องค์การบริหารส่วนจังหวัดพระนครศรีอยุธยา (อบจ.พระนครศรีอยุธยา) ร่วมกับ บริษัท เอ็นคอม เวสท์ ทู เอเนอร์จี้ (พระนครศรีอยุธยา) จำกัด ประกาศตัวเป็นต้นแบบนำร่องการกำจัดขยะแบบครบวงจร ผุดโรงไฟฟ้าขยะขนาด 6.5 เมกกะวัตต์ ที่ อ.บางบาล จ.พระนครศรีอยุธยา หวังแก้ปัญหาขยะมูลฝอย
เมื่อวันที่ 25 กันยายน พ.ศ.2563 นายกอบจ.พระนครศรีอยุธยา สมทรง พันธ์เจริญวรกุล ในฐานะตัวแทนภาครัฐ ร่วมลงนามในสัญญาให้เอกชนร่วมทุนโครงการผลิตกระแสไฟฟ้าจากขยะมูลฝอยขององค์การบริหารส่วนจังหวัดพระนครศรีอยุธยา กับ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอ็นคอม เวสท์ ทู เอเนอร์จี้ (พระนครศรีอยุธยา) จำกัด (ECW) พลเอก หม่อมเจ้าจุลเจิม ยุคคล ให้เป็นผู้ดำเนินการบริหารจัดการระบบกำจัดขยะมูลฝอยแบบครบวงจร และสร้างโรงไฟฟ้า ขนาด 6.5 เมกะวัตต์ เพื่อผลิตพลังงานไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงจากขยะมูลฝอยในคลัสเตอร์ จ.พระนครศรีอยุธยา

จากสัญญาดังกล่าวบริษัท เอ็นคอม เวสท์ ทู เอเนอร์จี้ จะเป็นผู้ลงทุนในกระบวนการจัดการเชื้อเพลิงขยะที่รับจาก อบจ.พระนครศรีอยุธยา แล้วนำไปเป็นเชื้อเพลิงในการผลิตกระแสไฟฟ้า หรือ Refuse Derived Fuel (RDF) โดยจะมีกำลังในการกำจัดขยะวันละประมาณ 300 ตัน
โครงการดังกล่าวจะก่อสร้างระบบกำจัดขยะมูลฝอยโดยใช้เทคโนโลยีผลิตเชื้อเพลิงขยะแบบเชิงกลและชีวภาพ (MechanicalBiological Treatment : MBT) ร่วมกับเทคโนโลยีเตาเผาขยะชุมชนและผลิตพลังงานไฟฟ้า (Stoker-Type Incinerator) ในโครงการ บนที่ดินราชพัสดุ ขนาดพื้นที่ 73 ไร่ 2 งาน ณ ต.มหาพราหมณ์ อ.บางบาล จ.พระนครศรีอยุธยา
นายอบีนาช มาจี้ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท อีสเทิร์น เอเนอร์จี้ พลัส (EEP) ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ในบริษัท ECW เปิดเผยว่าโครงการผลิตไฟฟ้าจากขยะมูลฝอย ณ ศูนย์จัดการขยะต้นแบบจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ใช้เงินลงทุนในโครงการประมาณ 990 ล้านบาท มีแหล่งรายได้จากค่ากำจัดขยะรับจาก อบจ.พระนครศรีอยุธยา อัตราตันละ 200 บาท และรายได้จากการขายกระแสไฟฟ้าที่ผลิตได้ให้กับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค
“การที่ จ.พระนครศรีอยุธยา ได้ดำเนินโครงการนี้ จะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อชุมชนหลายด้าน เช่น ส่งเสริมให้การจัดการขยะชุมชนเป็นไปอย่างเหมาะสมโดยการใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย ช่วยลดปัญหาขยะล้นเมือง ส่งเสริมให้มีการผลิตพลังงานไฟฟ้าโดยใช้ขยะเป็นเชื้อเพลิงรูปแบบทางเลือก เป็นตัวอย่างของรูปแบบทางเลือกการลงทุนที่เหมาะสม” อบีนาช กล่าว
ผู้จัดการฝ่ายกฎหมาย บริษัท EEP รัฐพล ลี้สกุล กล่าวเสริมว่า โรงไฟฟ้าพลังงานขยะแห่งใหม่นี้จะใช้เทคโนโลยี MBT ในการช่วยจัดการย่อยสลายกากอินทรีย์ในขยะให้มีประสิทธิภาพและรวดเร็วยิ่งขึ้น โดยขยะจะถูกหมักเป็นระยะเวลา 3 สัปดาห์ เพื่อให้ขยะอินทรีย์เช่น เศษอาหาร ย่อยสลาย จากนั้นจึงแยกเอาขยะที่เหลืออัดเป็นก้อนเชื้อเพลิงขยะ และนำไปเผาเพื่อผลิตพลังงานไฟฟ้าต่อไป โดยกากจากการย่อยสลายขยะอินทรีย์จะถูกนำไปผสมเป็นปุ๋ยสำหรับปลูกต้นไม้ต่อไป
“โครงการของเราจะใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยในการป้องกันมลพิษจากการเผาเชื้อเพลิงขยะเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้า โดยรับรองได้ว่าจะไม่มีมลพิษฝุ่น PM2.5 จากการดำเนินโครงการ นอกจากนี้โครงการของเรายังมีการบำบัดน้ำเสียจากขยะจนสามารถนำกลับมาใช้ในโครงการได้ใหม่ และมั่นใจได้ว่าจะไม่มีน้ำเสียปนเปื้อนถูกปล่อยออกจากโครงการอย่างแน่นอน” รัฐพล กล่าว

แม้ว่าพื้นที่โครงการจะตั้งอยู่ในพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วม แต่เขายังยืนยันว่า ได้มีการปรับพื้นที่โครงการให้สูงขึ้นเรียบร้อยแล้ว และยังมีการก่อสร้างกำแพงกั้นน้ำบริเวณทิศเหนือของโครงการ อีกทั้งพื้นที่ดังกล่าวไม่มีประวัติถูกน้ำท่วมมากว่า 20 ปีแล้ว ดังนั้นจะไม่เกิดเหตุน้ำท่วมโรงไฟฟ้าแน่นอน
“ขณะนี้โครงการได้มีการยื่น COP เพื่อเตรียมทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม หรือ EIA เรียบร้อยแล้ว โดยคาดว่าโครงการจะสร้างเสร็จและดำเนินการจ่ายไฟได้ภายในปี พ.ศ.2565” เขากล่าวยืนยัน