#เอาหมอนทองไม่เอาเหมืองทอง ชาวจันทบุรีแสดงพลัง ยื่นแสนรายชื่อค้านสำรวจแร่ทองคำ

ชาวจันทบุรีชุมนุมใหญ่หน้าศาลากลางจังหวัดจันทบุรี แสดงพลังคัดค้านการขออาชญาบัตรพิเศษแร่ทองคำ พร้อมยื่นรายชื่อกว่า 100,000 รายชื่อ เสนอต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ยืนยันให้ไม่ต้องการให้มีการสำรวจแร่และเปิดเหมืองทองคำใน จ.จันทบุรี เพื่อปกป้องแหล่งต้นน้ำสำคัญของภาคตะวันออก และพื้นที่เพาะปลูกผลไม้ที่ใหญ่ที่สุดของไทย

เมื่อวันที่ 9 กันยายน พ.ศ.2563 ตัวแทนเครือข่ายจันทบุรีไม่เอาเหมืองทอง จากทั้ง 10 อำเภอของ จ.จันทบุรี กว่า 1,000 คน ร่วมแสดงเจตนารมณ์คัดค้านอาชญาบัตรพิเศษแร่ทองคำในพื้นที่ อ.แก่งหางแมว ที่บริเวณด้านหน้าศาลากลางจังหวัดจันทบุรี โดยระหว่างการชุมนุมมีการสับเปลี่ยนขึ้นมาปราศรัยแสดงความเห็นต่อต้านการเข้ามาสำรวจแร่และเปิดเหมืองแร่ทองคำใน จ.จันทบุรี พร้อมๆ กับมีการล่ารายชื่อผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับการออกอาชญบัตรพิเศษ เพื่อยื่นต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

จันทบุรี
ผู้ชุมนุมคัดค้านเหมืองทองจันทบุรี แต่งตัวเป็นพระเจ้าตากสิน เข้าร้่วมการชุมนุม / สำนักข่าวสิ่งแวดล้อม / ปรัชญ์ รุจิวนารมย์

คำขออาชญบัตรพิเศษสำรวจแร่ทองคำดังกล่าว ยื่นขอโดยบริษัท ริชภูมิ ไมนิ่ง จำกัด หนึ่งในบริษัทลูกของบริษัทเหมืองแร่สัญชาติออสเตรเลีย คิงส์เกต คอนโซลิเดทเต็ด ลิมิเต็ด เพื่อขอสำรวจแร่ทองคำในพื้นที่ 14,650 ไร่ มีพื้นที่ได้รับผลกระทบโดยตรง 22 หมู่บ้าน ใน ต.พวา และ ต.สามพี่น้อง อ.แก่งหางแมว จ.จันทบุรี

ทิวา แตงอ่อน แกนนำนักปกป้องสิ่งแวดล้อม เครือข่ายปกป้องผืนป่าตะวันออก กล่าวว่า ในวันนี้ได้มีการยื่นรายชื่อชาวจันทบุรีที่ไม่เห็นด้วยกับการอนุญาตให้สำรวจแร่และเปิดเหมืองแร่ทองคำรวมกว่า 155,577 รายชื่อ เสนอต่อรองผู้ว่าราชการจังหวัดจันทบุรี เป็นการยืนยันต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่าชาวจันทบุรีต้องการรักษาสภาพสิ่งแวดล้อมที่ยังคงสมบูรณ์ ตลอดจนแหล่งผลิตผลไม้ส่งออกสำคัญของประเทศ ไม่ให้ถูกมลพิษเหมืองทองทำลายไป

“เราเป็นปอดของตะวันออก เราเป็นแหล่งน้ำสำคัญของภาคตะวันออก เราเป็นแหล่งผลิตผลไม้เมืองร้อนที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย จันทบุรีผลิตผลไม้มากที่สุดในประเทศไทย ปีนี้เจอโควิด ทุกธุรกิจได้รับผลกระทบ แต่เรามียางมีทุเรียน มีมูลค่าสูง ตันละเป็นแสน สามารถอยู่ได้ด้วยตนเอง แต่หากมีการทำเหมืองทอง ทำลายที่ต้นน้ำที่ อ.แก่งหางแมว เราจะไม่สามารถทำการเกษตรได้” ทิวา กล่าว

“ประสบการณ์การทำเหมืองทองที่พิจิตร ชี้ว่า รัฐได้รายได้จากค่าภาคหลวงเหมืองทองคำเพียง 500 – 1,000 ล้านบาท / ปี แต่หากเราไม่เอาเหมืองทองคำ เราสามารถผลิตทองคำบนดินคือทุเรียนหมอนทอง ปีนึงได้รายได้กว่า 60,000 – 70,000 ล้านบาท ส่งไปจีน 70% ขึ้นไป เป็นเศรษฐกิจหมุนเวียนที่คนจันทบุรีทุกคน ตลอดจนผู้บริโภคทั้งในและต่างประเทศต่างได้ประโยชน์”

จันทบุรี
ตัวแทนเครือข่ายจันทบุรีไม่เอาเหมืองทอง ยื่นหนังสือพร้อมรายชื่อกว่าหนึ่งแสนรายชื่อต่อรองผู้ว่าราชการจังหวัดจันทบุรี / สำนักข่าวสิ่งแวดล้อม / พรเทพ จันทร์ยม

ในขณะที่ฝ่ายหน่วยงานรัฐ รองผู้ว่าราชการจังหวัดจันทบุรี อลงกรณ์ แอคะรัจน์ เป็นตัวแทนรับหนังสือและรายชื่อของเครือข่ายจันทบุรีไม่เอาเหมืองทอง และกล่าวยืนยืนต่อกลุ่มผู้ชุมนุมว่า เอกสารทั้งหมดรวมถึงรายชื่อจะรวบรวมส่งให้ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ปลัดกระทรวงมหาดไทย และอุตสาหกรรมจังหวัด เพื่อให้ส่งต่อยัง อธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ เพื่อให้ทราบความต้องการ ความคิดเห็น และข้อเสนอแนะ ของภาคประชาชนและเอกชน จ.จันทบุรี ทั้ง 10 อำเภอ และนำไปประกอบการพิจารณาอาชญาบัตรต่อไป

อนึ่ง เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม ที่ผ่านมา มีรายงานผ่านทางเฟสบุ๊คส่วนตัวของ ผศ.ดร.ไชยณรงค์ เศรษฐเชื้อ อาจารย์ประจำคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม เผยว่า นอกจากการขออาชญาบัตรพิเศษแร่ทองคำที่ จ.จันทบุรี แล้ว บริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นอีกหนึ่งบริษัทลูกของบริษัท คิงส์เกต คอนโซลิเดทเต็ด ลิมิเต็ด ได้ยื่นคำขออาชญาบัตรพิเศษ เพื่อสำรวจแร่ทองคำและเงิน รวมพื้นที่ 208,894 ไร่ ในท้องที่ 5 ตำบลของ อ.วังโป่ง จ.เพชรบูรณ์ อีกด้วย

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง