บทความโดย: ปรัชญ์ รุจิวนารมย์ , จรัสรวี ไชยธรรม
สองนักวิชาการ – นักกฎหมายสิ่งแวดล้อมระบุ สิ่งแวดล้อมที่ดีต้องมีรากฐานจากการเมืองที่ดี พร้อมชี้ว่า ปัญหาสิ่งแวดล้อมไทยล้วนมีที่มาจากนโยบายที่ไม่เหมาะสม ย้ำชัด หากประเทศมีระบบการเมืองที่ดี ก็จะช่วยให้เราสามารถออกนโยบายจัดสรรจัดการทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมที่ทั่วถึงและเป็นธรรม
ย่างเข้าสู่ช่วงปลายฝนต้นหนาวในเดือนตุลาคม แต่สถานการณ์การเมืองไทยกำลังร้อนแรงขึ้นเรื่อยๆ ขัดกับสภาพอากาศ โดยเฉพาะเมื่อกลุ่มนักศึกษาและประชาชนในนาม “กลุ่มคณะราษฎร” ประกาศนัดชุมนุมใหญ่ที่ อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ในวันที่ 14 ตุลาคมนี้
สำนักข่าวสิ่งแวดล้อม จึงขอเสนอบทสัมภาษณ์ ดร.สมนึก จงมีวศิน นักวิชาการภาคประชาสังคมด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ และ สุภาภรณ์ มาลัยลอย ผู้จัดการมูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLAW) ที่ได้มาร่วมพูดคุยแลกเปลี่ยนทรรศนะในประเด็นการเมืองและสิ่งแวดล้อม
การเมืองดีในมุมมองของแต่ละคนเป็นอย่างไรบ้าง
สุภาภรณ์: การเมืองดี มองเรื่องระบบการปกครองของประเทศ โครงสร้างรัฐธรรมนูญก็มีส่วนกับการเมือง เพราะมีเรื่องการถ่วงดุลหรืออำนาจมันโอเค แล้วก็โครงสร้างเรื่องของสิทธิ เสรีภาพของประชาชน องค์กรอิสระมาหนุนเสริมภาคประชาชน หรือกลไกต่างๆ เป็นจุดเริ่มต้นของการเมืองที่ดีได้ ส่วนแรกรัฐธรรมนูญจะต้องถูกนำมาแก้ไขก่อน นำมาสู่การเมืองที่ สส. มาจากการเลือกตั้ง โดยที่โปร่งใสตรวจสอบได้ แล้วชาวบ้าน การเมืองเชื่อมโยงกับประชาชน
สมนึก: การเมืองที่ประชาชนเข้าถึงได้ การเมืองที่เราสามารถส่งเสริมเขาได้ เวทีส่งเสียง ถามว่าทำไมต้องมีเวทีตรงนี้ แทนที่สามารถเข้าไปยื่นเรื่องได้เลย แต่เนื่องจากรัฐบาลเป็นแบบนี้ ธรรมนูญเป็นแบบนี้ การตรวจสอบได้อย่างรอบด้าน แต่ปัจจุบันตรวจสอบไม่ได้เลย รัฐธรรมนูญแทนที่จะตรวจสอบได้ แต่กลับทำให้ตรวจสอบได้ยากขึ้น พอรัฐธรรมนูญมีปัญหาพอจะมีส่วนร่วมในกระบวนการแก้ไขปัญหาก็ยากเย็นมากกว่าทั่วไป วันนี้เราต้องมาเอารายชื่อ ต้องมีกี่รายชื่อขึ้นไป ก็ยังไม่รู้ว่าตัว สว. มีผลผูกพันกับรัฐธรรมนูญด้วย ทำให้เกิดการติดขัดงานอนาคตได้ การเมืองแบบนี้คือการเมืองไม่ดี
ประชาชน นักศึกษา ออกมาพูดคุย เรียกร้องถึงประชาธิปไตย รัฐธรรมนูญ การเมืองดี การเมืองดีจะเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมอย่างไร
สุภาภรณ์ : เราต้องมองเรื่องสิ่งแวดล้อม ผังเมือง หรือการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ ดินน้ำอากาศแร่ธาตุ และสิ่งแวดล้อมทั้งหมด คือการเมือง คือการจัดการทรัพยากรร่วม ซึ่งรัฐบาลมีหน้าที่ออกนโยบายเพื่อจัดการทรัพยากรร่วมเหล่านี้ ให้มีการใช้และกระจายทรัพยากรอย่างเป็นธรรม เพราะฉะนั้น หากการเมืองดี ทุกๆ คน ทุกระดับจะสามารถเข้าถึงทรัพยากรได้อย่างเท่าเทียมกัน มีการแก้ไขผลกระทบและการจัดการสิ่งแวดล้อมที่เป็นธรรม
อย่างไรก็ตาม ตอนนี้รัฐบาลมุ่งเน้นนโยบายพัฒนาเศรษฐกิจที่มุ่งให้ความสำคัญกับจำนวนเงินเป็นหลัก แต่ไม่เห็นประชาชน ทำให้เกิดปัญหาความขัดแย้งโครงการที่ก่อมลพิษในพื้นที่ที่ไม่เหมาะสมผุดขึ้นทั่วประเทศ ซึ่งขัดกับหลักการการจัดการสิ่งแวดล้อมที่เป็นธรรม เพราะโครงการพัฒนาต้องตั้งในพื้นที่ที่เหมาะสม ต้องมองด้วยว่าการที่คุณมาใช้พื้นที่ดินตรงนี้ทำกิจการ มันจะก่อปัญหาให้กับคนในพื้นที่ด้วยไหม
หลายนโยบายสิ่งแวดล้อมของรัฐบาลก็มีปัญหาเช่นกัน เช่น นโยบายการจัดการป่าไม้ รัฐบาลอยากเพิ่มพื้นที่ป่า โดยการไปไล่คนออกจากป่า หรือนโยบายการจัดการทรัพยากรแร่ เราอยากทำเหมืองแร่ในพื้นที่ป่าต้นน้ำ รัฐบาลก็มีระเบียบข้อบังคับที่สามารถออกใบอนุญาตให้ทำลายพื้นที่ป่าเพื่อเปิดเหมืองแร่ได้อย่างง่ายดาย
แล้วความขัดแย้งนโยบายสาธารณะสองอันนี้มันคืออะไร แล้วถ้ามองให้เป็นธรรมพื้นที่ที่มีป่าไม้ที่มีประชาชนอยู่ ถ้าคุณจะเอาพื้นที่ป่าไม้โดยที่ไม่ต้องเอาชุมชนเขาออกมันจัดการได้ไหม หรือถ้าเราจะใช้แร่ มันจำเป็นแค่ไหน คุ้มค่าหรือไม่กับทรัพยากรที่ต้องสูญเสียไป เราต้องมองผลกระทบทุกภาคส่วน ถ้าจะเอาแร่ขึ้นมาแล้วเกิดผลกระทบเยอะ เรายังไม่เอาขึ้นมาได้ไหม ถ้ามันจำเป็นที่จะต้องขุดขึ้นมาต้องมา เราจะต้องดูว่าจะแก้ไขปัญหากับผู้ได้รับผลกระทบอย่างไร ถ้าเทียบแล้วไม่คุ้มค่า ยังไม่เอามาก่อนจะได้ไหมเพราะว่าทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมมันสร้างคืนมาไม่ได้
นโยบายจัดการทรัพยากรยุคสมัยนี้จำเป็นต้องมีการประเมินความคุ้มค่ามิติสิ่งแวดล้อมด้วย ไม่ใช่แค่มองว่าจะได้ตัวเงินจากการพัฒนาเท่าไร เพราะว่าทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่สามารถเอากลับคืนมาได้ใหม่ เราจะอยู่ในสิ่งแวดล้อมแบบไหนในอนาคต
แล้วอย่างเรื่องมลพิษอุตสาหกรรม เป็นเรื่องการเมืองหรือไม่ อย่างไร
สมนึก: เป็นสิ โดยเฉพาะเรื่องมาตรฐานการปล่อยสารมลพิษของโรงงานอุตสาหกรรมนั้นเป็นไปตามกรมควบคุมมลพิษ แต่เกณฑ์มาตรฐานของกรมโรงงานกลับไม่ได้ใช้เกณฑ์มาตรฐานเดียวกัน ซึ่งไม่สอดคล้องกับชีวิตมนุษย์ที่มีเกณฑ์เดียวคือ “อยู่” หรือ “ตาย” เพื่อนผมที่ทำงานเกี่ยวข้องกับโรงงานอุตสาหกรรมพบว่า ตั้งแต่ปี 2535 – 2537 เสียชีวิต 1 ราย บาดเจ็บ 1 ราย พูดในฐานะวิศวกร พ.ร.บ.สิ่งแวดล้อม และ พ.ร.บ.โรงงาน ไม่มีกฎหมายควบคุมมาตรฐานการปล่อยสารที่ส่งผลกระทบร่างกาย นี้คือการเมือง
ตั้งแต่รัฐธรรมนูญปี 2540 เขียนอธิบายอย่างชัดเจนว่าทรัพยากรธรรมชาติเป็นของประชาชน ซึ่งรัฐมีหน้าที่เพียงอำนวยความสะดวกประสานในการดูแลจัดสรร งบประมาณต่างๆ ทว่ารัฐธรรมนูญปี 2550 เปลี่ยนใหม่ทั้งหมดกลายเป็น รัฐต้องจัดการทรัพยากรธรรมชาติร่วมกับประชาชน อีกทั้งรัฐธรรมนูญ 2560 รัฐมีหน้าที่ดำเนินการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ ส่วนประชาชนมีเพียงหน้าที่เข้ามาช่วย เห็นความแตกต่างอย่างชัดเจนระหว่างรัฐธรรมนูญปี 2560 กับ ปี 2540
หน้าที่รัฐกับสิทธิของประชาชนในรัฐธรรมนูญต่างกันอย่างไร
สมนึก: ไม่ต่างกัน หากรัฐธรรมนูญปี 60 ไม่ตัดมาตรา 66 และมาตรา 67 ทว่ารัฐธรรมนูญปี 2560 ไม่มีกฎหมายเรื่องสิทธิชุมชนมาตรา 66 และ 67 (ตามรัฐธรรมนูญ 2550) ที่กำหนดว่า ชุมชนมีสิทธิกำหนดเจตจำนงในการรวมตัว อนุรักษ์ปกป้องทรัพยากรในท้องถิ่น และมีสิทธิเข้าไปมีส่วนร่วม หากมีโครงการที่จะส่งผลกระทบต่อชุมชนเข้ามา ชุมชนสามารถฟ้องร้องดำเนินคดีกับโครงการนั้นหรือหน่วยงานรัฐได้
หลักพึงปฏิบัติหากมีโครงการใดที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม จะต้องทำรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม สุขภาพ และมีหน่วยงานอิสระทำหน้าที่เป็นองค์กรกลางเพื่อตรวจสอบโครงการ แต่ปัจจุบันรัฐกลับละเมิดสิทธิด้านสิ่งแวดล้อมของประชาชน โดยที่ประชาชนไม่สามารถฟ้องรัฐกลับได้
สุภาภรณ์: ในทางกฎหมายสิทธิ์กับหน้าที่มันต่างกัน สิทธิ์เราเรียกร้องกับใครก็ได้ในทั้งรัฐและเอกชนซึ่งมันก่อให้เกิดการละเมิดกับเราแต่พอเป็นหน้าที่รัฐ รัฐจะออกกฎเกณฑ์ออกกฎระเบียบจะทำช่วงไหนยังไงเราก็จะต้องไปเรียกร้องให้รัฐกำหนดกฎเกณฑ์ก่อนที่จะมาดำเนินการ แทนที่จะเป็นสิทธิของประชาชนโดยตรงที่เราจะไปเรียกร้องต่อใครก็ได้อย่างเช่น ที่มันถูกตัดไปแล้วคิดว่ามันเป็นส่วนสำคัญมากคือสิทธิ์ในการในการมีสิ่งแวดล้อมที่ดี ที่จริงทุกคนควรจะมีฐานสิทธิ์นั้นในรัฐธรรมนูญ
พอประชาชนเดือดร้อน ร้องใครได้บ้าง ในรัฐธรรมนูญ 60
สุภาภรณ์: ปัจจุบันสภากลับกลายเป็นศูนย์รับเรื่องร้องเรียนภาคประชาชนทุกประเด็น สะท้อนให้เห็นถึงกลไกโครงสร้างตามรัฐธรรมนูญกำลังล้มเหลวอย่างมาก แท้จริงตามรัฐธรรมนูญปี 2540 – 2560 ว่าด้วยประชาชนถูกละเมิดสิทธิ์ จะต้องไปร้องเรียนคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ซึ่งแทบไม่มีใครได้ยิน การแต่งตั้งกลไกใหม่ ซึ่งไม่สามารถปฏิบัติหรือว่าตรวจสอบได้จริง
สมนึก: พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ปี 2560 ที่กำหนดให้การแต่งตั้งคณะอนุกรรมการมาช่วยเหลือในเรื่องข้อมูลหรือทำการศึกษาเรื่องใด ต้องคํานึงถึงความคุ้มค่าและประสิทธิภาพ รวมถึงต้องเป็นกรณีที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ การแต่งตั้งคณะอนุกรรมการมาช่วยเหลือยากขึ้น
ซึ่งแต่เดิมพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ปี 2542 ให้อำนาจคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ แต่งตั้งบุคคลมาทำหน้าที่เป็นคณะอนุกรรมการเพื่อช่วยเหลือการปฏิบัติงานได้ ซึ่งในทางปฏิบัติ คณะกรรมการชุดใหญ่ไม่มีเวลามากเพียงพอที่จะพิจารณาเรื่องร้องเรียน และปัญหาทุกอย่างได้ จึงต้องแต่งตั้งอนุกรรมการอีกหลายชุดที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะประเด็นขึ้นมาพิจารณาเป็นเรื่องๆ ไป
แสดงว่ากลไกเราเดิมในการแก้ไขปัญหาชาวบ้านมันไม่เดิน
สมนึก: ประชาชนไม่สามารถพึ่งพาระบบราชการ ในการแก้ไขปัญหาได้ เมื่อไม่มีทางเลือกประชาชนต้องให้ สส. รับเรื่องแทนซึ่งไม่ใช่หน้าที่โดยตรง แต่มันเหลือกลไกเดียว ขณะที่กลไกที่แต่งตั้งมากมายอย่างคณะกรรมาธิการ อนุกรรมาธิการ อนุกรรมาธิการขยะ อนุกรรมาธิการกัดเซาะชายฝั่ง และอนุกรรมาธิการน้ำเสีย กลับต้องรอให้หน่วยงานอื่นให้คำตอบ โดยที่หน่วยงานตัวเองนั้นไม่สามารถตัดสินใจได้
จะหาทางแก้อย่างไร อย่างน้อยให้การเมืองมันดีขึ้น
สุภาภรณ์: ต้องแก้ที่รัฐธรรมนูญก่อน ให้โครงสร้างมันเป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง องค์กรอิสระก็เป็นองค์กรอิสระอย่างแท้จริง และอีกส่วนหนึ่งเราจะเห็นว่าอย่างน้อย สส. บางพรรคอำนวยความสะดวกใช้วิธีสภาในการเปิดข้อมูลให้ทุกคนได้รู้ว่าที่ผ่านมาดำเนินการอย่างไร ข้อมูลรัฐบาลเรื่องการใช้เงินงบประมาณ ภาษี เป็นส่วนสำคัญที่ควรจะตรวจสอบได้ว่าคุณใช้ไปในส่วนไหนมากกว่ากัน แล้วใช้อย่างมีประสิทธิภาพไหม หากบางเรื่องใช้แล้วไม่ได้มีประสิทธิภาพแล้วก็ไม่ถูกตรวจสอบ เสมือนการใช้เงินโดยที่ไม่ได้ก่อให้เกิดผลประโยชน์สาธารณะ เพราะฉะนั้นส่วนหนึ่งสภาจึงเป็นกลไกประชาธิปไตย รัฐสภาดำเนินนโยบายอย่างโปร่งใสตรวจสอบได้
เรื่องการตรวจสอบ ไม่ใช่เรื่องของการขอเข้าถึงข้อมูล แต่คือเรื่องการเปิดเผยข้อมูล เรามักจะพูดถึงเรื่องของการเข้าถึงข้อมูลแล้วบอกว่าขอได้ทุกเรื่อง ซึ่งมันไม่มีวิธีการเข้าถึงข้อมูลอย่างสักที ถ้าเป็นข้อมูลสาธารณะมันควรจะต้องเปิดเผยให้เราเข้าถึงเลยโดยไม่ต้องขอ คือเราจะต้องใช้พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสาร เพื่อที่จะขอ และตรวจสอบ อย่างเรื่องการใช้งบประมาณโครงการรัฐควรจะเปิดเผยข้อมูลทั้งหมด และสามารถตรวจสอบได้ ว่ารัฐจะใช้งบประมาณแบบนี้เพื่ออะไร อย่างไร เสียงของประชาชนในการตรวจสอบเป็นเสียงที่ส่งตรงไปได้ที่สภา
คิดว่าต้องเริ่มจากการปรับรัฐธรรมนูญให้โครงสร้างเปลี่ยนไปเป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริงเปิดเผย โปร่งใส ตรวจสอบได้มีการถ่วงดุลอำนาจ การใช้อำนาจสภาอย่างแท้จริงมันเป็นจุดเริ่มจากตรงนี้
สมนึก: เพราะรัฐธรรมนูญ ที่ทำให้พ.ร.บ.สิ่งแวดล้อม จากดีกลายเป็นแย่ วันดีคืนดีมีมาตรา 44 ขึ้นมาเป็นคำสั่ง คสช.ที่9/2559 ที่มีสาระสำคัญ คือ การแก้ไข กฎหมายสิ่งแวดล้อม ให้หน่วยงานขอ ครม. อนุมัติคัดเลือกเอกชนมาดำเนินโครงการจำเป็นเร่งด่วนได้ก่อน ควบคู่ไปกับรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม EIA โครงการส่วนใหญ่งบประมาณกว่าพันล้าน
นอกเหนือที่ประชาชนจะประมูลได้ คนที่จะจัดงานประสานได้คือรัฐครับ หลายโครงการแล้ว เช่น รถไฟฟ้าความเร็วสูง สุดท้ายการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ต้องมาทำเอง ไม่ใช่บริษัทที่เป็นเจ้าของโครงการที่ประมูลได้ พูดระดับยักษ์ใหญ่หลายๆบริษัท อย่างท่าเรือแหลมฉบัง แต่ปรากฏว่าค่าใช้จ่ายกลับกลายเป็นการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เป็นคนจ่าย เงินที่จ่ายคือภาษีใคร เรือดำน้ำเองก็ใช่
สุภาภรณ์: ระบบการเมืองพัฒนาแบบนี้ ที่จากส่วนกลางที่ไม่ได้จากส่วนกลุ่มคน คือมันไม่ใช่จากสภาที่มีส่วนร่วม พอมันเป็นแบบนี้มันทำให้หน่วยงานรัฐตายไป ไม่มีบทบาทอย่างเช่น EEC มีที่ไหนที่ให้คณะบริหารEEC มานั่งบริหารการพัฒนาตรงนี้ ก็เริ่มต้นมาจากโครงการพัฒนาทั้งหมด อย่างนิคมอุตสาหกรรมจะนะ ที่จะลงไปพัฒนาก็คิดมาจากหน่วยงานหนึ่ง อย่างจะพัฒนาแต่การตอบโจทย์แก้ไขปัญหาของจะนะได้เข้าไปร่วมพูดคุยกันไหมว่าการแก้ไขปัญหาในมิติเรื่องความมั่นคงหรือเศรษฐกิจทางเลือกมันมีอย่างอื่นหรือไม่
เศรษฐกิจพิเศษ 10 พื้นที่ ที่กำลังจะอย่างสระแก้วนำเสนอตอนแรกบอกว่าจะเป็นอุตสาหกรรมสีเขียวตอนนี้จะเปลี่ยนเป็นที่ทิ้งขยะใครจะรับผิดชอบ พอนโยบายถูกคิดมาจากพัฒนามาจากส่วนกลางโดยไม่มีการประเมินและไม่มีส่วนร่วมกับชาวบ้าน เมื่อเกิดปัญหาก็พยายามที่จะแก้ปัญหาแบบไม่ย้อนกลับไปว่าปัญหามาจากไหน
สมนึก: อันนี้คือปัญหาจากคำสั่ง คสช.แต่รัฐธรรมนูญ ปี 2560 ให้ต่อคำสั่งคสช.ไปได้ในบทเฉพาะกาล คำสั่งคสช.ออกใหม่ไม่ได้ของเก่ายังมีอยู่มันก็ทำให้เราไม่สามารถแก้ปัญหาได้สักที รัฐธรรมนูญฉบับนี้มีปัญหามาก
สุภาภรณ์: ย้อนกลับไปคนเมือง คนเมืองเกี่ยวข้องอะไรกับโครงการขนาดใหญ่ คนกรุงเทพฯอย่างเช่นการเดินทางด้วยเท้าเขาเคยถามคนกรุงเทพฯไหมว่าอยากพัฒนารถไฟฟ้า อยากพัฒนาถนน หรือว่าอยากมีเส้นทางปั่นจักรยาน หรือว่าอยากมีทางเดินยังไงหรือว่าเคยคุยกับคนพิการไหมว่าเขามีปัญหาในการเดินทางกันยังไง โครงการทั้งหลายเคยถามใครไหม จะสร้างเส้นรถไฟฟ้าก็จะสร้างทุกเส้นมันติดกันตลอด วนทั้งทุกอันเลยแต่กลับไม่ได้มีการประเมินเลยว่าจะเริ่มจากตรงไหน
เรื่องนี้เกี่ยวกับการเมือง การวางผังเมืองเกี่ยวกับการมองทิศทางการพัฒนาที่มันต้องมีส่วนร่วม ถ้าทุกคน หรือรัฐ มองว่าประชาชนทุกคนมีสิทธิ์พื้นฐานในการมีสิ่งแวดล้อมที่ดี ที่ปลอดภัย ไม่ก่อให้เกิดผลกระทบ ถ้าเรามองกันแบบนี้ การพัฒนาใดๆควรได้รับการประชุมก่อนเสมอ ร่วมตัดสินใจแล้วว่ามีได้ถ้าเกิดผลกระทบ อย่างน้อยเราก็ร่วมแก้ไขปัญหาไม่เกิดความขัดแย้ง ความรุนแรง
พอมีความหวังไหมครับว่าการเมืองจะดีขึ้นและสิ่งแวดล้อมจะดีขึ้นด้วย
สมนึก: ผมว่าตรงนี้มันเป็นเรื่องใหม่ ถ้ามองว่ารัฐธรรมนูญปี 2560 ผมมองว่าไม่มีความหวัง
สุภาภรณ์: พี่มีความหวังในประชาชนปลดแอกแล้ว แล้วก็นักศึกษาลุกขึ้นมาเรียกร้อง พี่รู้สึกว่าเยาวชนน้องๆได้พูดรู้สึกว่ามีความสำคัญมาก น้องเริ่มที่จะตรวจสอบอาจารย์คุณครูที่จะมาละเมิดสิทธิ์เขากล้าที่จะพูดเรื่องนี้ พูดในมิติการเมือง สิทธิ์ของตัวเองในการที่จะเข้าถึงไปตรวจสอบการใช้งบประมาณของรัฐ
อันนี้คือจุดเริ่มต้น อย่างที่อาจารย์เขียว พูดถึงเรื่องการเมืองเรื่องสิทธิมนุษยชน ถ้าเราพูดถึงเรื่องสิทธิมนุษยชนเพิ่มขึ้นที่เยาวชน จัดกับการชุมนุมของเยาวชน พูดถึงเรื่องสิทธิมนุษยชนทุกประเด็น ทั้งเรื่องเพศสภาพ สิทธิ์ของการพัฒนาต่างๆ เชิญพี่น้องที่ได้รับผลกระทบเข้าไปร่วมบำนาญสวัสดิการ คือเชิญตัวแทนเราก็เลยรู้สึกว่านี้แหละคือจุดเริ่มการเปลี่ยนแปลงที่เขาเห็นว่าสิทธิ์ของเขาถูกละเมิดแล้วก็อยากให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ก็เลยคิดว่าอันนี้คือความหวัง