทพฯ
ปรานม สมวงศ์ เจ้าหน้าที่องค์กรปกป้องสิทธิมนุษยชนนานาชาติ (PI-Protection International) เผยว่า พื้นที่ชุมชนลาหู่ดังกล่าว ยังมีกรณีการละเมิดสิทธิอื่นๆ นอกเหนือจากกรณีชัยภูมิ เช่น กรณีของอะเบ แซ่หมู่ ที่ถูกสงสัยว่าค้ายาเสพติดคล้ายชัยภูมิ รวมถึง กรณีของนาหวะ จะอื่อ หญิงลาหู่ที่ถูกตั้งข้อหาว่านำส่งยาเสพติดให้ชัยภูมิก่อนเกิดเหตุวิสามัญฆาตกรรม จนต้องจำคุก 1 ปี ทว่าศาลจังหวัดเชียงใหม่ได้ตรวจสอบแล้วพบว่าไม่มีหลักฐานชัดเจน เลยดำเนินการปล่อยตัวแล้ว
“บ้านกองผักปิ้งเป็นบริเวณชายแดน กลุ่มชาติพันธุ์ใช้ชีวิตอยู่อาศัยกับป่า เมื่อเกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้น บรรยากาศในชุมชนจึงตึง ทหารคุมพื้นที่ป่ามากขึ้น กระทบกับวิถีชีวิตคนกับป่า”
คดีของชัยภูมิ ป่าแส นี้ สืบเนื่องจากวันที่ 17 มีนาคม พ.ศ.2560 ชัยภูมิ พร้อมเพื่อนคนหนึ่งขับรถยนต์ผ่านด่านตรวจบ้านรินหลวง อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ ถูกเจ้าหน้าที่ทหารที่ประจำอยู่ที่ด่านตรวจค้นยานพาหนะ เจ้าหน้าที่ได้เข้าตรวจค้นรถยนต์ ใช้อาวุธปืนยิงชัยภูมิจนเสียชีวิต โดยระบุว่ากระทำเพื่อป้องกันตนเอง
ศาลมีคำพิพากษาให้ยกฟ้อง จำเลยไม่ต้องรับผิดชอบจ่ายค่าชดเชย เนื่องจากเจ้าหน้าที่ทหารไม่ได้ทำการละเมิดตามพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่รัฐพ.ศ.2559 เหตุผลที่ชี้แจ้งสรุปได้ว่าชัยภูมิมีพฤติการณ์เกี่ยวข้องกับยาเสพติด เมื่อเจ้าหน้าที่ตรวจค้นรถยนต์วันเกิดเหตุ พบยาเสพติด 2,800 เม็ดซ่อนอยู่ในกล่องกรองอากาศรถ ชัยภูมิได้วิ่งหนีและคว้ามีดพร้ากับทำท่าเงื้อลูกระเบิด เจ้าหน้าที่จึงใช้อาวุธปืนเอ็ม 16 ยิงแขนข้างซ้ายผู้เสียชีวิตเพื่อป้องกันตนเอง เป็นเหตุให้กระสุนแตกเข้าไปในลำตัวจนเสียชีวิต
ประเด็นหนึ่งที่ฝ่ายโจทก์ได้เรียกร้องมาตลอด คือ หลักฐานกล้องวงจรปิด เพื่อพิสูจน์ว่าชัยภูมิมียาเสพติดในครอบครองและใช้อาวุธโต้ตอบเจ้าหน้าที่หรือไม่ ซึ่งในบริเวณที่เกิดเหตุมีจำนวน 9 กล้อง ใช้งานได้ 6 กล้อง ศาลชี้แจงว่า หลังเกิดเหตุ เจ้าหน้าที่ทหารได้ส่งกล้องให้กองพิสูจน์หลักฐานตรวจสอบ ไม่พบหลักฐานการเปลี่ยนแปลง ทว่าไม่พบภาพบันทึกเหตุการณ์วันที่ 17
ศาลจึงพิจารณาคดีจากปากคำของพยานในเหตุการณ์ พงศนัย แสงตะหล้า เพื่อนผู้เสียชีวิต พงศนัยได้ให้เหตุผลว่า ชัยภูมิมีส่วนรู้เห็นในการค้ายา และได้ใช้อาวุธโต้ตอบกับเจ้าหน้าที่ทหาร ส่วนพยานฝ่ายโจทก์เป็นชาวบ้านที่อยู่ห่างจากเหตุการณ์ไกลออกไป จึงมีน้ำหนักน้อยกว่า
ภายหลังการพิพากษา รัษฎา มนูรัษฎา ทนายฝ่ายจำเลย ตั้งข้อสังเกตถึงคำให้การของพยาน ว่าไม่ได้ใช้คำให้การณ์หนึ่งวันหลังจากเกิดคดี หากเป็นคำให้การณ์ที่ให้ทีหลังช่วงปลายเดือนมีนาคม นอกจากนี้ แม้พยานจะนั่งมาในรถยนต์คันเดียวกันกับผู้เสียชีวิตที่อ้างว่าพบยาเสพติด ทว่ากลับไม่ได้ถูกดำเนินคดีด้วย

“หลังจากเกิดเหตุ ทหารได้เข้ากันพื้นที่ไม่ให้ญาติเข้าพื้นที่เกิดเหตุทั้งที่เป็นเวลากลางวัน ซึ่งไม่โปร่งใส ตามหลักการแล้ว เมื่อตำรวจรับแจ้งเหตุฆาตกรรม ควรมีเจ้าหน้าที่ 4 ฝ่าย ได้แก่ ฝ่ายปกครอง ฝ่ายอัยการ พนักงานสอบสวน และญาติผู้เสียชีวิต เข้าไปตรวจสอบ”
เขากล่าวว่าจะดำเนินการยื่นอุธรณ์ต่อ
ด้านชาวบ้าน ไมตรี จำเริญสุข ประธานกลุ่มรักษ์ลาหู่ กลุ่มกิจกรรมพัฒนาศักยภาพเยาวชน ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ ชัยภูมิ และล่ามช่วยสื่อสารมารดาของชัยภูมิ เผยความรู้สึกว่า
“รู้สึกช็อก หลังจากนี้ เจ้าหน้าที่จะสามารถฆ่าคนได้เรื่อยๆ อีกไหม พวกเราผลักดันเรื่องหลักฐานกล้องวงจรปิดมาตลอด กล้องไม่เสีย แต่ไม่ถูกบันทึก ผมไม่เข้าใจ แต่ผมเชื่อมั่นในระบบความยุติธรรม จะสู้และเดินต่อให้สุดทาง”