ชุมชนริมโขงสร้างเขตอนุรักษ์พันธุ์ปลา ต้นแบบแหล่งอาหารสำรอง ทางเลือกและทางรอดในวันที่วิกฤตน้ำโขงผันผวน พันธุ์ปลา 1,200 ชนิดทยอยสูญหาย
ตลอดหนึ่งปีครึ่งที่ผ่านมา นับจากต้นปี พ.ศ.2562 ชาวบ้านหอคำเหนือและอีก 21 หมู่บ้านริมฝั่งโขงในอีสานได้ทำวิจัยเก็บข้อมูลความเปลี่ยนแปลงของ “แม่น้ำโขง” แหล่งอาหารที่เลี้ยงชีวิตคนริมน้ำตั้งแต่รุ่นบรรพบุรุษ สิ่งหนึ่งที่เปลี่ยนอย่างชัดเจน คือ พันธุ์ปลากว่า 1,200 ชนิดกำลังสูญหาย

“แม่น้ำโขงแถวบ้านผมมีปลาประมาณ 200 ชนิด พอมีการสร้างเขื่อนขึ้นมา ทำให้การหาปลาตามแม่น้ำโขงไม่มีรายได้เหมือนแต่ก่อน ตะก่อนพวกกระผมได้เฉลี่ยเดือนหนึ่งไม่ต่ำกว่า 70,000 บาท เพราะราคาปลาน้ำโขงมันแพง ปลาคัง กิโลละ 350 บาท ฟลุ๊กๆ หน่อยจับได้ปลาบึกกิโลละ 500 พอวิกฤตน้ำโขงเกิดขึ้นมา ปลาพวกนี้ก็ตัวเล็กลง หายากขึ้น หลายคนเลี้ยงครอบครัวไม่พอ” ทรงศักดิ์ สายทองมาตร์ ชาวบ้านม.13 บ้านหอคำเหนือ ต.หอคำ อ.เมือง จ.บึงกาฬ อธิบาย
เขาเป็นหนึ่งในหลายคนที่ละทิ้งอาชีพหาปลาในแม่น้ำโขงแล้วได้ 3 ปี เปลี่ยนมาหารายได้จากการทำสวนยาง ขณะเดียวกัน ชาวบ้านหอคำเหนือบางส่วนก็เผชิญข้อจำกัด ไม่มีที่ดินหรือเงินทุน เลยยังต้องเสี่ยงออกเรือหาปลา ซึ่งนับวันก็ได้น้อยลงทุกที
ด้วยโจทย์นั้น ชุมชนหอคำเหนือ ม.1และ 13 เลยได้หันกลับมาหาทางออกร่วมกันว่าจะเสริมสร้างแหล่งอาหารทางเลือกได้อย่างไร เกิดเป็น “เขตอนุรักษ์พันธุ์ปลาหนองเมือก” ส่วนหนึ่งของโครงการวิจัยและพัฒนาชุมชนต้นแบบด้านสุขภาวะฯ ลุ่มน้ำโขง ผสานความร่วมมือกับนักวิชาการ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการเสริมสร้างสุขภาพ (สสส.) และกรมประมง
ชุมชนเลือกหนองเมือก พื้นที่ชุ่มน้ำมีน้ำท่วมขังและแห้งสลับกันขนาด 1,500 ไร่ เป็นพื้นที่ขยายพันธุ์ปลา ปล่อยพันธุ์ปลาท้องถิ่นเพาะโดยกรมประมง เช่น ปลาสร้อยขาว ปลาสวายโมง ปลาตะเพียน และกุ้งก้ามกราม ให้เติบโตเป็นพ่อแม่พันธุ์ในพื้นที่กันไว้เป็นเขตห้ามล่า 58 ไร่ พวกเขาตั้งกติการ่วมกันว่าหากใครฝ่าฝืนจะโดนปรับเงิน หากยังทำอีกเป็นครั้งที่สองจะต้องดำเนินคดีตามกฎหมายประมง พื้นที่ห้ามล่าส่วนนั้นจะช่วยอนุบาลพันธุ์ปลา ขยายพันธุ์สู่หนองส่วนอื่นๆ ให้ชุมชนได้หากิน ลดภาระค่าใช้จ่ายในครัวเรือน ที่สำคัญยังเติมพันธุ์ปลาลงห้วยอาฮงที่ไหลลงสู่แม่น้ำโขง

“พื้นที่นี้มี 2 หมู่ช่วยกันดูแล แต่เปิดให้คนหลายหมู่มาใช้ประโยชน์ พอช่วยทดแทนการประมงในแม่น้ำโขงได้อยู่” ทรงศักดิ์ว่า “แต่มันก็มีปลาน้ำโขงที่ยังไงก็ทดแทนไม่ได้เพราะอยู่ในน้ำไหลหรือร่องน้ำลึก เช่น ปลาคัง”
ทางประมงจังหวัดเอง วรพงษ สาระรัตน์ ยอมรับว่าแม้ทางกรมฯ จะเพาะปลาสายพันธุ์พื้นถิ่นได้หลายชนิด แต่ยังไงก็ยัง “สู้ธรรมชาติไม่ได้” เพราะไม่สามารถเพาะปลาแม่น้ำโขงที่มีหลากหลายสายพันธุ์ได้ครบดังเดิม ซึ่งลดทอนความหลากหลายทางชีวภาพในระบบนิเวศและรายได้ของชุมชน ทั้งชาวประมงและผู้แปรรูปปลา เพราะปลาแม่น้ำโขงเหล่านั้นเป็นปลาที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจ
เขาอธิบายว่า วิกฤตปลาแม่น้ำโขงนี้ส่วนหนึ่งเป็นผลพวงจากการสร้างเขื่อนคร่อมลำน้ำ ทั้งในลาวและจีน ทำให้ระบบนิเวศแม่น้ำผันผวน ระดับน้ำขึ้นลงไม่ปกติ น้ำท่วมหน้าแล้งและน้ำแห้งหน้าฝน เห็นผลกระทบชัดเจนช่วงฤดูน้ำแดงที่ปลาวางไข่ (กรกฎาคม – กันยายน) สอดคล้องกับรายงาน FreshWater Living Index ประจำปีนี้ขององค์การกองทุนสัตว์ป่าโลก (WWF) ซึ่งเผยว่าช่วงปีพ.ศ. 2543 -2558 ความหลากหลายของปลาในแม่น้ำโขงลดลงถึง 78% โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ปลาขนาดกลางถึงใหญ่อย่างปลาบึกได้รับผลกระทบรุนแรงเพราะเขื่อนกั้นเส้นทางอพยพ สืบพันธุ์และหาอาหาร
“ถ้าจำเป็นต้องสร้างเขื่อนจริงๆ ต้องมีกระบวนการที่ช่วยให้ปลาขึ้นไปวางไข่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ปัจจุบัน บันไดปลาโจน ปลายังขึ้นได้เป็นส่วนน้อย ต้องศึกษาวิจัยพัฒนาเพื่อแก้ปัญหาต่อ” ตัวแทนกรมประมงกล่าว
โครงสร้างคอนกรีตส่งผลกระทบกับวงจรชีวิตของปลา หนองเมือกเองก็ยังเจอความท้าทายใกล้ตัว จากฝายน้ำล้นคอนกรีตเก่าอายุ 15 ปีที่กรมชลประทานสร้างไว้เพื่อกักเก็บน้ำ เมื่อระดับน้ำโขงผันผวนแล้วไม่เอ่อล้นท่วมเหมือนเดิม ปลาก็ว่ายขึ้นฝายไปวางไข่ในเขตอนุรักษ์ไม่ได้

ถึงอย่างนั้น ชาวหอคำเหนือยังเปี่ยมไปด้วยความหวัง พวกเขามีแนวคิดร่วมมือกับหน่วยงานที่เชี่ยวชาญ ปรับแปลงฝายนี้ให้เหมาะสมกับระบบนิเวศ วันที่ 5 พฤศจิกายน ที่จะถึงนี้ ตัวแทนชุมชนหอคำเหนือจะเดินทางมาร่วมนำเสนอผลงานวิจัยเชิงปฏิบัตินี้ที่กรุงเทพฯ เพื่อนำเสนอทิศทางการจัดการทรัพยากรลุ่มน้ำโขงในอนาคต
“ปลาแม่น้ำโขงมีกว่า 1,200 ชนิด แต่ตอนนี้เราเห็นน้อยลงๆ คนโขงเคยอยู่กับความอุดมสมบูรณ์มาก่อน ก่อนหน้านี้ไม่เคยต้องเขียนหนังสือขอพันธุ์ปลาจากกรมประมง” อ้อมบุญ ทิพย์สุนา ผู้ประสานงานโครงการ กล่าว พร้อมเสริมว่าความมั่นคงทางอาหารของลุ่มน้ำโขงที่กำลังถูกคุกคามไม่ได้มีเพียงปลาเท่านั้น แต่ยังมีพืชผักที่ขึ้นตามธรรมชาติริมน้ำและการปลูกผักบนตลิ่งที่ระบบนิเวศแม่น้ำแปรเปลี่ยน จนแทบไม่เหลือใครทำแล้ว
“ขั้นแรกที่พวกเราทำได้คือต้องรับรู้ว่าแม่น้ำโขงมันเปลี่ยนไปแล้ว การสร้างแหล่งอาหารแบบนี้ แม้จะทดแทนธรรมชาติไม่ได้ แต่ก็ดีกว่าไม่มีเลย ในอีสานยังมีหมู่บ้านริมโขงอีกกว่า 1,050 หมู่บ้าน 95 ตำบล ซึ่งสามารถพัฒนาแหล่งอาหารสำรองเพื่อปรับตัวรับวิกฤตน้ำโขง”
ข่าวที่เกี่ยวข้อง