CEA เปิดตัวนวัตกรรมพลังงาน โซล่า “Solar Land ล่า ท้า แสง สู้อนาคต” ส่งเสริมใช้พลังงานสะอาด

สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (CEA) เปิดตัวโครงการนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาองค์ความรู้และส่งเสริมการใช้พลังงานแสงอาทิตย์ นำเสนอนิทรรศการ “Solar Land ล่า ท้า แสง สู้อนาคต” รวมนวัตกรรมพลังงานแสงอาทิตย์โดยคนไทย และผลงานทั่วโลกกว่า 30 ชิ้น

เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม พ.ศ. 2563 เวลา 14.30 น. สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (CEA) และ สำนักงานคณะกรรมการกำกับพลังงาน ร่วมเปิดตัวโครงการนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาองค์ความรู้และส่งเสริมการใช้พลังงานแสงอาทิตย์ โดยนำเสนอนิทรรศการ “Solar Land ล่า ท้า แสง สู้อนาคต” ณ ห้องแกลเลอรี่ ชั้น 1 ศูนย์สร้างสรรค์การออกแบบ (TCDC) กรุงเทพฯ 

สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (CEA) และ สำนักงานคณะกรรมการกำกับพลังงาน ร่วมเปิดงานนิทรรศการ “Solar Land ล่า ท้า แสง สู้อนาคต” / สำนักข่าวสิ่งแวดล้อม / จรัสรวี ไชยธรรม

โครงการดังกล่าว ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับพลังงาน พ.ศ. 2562 มุ่งเน้นการพัฒนานวัตกรรม, ผลิตภัณฑ์ต้นแบบแสงอาทิตย์ และสร้างความเข้าใจเรื่องการใช้พลังงานแสงอาทิตย์ให้กับประชาชน เพื่อเผยแพร่องค์ความรู้ด้านเทคโนโลยี, นวัตกรรม, แนวคิดการออกแบบผลิตภัณฑ์, และบริการ ผ่านรูปแบบเล่นเกมเกมเศรษฐี (SOLAR MONOPOLY: Interactive Life-Size Monopoly Game) เดินเกมผ่านการทอยลูกเต๋าจากแอปพลิเคชั่นภายในงาน

นอกจากนี้ภายในนิทรรศการได้รวบรวม นวัตกรรมพลังงานแสงอาทิตย์จากทั่วโลกกว่า 30 ชิ้น อาทิ เครื่องกรองน้ำพลังงานแสงอาทิตย์แบบพกพา Solvatten, ถังขยะและระบบจัดการขยะพลังงานแสงอาทิตย์ Bigbelly, ไฟฉายพลังงานแสงอาทิตย์ขนาดพกพา Little Sun โดย Olafur Eliasson และ ผลงานนวัตกรรมโดยคนไทยที่ได้ถูกคัดเลือกรับทุน ทดสอบในพื้นที่จริง

อภิสิทธิ์ ไล่สัตรูไกล ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ กล่าวว่า สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (CEA) พัฒนาโครงการที่ประชาชนสามารถมีส่วนร่วมระดมสมองนำแนวความคิดอย่างสร้างสรรค์ สร้างนวัตกรรมพลังงานแสงอาทิตย์ นำไปสู่การพัฒนาต้นแบบพร้อมทั้งทดสอบ และนำเสนอในงานนิทรรศการ “SOLAR LAND ล่า ท้า แสง สู้อนาคต” เพื่อเผยแพร่องค์ความรู้ด้านพลังงานทางเลือก สร้างความเข้าใจ และการต่อยอดนวัตกรรมให้เกิดประโยชน์กับหน่วยงานภาครัฐ เอกชน และเป็นทางเลือกหนึ่งให้กับประชาชน

บัณฑูร เศรษฐศิโรตม์ กรรมการกำกับกิจการพลังงาน เปิดเผยว่า สำนักงานคณะกรรมการกำกับพลังงาน ร่วมกับสมาชิกภาคีเครือข่ายในโครงการของ กกพ. โดยมีสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์เป็นสมาชิก จัดทำโครงการนวัตกรรมพลังงานทดแทนจากแสงอาทติย์ มีเป้าหมายในการสร้างความตระหนักถึงความสำคัญของการพัฒนาพลังงานสะอาด เพื่อสร้างความยั่งยืนให้กับภาคพลังงานของประเทศ ให้สอดคล้องตามเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (SDGs) 

“พลังงานแสงอาทิตย์คือพลังงานทดแทนที่ทุกคนมีโอกาสสามารถเข้าถึงได้อย่างเท่าเทียมกัน พลังงานทดแทนยังช่วยลดปัญหาความเหลื่อมล้ำ เช่น การศึกษา ในพื้นที่ห่างไกลได้มีพลังงานทดแทนเป็นแสงสว่างเพื่อการศึกษา แต่การแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมในปัจจุบัน แค่เพียงจิตสำนึกอย่างเดียวยังไม่พอ เราต้องเร่งเวลาถึงแม้ปัญหาจะยังไม่เกิดขึ้นในวันนี้ แต่เราต้องแก้ไขปัญหาให้ได้นี้คือทางรอดอนาคตของเรา ” บัณฑูร กล่าว

“SOLARPOH โป๊ะนี้ปลอดภัย” ระบบพัฒนาบริการท่าเรือนวัตกรรมพลังงานแสงอาทิตย์โดยคนไทย หนึ่งในผลงานที่ผ่านการคัดเลือกทดสอบพื้นที่จริง 

แบบจำลอง SOLARPOH โป๊ะนี้ปลอดภัย พื้นที่ท่าน้ำสี่พระยา / สำนักข่าวสิ่งแวดล้อม / จรัสรวี ไชยธรรม

บัญชา สระทอง ผู้จัดการบริษัท ไอบอคซ์ จำกัด, พงศธร ละเอียดอ่อน ประธานผู้อำนวยการออกแบบ บริษัท ฟิฟดีไซน์ จำกัด และทีม ร่วมกันสร้างสรรค์นวัตกรรมพลังงานแสงอาทิตย์ “SOLARPOH โป๊ะนี้ปลอดภัย” ระบบบริการท่าเรืออำนวยความสะดวกแก่ผู้สัญจรทางน้ำ เพื่อแก้ปัญหาด้านความปลอดภัยการเดินทางเรือ เช่น ไม่มีแสงสว่างตอนกลางคืน และความชันทางเดินระหว่างท่าเรือกับโป๊ะเมื่อระดับน้ำที่ลดลงทำให้เกิดอุบัติเหตุล้มลงบ่อยครั้ง
“คนส่วนใหญ่ในพื้นที่ริมแม่น้ำเดินทางด้วยรถโดยสาร หลีกเลี่ยงการเดินทางสัญจรด้วยเรือ เพราะการเดินทางด้วยเรือเสี่ยงอันตรายไม่ค่อยปลอดภัย จึงได้ออกแบบระบบทุ่นที่ช่วยการทรงตัวลดการโคลงของโป๊ะ ระบบเซ็นเซอร์ตรวจจับความหนาแน่นผู้โดยสารเพื่อส่งสัญญาณเตือน เพื่อจำกัดจำนวนคน และติดตั้งโซล่าเซลล์ผลิตพลังงานไฟฟ้าเพิ่มแสงสว่าง ปัจจุบันดำเนินการแล้วที่ท่าน้ำสี่พระยา และอยู่ในระหว่างเก็บข้อมูล ” บัญชา กล่าว

เครื่องกรองน้ำพลังงานแสงอาทิตย์แบบพกพา Solvatten รองรับน้ำได้ถึง 11 ลิตร ถูกคิดค้นให้พื้นที่ประสบปัญหาสารพิษปนเปื้อนในน้ำ / สำนักข่าวสิ่งแวดล้อม / จรัสรวี ไชยธรรม
ผลงานของ Olafur Eliasson ศิลปินผู้สร้างสรรค์ไฟฉายพลังงานแสงอาทิตย์ขนาดพกพา Little Sun เพื่อแบ่งปันแสงสว่างให้พื้นที่ไฟฟ้าเข้าไม่ถึง / สำนักข่าวสิ่งแวดล้อม / จรัสรวี ไชยธรรม
ถังขยะพลังงานแสงอาทิตย์ Bigbelly บรรจุขยะมากกว่าขยะทั่วไป 8 เท่า และระบบจัดการขยะด้วยแรงบีบอัด เมื่อถังขยะเต็มส่งสัญญาณเตือนไปยังสถานีเพื่อมาจัดเก็บขยะ / สำนักข่าวสิ่งแวดล้อม / จรัสรวี ไชยธรรม

อย่างไรก็ตามสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) หรือ CEA จัดงานนิทรรศการแสดงใน 2 พื้นที่คือ ห้องแกลเลอรี ชั้น 1 และพื้นที่สวนบนชั้น 5 เพื่อให้ได้เห็นการใช้งานจริง ณ TCDC กรุงเทพฯ เวลา 10.30 – 19.00 น. ตั้งแต่วันนี้ – 27 ธันวาคม 2563 (เปิดบริการวันอังคาร – วันอาทิตย์ (ปิดวันจันทร์) หากท่าใดสนใจศึกษาหรือเที่ยวชมนวัตกรรมพลังงานสะอาด (โซล่าเซลล์) สามารถติดตามรายละเอียดเพิ่มเติม