เบื้องลึกข้าวโพดข้ามพรมแดน #3: ผ่าทางตันข้าวโพดพันธสัญญา ชูเกษตรยั่งยืนสู้โลกร้อน

มรสุมโลกร้อนซ้ำเติมความทุกข์ยากชาวไร่ข้าวโพดรัฐฉาน ผู้เชี่ยวชาญและนักรณรงค์สิ่งแวดล้อมเตือน การเพาะปลูกข้าวโพดเชิงเดี่ยวลดทอนความสามารถชุมชนเกษตรในการปรับตัวรับผลกระทบการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ย้ำเกษตรกรควรหันกลับสู่วิถีเกษตรผสมผสาน ปรับใช้ความหลากหลายทางชีวภาพท้องถิ่นเป็นเครื่องมือสร้างความยั่งยืนระบบการผลิตภาคเกษตรสู้โลกร้อน

หนึ่งในผลงานชิ้นเอกของแกลลอรีแสดงงานศิลปะเล็กๆ ของกลุ่มศิลปินรักษ์สิ่งแวดล้อม Our Lovely World ณ ใจกลางเมืองตองจี เมืองหลวงของรัฐฉาน ประเทศพม่า คือภาพโมเสกแผนที่รัฐฉาน ทำจากเมล็ดพันธุ์ธัญพืชหลากสี บนแผ่นไม้กระดานเรียบๆ แม้ว่างานศิลปะชิ้นนี้จะไม่สะดุดตานัก เมื่อเทียบกับผลงานศิลปะเพื่อสิ่งแวดล้อมอื่นๆ

ความหลากหลายทางชีวภาพ
Eait Htoo ศิลปินรักษ์สิ่งแวดล้อม กับผลงาน แผนที่เมล็ดพันธุ์รัฐฉาน / ปรัชญ์ รุจิวนารมย์ / สำนักข่าวสิ่งแวดล้อม

Eait Htoo ศิลปินเจ้าของผลงาน ผู้ประสานงานกลุ่ม Our Lovely World เปิดเผยว่า สิ่งที่ทำให้ผลงานชิ้นนี้มีความโดดเด่นกว่าผลงานชิ้นอื่นๆ อยู่ที่เมล็ดพันธุ์พืชหลากชนิด ซึ่งต่างเป็นพืชอาหารท้องถิ่นจากแต่ละท้องที่ในรัฐฉาน ประกอบกันเป็นแผนที่รัฐฉาน ทำให้ผลงานชิ้นนี้เป็นตัวแทนภาพความรุ่มรวยทางพันธุกรรมพืชอาหารของรัฐฉานในอดีตได้อย่างตรงไปตรงมา

“นอกจากรัฐฉานจะมีความโดดเด่นด้านความหลากหลายทางชาติพันธุ์ ภูมิภาคนี้ยังมีพืชพรรณธัญญาหารท้องถิ่นที่หลากหลายทัดเทียมกัน จากภูมิหลังที่แต่ละหมู่บ้านกลุ่มชาติพันธุ์จะทำไร่หมุนเวียน เพาะปลูกข้าวไร่ ข้าวฟ่าง ถั่วเหลือง งา และพืชอาหารอื่นๆ หลากชนิด ซึ่งล้วนแต่เป็นพืชสายพันธุ์ท้องถิ่นที่สืบทอดส่งต่อกันมาจากรุ่นสู่รุ่น เป็นเอกลักษณ์ของแต่ละกลุ่มชาติพันธุ์” Eait Htoo กล่าว

“อย่างไรก็ตาม ภาพความหลากหลายทางชีวภาพของพืชอาหารของรัฐฉานกำลังจะเลือนหายไป หลังจากที่เกษตรกรจำนวนมากหันไปเพาะปลูกข้าวโพดเชิงเดี่ยวในระบบเกษตรพันธสัญญา เป็นเหตุให้กว่า 80% ของสายพันธุ์พืชอาหารท้องถิ่นสูญหายไปแล้ว นับตั้งแต่กลุ่มอุตสาหกรรมเมล็ดพันธุ์พืชและอาหารสัตว์เข้ามาส่งเสริมการทำไร่ข้าวโพดเชิงเดี่ยว เมื่อหลายสิบปีก่อน”

เขาชี้ว่า ความหลากหลายทางชีวภาพของสายพันธุ์พืชอาหารท้องถิ่นในรัฐฉานที่กำลังลดลงอย่างต่อเนื่อง ถือเป็นปัญหาที่น่ากังวลอย่างยิ่ง เนื่องจากสายพันธุ์พืชอาหารเหล่านี้ถือเป็นหลักประกันสำคัญต่อความมั่นคงทางอาหารและความเป็นอยู่ที่ดีของชุมชน การสูญหายของสายพันธุ์พืชท้องถิ่นจึงทำให้เกษตรกรต้องพึ่งพิงการผลิตข้าวโพดเชิงอุตสาหกรรมเป็นหลัก ส่งผลให้วิถีชีวิตของชุมชนตกอยู่ในความเสี่ยงผลกระทบทางสังคมและสิ่งแวดล้อมจากระบบเกษตรพันธสัญญาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

“แม้ว่าการทำไร่ข้าวโพดเชิงเดี่ยวจะเป็นต้นเหตุของปัญหาฝุ่นควันข้ามพรมแดน การปนเปื้อนสารเคมีเกษตรในสิ่งแวดล้อม และทำให้เกษตรกรรายย่อยจำนวนมากต้องประสบกับปัญหาหนี้สินและภาวะขาดทุนซ้ำซาก นำไปสู่ความเสี่ยงต่อปัญหาสังคมอื่นๆ เช่น การสูญเสียที่ดินทำกิน ความไม่มั่นคงทางอาหาร หรือกระทั่งการตกเป็นเหยื่อค้ามนุษย์ อย่างไรก็ตามเกษตรกรท้องถิ่นส่วนใหญ่ยังคงต้องหาเลี้ยงชีพด้วยการทำไร่ข้าวโพดในระบบเกษตรพันธสัญญาต่อไปอย่างไม่มีทางเลือก” เขากล่าว

“จากสถานการณ์ปัญหาที่เกิดขึ้น เสมือนกับว่าเรากำลังตกเป็นเหยื่อการล่าอาณานิคมสมัยใหม่ ที่บรรษัทอุตสาหกรรมอาหารข้ามชาติเข้ามาตักตวงผลประโยชน์จากทรัพยากรท้องถิ่น และผูกมัดเกษตรกรให้ตกเป็นทาสภายใต้ระบบเกษตรพันธสัญญาอันไม่เป็นธรรม”

ยิ่งไปกว่านั้น เขาระบุว่า การที่เกษตรกรรัฐฉานหันไปพึ่งพิงการทำเกษตรเชิงเดี่ยว และสูญเสียเมล็ดพันธุ์ท้องถิ่น ยังส่งผลให้พวกเขายิ่งเปราะบางต่อผลกระทบการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เนื่องจากสภาพอากาศแปรปรวนและภัยพิบัติเช่น น้ำท่วม น้ำแล้ง เกิดขึ้นถี่และมีความรุนแรงมากขึ้น ทำให้พืชผลการเกษตรเสียหาย ดังนั้นการทำเกษตรพืชเชิงเดี่ยวจึงมีความเสี่ยงสูงกว่าที่จะประสบปัญหานาล่ม

“การเพาะปลูกพืชท้องถิ่นมีข้อดีตรงที่ สายพันธุ์พืชท้องถิ่นจะมีความต้านทานต่อโรคพืชและสภาวะอากาศของพื้นที่ได้ดีกว่าสายพันธุ์พืชลูกผสมตัดแต่งพันธุกรรมที่บรรษัทอาหารข้ามชาติส่งเสริม นอกจากนี้เกษตรกรยังสามารถเก็บเมล็ดพันธุ์และปรับปรุงสายพันธุ์พืชของตนให้รับกับสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงได้ ต่างจากสายพันธุ์พืชลูกผสมที่มีสิทธิบัตร นับเป็นแนวทางสำคัญในการสร้างความยั่งยืนทางอาหารและความสามารถในการปรับตัวรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสำหรับชุมชน” เขาอธิบาย

ไร่ข้าวโพด
ป้ายโฆษณาเมล็ดพันธุ์ข้าวโพดลูกผสมของบรรษัทเมล็ดพันธุ์ กับแปลงไร่ข้าวโพดเชิงเดี่ยว รัฐฉาน / ปรัชญ์ รุจิวนารมย์ / สำนักข่าวสิ่งแวดล้อม

ด้วยเหตุนี้ Eait Htoo ย้ำว่า บรรษัทอาหารยักษ์ใหญ่จึงเป็นผู้รับผลประโยชน์หลักจากการส่งเสริมเพาะปลูกไร่ข้าวโพดเชิงเดี่ยว ในขณะที่เกษตรกรท้องถิ่นรัฐฉานกลับต้องเป็นผู้แบกรับผลกระทบทั้งในระยะสั้นและระยะยาวจากอุตสาหกรรมไร่ข้าวโพด

“ผมหวังว่าผู้ประกอบการอุตสาหกรรมข้าวโพดและอาหารสัตว์จะมีความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมให้มากขึ้น และปรับการดำเนินธุรกิจให้สอดคล้องกับหลักความยั่งยืนและความเป็นธรรมทางสังคม ไม่ใช่เพียงแต่ทำโครงการ CSR ฉาบฉวยเป็นครั้งคราวเท่านั้น” เขากล่าว

 

บนทางเลือกสู้โลกร้อน เกษตรผสมผสานคือทางรอดของเกษตรกรรัฐฉาน

เป็นที่ยอมรับกันอย่างกว้างขวางในวงวิชาการแล้วว่า ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้เกิดขึ้นแล้วในพม่า จากรายงานสถานการณ์ความมั่นคงทางอาหารประเทศพม่าประจำปี ค.ศ.2020 โดยองค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) เผยว่า ในปีที่ผ่านมา พม่าเผชิญกับสภาวะฝนแล้ง ฤดูฝนมาล่าช้ากว่าปกติ เป็นเหตุให้เกษตรกรต้องเลื่อนการเพาะปลูกข้าวและข้าวโพดออกไปกว่า 1 เดือน ชี้ให้เห็นว่าภาคเกษตรเป็นหนึ่งในกลุ่มเปราะบางที่จะได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมากที่สุด เพราะกว่า 80% ของภาคเกษตรพม่ายังคงพึ่งพาน้ำฝนเป็นหลัก

เนื่องด้วยอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกที่ยังคงพุ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง Wilson John Barbon ผู้อำนวยการโครงการประจำประเทศพม่า สถาบันฟื้นฟูชนบทระหว่างประเทศ (IIRR) เปิดเผยว่า หากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ไม่มีการผลักดันให้เกิดการปรับเปลี่ยนวิถีการผลิตภาคเกษตรให้มีความยั่งยืน และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมยิ่งขึ้น เราคงไม่อาจหลีกเลี่ยงผลกระทบจากวิกฤติการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคตได้

“นอกจากฤดูฝนที่มาล่าและสภาวะฝนแล้งในช่วงต้นฤดูฝนของปีที่ผ่านมา ปริมาณฝนกลับตกมากผิดปกติในช่วงฤดูกาลเก็บเกี่ยว ยังทำให้เกษตรกรรัฐฉานต้องประสบกับปัญหาพืชผลการเกษตรเสียหาย แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า สภาวะอากาศแปรปรวนผิดฤดูกาลกำลังกลายเป็นปัญหาซ้ำซากของภูมิภาคในอนาคต” Barbon กล่าว

ความแปรปรวนของสภาพอากาศที่เกิดขึ้นถี่และรุนแรงขึ้น สอดคล้องกับ รายงานการศึกษาผลกระทบสภาวะการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในพื้นที่หมู่บ้าน Thaungkamau เขตเมือง Nyaungshwe ในรัฐฉานตอนใต้ ที่ซึ่ง Barbon เป็นหนึ่งในคณะวิจัย ซึ่งเปิดเผยว่า ในช่วงไม่กี่ปีมานี้ สภาพอากาศของภูมิภาคดังกล่าวมีแนวโน้มที่จะร้อนและแล้งยิ่งขึ้น อันเป็นปัจจัยเสริมทำให้ดินเสื่อมและเกิดการกัดเซาะรุนแรงขึ้น รวมถึงทำให้เกิดโรคพืชและศัตรูพืชมากขึ้น ส่งผลกระทบโดยตรงต่อการผลิตภาคเกษตร

ทะเลสาบอินเล
แปลงเกษตรในทะเลสาบอินเล เป็นหนึ่งในพื้นที่เกษตรที่เหลือไม่มากในรัฐฉานที่เกษตรกรยังคงเก็บรักษาเมล็ดพันธฺุดั้งเดิมในการเพาะปลูกพืชแบบผสมผสาน / ปรัชญ์ รุจิวนารมย์ / สำนักข่าวสิ่งแวดล้อม

จากปัญหาผลกระทบการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต่อวิถีชีวิตการดำรงชีวิตของเกษตรกรรัฐฉาน เขาเผยว่า IIRR ได้ร่วมมือกับ กรมวิชาการเกษตรพม่า องค์กรพัฒนาเอกชนท้องถิ่น และองค์กรนานาชาติที่เกี่ยวข้อง ริเริ่มและดำเนินโครงการ หมู่บ้านต้นแบบรับมือโลกร้อน หรือ Climate-Smart Villages project ในพื้นที่นำร่อง หมู่บ้านกสิกรรม 4 แห่ง ในพื้นที่ 4 ภูมิภาคของประเทศพม่า ซึ่งหนึ่งในนั้นได้แก่ หมู่บ้าน Thaungkamau ในพื้นที่ภูเขาสูงของรัฐฉานตอนใต้ เพื่อเป็นพื้นที่ศึกษาทดลองนวัตกรรมและกลยุทธ์การทำเกษตร ที่สามารถช่วยเสริมศักยภาพของชุมชนเกษตรท้องถิ่น ให้ปรับตัวรับมือกับสภาพอากาศและสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไปได้อย่างยั่งยืน

“เราได้เรียนรู้บทเรียนสำคัญจากการดำเนินโครงการ Climate-Smart Villages ที่หมู่บ้านหมู่บ้าน Thaungkamau ว่า การทำเกษตรผสมผสาน ถือเป็นหัวใจสำคัญในการสร้างความเข้มแข็งในการรับมือการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของชุมชน เพราะนอกจากการปลูกพืชหลากหลายช่วยลดความเสี่ยงพืชผลการเกษตรเสียหายยกแปลง เกษตรกรยังสามารถเข้าถึงแหล่งอาหารที่หลากหลายจากพืชผลที่ปลูก ยี่งไปกว่านั้น การทำเกษตรผสมผสานยังเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ช่วยรักษาความสมบูรณ์ของดินและระบบนิเวศ เพราะไม่จำเป็นต้องใช้ปุ๋ยเคมีและสารเคมีกำจัดศัตรูพืช เหมือนกับการทำเกษตรเชิงเดี่ยว” เขากล่าว

“การปลูกพืชหลากหลายในแปลงยังช่วยปกป้องพื้นที่เกษตรจากสภาพอากาศแปรปรวน ยกตัวอย่างเช่น การปลูกไม้ผลและพืชยืนต้นสามารถช่วยป้องกันแปลงเกษตรจากลมพายุและอากาศร้อน เพราะไม้ยืนต้นจะทำหน้าที่ช่วยดูดซับแรงลมพายุและลดอุณหภูมิ นอกจากนี้ การปลูกถั่วสลับกับข้าวโพด ยังจะช่วยป้องกันหน้าดินไม่ให้ถูกลมฝนกัดเซาะ และช่วยเติมธาตุอาหารให้ดินอีกด้วย”

เขายังตั้งข้อสังเกตอีกว่า นับตั้งแต่วิกฤติการระบาดไวรัส COVID-19 เมื่อต้นปีที่ผ่านมา ซึ่งส่งผลกระทบทำให้การเดินทางและการขนส่งทั่วโลกต้องหยุดชะงัก จนเกิดปรากฎการณ์สินค้าอาหารขาดตลาด ชี้ให้เห็นถึงความเปราะบางอย่างยิ่งของระบบการผลิตอาหารแบบอุตสาหกรรมสมัยใหม่ ยิ่งทำให้เห็นถึงความจำเป็นที่เราควรต้องส่งเสริมให้เกษตรกรท้องถิ่น เปลี่ยนวิถีหันมาทำเกษตรผสมผสาน โดยใช้และเก็บรักษาเมล็ดพันธุ์ท้องถิ่น อันเป็นการสร้างให้เกิดความมั่นคงทางอาหารจากฐานราก

“ผมหวังว่าแนวทางการทำเกษตรผสมผสาน เพื่อแก้ปัญหาผลกระทบการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ที่ หมู่บ้าน Thaungkamau จะเป็นแบบอย่างในการปรับเปลี่ยนวิถีการทำเกษตร ให้กับชุมชนอื่นๆ ให้สามารถสร้างเสริมความมั่นคงทางอาหารและวิถีชีวิตชุมชนอย่างยั่งยืนได้เช่นกัน”

 

บรรษัทเมล็ดพันธุ์ไทยยืนยัน ยึดถือแนวทางความยั่งยืนในการดำเนินธุรกิจข้ามพรมแดน

ขณะเดียวกัน วรสิทธิ์ สิทธิวิชัย รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส Charoen Pokphand Produce Myanmar (CPP Myanmar) บริษัทผู้ลงทุนในธุรกิจข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และอุตสาหกรรมอาหารสัตว์รายใหญ่ที่สุดในประเทศพม่า เปิดเผยว่า หลักการความยั่งยืน เป็นหนึ่งในหลักการข้อที่สำคัญที่สุดที่ทุกกิจการในเครือ CP Group รวมถึงบริษัท CPP Myanmar ยึดถือเป็นสรณะในการดำเนินธุรกิจทุกรูปแบบ รวมไปถึง การส่งเสริมการเพาะปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในรัฐฉาน

“CPP Myanmar ถือเป็นบริษัทผู้ลงทุนต่างชาติรายแรกๆ ที่ขยายฐานการประกอบธุรกิจมายังประเทศพม่า โดยหลักการสำคัญที่เรายึดถือ ตลอดกว่า 20 ปีที่ผ่านมา นับตั้งแต่วันแรกที่เรามาลงทุนที่นี่ คือ ธุรกิจและชุมชนท้องถิ่นจะต้องเติบโตไปพร้อมๆ กัน” วรสิทธิ์ กล่าว

เขาเปิดเผยว่า การเข้ามาลงทุนส่งเสริมให้เกษตรกรท้องถิ่นในรัฐฉานหันมาทำไร่ข้าวโพด เพื่อส่งขายเป็นวัตถุดิบอาหารสัตว์ให้กับบริษัท เกิดจากความตั้งใจที่จะยกระดับรายได้และคุณภาพชีวิตของชุมชน เพราะแม้ว่าก่อนหน้านี้ชาวบ้านมีการเพาะปลูกข้าวโพดสายพันธุ์พื้นเมืองอยู่แล้ว แต่ว่าสายพันธุ์ข้าวโพดของชาวบ้านให้ผลผลิตน้อยและคุณภาพไม่ดีนัก จึงไม่สามารถขายได้ราคาดีนัก ดังนั้นบริษัทจึงนำเมล็ดพันธุ์ข้าวโพดลูกผสมที่มีการปรับปรุงพันธุ์ให้สามารถให้ผลผลิตสูงและมีคุณภาพ สามารถขายได้ราคาสูง มาให้เกษตรกรเพาะปลูก

ข้าวโพด
ฝักข้าวโพดสายพันธุ์ผสม ในไร่ข้าวโพดเชิงเดี่ยว พื้นที่รัฐฉาน / ปรัชญ์ รุจิวนารมย์ / สำนักข่าวสิ่งแวดล้อม

สำหรับปัญหาผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต่อเกษตรกรไร่ข้าวโพด เขากล่าวว่า CPP Myanmar ได้ตระหนักถึงปัญหาดังกล่าว และได้มีการปรับปรุงเมล็ดพันธุ์ข้าวโพดสายพันธุ์ใหม่ๆ อย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้เมล็ดพันธุ์เหล่านี้สามารถปรับตัวให้เข้ากับสภาพอากาศและสภาพแวดล้อมที่แปรปรวนยิ่งขึ้นได้

“นอกจากนี้ CPP Myanmar ยังมีการทำงานร่วมมือใกล้ชิดกับหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง หน่วยงานปกครองส่วนท้องถิ่น รวมไปถึงเกษตรกรในชุมชน ในการขับเคลื่อนโครงการเพื่อสังคม (CSR) หลากหลายโครงการ ที่มุ่งเป้าเสริมความเข้มแข็งให้กับชุมชนในการรับมือกับผลกระทบการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รวมถึงสร้างความมั่นคงทางอาหาร และความยั่งยืนของชุมชน” วรสิทธิ์ กล่าว

CPP Myanmar เปิดเผยว่า ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 19 – 20 สิงหาคม ที่ผ่านมา บริษัท CPP Myanmar ร่วมกับ ตัวแทนกระทรวงป่าไม้ กรมวิชาการเกษตร คู่ค้าในประเทศพม่า และชุมชนในเขตเมืองตองจี รัฐฉาน จัดโครงการการปลูกป่าในบ้าน CPP (Green Home CPP) โดยได้ร่วมกับชุมชนปลูกต้นกระถินเทพากว่า 1,400 ต้น ในพื้นที่หมู่บ้านบาฮานเจ็ต และหมู่บ้านเจ่าก์หนี่ เพื่อเป็นการเพิ่มพื้นที่สีเขียว และแจกกล้ามะขามหวาน 400 ต้น ให้เกษตรกรไปเพาะปลูกในพื้นที่เกษตรของตน รวมถึงได้มีการร่วมกันทำธนาคารน้ำใต้ดิน เพื่อเพิ่มแหล่งกักเก็บน้ำให้กับชุมชน

โครงการดังกล่าวเป็นโครงการต่อเนื่องจากต้นปี พ.ศ.2563 ที่บริษัท CPP Myanmar ได้นำคณะอาจารย์ผู้เชี่ยวชาญลงพื้นที่ 2 หมู่บ้าน เพื่อจัดอบรมการใช้และขยายเชื้อไตรโคเดอร์มาเพื่อใช้ในการย่อยสลายตอซังพืชในไร่ลดปัญหาการเผา และส่งเสริมการแปรรูปเศษตอซังข้าวโพดให้เป็นภาชนะต่างๆ

 

บทความที่เกี่ยวข้อง