โรงงานขยะปราจีนถอนฟ้องแกนนำชุมชน คดีหมิ่นประมาทค่าเสียหายสูงลิ่ว 50 ล้าน กล่าวหาบริษัทว่าสร้าง “ขยะพิษ” ทนายชี้ บริษัทจงใจใช้กระบวนการกฎหมายหยุดการเคลื่อนไหวนักรณรงค์ คดีแบบนี้ในไทยมีอีกเพียบ

30 กันยายน พ.ศ.2563 ศาลจังหวัดปราจีนบุรี นัดไต่สวนมูลฟ้องคดีสุเมธ เหรียญพงษ์นาม แกนนำกลุ่มฅนรักษ์กรอกสมบูรณ์ จำเลยในข้อหาหมิ่นประมาทบริษัทโรงงานกำจัดกากของเสียอุตสาหกรรม สืบเนื่องต่อจากนัดไต่สวนมูลฟ้องเมื่อหนึ่งเดือนก่อน บริษัทฯ ได้ยื่นข้อเสนอให้สุเมธรื้อถอนป้ายในชุมชนที่เขียนข้อความว่า “ขยะพิษ” พาดพิงถึงบริษัทฯ ออก จึงจะพิจารณาถอนฟ้องคดี
คดีนี้เริ่มต้นขึ้นด้วยเมื่อปี พ.ศ. 2562 สุเมธได้ยื่นหนังสือร้องเรียนแก่ผู้ว่าราชการจังหวัดปราจีนบุรี ว่าชุมชนต้องเผชิญกลิ่นเหม็นเน่าและน้ำเสียจากธุรกิจกำจัดขยะอุตสาหกรรมเอกชนใกล้เคียง เป็นเหตุให้ผู้ประกอบการได้ยื่นฟ้องเขาในข้อหาหมิ่นประมาท และเรียกค่าเสียหาย 50 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ย 7.5% ต่อปี
หลังจากการนัดไต่สวนและไกล่เกลี่ยคู่ความ ชาวบ้านได้ร่วมกันถอนป้ายซึ่งมีข้อความว่า “ขยะพิษ” จำนวน 6 ป้ายออก และได้ตกลงที่จะถอนป้ายพาดพิงบริษัทต่างๆ ออกทั้งหมด เมื่อบริษัทฯ ถอนฟ้องคดีอาญาอีกคดีที่ยื่นฟ้องสุเมธที่กรุงเทพฯ

หลังจากตกลงกันเรียบร้อย บริษัทโรงงานขยะ จึงได้ยื่นคำร้องถอนฟ้องและศาลได้จำหน่ายคดีออกจากระบบ
การไกล่เกลี่ยได้ข้อสรุปว่า จำเลยจะยังคงใช้สิทธิในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม รักษาสิทธิของชุมชนภายใต้กรอบที่กฎหมายกำหนด โดยโจทก์ตกลงที่จะร่วมรักษาสิ่งแวดล้อมและลดผลกระทบที่เกิดขึ้นกับชุมชนต่อไป
ชำนัญ ศิริรักษ์ ทนายความของสุเมธ เผยว่า คดีครั้งนี้เป็นกรณีตัวอย่างของคดี “ฟ้องปิดปาก (SLAPP)” นักกิจกรรม เนื่องจากคู่ความยอมรับว่าไม่ได้ต้องการได้ค่าเสียหาย 50 ล้านจริง ทว่ามีจุดประสงค์อยากให้นักกิจกรรมหยุดเคลื่อนไหว
“คดีฟ้องปิดปากแบบนี้ยังมีอีกเยอะมากในไทย บางชุมชนถูกฟ้อง 10 คดี บางชุมชนถูกฟ้องเป็นกลุ่ม โดยผู้ฟ้องมีเจตนาใช้กระบวนการทางกฎหมายเพื่อให้หยุดการกระทำ” เขาอธิบาย
“ตัวอย่างอีกกรณีหนึ่งคือกรณีอ่าวกุ้ง จังหวัดภูเก็ต ซึ่งชาวบ้าน 5 รายในพื้นที่ถูกฟ้องข้อหาบุกรุกป่าชายเลนซึ่งเอกชนวางแผนจะพัฒนาเป็นท่าเทียบเรือยอร์ช ชาวบ้านเข้าออกพื้นที่ตรงนั้นมาตลอด โดยไม่ได้มีข้อติดใจอะไร ทว่าเมื่อข้อพิพาทระหว่างชุมชนกับบริษัทเอกชนรุนแรงขึ้น จึงได้หยิบประเด็นนี้มาดำเนินคดี ปัจจุบันกำลังอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาล”
เขายืนยันว่า แม้จะเกิดคดีนี้ขึ้นและต้องระมัดระวังการสื่อสารมากยิ่งขึ้น สุเมธและชุมชนสามารถดำเนินการเรียกร้องเรื่องสิ่งแวดล้อมต่อไป