การชุมนุมเมื่อวันที่ 14 ตุลา ประชาชนจากหลายพื้นที่และพื้นเพเดินทางมาชุมนุมเพื่อแสดงจุดยืนทางความเชื่อบางอย่าง บางคนเชื่อว่าโครงสร้างทางสังคมที่มีอยู่แล้วนั้นเหมาะสม ขณะที่บางคนเห็นว่าสังคมต้องการการเปลี่ยนแปลงเพื่อชีวิตที่ดีขึ้น
“ชีวิตที่ดี” ย่อมเกี่ยวพันกับประเด็นสิ่งแวดล้อม ดิน น้ำ อากาศ อาหาร ทรัพยากรพื้นฐานที่ผลิผลิตผลปัจจัย 4 ให้ผู้คน ไม่ว่าจะเป็นคนที่ไหน อายุเท่าไหร่ ฐานะอะไร ก็ตาม
สำนักข่าวสิ่งแวดล้อม พูดคุยกับผู้ร่วมชุมนุม 10 ราย เพื่อบันทึกความคิดเห็นของพวกเขาว่าการเมืองเกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อมอย่างไร
สุภาพร อินทร์หอม (57 ปี), แม่ค้าชาว จ.ปทุมธานี
“ทุกอย่างมันก็คือเรื่องการเมืองทั้งนั้น รวมไปถึงเรื่องสิ่งแวดล้อม พี่มาชุมนุมก็เพราะเดือดร้อนจากผลกระทบทั้งด้านการทำมาหากินและคุณภาพชีวิตจากรัฐบาลนี้ ตลอด 6 ปีที่ผ่านมา พี่เจอปัญหาหนักมาก รู้สึกว่าสิ่งแวดล้อมรอบตัวเราแย่ลง ไม่รู้ว่าจะแก้ไขได้อย่างไร
พี่รู้สึกว่าระบบการเมืองในปัจจุบันกำลังทำให้นายทุนเข้ายึดประเทศ ทุกสิ่งทุกอย่างตกเป็นของเจ้าสัวหมด คนที่รวยอยู่แล้วก็ยิ่งรวยขึ้น แต่คนจนกลับยิ่งจนลง
หากเกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง หากเรามีระบบการเมืองที่ดีขึ้น พี่ก็หวังว่าสภาพความเป็นอยู่ของประชาชน สภาพสิ่งแวดล้อมบ้านเรา จะดียิ่งขึ้น”
ปุรณ์ กาดใส (26 ปี), อาชีพอิสระ
“ที่ผมออกมาวันนี้ก็เพื่ออยากจะเรียกร้องประชาธิปไตย เพื่อให้เกิดการปฏิรูปประเทศ ผมเชื่อว่าสิ่งแวดล้อมและคุณภาพชีวิตเป็นเรื่องการเมือง ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดได้แก่ นโยบายทวงคืนผืนป่า ที่เห็นได้ชัดว่ารัฐบาลได้ใช้นโยบายนี้ขับไล่ประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ป่ามาก่อน ทำให้พวกเขาได้รับความเดือดร้อน
ผมมองว่านโยบายนี้ยังทำให้เกิดความไม่เท่าเทียมให้มากขึ้นในสังคม เห็นได้จากเหยื่อของนโยบายทวงคืนผืนป่าล้วนแต่เป็นคนยากคนจนทั้งนั้น แต่กรณีนายทุนใหญ่รุกป่า อย่างกรณีศรีพันวา กลับไม่มีการตรวจสอบ ทั้งๆ ที่โฉนดที่ดินของรีสอร์ทมีข้อน่าสงสัย อีกทั้งพื้นที่ตั้งของรีสอร์ทก็สุ่มเสี่ยงว่าจะเป็นพื้นที่รุกป่า คนที่มีคอนเนคชั่นสามารถอยู่ได้ แต่คนจนกลับถูกไล่ที่
รัฐบาลยังไม่มีนโยบายสิ่งแวดล้อมด้านอื่นๆ ที่ดีนัก ถ้าหากการเมืองดีขึ้น อำนาจการตรวจสอบนโยบายรัฐของประชาชนมีมากขึ้น ผมคิดว่าปัญหาสิทธิและสิ่งแวดล้อมที่เรากำลังเผชิญ น่าจะดีขึ้นได้แน่นอน”
พ่อสด (63 ปี) และ พิม (52 ปี), กลุ่มคนเสื้อแดง อุดรธานี
“วันนี้เรามาช่วยเด็กๆ เห็นข่าวไผ่กับเด็กผู้หญิงถูกจับ ทำไมตำรวจถึงทำร้ายเด็กและประชาชน ขนาดเด็กผู้หญิงยังทำได้
รัฐบาลเกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อมเกี่ยวข้องกันยังไง? แน่นอนว่าเกี่ยวข้อง บ้านพวกพี่มาจากอุดรฯ ได้ยินเรื่องหลายชุมชน เช่น บ้านหนองวัวซอ บ้านหนองแสง ชาวบ้านถูกทวงคืนผืนป่า คนอยู่ฝ่ายเผด็จการ บุกรุกป่าเขาได้ไม่ผิด ขณะประชาชนติดคุก ทำไมข้าราชการถึงสร้างบ้าน รีสอร์ท สนามกอล์ฟได้ …คนทำร้ายป่าจริงๆ คือคนมีอำนาจ
ไม่ใช่แค่ป่าเขา ทะเลกลายเป็นที่สร้างตึก กลายเป็นที่พักผ่อนของใครบางคน พี่จำชื่อไม่ได้ เคยเห็นข่าว…ฟ้าหญิงองค์เล็ก ไปปิดเกาะเที่ยว ทะเลควรเป็นที่ให้ชาวประมง ไม่ใช่หรอ
สำหรับบ้านพี่ โชคดีไม่เจอปัญหาเรื่องที่ดินทำกิน แต่เป็นเรื่องใช้สารเคมีเกษตร ชุมชนใช้กันหมดล่ะ ใช้แล้วไม่ดีต่อสัตว์ ฤดูกาลวางไข่ก็ตาย ไม่ซื้อไม่ได้ เพราะมันมีขาย ถ้าไม่มีขาย แล้วเกษตรกรจะซื้อไหมล่ะ มันเกี่ยวข้องกับรัฐบาล อนุญาตให้นายทุนนำเข้า เราเป็นได้แค่ขี้ข้าซีพี อะไรๆ ก็ซื้อจากเขา ทั้งที่คนบ้านเรามีทรัพยากรเยอะ แต่เขาไม่รู้ตัวและไม่รักษา
นี่มันเท่ากับฆ่าเราทางอ้อม ล้างเผ่าพันธุ์คนบ้านนอก”
เอกณรินทร์ (57 ปี), เจ้าของนาข้าวและไร่ผักที่สระบุรี
“เราพอใจทุกวันนี้แล้วที่ท่านสร้างเศรษฐกิจพอเพียงให้พวกเรา เรามีไร่ให้เขาเช่าที่สระบุรี กำชับไม่ให้ใช้สารเคมี เพราะมันตกค้างในดินและเป็นอันตรายต่อประชาชนในระยะยาว พระองค์ท่านเคยทำโครงการแกล้งดิน ทำไมเราต้องไปปรับ ไปทำลายมันอีก เราจะทำยังไงให้ดินเราสมบูรณ์มากกว่า
ในหลวงท่านสานฝันของพ่ออยู่หัวรัชกาลที่ 9 สานต่อทุกอย่างๆ ให้รุกหน้าไปอีก เพียงแต่พระองค์ท่านไม่ได้ออกมาเอง เพียงแต่ให้หน่วยงานทุกหน่วยงานของท่านออกมาเพื่อบรรเทาทุกข์บำรุงสุขประชาราษฎร์ทุกๆ พื้นที่
เรื่องน้ำเราไม่ได้อยู่ในเขตชลประทาน แต่เราโชคดีอยู่ติดห้วย ชุมชนช่วยกันสร้างฝายและขอทางราชการทำน้ำบาดาลไว้ใช้ประโยชน์ ราชการเขาก็ไม่รู้ว่าที่ไหนมีความเดือดร้อนอะไรบ้าง เราเลยมีหน้าที่ต้องเข้าถึงอบต.สส.ต่างๆ ถ้าเขาไม่ช่วย ก็ไม่ต้องเลือกเขา
รัฐบาลชุดนี้สร้างสาธารณูปโภคขั้นต้นไว้ทั่วประเทศไทย รัฐบาลเก่าๆ มีการยื้อแย่งกันใต้โต๊ะ แต่เรามีเผด็จการ เราสามารถชี้ได้เลยว่าสร้างเลย สร้างเลย สร้างๆ แล้วเราได้อะไรที่เร็วมาก บางทีผมไปเห็นโครงการสร้างโรงไฟฟ้าในเขตหนึ่ง ผมไม่ได้ไปมาหกเดือน ตอนแรกคิดว่าจะมีแค่ตอหม้อ แต่เป็นคานขึ้นมาแล้ว ผมว่ามันรวดเร็วมาก
เรามาชุมนุม เราเลือกแล้วในสิ่งที่ถูกต้อง”
อายกับส้ม (19 ปี), นักศึกษามหาลัยฯ อาศัยอยู่กรุงเทพฯ
“สิ่งแวดล้อมกับการเมืองเกี่ยวข้องกันตรงๆ เลย เรื่องนำเข้าขยะพลาสติก คือ งงมาก เขาจะนำเข้าทำไม ขยะในไทยก็เยอะแล้ว ขนาดส่งออกยังไม่หมดเลย วิธีกำจัดก็ไม่ได้มีประสิทธิภาพ ไม่มีการแยกขยะ แล้วมันเกี่ยวกับสวัสดิการคนเก็บขยะด้วย มีอุปกรณ์ป้องกันเพียงพอไหม บางทีเราแยกไปแล้ว ก็ไม่มีถังขยะถูกประเภทและเพียงพอรอรับ …อย่างที่เขาบอกแหละ ถ้าการเมืองดี ทุกอย่างก็จะดี มันเริ่มที่จุดๆ เดียว แล้วทุกอย่างก็จะแผ่รากออกมา
อยากให้รัฐบาลช่วยดูท่อระบายน้ำไม่ให้น้ำท่วม เสาไฟฟ้าไม่ให้ล้ม รถเมล์ครีมแดงที่มีควันดำออกมา เราต้องสูดไปทุกวัน กระทบกับสุขภาพ ไปโรงพยาบาล สิทธิสามสิบบาทใช้ได้ไหม สิ่งแวดล้อม การเมือง เราต้องการเรียกร้องทุกอย่างไปพร้อมๆ กัน
คิงของเราเค้าบินไปบินมาตลอด ผลกระทบมันไม่ได้ส่งผลกระทบแค่ที่ประเทศเรา แต่มันส่งผลกระทบทั้งชั้นบรรยากาศทั่วโลก แล้วไม่ใช่แค่บินรอบเดียว แต่บ่อย มีงานพิธีต่างๆ ก็ต้องซื้อต้นไม้ซื้อของมาตกแต่ง ใช้แค่วันเดียว และงบประมาณของเขา ถ้าแบ่งมาใส่กระทรวงต่างๆ สิ่งต่างๆ ก็คงจะดีขึ้น
เขาชอบบอกว่าเขากำลัง #save เราอยู่ แต่เราต้อง save ตัวเองอยู่ดี ออกมาเรียกร้องวันนี้ก็ออกมาเองเพื่อ save พวกเรากันเองทั้งนั้น”
รัน, ชาวกะเหรี่ยง ตัวแทนสหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือจากอ.สะเมิง เชียงใหม่ การ์ดประจำกลุ่มเกษตรกร คนจนปลดแอก
“วันนี้เราใส่เสื้อสีแดง บางคนมองแล้วก็อาจจะไม่เข้าใจนึกว่าเป็นเสื้อแดง ยังไงก็ตาม เราไม่จริงจังเรื่องสีเสื้อ แต่เราจริงใจในตัวอักษร ในความหมายของมันและความจริงของเรา
เราเป็นตัวแทนชุมชนกะเหรี่ยงอำเภอสะเมิง ชาวบ้านต้องเก็บตังค์รวบรวมให้เราออกเดินทางมา ใช้กองทุนไร่หมุนเวียนที่รวมเงินไว้สำหรับการเคลื่อนไหว อยากมีส่วนร่วมในการชุมนุมครั้งนี้ด้วยเพราะมันมีผลต่อชีวิตพวกเราที่รัฐบาลออกกฎหมายกดทับมา มาเสนอปัญหาเรื่องที่ดินทำกินของพี่น้องชาติพันธุ์ที่มีการประกาศเป็นพื้นที่ป่าอนุรักษ์ …พวกอุทยาน เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า นั้นแหละ
การเมืองกับสิ่งแวดล้อมเชื่อมโยงกัน ตัวแทนรัฐสภาคือตัวแทนชุมชนที่เลือกเข้าไปพูดแทน เพื่อพิจารณากฎหมาย แต่ความจริงกลายเป็นว่า เจ้าหน้าที่รัฐคุกคาม ข่มขู่ อ้างกฎหมายเกี่ยวกับป่าอนุรักษ์ (พ.ร.บ.อุทยาน , พ.ร.บ.ป่าสงวน, พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า) ทำให้ชาวบ้านเป็นแพะรับบาปว่าเป็นผู้บุกรุกป่า เป็นสังคมที่ติดตราว่าชาวเขาสร้างปัญหา
ชุมชนของเราอยู่ในป่ามานาน เร็วๆ นี้จะประกาศเป็นพื้นที่อุทยานแห่งชาติแห่งใหม่
ข้อเสนอของกลุ่มเราวันนี้ คือ ตั้งรัฐธรรมนูญใหม่ ถ้าข้อเรียกร้องไม่สำเร็จ อย่างน้อยก็ได้เสนอให้รัฐบาลรับรู้และพิจารณาปัญหาประเด็นชนเผ่าชาติพันธุ์ว่าจะดำรงชีวิตยังไง แก้ไขคำสั่งเชิงนโยบายจากเบื้องบน ให้เจ้าหน้าที่ในพื้นที่ที่ต้องดูแลผืนป่าร่วมกับชาวบ้าน
ถามว่าเราอยากมามั้ย ไม่อยากมาหรอก อยู่กับลูกกับเมียดีกว่ามั้ย เพราะคุณไม่มาแก้สักที จริงๆ แล้วนักการเมืองอาจจะพอรู้วิถีชีวิตบริบทพี่น้องบนที่ราบสูง แต่ไม่ได้ซาบซึ้ง ไม่ได้เกิดความรู้สึกเห็นอกเห็นใจ”
อดินันท์ เลายี่ปา, สหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ บ้านห้วยน้ำดัง ต.เมืองแห อ.เวียงแห จ.เชียงใหม่
“การเมืองหมายถึงรัฐบาล หากรัฐบาลมีอำนาจเบ็ดเสร็จในการดูแลจัดการทรัพยากรธรรมชาติ ไม่กระจายอำนาจให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม เวลาเกิดปัญหา เช่น ไฟป่า ที่เป็นที่มาของฝุ่นละอองมลพิษ PM2.5 รัฐบาลจะไม่สามารถแก้ไขปัญหาเพราะมีเจ้าหน้าที่ไม่พอ ถ้าเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม จะช่วยแก้ไขปัญหาได้ดีกว่า
พวกเราออกมาเคลื่อนไหวในครั้งนี้ เนื่องจากปัญหาโดนยึดที่ดินทำกินที่บ้านของตนเอง เนื่องจากนโยบายปลูกป่า ของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มาตรา 64 จากพื้นที่ดินทำกินที่อาศัยตั้งแต่บรรพบุรุษกลับกลายเป็นการถูกกฎหมายบังคับให้เช่าพื้นที่ดินทำกินของตนเอง ‘สิทธิ์ไม่มี มีเพียงแค่ให้อนุญาตอย่างเดียว’ เพียง 20 ปี เช่น พื้นที่ลาดชันโดยเฉลี่ยร้อยละ 35 ขึ้นไป, พื้นที่ป่าต้นน้ำ, พื้นที่ล่อแหลม และ พื้นที่เปลี่ยนมือ กลับถูกรัฐไล่ให้ไปเช่า ไม่มีที่ดินเหลือไว้ลูกหลานเลย
กฎหมายที่ไม่ตอบโจทย์ชุมชน คนที่อยู่กับป่า เป็นการละเมิดสิทธิ เสรีภาพ จนทำให้สูญเสียวิถีชีวิต ในเมื่อคนไม่มีที่ดินก็ทำอะไรไม่ได้ เราต้องขับเคลื่อนกฎหมาย ร่างกฎหมายที่ดีต่อชุมชน รัฐบาลต้องให้ประชาชนในพื้นที่เข้ามามีส่วนร่วมให้มากที่สุด เช่น การจัดการไฟป่า การปลูกป่า เพื่อสิ่งแวดล้อมที่ดี”
สมศักดิ์ บุญปาน, สหพันธ์เกษตรกรภาคใต้ บ้านคลองไทร ต.ไทรทอง อ.ชัยบุรี จ.สุราษฎร์ธานี
“ถ้าการเมืองไม่ดีสิ่งแวดล้อมก็แย่ ทุกอย่างขึ้นอยู่การเมือง การเมืองเป็นตัวกำหนด กฎหมาย รัฐธรรมนูญ ข้าราชการ ทุกอย่างมีเกี่ยวข้องกันหมด
ชุมชนบ้านคลองไทร มีปัญหาที่ดินจากการปฎิรูปที่ดินของชุมชนจากพื้นที่ดินนายทุน ซึ่งภายหลังนโยบายคสช. โดยมีสำนักงานการปฎิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (สปก.) เข้าดูแลจัดการปัญหาแต่ไม่สอดคล้องกับวิถีชีวิตชุมชน เนื่องจากพื้นที่ตรงนี้ชุมชนเข้าใช้ประโยชน์แล้ว โดยชุมชนปฎิรูปจัดสรรที่ดิน คนละ 11 ไร่ แต่สปก.จะให้กรรมสิทธิ์พื้นที่ดังกล่าวด้วย นโยบายคนละ 6 ไร่ ซึ่งการปฎิรูปที่ดินตรงนี้ไม่ได้ปรึกษาร่วมกับชุมชน ระเบียบ ผู้ที่จะได้ที่ดิน คนนั้นต้องไม่มีที่ดิน แต่ทีนี้พวกเรามีที่ดินแล้ว จะให้เราไปอยู่ตรงไหน
การออกกกฎหมายให้ชาวบ้านมีส่วนร่วมในการจัดการกับสิ่งแวดล้อมต่าง เรื่องการพัฒนานาที่อยู่อาศัย ผู้ที่ได้รับผลประโยชน์ตรงนั้นปรึกษาหารือกัน คือการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน ปัญหานับวันก็เพิ่มมากขึ้น นโยบายทวงคืนผืนไม่ได้ดูตามความเป็นอยู่ของชุมชน กรมป่าไม้ พูดเรื่องที่ดินอธิบายเรื่องป่าไม้มีจำนวนไร่เท่าไรอย่างไร แต่ความเป็นจริงของชาวบ้านเป็นคนสร้างมาก่อน 100ปี ซึ่งการสำรวจกำหนดเขตป่าไม้ ไม่ได้เกิดจากมีส่วนร่วมของชุมชน”
วรา จันทร์มณี, นักวิชาการอิสระ และเครือข่ายประชาชนพิทักษ์สิทธิ์เสรีภาพและความเป็นธรรม
“การเปลี่ยนระบบการปกครอง ตั้งแต่ปี 2475 ทำให้เกิดอธิปไตยที่สมบูรณ์ซึ่งนำไปสู่การรวบอำนาจทำให้ดุลอำนาจเบี่ยงเบน หากการตัดสินใจไม่ได้ศึกษาจากนโยบาย หรือแผนอย่างรอบคอบ เช่น การทำเหมืองหิน เหมืองแร่ ทำให้เกิดการทำลายทรัพยากรอย่างมากมาย ป่าต้นน้ำสำคัญ เขตโบราณสถาน และแหล่งโบราณคดีที่ภาพวาดสีเขียน เมื่อมีอำนาจเบ็ดเสร็จก็นำมาสู่การคอรัปชั่นเบ็ดเสร็จ ของกรณีอย่างเราเป็นอย่างนั้น ขาดแผนพัฒนายุทธศาสตร์ที่ชัดเจนและประชาชนไม่ได้เข้ามามีส่วนร่วม
กรณีนิคมอุตสาหกรรมจะนะ โดยโครงการควรต้องดูความจำเป็นของประเทศ การพัฒนาเศรษฐกิจก็มีทางเลือกอื่นที่ประชาชนสามารถเลือกได้ แต่คนที่ดูแลโครงการต้องการเงิน บ้านเมืองทรัพยากรต่างๆในบ้านเมืองถกใช้ไปผลประโญชน์ของชนชั้นนำ การแสวงหาผลประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติในประเทศ โดยที่ประชาชนในประเทศไม่ได้มีส่วนร่วม
รัฐบาลต้องเปลี่ยนแปลงการเมืองรัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตยที่แท้จริงก่อน ตอนนี้เราเป็นราชาธิปไตย หากมีอธิปไตย ที่มีอำนาจบริหารนิติบัญญัติโดยประชาชนเป็นเจ้าของอำนาจ ทุกคนต้องทำงานเพื่อประชาชน แต่ตอนนี้ราชาธิปไตย ทุกอำนาจอยู่ภายใต้สถาบันพระมหากษัตริย์อีกทีหนึ่ง ทำให้โครงข่ายที่เกี่ยวข้องกษัติรย์เชื่อมโยงกับกษัตริย์หมดเลย ‘ทหารของพระราชามันไม่ใช่ มันไม่มีสำนึกของประชาชน’ ถูกอย่างต้องรองรับประชาชน ต้องแก้ระบบการเลือกตั้งการเลือกตั้ง ที่ไม่ถูกกำหนดโดยรัฐบาล ทุกอย่างโปร่งใสการเลือกตั้งก็โปร่งใส ถ้ามันเดินด้วยกติกาที่เป็นธรรม แต่ตอนนี้มันไม่ใช่”
สมาชิกกลุ่มสมุทรสาครร่วมพลัง ผู้ไม่ต้องการเปิดเผยนาม
“การเมืองกับสิ่งแวดล้อมเกี่ยวพันกัน 100 เปอร์เซ็นต์ การเมืองไม่ได้ทำงานเพื่อประชาชนเลย เราต้องการคนมาทำงานเพื่อประชาชน เพราะพื้นที่สมุทรสาคร มีทั้งเรื่องประมง การเกษตร อุตสาหกรรม ปัญหาการจราจรไม่สะดวก ที่ถนนพระราม 2 ทั้งปีทั้งชาติก่อสร้างไม่เสร็จไร่วี่แววในการพัฒนา ทำให้เกิดฝุ่นละออง ที่ผ่านมาไม่เคยเจอนักการเมืองที่แก้ไขปัญหาจริง และการแก้ไขการประมงประเทศไทยยังไม่ถูกรับการแก้ไข ปลาทูสมุทรสาครที่เคยขึ้นชื่อของจังหวัดสมุทรสาคร ปัจจุบันต้องนำเข้าปลาทูจากต่างประเทศ
รัฐบาลชุดนี้ไม่เป็นประชาธิปไตย ส่งผลให้สมุทรสาครมีผลกระทบปัญหาด้านเศรษฐกิจ อุตสาหกรรมล้มละลายเพราะส่งออกไม่ได้ แรงงานก็ย้ายออกไปต่างประเทศ ลำบากเรื่องปากท้องความเป็นอยู่ จนกว่าเราจะได้ประชาธิปไตยนั้นแหละ เราถึงได้ลุกขึ้นมาสู้
อยากให้รัฐบาลชุดนี้ออกไปแล้วให้คนรุ่นใหม่มาทำ เมื่อเป็นประชาธิไตยได้เมื่อไร ต่างชาติก็จะยอมรับ สินค้าสามารถส่งออกได้ เศรษฐกิจเดินหน้า”