แถลงการณ์ว่อน! องค์กรสิทธิ – สิ่งแวดล้อม เรียกร้องรัฐหยุดคุกคามสิทธิเสรีภาพประชาชน

หลากองค์กรภาคประชาชนด้านสิทธิมนุษยชนและสิ่งแวดล้อม ประสานเสียงประณามการสลายการชุมนุมกลุ่ม “คณะราษฎร”  พร้อมออกแถลงการณ์เรียกร้องต่อรัฐบาล ให้หยุดใช้อำนาจละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชนการแสดงออกทางการเมือง จี้ยกเลิกคำสั่งพ.ร.ก.ฉุกเฉิน และปล่อยตัวกลุ่มผู้ประท้วงที่ถูกจับกุม 

เมื่อวันที่ 17 ตุลาคม พ.ศ. 2563 หน่วยงานภาคประชาสังคมด้านสิทธิและสิ่งแวดล้อมชั้นนำของไทย ได้แก่ กลุ่มเกษตรกร คนจนปลดแอก, มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLAW), เครือข่ายขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (P-MOVE), คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.), เครือข่ายองค์กรกฎหมายสิทธิมนุษยชน ได้ออกแถลงการณ์ต่อการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง และเข้าสลายการชุมนุมกลุ่ม “คณะราษฎร” และจับกุมตัวนักศึกษาและประชาชน เมื่อวันที่ 15-16 ตุลาคม พ.ศ. 2563 

โดยแถลงการณ์ของหน่วยงานข้างต้น มีข้อเรียกร้องร่วมต่อรัฐบาล ได้แก่ 
1.ยุติการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตท้องที่กรุงเทพมหานคร 
2.ปล่อยตัวผู้ควบคุมตัวดำเนินคดี 
3.นายกรัฐมนตรีลงจากตำแหน่ง 
4.หยุดคุกคามพร้อมกับคุ้มครองผู้เข้าร่วมชุมนุม

การเคลื่อนไหวดังกล่าว สืบเนื่องจากนายกรัฐมนตรี ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตท้องที่กรุงเทพมหานคร บังคับใช้ตั้งแต่วันที่ (15 ตุลาคม) เวลา 04.00 น. ประกาศดั่งกล่าวเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ทำการจับกุมแกนนำและผู้ร่วมชุมนุมร่วมกว่า 80 คน (ถูกปล่อยตัวแล้วบางคน) เมื่อวันที่ (16 ตุลาคม) เจ้าหน้าที่ตำรวจดำเนินการปราบปรามผู้เข้าร่วมชุมนุมด้วยการฉีดน้ำแรงดันสูง ซึ่งผสมสารเคมีสีน้ำเงิน ที่ก่อให้เกิดอาการระคายเคือง อีกทั้ง คำสั่งฉบับที่ 4 / 2563 ให้กสทช. และ ดีอีเอส. ตรวจสอบและให้ระงับการออกอากาศรายการที่มีเนื้อหาสาระที่มีผลกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ ของสื่อออนไลน์ 4 แห่ง

แม้ว่าเมื่อวานนี้ (19 ตุลาคม) ฝ่ายรัฐได้ปล่อยตัวแกนนำคณะราษฎรที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพ จำนวนทั้งหมด 19 คน อย่างไรก็ตามจากการรายงานของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนยังเหลือผู้ถูกควบคุมขังอยู่ 11 ราย

กลุ่มเกษตรกร คนจนปลดแอก” ซึ่งเป็นกลุ่มเกษตรกรรายย่อยและแรงงานไร้ที่ดินจากภาคต่างๆ ทั่วไทย ที่รวมตัวขึ้นเฉพาะกิจเพื่อสนับสนุนการเคลื่อนไหวทางการเมืองภาคประชาชนในครั้งนี้ ระบุว่า รัฐบาลได้จับกุมตัวแกนนำ นักเรียน นักศึกษา นักกิจกรรมทางการเมือง ประชาชน รวมถึงผู้สื่อข่าว จำนวนร่วม 100 คน การกระทำดังกล่าวนับเป็นการละเมิดสิทธิการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน ขัดแย้งกับหลักสากล “กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองทางการเมือง” (ICCPR) 

ด้วยเหตุนี้องค์กรจึงเรียกร้องให้รัฐบาลยกเลิก ประกาศพ.ร.ก.ฉุกเฉินที่ปิดกั้นประชาชนไม่ให้ใช้สิทธิเสรีภาพเพื่อแสดงออกทางการเมือง หยุดใช้ความรุนแรงปราบปรามการชุมนุมและการจับกุมคุมขัง ออกมาตรการปกป้องผู้ชุมนุมให้ได้รับความปลอดภัย อีกทั้ง รัฐบาลจะต้องรับผิดชอบต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นทั้งหมดแก่ผู้ชุมนุม 

“ทางกลุ่มมีมติพร้อมยืนเคียงข้างและสนับสนุนการชุมนุมของเยาวชนและประชาชนเรียกร้องประชาธิปไตย เนื่องจากโครงสร้างการปกครองที่ไม่เป็นธรรมในปัจจุบันนำไปสู่ปัญหาสิทธิที่ดินทำกิน เกษตรกรกับคนจน ขาดสิทธิการเข้าใช้ประโยชน์ที่ดิน เพราะภาครัฐและนายทุนผูกขาด  ถ้าการเมืองดี ปัญหาที่ดินก็จะได้รับถูกการแก้ไข” นักสิทธิเครือข่ายเกษตรกร คนจนปลดแอก ไม่ประสงค์ออกนามด้วยสาเหตุต้องการใช้ชื่อนามกลุ่ม กล่าว

ในขณะที่มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLAW)ระบุในแถลงการณ์ว่า ประกาศพ.ร.ก.ฉุกเฉินนั้นเป็นข้อกำหนดที่ริบรอนสิทธิ เสรีภาพในการแสดงออกทางการเมืองของประชาชนที่ชุมนุมโดยอย่างสันติ การดำเนินการของเจ้าหน้าที่ตำรวจรัฐบาลปราบปรามด้วยความรุนแรงจะต้องถูกดำเนินการลงโทษ พร้อมกับเจ้าหน้าที่ต้องคุ้มครองผู้เข้าร่วมชุมนุม

เช่นเดียวกับ กรีนพีซ ประเทศไทย ที่ได้ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้รัฐยุติการใช้ความรุนแรงทุกรูปแบบต่อการชุมนุมอย่างสันติวิธีของประชาชน การชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานตามปฏิญญาสากล และรัฐควรหยุดคุกคามประชาชนโดยทันที 

เครือข่ายขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (P-MOVE) ระบุว่า การปราบปรามการชุมนุมโดยใช้ความรุนแรงเป็นการซ้ำเติมความขัดแย้งระหว่างประชาชนและรัฐบาล ควรเร่งดำเนินแก้ไขสถานการณ์ปล่อยผู้ถูกควบคุมตัว อีกทั้งแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยประชาชนเป็นผู้ตัดสินใจตามหลักประชาธิปไตย

คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.) ระบุว่า นายกรัฐมนตรีไม่สามารถแก้ไขปัญหาหรือปกครองประเทศได้อย่างเป็นธรรมอีกทั้งระบบรัฐบาลเป็นการสถาปนาอำนาจตนเอง ขอให้ลาออก พร้อมปฎิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ เปิดประชุมวิสามัญในเร็ววัน

เครือข่ายองค์กรกฎหมายสิทธิมนุษยชน ได้แก่ ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม มูลนิธิผสานวัฒนธรรม โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (ไอลอว์) สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน มูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม และสมาคมนักกฎหมายคุ้มครองสิทธิและสิ่งแวดล้อม ร่วมกับศูนย์นิติศาสตร์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมแถลงการณ์

“การประกาศพ.ร.ก.ฉุกเฉินไม่เป็นไปตามกฎหมายในขณะที่นานาประเทศ ICCPR (กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง) คุ้มครองสิทธิ เสรีภาพการชุมนุมโดยสงบ การจับคุม – ดำเนินคดีทางการเมืองควรได้รับการประกันตัวอันเป็นไปตามสิทธิขั้นพื้นฐาน ทนายความถูกกีดกันเข้าพบผู้ต้องหาหรือจำเลยโดยขอให้ชี้แจงกรณีดั่งกล่าว พร้อมรับอาสาสมัครนักกฎหมายช่วยเหลือคดี” คอรีเยาะ​ มานุแช สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน กล่าว